เป็นมุกตลกประจำชาติไปแล้วที่ว่าเมืองไทยมีสามฤดู คือฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนที่สุด บรรดาสารพัดเครื่องมือทำความเย็นกลายเป็น #ของมันต้องมี ไม่ว่าจะเป็นพัดลม เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มเย็นๆ มาดับความร้อนรุ่มแบบที่ชาวต่างชาติถึงกับทำหน้างง เมื่อเห็นคนไทยมีน้ำแข็งสารพัดแบบ น้ำแข็งกั๊ก น้ำแข็งหลอดเล็ก น้ำแข็งหลอดใหญ่ น้ำแข็งเกล็ด มีใช้กันทุกบ้านในราคาถูก คนไทยเราดื่มเบียร์ใส่น้ำแข็ง ดื่มน้ำเปล่าก็ยังต้องใส่น้ำแข็ง (ไม่อย่างนั้นไม่ชื่นใจ)
แต่แน่นอนว่าด้วยสภาพอากาศอันร้อนร้ายในเขตบ้านเรา น้ำแข็งไม่มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติแน่ๆ เมื่อตามไปสืบประวัติกันให้ชัดก็พบว่า ประเทศไทยเพิ่งจะมารู้จักน้ำแข็งเอาในยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 ที่ทำการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น จนกลายเป็นช่วงเวลาที่คนไทยรับเอาวัฒนธรรมผ่านสินค้าต่างๆ ที่ลงเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแดนไกล ‘น้ำแข็ง’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น บันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทำให้คาดเดากันว่าน้ำแข็งก้อนแรกเดินทางมาสร้างความเย็นสดชื่นให้คนไทยในช่วง พ.ศ. 2405 – 2411 ซึ่งเป็นเวลาระหว่างปีประสูติของกรมพระยาดำรงราชานุภาพและปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตนั่นเอง
น้ำแข็งก้อนแรกของไทยเดินทางมาพร้อมกับเรือกลไฟชื่อ ‘เจ้าพระยา’ ของพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) โดยใส่มาในหีบไม้ฉำฉาและกลบด้วยขี้เลื่อยเพื่อรักษาอุณหภูมิเอาไว้ แหล่งข้อมูลหลายแห่งมักระบุว่าน้ำแข็งที่เข้ามาพร้อมกับเรือเจ้าพระยาคือน้ำแข็งที่ผลิตในประเทศสิงคโปร์ แต่เราพบว่าเครื่องทำน้ำแข็งเพื่อการค้าเพิ่งถูกเริ่มประดิษฐ์ขึ้นในออสเตรเลียเมื่อปี ค.ศ. 1855 หรือ ปี พ.ศ. 2398 ซึ่งตรงกับช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าน้ำแข็งที่เข้ามาก้อนนี้ถูกผลิตขึ้นในสิงคโปร์ แต่อาจเป็นน้ำแข็งธรรมชาติที่มาจากประเทศฝั่งตะวันตกอีกทอดหนึ่งเสียมากกว่า
เรือเจ้าพระยาเดินทางมาจากสิงคโปร์ใช้เวลาราว 15 วันต่อ 1 เที่ยว นอกจากจะใช้เวลานานแล้วยังมีราคาแพง น้ำแข็งจึงเป็นของแปลกใหม่ที่จำกัดอยู่กับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้มีใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่มักถูกแจกจ่ายให้เจ้านายและขุนน้ำขุนนาง และจะมีส่วนสำคัญก็ตรงที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำไอศกรีมเป็นของเสวยให้กับเจ้าขุนมูลนายในบางมื้อ
พระยาอนุมานราชธน (เสถียรโกเศศ) ได้เขียนถึงน้ำแข็งไว้ในหนังสือ ‘ฟื้นความหลัง’ เล่ม 1 ว่า “…เมื่อมีน้ำแข็งใหม่ๆ คนส่วนมากยังไม่เคยเห็น และซ้ำจะไม่เชื่อว่าน้ำแข็งมีจริง จนถึงทางราชการเอาใส่ถาดตั้งไว้ให้ราษฎรดูที่พิพิธภัณฑสถาน ซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ที่ตึกศาลาสหทัย ราษฎรที่พากันไปดูลางคนคิดถึงคนอื่นที่บ้าน เป็นห่วงว่ายังไม่เคยเห็น ก็ขอก้อนน้ำแข็งซึ่งเขาต่อยไว้แล้ว เป็นก้อนเล็กๆ เอาไปฝาก หรืออวดคนที่บ้าน” นอกจากนี้ยังบันทึกถึงมุมมองของคนไทยต่อน้ำแข็งไว้ด้วยว่า “ชาวบ้านชั้นผู้ใหญ่ห้ามเด็กไม่ให้กิน บอกว่าแสลง กินเข้าไปแล้วร้อน เห็นจะหมายถึงว่าร้อนใน หาว่ามันใส่ยาอะไรก็ไม่รู้ จึงทำให้น้ำแข็ง”
น้ำแข็งจึงไม่ใช่ ‘รักแรกพบ’ ของคนไทยแต่อย่างใด เพราะกว่าจะเชื่อเรื่องมีคนปั้นน้ำเป็นตัวได้จริงก็เป็นเรื่องยากโข เมื่อได้มาเห็นน้ำแข็งเข้ากับตาตัวเองก็ไม่ค่อยชอบใจนัก แถมใครๆ ก็ไม่เดือดร้อนถ้าจะมีหรือไม่มีน้ำแข็งกิน เพราะน้ำจากโอ่งดินเองก็เย็นชื่นใจดี “ดูมิใคร่มีใครชอบ มักบ่นว่ากินน้ำแข็งปวดฟัน” – บันทึกส่วนหนึ่งจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าไว้อย่างนั้น
กว่าไทยจะสามารถผลิตน้ำแข็งได้ด้วยตนเองก็ต้องรอจนถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการตั้งโรงน้ำแข็งแห่งแรกของไทยชื่อ ‘น้ำแข็งสยาม’ บนถนนเจริญกรุง โดยพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ทำให้ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าโรงน้ำแข็งนายเลิศ หลังจากผลิตน้ำแข็งเองได้ ความนิยมในการบริโภคน้ำแข็งจึงเริ่มกระเตื้องขึ้น และมีการตีพิมพ์โฆษณาน้ำแข็งในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ตั้งแต่ปี 2432 ในราคาปอนด์ละ 4 อัฐ โดยบริษัทแอนเดอร์สันอีกด้วย
การบริโภคน้ำแข็งของคนไทยที่เริ่มนิยมแพร่หลาย ยืนยันได้ด้วยวัฒนธรรม ‘เจ๊กขายน้ำแข็ง’ โดยพ่อค้าชาวจีนจะใส่น้ำแข็งก้อนเล็กๆ ลงในน้ำหวาน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการราดน้ำหวานลงบนก้อนน้ำแข็งแล้วนำภาชนะไปรองก่อนนำกลับมาราดใหม่ ราดซ้ำไปซ้ำมาจนได้น้ำหวานเย็นเจี๊ยบถูกใจ แล้วจึงขยับมาเป็นการใช้กบไสน้ำแข็งให้เป็นเกล็ดเล็กๆ ราดด้วยน้ำหวานอย่างที่เรารู้จักกันในชื่อน้ำแข็งไสจนถึงปัจจุบันนี้
ปัจจุบันน้ำแข็งเดินทางมาไกลจนกลายเป็นของสามัญแถมยังขาดกันไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้สำหรับบริโภคหรือใช้สำหรับเก็บรักษาอาหาร ทำให้อากาศร้อน (ทั้งสามฤดู) ของชาวไทยถูกบรรเทาเบาบางไปได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมเลือกน้ำแข็งที่สะอาดและปลอดภัยด้วยนะคะ ไม่อย่างนั้นจะพาลป่วยเอาได้
ว่าแล้วก็ขอตัวไปจัดการน้ำหวานเย็นๆ ตัวช่วยเพิ่มพลังสำหรับบ่ายนี้ก่อนค่ะ เดี๋ยวน้ำแข็งละลาย จะชืดเอา
อ้างอิง
ฟื้นความหลัง เล่ม 1 ผู้แต่ง: เสฐียรโกเศศ สำนักพิมพ์: ศยาม
พระนิพนธ์ ความทรงจำของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้แต่ง: สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
นิตยสารครัว ฉบับที่ 238 เดือนเมษายน 2557 น้ำแข็งไส วันนี้ไม่ใช่แบบเดิม ๆ
ภาพประกอบจาก
Freepik.com/foodiesfeed