จันทบุรี เมืองเล็กๆ ทางภาคตะวันออกที่รุ่มรวยด้วยวัตถุดิบจากผืนป่า ภูเขา ทะเล และในความรับรู้ของคนทั่วไปโดดเด่นด้วยผลไม้ขึ้นชื่ออย่างทุเรียน มังคุด ทว่าอดีตนั้นเมืองจันท์เป็นเมืองท่าที่ส่งออกเครื่องเทศสมุนไพรอย่างกระวาน เร่ว และพริกไทยอันเลื่องชื่อของประเทศ จวบจนวันนี้เครื่องเทศสมุนไพรกลายเป็นส่วนหนึ่งของรสชาติอย่างจันทบูร
ต๊อก–นิสิต อารีวุฒิ เขยจันท์ผู้หลงใหลน้ำซ่าและลงหลักปักฐานใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอบางสระเก้าจนซึมซับเสน่ห์อย่างจันท์ เลยเลือกหยิบจับวัตถุดิบท้องถิ่น พืชสมุนไพรอย่างเร่ว กระวาน ที่ให้รสและกลิ่นในจานอาหาร มาทำน้ำซ่า ‘คราฟต์โซดา’ รสชาติเกินจินตนาการ ลุ่มลึก ไม่ซ้ำใคร ในชื่อแบรนด์ว่า The Craft บางสระเก้า ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ‘เป็นน้ำซ่าที่อร่อย เป็นมิตร และโลกใบนี้ไม่เคยมี’
นักคราฟต์โซดาแห่งบางสระเก้า
บางสระเก้า เป็นอำเภอเล็กๆ ไม่ไกลจากตัวเมือง และเป็นสถานที่ตั้งโรงผลิตคราฟต์โซดาของต๊อก อดีตพนักงานบริษัทปิโตเลียมที่ชีวิตเปลี่ยนเพราะไปลงเรียนทำคราฟต์โซดาคลาสหนึ่งด้วยหวังว่าจะทำโคล่าดื่มเอง เพราะชอบดื่มน้ำอัดลมมาตั้งแต่เด็กๆ และอาจทำเสริมในร้านสุกี้ที่กำลังคิดจะเปิด แต่แล้วก็ตระหนักได้ว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อทำน้ำซ่านี่ละ
“ออกมาจากคลาสปั๊บ หัวระเบิดตู้มต้ามเลย โซดาทำให้ผมกลับมามีชีวิตอีกครั้ง รู้เลยว่าทั้งชีวิตที่เกิดมาเราเป็นอะไร โอโห มันรู้สึกว่าเราทำอะไรได้อีกเยอะ มันเป็นทฤษฎีปลายเปิดว่าเราทำอะไรก็ได้ให้ซ่า แค่รู้จักเชื้อจุลินทรีย์ที่เราเพาะ ต้องสะอาด แล้วเอามาใช้ให้ดี

“กลับบ้านมาก็ทำมาเรื่อยๆ ตื่นเช้ามากลายเป็นว่ามีเรื่องคุยกับภรรยาทุกวัน วันนี้เราทำน้ำอะไรกันดี วันนี้ทำรูทเบียร์หรือทำโคล่า เอาอะไรมาเล่นดี ดอกอัญชันไหม ทำไปกินไป แล้วช่วงนั้นภรรยาท้อง โควิดมาพอดี เลยต้องปิดไป เราเองก็ไม่อยากให้ใครเข้ามา เป็นห่วงภรรยา ตอนนั้นยังทำเป็นน้ำซ่าพวกไบโอติกส์ซ่าบรรจุขวดพลาสติกธรรมดาๆ ก็คิดนะว่าสิ่งที่เราทำอยู่คนแถวนี้อาจเข้าใจลำบาก แต่ผมแค่อยากให้คนรู้สึกนึกถึงบางสระเก้าจากสิ่งที่เราทำนี่ละ ให้มันร่วมสมัย แล้วเราก็ทำมันขึ้นที่นี่ เลยคิดว่าเฮ้ย ถ้าคนเขามาบางสระเก้าไม่ได้ เราส่งบางสระเก้าให้เขาไหมล่ะ เลยเริ่มทำคราฟต์โซดา”
คราฟต์โซดา หากอธิบายให้เข้าใจง่ายคือเครื่องดื่มซ่าที่มีก๊าซหรือเรียกตามความเข้าใจว่า ‘น้ำอัดลม’ โดยกระบวนการที่เดอะคราฟต์บางสระเก้าทำ เริ่มจากการเอาผลไม้ เครื่องเทศ ผักใดๆ มาปรุงรส ให้ความหวาน ความเปรี้ยว ใส่เครื่องดื่มลงไปในถังแล้วลดอุณหภูมิเหลือ 2-5 องศา แล้วนำมาอัดก๊าซ ด้วยถังแรงดันอัด CO2 เข้าไป แล้วบรรจุด้วยเครื่อง Counter Pressure ซึ่งเป็นระบบปิด ใช้ส่งต่อน้ำจากถังไปขวดโดยไม่มีออกซิเจนเจือปน ปิดฝา แล้วทำการพลาสเจอร์ไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อ เก็บได้นานเป็นปี
“เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่าน้ำอัดลมมันไม่ดี แต่พอเราโตขึ้นมา มาเรียนรู้วิธีทำเลยรู้ว่าจริงๆ น้ำอัดลมดีมันมีผมเลยยึดมั่นมากว่ายังไงก็จะไม่ยอมใช้สารเคมี เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่แตกต่างจากน้ำที่มีอยู่ในท้องตลาด
“วันหนึ่งไปซื้อยำ ระหว่างรอ เขาถามว่าพี่กินเป๊บซี่ไหม แก้วละ 10 บาท ผมก็เลยบอกว่า อ๋อ พวกโคล่าผมทำกินเองที่บ้าน เขาเลยถามว่าแล้วพี่ขายไหม? เราก็บอกขายครับ ทำขายแก้วละ 50 บาท พอบอกราคาปั๊บเขาเงียบเลย เพราะว่าอะไร? ก็ยำที่เขาขายเราประมาณ 40 บาท แต่น้ำเราแก้วหนี่งมันแพงกว่ายำเขาอีก กลายเป็นว่าเราได้ยินเสียงตัวเองเลยว่า โคล่าที่มีในท้องตลาดทุกวันนี้ขายกันสิบกว่าบาท อีกอย่างทุกคนโดนฝังหัวว่าน้ำโคล่าที่เรากินมาตั้งแต่เด็กมันอร่อย เราเองก็คิดแบบนั้น ผมเลยมองว่าถ้าเราจะทำตามมาตรฐานคนอื่นคงไม่มีราคาที่เป็นมาตรฐานของเราได้ ถ้างั้นเราต้องสร้างมาตรฐานของเราขึ้นมา ด้วยน้ำที่โลกใบนี้ไม่เคยมี”

จักรวาลน้ำซ่าแห่งบางสระเก้า
“มาเป็นเขยจันท์ก็ต้องใช้ของจันท์สิ คิดสารพัดว่าจะเอาอะไรมาทำ บังเอิญไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ร้านหนึ่งที่ขลุง บนกระดานเขาเขียนว่าก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง เนื้อเลียง เลียงแปลว่าโขลก ในนั้นมีเร่วหอมอยู่ ก็คิดว่าเออของดีทำไมต้องอยู่แค่ในก๋วยเตี๋ยวละ กลับมาไปหาเร่วหอมมาทำน้ำเลย เร่วหอมเลยเป็นตัวแรกของเรา ใช้ชื่อแบรนด์ว่าบางสระเก้าแล้วกัน เพราะผมอยู่ที่นี่ คิดและทำน้ำที่นี่เลยอยากขอแทนคุณบางสะเก้าเป็นชื่อน้ำ อย่างน้อยวันหนึ่งบางสะเก้าจะได้เป็นที่รู้จัก”
จากน้ำโคล่า รูทเบียร์ ที่ทำขายภายในบ้าน จึงก่อเกิดเป็นคราฟต์โซดารสชาติที่นำเสนอความเป็นจันทบุรี หยิบวัตถุดิบมาเพิ่มมูลค่าทำน้ำซ่าที่ไม่เคยมีมาก่อน บรรจุขวดส่งขายภายใต้ชื่อแบรนด์บางสระเก้า พร้อมตั้งชื่อแบรนด์เพื่อแทนคุณถิ่นที่

คราฟต์โซดาขวดที่ 1: บางสระเก้า
บทสนทนาภายใต้แววตาเป็นประกายกระตือรือร้นของพี่ต๊อกถ่ายทอดความรู้สึกถึงสิ่งที่ทำอยู่จนเราสัมผัสได้ และตื่นเต้นที่จะได้ชิมคราฟต์โซดาแก้วแรกที่ชื่อว่า ‘บางสระเก้า’ ที่ใช้วัตถุดิบหลักคือ ‘เร่ว’ พืชสมุนไพรท้องถิ่นที่ให้กลิ่นและรสเป็นเอกลักษณ์ในหม้อก๋วยเตี๋ยวเลียง (ก๋วยเตี๋ยวท้องถิ่นจันทบุรี) เสียงเปิดขวดโซดาตามมาด้วยเสียงซ่าของน้ำที่รินลงแก้ว พี่ต๊อกยื่นแก้วโซดาให้เราชิม

กลิ่นหอมเย็นอ่อนๆ หวานอมเปรี้ยว ซ่า สดชื่น เป็นรสชาติเกินกว่าที่เราจินตนาการ ถึงจะขึ้นชื่อว่าสมุนไพร แต่รสชาติที่เบลนออกมาฉีกกฎสมุนไพรไปไกลแบบไม่กระโตกกระตาก เป็นรสทันสมัยเข้าถึงทุกคน ขณะที่กลิ่นไอของความเป็นเร่วยังชัดเจน
“เรามารู้ทีหลังว่าเร่วเป็นพืชตระกูลข่าตระกูลขิง ไม่เคยรู้มาก่อนว่ารสชาติและกลิ่นที่แท้จริงเป็นยังไง จนได้มาลองทำ ลองปรับ ทำเรื่อยๆ เบสของเครื่องดื่มคือเปรี้ยวอมหวาน เพื่อจะกินง่ายเราก็มาบาลานซ์ความเปรี้ยว ความหวาน แต่เราอยู่กับมันมานานบางทีไม่รู้หรอกว่ามันดีหรือยัง เลยให้ภรรยาชิมจนเขาบอกว่า อร่อย โอเค จบเลย ขายได้”
คราฟต์โซดาขวดที่ 2: จักรวาล
ถัดมามีชื่อว่า‘จักรวาล’ ทำมาจากต้นกระวาน พืชสมุนไพรท้องถิ่น ขึ้นอยู่ในป่าที่มีความชื้นสูงตามป่าเขา ป่าดงดิบ บริเวณเขาสอยดาวจันทบุรี ทางภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎ์ธานี ตรัง ยะลา นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ อาหารท้องถิ่นจันท์หลายตำรับใช้ต้นกระวานเป็นวัตถุดิบ เช่น แกงป่า ไก่ต้มกระวาน
“เราไปเห็นต้นกระวานวางขายอยู่หน้าตลาดสี่มุมเมรุ ก็คิดว่าเฮ้ย กระวานเป็นสมุนไพรของดี มันจะมาอยู่แค่ในอาหารอย่างไก่ต้มกระวานไม่ได้ เลยเอามาลองทำน้ำ ตอนแรกก็คิดว่าจะให้ชื่ออะไรดีนะ ในระหว่างที่กำลังไปส่งน้ำโซดาตัวแรกก็คิดชื่อกันกับแฟนว่า น้ำที่ทำมาจากกระวาน จากกระวาน จักรวาล ก็เฮ้ย ชื่อนี้แหละ เท่ดี ฮ่าๆ”

“หืม กลิ่นกระวานชัดมาก ใส่มะปี๊ดด้วยมั้ยคะ” – – – ฉันถามด้วยความสงสัยปนตื่นเต้น ทั้งบางสระเก้าและจักรวาลค่อนข้างเปิดโลกโซดาคราฟต์มาก เป็นความซับซ้อนของกลิ่นรสที่อร่อยลงตัว และมีเสน่ห์สุดๆ
“มะปี๊ดให้เฟลเว่อ ส่วนอโรม่าเป็นกลิ่นกระวาน มีมิ้นท์มาบางๆ ท้ายๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น คนชอบก็ชอบเลยนะ ถ้าไม่ชอบคือไม่ชอบเลยสำหรับโซดาสองตัวแรก ประมาณว่าใครชอบเร่วก็จะชอบเร่ว ใครชอบกระวานก็ชอบกระวาน คนละแบบ ถ้าเปรียบเทียบบางสะเก้าจะเหมือนสาวหวานๆ ส่วนจักรวาลจะเป็นสาวเปรี้ยว ค่อนข้างแตกต่างกันชัดเจน”
คราฟต์โซดาขวดที่ 3: กาลเวลา
กาลเวลา ทำมาจากเปลือกของเมล็ดโกโก้ที่ผ่านการคั่วแล้ว เป็นการนำส่วนที่เหลือจากกระบวนการทำช็อกโกแลตมาใช้ให้เกิดมูลค่าและรังสรรรสชาติออกมาให้เข้าถึงทุกคนได้ง่าย
“ตัวนี้พี่ไมค์จาก ททท. มาบอกว่า คุณต๊อกรู้ไหมจันทบุรีเราปลูกโกโก้นะ ลองเอาโกโก้มาทำบ้างสิ ก็เริ่มศึกษาโกโก้เล็กน้อยก่อน โอเคร โกโก้มันมีนิปนะ เนื้อของเมล็ดโกโก้เขาเอาไปทำช็อกโกแลต ผมเลยมองว่าจะไม่เอาอะไรพวกนี้มาทำกหรอก เพราะเขามีแวลู่อยู่แล้ว หาของที่ไม่มีมูลค่ามาต่อยอดดีกว่า ก็ไปดูโพรเสจการทำช็อกโกแลตว่าเหลืออะไรบ้าง จนพี่บุ๋มที่ปลูกโกโก้อยู่ตรอกนองชื่อว่า สุริยาโกโก้ บอกว่ามีเปลือกของเมล็ดโกโก้ที่เชฟเขาคั่วมาแล้วหอมมากเอาไปลองทำดูไหม เราดมดูแล้วเฮ้ย มันหอมมากเลยเอามาทำ

“คอนเสปต์คือ โกโก้ ทำไมต้องดำแล้วก็ขม โกโก้ ไม่ดำแล้วก็ไม่ขมได้นะ ตัวนี้ดื่มแล้วเคลียร์ปากเลย เลยมองว่าให้ชื่ออะไรดีนะ เลยเรียกว่า ‘กาลเวลา’ ก.ไก่ ให้เป็นตัวแทนของคำว่า โกโก้ ทีนี้สิ่งที่แพงที่สุดในขวดนี้คือ เวลา เพราะสูตรผมทำทิ้ง ทำแล้วทำอีก ทิ้งแล้วทิ้งอีกกว่าจะได้ สิ่งที่มันแพงสุดเลยเป็นเวลา แล้วผมเป็นเด็กยุค 90 ไง มากับนิยายที่ชื่อว่า เวลาในขวดแก้ว ฮ่าๆ เนี่ยแหละ มันคือเวลาในขวดแก้ว เวลาที่เราตั้งใจที่จะทำมันขึ้นมาจริงๆ” กาลเวลาจึงเป็นโซดารสชาติที่เข้าใจง่าย คุ้นเคย เพราะได้กลิ่นหอมเหมือนกินโกโก้ แต่มาในรูปแบบน้ำซ่าและใส
โซดาขวดที่ 4: กาลเปลี่ยนแปลง
“วันหนึ่งมีคนมาหาเรา อยากให้เราผลิตน้ำตัวหนึ่งให้ เป็น OEM เราก็คิดตัวนี้ขึ้นมาชื่อว่า กาลเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวผมเป็นคนชอบแอปเปิ้ลไซเดอร์วิเนก้า กลายเป็นว่าทำตัวนี้ออกมาแล้วได้เฟเวอร์เป็น juice ก่อน แล้วอาฟเตอร์เทสเป็นโกโก้บางๆ เลยให้ชื่อว่า ‘กาลเปลี่ยนแปลง’ เพราะเป็นชื่อของการเปลี่ยนจริงๆ ทำให้ผมได้รู้จักคนเยอะขึ้น ลองเอาสิ่งที่รักมาเป็นธุรกิจ กลับกลายเป็นว่าทำตัวนี้ออกมาแล้วเขาไม่ชอบ เลยไม่ได้ทำขายร่วมกับเขา แต่พอเอาไปให้เพื่อนชิม เพื่อนบอกว่าต๊อก น้ำตัวนี้คนต้องรู้จักนะ เลยทำตัวนี้ออกมาขายเองด้วยเลย เพราะว่าเขาไม่ต้องการ มันเลยเป็น ‘กาลเปลี่ยนแปลง’”

กาลเปลี่ยนแปลงเป็นอีกตัวที่เหมือนกินโกโก้ในเวอร์ชั่นน้ำซ่าและใส แต่เพิ่มมิติของความสดชื่นเปรี้ยวหวานฟรุตตี้เข้ามาด้วย
โซดาขวดที่ 5: กาล
“ตัวนี้ก็ชื่อว่า ‘กาล’ เพราะมันเป็นรากเหง้าของโกโก้ทั้งหมดเลย เราใช้ผลสดเมล็ดโกโก้มาทำ ผลสดคนไม่ค่อยได้สัมผัส เวลากะเทาะดมกลิ่น หรือกินเลยเนื้อขาวๆ มันเหมือนน้อยหน่ามาก เทสโน้ตเป็นลิ้นจี่ เป็นมะพร้าว เป็นดอกไม้สีขาว ผมใช้เวลาเดเวอลอปถึง 2 ปี กว่าจะได้น้ำตัวนี้ ตอนหลังมันค่อนข้างทำยากมาก ต้องหาผลโกโก้สดที่ได้คุณภาพมากๆ เอามาทำเองทั้งหมด เลยไม่ค่อยได้ทำ ตอนนี้หมดแล้วเหลือให้ดูอยู่ขวดเดียวครับ”


คราฟต์โซดาแบรนด์ไทยที่รอวันเฉิดฉายในต่างแดน
ตลาดคราฟต์โซดาในบ้านเรานั้นค่อนข้างนีช แต่ทิศทางการรับรู้ของผู้บริโภคค่อยๆ ขยายวงกวางขึ้น น้ำโซดาเดอะคราฟต์บางสระเก้าจึงมีวางขายทั้งที่คาเฟ่ และร้านคราฟต์เบียร์กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งการออกบูธตามอีเว้นต์ต่างๆ พาตัวเอง พาโซดาไปเจอกับผู้คน ให้ผู้บริโภคได้ชิม ได้เปิดโลกคราฟต์โซดากันถึงที่ และเปิดคลาสสอนทำคราฟต์โซดาด้วยหวังว่าการสร้างคนให้ผลิตโซดาจะช่วยให้ตลาดโซดาเติบโตขึ้นในอนาคต
นอกจากตลาดในประเทศที่ต้องอาศัยการสื่อสาร เรื่องเล่า ให้คนเข้าถึงและเปิดใจลองดื่มน้ำอัดลมทำมืออย่างคราฟต์โซดาดูสักครั้ง อีกฝันที่ยิ่งใหญ่ของคราฟต์โซดาแบรนด์ไทยที่ตั้งใจเลือกใช้วัตถุดิบ ใส่ความสร้างสรรค์ตั้งแต่รสชาติไปจนชื่อสูตร คือการไปเฉิดฉายที่ต่างประเทศ เหมือนกับที่น้ำซ่าสีดำของต่างประเทศตีตลาดในบ้านเราได้
“ไม่นานมานี้มีคนอเมริกามาซื้อโซดาถึงที่บ้าน ผมบอกเขาว่า ผมอยากได้แบงค์ดอลล่าร์คุณ เขาก็บอกได้ ยื่นเงินดอลล่าร์ให้เราเลย ซื้อเราไป 2–3 ลัง ฮ่าๆ ผมถ่ายรูปเก็บไว้เลยว่าเราได้เงินต่างชาติแล้วนะ
“ผมกินโคล่าของต่างชาติมาตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าเขาเอาเงินเราไปทุกปีเลย ผมอยากได้เงินต่างชาติกลับมาบ้านเราบ้าง แต่ฝันใหญ่กว่านั้นคืออยากสร้างฐานการผลิตที่ต่างประเทศ เหมือนที่แบรนด์น้ำซ่าต่างประเทศเขาตั้งฐานที่บ้านเรา อยากส่งออก อยากได้เงินฝรั่ง ก่อนหน้านี้มีต่างชาติมาติดต่อให้เราผลิตส่งออกขายต่างประเทศแต่ยังเงียบหายไป ล่าสุด The Craft ได้รับเลือกจาก ททท. นำคราฟต์โซดาไปจัดแสดงที่เยอรมัน ผมรอโอกาสนี้มานานมาก นับว่าเป็นโอกาสที่ดี”

“โซดาทำให้ผมมีชีวิต ทำให้รู้ว่าผมเกิดมาเพื่อทำอะไร” คือคำพูดสั้นๆ เจือน้ำเสียงหนักแน่นที่ได้ยินบ่อยครั้งตลอดการสนทนา เส้นทางของคราฟต์โซดานั้นไม่ง่าย กว่าจะเฉิดฉายจนเป็นที่รู้จักในวงการคราฟต์โซดาจนส่งถึงมือลูกค้าก็เสียน้ำตาลูกผู้ชายไปหลายถัง ตั้งแต่การเรียนผิดเรียนถูกในการพาสเจอร์ไรซ์ที่ต้องบาลานซ์อุณหภูมิ เวลา และแรงดัน โซดาขวดแล้วขวดเล่าที่ระเบิดฝากร่องรอยเอาไว้ข้างฝาบ้านแลกมากับความสำเร็จ ในวันที่เขาเข้ารู้จักและเข้าใจมันอย่างดี
จุดเปลี่ยนของน้ำซ่าที่กำลังไปได้ดีก็ต้องหยุดชะงักอีกครั้ง เพราะมาตรฐาน อย. ไปจนถึง ‘เร่ว’ พืชสมุนไพรที่ไม่มีอยู่ในรายชื่อส่วนกลางกระทรวงสาธารณสุข
“วันหนึ่งผมโดนร้องเรียนว่าไม่มี อย. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเดินเข้ามาที่บ้านเป็นสิบคน เข้ามาบอกห้ามทำห้ามขายจนกว่าจะมีโรงผลิต วันนั้นเหมือนโลกถล่ม ตอนที่เขาเดินมาชี้หน้าไม่ให้ทำ มันเหมือนเขาบอกให้ผมหยุดทำในสิ่งที่ผมรัก
เราก็เถียงเขานะว่าโปรดักส์ผมมีพาสเจอร์ไรซ์ มันสะอาดนะ ถ้าไม่งั้นก็เอาโปรดักส์ไปเข้าแลปตรวจสิ จะได้รู้ว่ามันสะอาดปลอดภัย แต่กฎก็คือกฎครับ ผมต้องหยุดขายจนกว่าจะหาเงินมาสร้างโรงผลิตได้”
สำหรับผู้ผลิตรายเล็กการสร้างโรงเรือนเล็กๆ ขึ้นมาหนึ่งหลังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต๊อกใช้เวลากว่า 1 ปี ค่อยๆ ทยอยหาเงินสร้าง และได้กำลังใจซัพพอร์ตที่ดีจากคู่ชีวิต ทำให้ดินหน้าทำสิ่งที่รักต่อจนแล้วเสร็จ The Craft บางสระเก้าจึงกลับมาอีกครั้ง

ไม่นาน… คราฟต์โซดาตัวที่ขายดีที่สุดอย่างบางสระเก้าก็ถูกสั่งให้หยุดขาย เพราะ ‘เร่ว’ ไม่มีชื่ออยู่ในระบบสาธารณสุข
“ผมก็ อ้าว ให้ผมสร้างโรงผลิตมาแล้วทำเร่วขายไม่ได้ ทำไมไม่บอกกันตั้งแต่แรก เราก็ไม่รู้ เร่วหอม มันยังไม่มีชื่ออยู่ในระบบกลางกระทรวงสาธารณสุขว่าทำได้ ใส่ในบรรจุภัณฑ์แบบปิดสนิทแล้วกินได้ มันเลยต้องมีผลแลป ต้องมีงานวิจัยออกมาว่าเอามาทำแล้วกินได้ ปลอดภัย แค่ค่าแลปสำหรับความปลอดภัยตัวเดียวก็ 9 หมื่นกว่าบาทแล้ว ผมก็สู้โดยเอาผลวิจัยของมหาวิทยาลัย ม.บูรพา ของดร. ท่าหนึ่งมาอ้างอิง ดร.ที่จันท์ท่านหนึ่งก็ส่งผลวิจัยมาให้ด้วย เราก็ส่งทั้งหมดไปให้สาธารณสุขพิจารณา ใช้เวลา 6 เดือน เพื่อขอคำรับรองจากสาธารณสุข เรื่องก็เงียบ จนกระทั่งได้เจอส่วนกลางโดยตรงเขามางานที่จันท์ ได้เข้าไปคุย เอาเอกสารทั้งหมดที่เคยยื่นไปส่งให้อีกรอบ ก็นั่นละครับ 1 วัน ผ่านเลย… อืม…”
หากนี่เป็นพลอตหนังก็คงเป็นเรื่องที่มีจุดเปลี่ยนเยอะสุดอีกเรื่องหนึ่ง ที่เล่าเรื่องชีวิตขมๆ ของคนทำน้ำซ่า ถ้าฉันเล่นเป็นตัวเอกของเรื่องก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่ามันจะลงเอยแบบไหน – – – อาจตัดจบไปดื้อๆ เลยก็ได้

ความหวังที่จะได้เห็น The Craft บางสระเก้า เฉิดฉายในต่างแดนจึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม ตราบใดที่ต๊อกยังรักในการทำคราฟต์โซดาและยืนหยัดต่อสู้กับทุกอุปสรรคเหมือนที่ผ่านๆ มา และคงดีไม่น้อยถ้าเราช่วยกันซัพพอร์ท ลองเปิดใจดื่มคราฟต์โซดาแบรนด์ไทยรสอร่อยล้ำซ่าสดชื่นนี้ดู ฉันยืนยันว่าเป็นราคาที่คุ้มจ่าย เอาแววตาที่โคตรจะมีความสุข ความภูมิใจที่ฉันสัมผัสได้จากต๊อกเป็นประกันเลย ความตั้งใจทั้งหมดทั้งมวลใส่ไว้ในขวดแก้วน้ำซ่าแล้ว เหลือแค่คุณเปิดชิมดู