ภาพลักษณ์ของเชียงใหม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเสมอ จากเมืองแห่งดอกไม้ เมืองแห่งวัฒนธรรม ขยับมาเป็นเมืองแห่งการแบ็กแพ็ก คาเฟ่ ศิลปะ และการขึ้นดอย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยก็คือเชียงใหม่ยังคงเป็นที่รักของผู้คนอยู่เสมอ ทั้งกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักท่องเที่ยวชาวไทย และแน่นอนว่าเจ้าบ้านอย่างคนเชียงใหม่เอง ความรักเหล่านี้ถูกแปรออกมาเป็นรูปธรรมอย่างหลากหลาย ทั้งบทเพลง ภาพถ่าย นิยาย และบางครั้งก็กลายเป็นเครื่องดื่มสีทองสวยในแก้วใสๆ ในนามของคราฟต์เบียร์ได้อีกด้วยเช่นกัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากใครได้แวะเวียนไปหัวเมืองเหนือแห่งนี้บ้าง โดยเฉพาะคนที่มีชีวิตเริงร่าในยามพระอาทิตย์ลับฟ้าแล้ว คงจะคุ้นตากับป้ายไฟวงกลมที่มีรูปเจ้าหมาเทินแก้วไว้บนหัว ภายใต้ชื่อ My BEER Friend ติดอยู่ตามร้านนั้นร้านนี้ทั่วเมือง หมาตัวนี้ไม่ใช่สัญลักษณ์ของใครอื่น หากแต่เป็นการบอกรักเมืองเชียงใหม่ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างในนามของคราฟต์เบียร์ท้องถิ่นที่คุณจะหาดื่มที่ไหนไม่ได้ นอกจากจะขึ้นมาถึงถิ่นที่เชียงใหม่เท่านั้น
ในห้วงเวลาที่คราฟต์เบียร์ไทยยังมีสถานะคาบเกี่ยวแบบลูกผีลูกคน ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างกระแสเครื่องดื่มคราฟต์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ กับการทำผิดข้อกฏหมาย อะไรทำให้ป้ายไฟกลมๆ ของ My BEER Friend ขยับขยายแพร่กระจายไปทั่วเมืองเชียงใหม่ จนกลายเป็นอีกภาพลักษณ์หนึ่งของเชียงใหม่ในหมู่นักดื่ม ท่ามกลางแสงสีจากป้ายไฟสี่เหลี่ยมใน My BEER Friend Market: Flagship café บนถนนช้างม่อย ไม่ไกลนักจากลานท่าแพ เรานั่งลงพูดคุยกับอีกหนึ่งกำลังหลักของ My BEER Friend เคล้ารสขมและกลิ่นหอมหวานของ IPA แก้วแรกในค่ำคืนนี้
เมา (และเหมา)
ความมึนเมาอยู่ในความสัมพันธ์แบบ Love-hate relationship กับคนไทยมาโดยเสมอ เพราะในความรื่นรมย์สนุกสนานจากดีกรีของแอลกอฮอล์นั้น มันกลับคาบลูกคาบดอกระหว่างสุนทรียะส่วนบุคคลกับการรับผิดชอบต่อส่วนรวมบางประการ ยิ่งเมื่อถูกศีลธรรมตั้งคำถามซ้ำเข้าไปด้วย ยิ่งทำให้การเมาเป็นสีเทาเข้มอย่างที่บอกไม่ได้เสียทีว่ามันคือความดีหรือความเลวกันแน่
แต่แม้ว่าความเมาถูกปักป้ายให้เป็นผู้ร้ายมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล (หรืออาจนานกว่านั้น) ผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปี ความเมาก็ยังคงดำรงอยู่คู่กับมนุษย์ (และศีลธรรม) อยู่เช่นเคย จนยากจะบอกว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เรารักหรือชังความมึนเมากันแน่
อะไรทำให้ต้องเลือกสื่อสารผ่านเบียร์ คำถามแรกถูกยิงตรงไปยังเหมา – ธีรวุฒิ แก้วฟอง ข้าราชการที่มีอาชีพเสริมหลายหลาก นับตั้งแต่การทำแบรนด์สุราพื้นบ้านอย่าง ชูใจ และการทำ My BEER Friend คราฟต์เบียร์เชียงใหม่ซึ่งนำพาให้เรามานั่งคุยกันวันนี้ด้วย
“ขายดี” เขาตอบเสียงดังชัดเจนทำเอาเราฮาครืน ก่อนที่จะกดเบียร์สดจากแท็ปมาครบจำนวนคนในวงสนทนา แล้วนั่งลงคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว
“ผมลองอย่างอื่นมาแล้ว อย่างสาโทชูใจเนี่ยดังระดับหนึ่งนะ แต่ดังเฉยๆ ไม่ได้มีการซื้อมาก ไม่ซื้อซ้ำ ที่สำคัญคือการซื้อซ้ำ ชูใจเมันมาด้วยภาพความแปลกใหม่ คือความว้าวมันเกิดขึ้น แล้วคนก็จะมาซื้อ ซื้อเสร็จก็ไม่ซื้ออีก ถ่ายรูป อัปโหลดเรียบร้อย ได้ไลก์แล้ว ก็พอ เขาไม่ได้กินจริง แต่พอทำเบียร์ คนถามว่าพี่ขายอะไรครับ ขายเบียร์ครับ จบ ซื้อเลย เพราะทุกคนมีแบกกราวนด์ในการดื่มเบียร์กันหมด”
โปรไฟล์คนทำคราฟต์เบียร์ไทยส่วนมากค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน คือเริ่มจากความหลงใหลในรสชาติและบริบทของเบียร์ แต่กับเหมาแล้ว เขาเริ่มต้นมาจากสุราท้องถิ่นหรือ ‘เหล้าต้ม’ ที่บ้านเกิดของตัวเอง
“อันดับแรกเลยที่ทำให้เข้าวงการมา เพราะว่าแถวบ้านเขาทำเหล้า แล้วก็ โอ้ อร่อยจังเลย เขาเลยขาย ขายเสร็จก็โดนจับ ตอนนั้นตัวเราดันรับราชการพอดี แม่โทรมาบอกว่า ลูก ลุงคนนั้นคนนี้โดนจับ มาเคลียร์หน่อย ก็ไป ไปคุยๆ กัน ครั้งแรกก็ผ่านไป แต่ก็รู้สึกว่ามันไม่จบ เพราะว่าเดี๋ยวมันก็เกิดอีก รอบ 2 รอบ 3”
คือโดนจับแล้วก็ยังซื้อขายกันต่อ?
“ใช่ โดยเฉพาะของดีๆ อร่อยๆ เขารู้กัน บ้านนี้ทำสาโทดี ทำอร่อย ก็ไปขอซื้ออีก ไม่ทำก็ไม่ได้ มันมีสูตร มีความอร่อย มันหลากหลาย มีวิธีการที่เขาส่งต่อกันมา มีเยอะมาก แต่มันไม่ถูกต้องเลย เพราะกฏหมายบอกว่าไม่ถูก รัฐก็บอกว่าไม่ถูก ผมซึ่งอยู่ตรงนี้ก็ต้องไปแก้ปัญหาที่ปลายทางเสมอ ก็คือไปจ่ายค่าปรับ ไปต่อรอง วันหนึ่งก็เลยคิดว่า เห้ย แล้วเราทำให้มันถูกได้ไหมวะ ก็เลยเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำสาโทถูกกฏหมาย จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ก็กลายเป็นตัวชูใจขึ้นมา”
คุยกันมาจนเบียร์พร่องแก้วเราก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเริ่มพูดถึงเบียร์ตอนไหน และเข้าใจว่าเส้นทางความเมาของเหมาไม่ได้เริ่มจากเบียร์มาตั้งแต่ต้น
“ตอนแรกเป็นคนไม่กินเบียร์เพราะว่าไม่ชอบ มันแน่นท้อง เรอไม่เป็น ผมกินเหล้า กินไวน์มากกว่า จนมีช่วงหนึ่งไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ไปอยู่นานไง แล้วก็ชักจะไม่ไหว กินไวน์ทุกวัน กินจนเบื่อ เข้าวันที่ 20 แล้ว เราก็ไม่ไหวแล้ว เหล้ามั้ย แต่ไม่มีเหล้าผสมโซดาไง ต้องกินวิสกี้ออนเดอะร็อกอย่างนี้ งั้นเอาเบียร์แล้วกัน ก็ไปกิน แล้วก็พบว่า เห้ย มันเจ๋ง! เพราะเราก็เป็นคนไทย กินเบียร์มาแค่สองสามยี่ห้อซึ่งเหมือนๆ กัน แต่พอไปกินวันนั้นมันมีขม มีหอม มีรสชาติแบบอื่น ไม่เคยกิน
“กลับมาเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนกันทุกวันนี้นี่แหละ บอกเพื่อนว่าอยากทำว่ะ เราก็เลยเอาเลย ลองซื้อเบียร์ที่มันมีตอนนั้น ตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านเบียร์ แพงนะ ขวดละ 300 500 เอามาลองกิน จริงๆ คือไม่ได้เป็นคนที่มีแพสชั่นอะไรมาเลย
“หลังจากนั้นก็กูเกิ้ลเลย How to make beer ของก็หาซื้อออนไลน์ ในเน็ต สมัยนั้นก็จะมีรับหิ้วของจากอเมริกา บอกที่อยู่ แล้วเขาจะหิ้วของมาให้ คนหิ้วยังงง เพราะส่วนใหญ่เขาจะไปหิ้วรองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า พวกนี้ไปหิ้วฮ็อปมา ก้อนเขียวๆ ที่อัดแห้งเป็นสี่เหลี่ยมน่ะ คิดดูสิ ผิดกฏหมายชัดๆ ไม่น่ารอด เขาถามว่า คุณลูกค้าแน่ใจนะคะว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกกฏหมายในประเทศไทย เลยตอบไปว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ (หัวเราะ)”
มายเบียร์เฟรนด์
My BEER Friend คือชื่อของแบรนด์คราฟต์เบียร์ของเชียงใหม่ ผลิตขึ้นโดยคนเชียงใหม่ และมีขายเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น นอกจาก My BEER Friend Market ร้านบนถนนช้างม่อยซึ่งเป็นเหมือนหน้าร้านหลักของแบรนด์แล้ว ยังมีวางจำหน่ายในร้านแฟรนไชนส์และร้านพันธมิตรของ My BEER Friend ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ เพียงมองหาป้ายไฟรูปหมาเทินเบียร์ซึ่งเป็นโลโก้ของร้าน หากที่ไหนมีเจ้าหมาตัวนี้อยู่ก็แปลว่าคุณจะได้ลิ้มรสชาติของเบียร์เชียงใหม่อย่างแน่นอน
“ผมตั้งชื่อเบียร์ไว้อหังการมากเลยนะ My BEER Friend ไม่ใช่แค่ผม ไม่งั้นอาจผมจะตั้งว่า เบียร์ออฟเหมา ก็ได้ แต่ผมตั้ง My BEER Friend ไปเลย เพราะสุดท้ายมองว่าปลายทางมันจะเป็นกลุ่ม เป็นสังคมอะไรสักอย่างหนึ่ง เป็นอะไรก็ตามแต่ที่เป็น My BEER Friend”
หลังจากเราทุกคนเริ่มเบียร์แก้วที่สอง ข้าราชการซึ่งตอนนี้รับบทเป็นคนทำเบียร์คนนี้ก็เล่าถึงเจตจำนงค์เบื้องหลังชื่อ My BEER Friend แม้จะฟังดูเท่ไม่หยอก แต่การเดินทางของคราฟต์เบียร์เชียงใหม่ชื่อนี้ผ่านความสะบักสะบอมมานักต่อนัก
“ก่อนหน้านั้นก็แค่ต้มเบียร์กินเอง ต้มเสร็จ บรรจุเสร็จ แบ่งครึ่งกัน เอาขวดใส่ตะกร้า หิ้วกลับบ้าน กริ๊กๆๆๆ ได้กินเบียร์แล้ว ลงเงินไปหนึ่งพันบาท กลายเป็นว่าเราลงคนละ 500 แล้วได้เบียร์ตั้ง 11 ขวดแน่ะ ตกขวดละ 40 กว่าบาทเอง ดีใจ แค่นี้ จบ กลับบ้าน แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มเอาไปขาย ก็เกมเลย โดนจับ
“พอเกมก็เซ็งประมาณซักเดือนสองเดือน ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ไปบอกเพื่อนว่า เห้ย ป่ะ ต่อ กูรู้ละว่าอะไรทำให้เราโดนจับ ก็ย้ายไปที่ไกลๆ เลย ไปหาเช่าโกดังร้าง เอาคนงานไปอีกสองคน ทำเป็นโรงเป็นเรื่องเป็นราวเลย ผมไปทำหม้อสเตนเลส 70,000 เอากลับมา ไม่มีใครทำหรอก แต่ผมทำ ผมลงเงินไปเป็นแสนแล้วรอบสอง จะทำโรงเบียร์เถื่อน ไม่ให้ทำใช่มั้ย ได้ เดี๋ยวเจอกัน
“แต่ที่เนี่ยมันมีค่าใช้จ่าย มีเงินเดือนพนักงานแล้ว สินค้ามันเลยต้องโดนผลักออกมา เพื่อเอามาขายเป็นเงินกลับมา โลโก้ต้องออก การตลาดต้องมา นี่คือสิ่งที่ My BEER Friend โดนถีบจากการโดนจับ แต่โดนจับแล้วเราไม่ทิ้งไง ถ้าทิ้งก็จบ ก็แค่ไอ้บ้าสองตัวที่ เห้ย ครั้งหนึ่งเราเกือบจะได้ทำเบียร์เนอะ แต่เราไม่ เราทำต่อ”
ต้องยอมรับว่าพอบทสนทนาเรื่อยเรียงมาถึงตรงนี้แล้ว เบียร์ในมือเราแม้จะเป็นแบบเดิมที่นั่งดื่มมาตั้งแต่ต้น แต่รสชาติของมันเข้มข้นขึ้นตามเรื่องเล่าอย่างช่วยไม่ได้
“ซึ่งก็ยังไม่ถูกกฏหมายเหมือนเดิม แต่ก็ขาย ขายเอง พ่วงท้ายมอเตอร์ไซค์ไป ไปตามอีเวนต์ที่พึงจะขายได้ เหมือนรถขายกับข้าวเลย ขายเสร็จกลับบ้านมาห้าทุ่ม ทั้งๆ ที่ก็ทำงานประจำตามปกตินะ แต่มันไม่ทำให้เหนื่อยเลย มันโคตรชื่นใจ เวลาเรากดเบียร์ขายได้ คือมันดี ดีมาก แต่ร่างกายเราเนี่ยเหนื่อยสุดๆ กลับบ้านมาก็ต้องล้างรถ ล้างระบบเบียร์ ต้องทำเองเพราะเป็นแรงงานคนเดียว
“แต่ว่าทำยังไง ขายยังไงก็ไม่หมด เพราะว่าเราทำเยอะจริงๆ จากเดิมที่เคยทำ 20 ลิตร มันกลายเป็น 120 ลิตร 6 เท่า เพราะว่าผมทำระบบการทำเบียร์เถื่อนอันรุนแรงไว้ (หัวเราะ) เทวัตถุดิบลงใช้ทีหนึ่งครั้งละครึ่งกระสอบ แล้วมันก็เลยไม่หมด เราเริ่มทำแบรนด์ช่วงปี 2014 ตลาดยังไม่โตพอที่ทุกคนจะรับได้ หรือจะเข้าใจคราฟต์เบียร์
“มีวันหนึ่งผมก็เอา My BEER Friend ไปขายที่ร้านหนึ่งบนถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 5 เขามีงาน ผมก็เอาไปเฉพาะวันศุกร์ เพราะว่าเราว่าง วันปกติก็ทำงาน ขายได้ไม่มากหรอก ก็ 5 แก้ว 10 แก้ว เหมือนเดิม ศุกร์ต่อมาไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน เพราะบางสัปดาห์มันไม่มีอีเวนต์อะไรเลย แต่ร้านนั้นก็บอกว่า เห้ย ก็เอามาขายที่เดิม รอบที่แล้วขายไม่ค่อยดีเท่าไหร่เนอะ รอบนี้มาขายฟรีก็ได้ จะได้สนุกๆ กัน เพราะว่าพี่ชอบเบียร์เรา เขาว่าอย่างนี้ สัปดาห์ที่ 3 ก็ยังไปอยู่ พอสัปดาห์ที่ 4 มีอีเวนต์ เราก็เลยไปที่อื่น
“สัปดาห์นั้น เจ้าของร้านถ่ายรูปมาให้ดู เห้ย เอ็งดูนี่ คนเขามานั่งรอ (หัวเราะ) รอซื้อเบียร์ เพราะว่าเขานึกว่าเป็น Friday Event ก็เลยมาคิดได้ว่า เออ จริง มันเหมือนรถกับข้าวแหละ วันนี้ตอนบ่าย 3 เดี๋ยวรถกับข้าวจะมา เราก็จะไปรอซื้อกับข้าว มันเหมือนจุดนัดพบแล้ว ผมก็เลยออกมาทำที่ใหม่ของตัวเอง เราจะไม่เวียนไปตามที่ต่างๆ แล้ว จะจอดที่เดิม ซ้ำๆ นัดกัน ตั้งชื่อว่า In the mood for beer”
แล้ว In the mood for beer เป็นอย่างไรบ้าง – เราถาม
“สัปดาห์แรกขายเบียร์ได้ไม่ต่างกับที่นิมมานฯ ซอย 5 เลย แต่สัปดาห์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เนี่ย ชั่วโมงหนึ่งหมดเกลี้ยง หลังจากนั้นเบียร์เราก็ดีเลย ลอยลำ แล้วก็เกมอีก รอบสอง”
บางคนในวงสนทนาจุดประเด็นขึ้นมาว่า คนต้มคราฟต์เบียร์ในไทย ล้วนแล้วแต่ต้องโดนจับกันทั้งนั้น เหมือนเป็นหลักไมล์หนึ่งของชีวิตการทำเบียร์ แจกฮากันอีกหนึ่งครืน ก่อนเหมาจะยืนยันด้วยประสบการณ์ตรง
“ใช่ๆ มันจะเป็นอย่างนี้ละ คือเริ่มจากต้มเบียร์เอง แล้วก็จะมีวันหนึ่งที่มีไอ้บ้าคนหนึ่งลุกขึ้นมาบอกว่า เห้ย เราขายดีกว่า แล้วก็โดนจับ เป็นเรื่องเป็นราว ก็มี 3-4 เจ้า กรุงเทพฯ นนทบุรี ส่วนเชียงใหม่เป็นผมนี่แหละ เกมครับ แป๊บเดียว โดนจับหมด (หัวเราะ) ทุกคนต้องเคยโดน”
คล้ายกับว่าทุกคนต้องเคยทำผิดกฏหมายมาก่อน?
“ไม่ๆ ผมไม่ได้ทำผิด ในเมื่อกติกาบอกว่ามันผิด ผมก็เลยต้องทำให้มันถูกนี่ไง เดิมทีตรงนี้เป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์มาก่อน 2 คูหา ก็เลยมาขอแบ่งเช่าครึ่งหนึ่ง แล้วก็มูฟเบียร์ทุกอย่างไปทำที่ต่างประเทศ พอแล้ว ขี้เกียจโดนจับ มันได้เวลาของมันแล้ว ไม่งั้นก็จะพายเรือในอ่าง ไม่อยากเป็นคนเจ๋งที่ไม่รู้จะไปไหนต่อ”
มอกม่วน
มอกม่วน เป็นภาษาถิ่นเหนือที่หมายถึงการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่เพื่อพอให้เป็นความบันเทิงเริงใจ แน่นอนว่าในบริบทนี้ย่อมจะหมายถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงเพื่อให้พอได้กึ่ม ไม่ใช่การดื่มเพื่อเมามายขาดสติ และ ‘มอกม่วน’ นี้เองอาจเป็นปรัชญาแห่งการดื่มที่คราฟต์เบียร์แห่งเชียงใหม่ในชื่อ My BEER Friend กำลังพยายามจะสื่อสารผ่านเบียร์สารพัดแบบในตู้แช่และในแก้วที่เพิ่งกดออกมาจากแท็ปของร้าน
“คราฟต์เบียร์เนี่ย มันไม่มีใครกินเอาเมาหรอก มันมีกลิ่นมีรส มีความสุนทรีย์ที่ซ้อนอยู่ แต่มันไม่มีใครกินเบียร์อุตสาหกรรมเพื่อเอารสชาติเลยนะ” เหมาพูดก่อนยกแก้วจิบ “คราฟต์เบียร์เป็นสิ่งที่สนับสนุนให้คนกินเอารส อาจจะมีสำนึกในการกินเบียร์มอกม่วน เล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ขับรถกลับบ้าน แค่นั้น”
แล้วเดี๋ยวนี้คนเราไม่ได้ดื่มเบียร์มอกม่วนแล้วเหรอ เราโยนคำถาม
“ก็อาจใช่ การมีโปรฯ เบียร์ แสดงว่าคนอยากจะส่งเสริมการขาย ให้มีคนดื่มเยอะๆ กำไรต่อหน่วยน้อยหน่อย แต่ว่าได้จำนวนเยอะขึ้น ซึ่งเราก็ไม่ติดอะไรหรอก นั่นก็เป็นวิธีเขา แต่ผมเชื่อเรื่องการดื่มเพื่อความสุนทรีย์มากกว่า การที่เรามีตัวเลือก เราจะได้ดื่มสิ่งต่างๆ ในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่ว่าฉันชอบกินเบียร์ยี่ห้อนี้เพราะมันขวดละหกสิบ ราคามันบิดเบี้ยวไง
“มันไม่แฟร์ในเรื่องของโครงสร้างราคาเฉยๆ จริงๆ คราฟต์เบียร์ก็ไม่ควรจะแพงขนาดนี้ แต่การที่เราไม่มีโรงเบียร์ที่สามารถผลิตคราฟต์เบียร์ได้ในประเทศ นี่ไม่ทำให้บิดเบี้ยวเหรอ”
หากว่ากันตามข้อกฏหมายในปัจจุบัน การจะจัดตั้งโรงเบียร์เพื่อผลิตคราฟต์เบียร์ขึ้นเองในประเทศ ผู้ผลิตจะต้องจัดตั้งบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และต้องมีปริมาณการผลิตขั้นต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี นั่นหมายถึงแม้จะมีทุนจดทะเบียนเกิน 10 ล้านบาท แต่ต้นทุนในการผลิตเบียร์เพื่อให้ได้ตามปริมาณที่กฏหมายกำหนดย่อมต้องใช้ต้นทุนมากกว่านั้นราว 10 เท่าตัว นั่นหมายถึงการจัดตั้งโรงเบียร์ขึ้นในประเทศนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่คนตัวเล็กตัวน้อยทั่วไปจะสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง
คราฟต์เบียร์ที่ดื่มกัน ‘มอกม่วน’ ในปัจจุบันนี้จึงเป็นคราฟต์เบียร์ที่ผลิตโดยคนไทย แต่ต้องส่งไปผลิตในโรงเบียร์ต่างประเทศที่ข้อกฏหมายของประเทศนั้นๆ เอื้ออำนวยให้ผลิตเบียร์ได้ในปริมาณน้อยๆ แล้วจึงบรรจุและนำเข้ามาจำหน่ายโดยการแปะแสตมป์สรรพสามิต และจ่ายเงินภาษีในราคาที่เท่ากันกับการเบียร์ต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนเบียร์คราฟต์สูงขึ้นจนอาจเกินคำว่า ‘มอกม่วน’ ไปมากในมุมมองของผู้บริโภค
ปัจจุบัน My BEER Friend และคราฟต์เบียร์ฝีมือคนไทยทั่วประเทศก็จำหน่ายอย่างถูกกฏหมายได้ด้วยวิธีเดียวกัน
เมืองเจียงใหม่
“คือถ้าเกิดว่ามีใครสักคนลุกมาทำคราฟต์เบียร์ในประเทศนี้นะ อันดับแรกเลยก็คือ มันไม่ใช่เงินแล้ว โอเค มันต้องไม่ขาดทุน มันต้องพอมีกำไรใช้จ่าย แต่ว่าต้องไม่ใช่คนที่มีฝันเป็นมหาเศรษฐรี เพราะว่าถ้าทำอย่างนั้น ไปทำธุรกิจอย่างอื่นง่ายกว่า แต่อันนี้ไม่ใช่ เราแค่มีความรู้สึกว่า เห้ย เชียงใหม่เว้ย ของมันต้องมี เราต้องทำ”
ไม่รู้ว่า ‘ของมันต้องมี’ สำหรับคนอื่นคือมีในระดับไหน แต่กับเหมาะและ My BEER Friend ‘ของมันต้องมี’ หมายถึง มีทั้งหมด
“ถึงปัจจุบันนี้ เรามีจุดจำหน่ายประมาณ 50 ที่ เฉพาะในเชียงใหม่ ในเชียงใหม่เท่านั้น ประมาณ 8 อำเภอแล้ว ไม่ได้มีแค่ในอำเภอเมือง แต่เรามีจุดจำหน่ายในอำเภอรอบนอกด้วย มีพนักงานที่เป็นหน้าร้าน หลังร้าน ขายปลีก ขายส่ง บัญชี เรามีหมด มีสต๊อก มีประกันสังคม เรานำเข้าเบียร์ของเราเอง มีใบอนุญาตนำเข้าสุรา เราเดินทางไปต่างประเทศ เราได้รับเทียบเชิญจากโรงเบียร์ชั้นนำในเอเชีย และทวีปข้างเคียงด้วย
“My BEER Friend ใช้เวลาทั้งหมด 4 ปีกว่าจะมีร้านนี้ แต่เราไม่รีบเลย เรารอให้ลูกค้าเราพร้อมแล้ว เราเตรียมตัวเอง ในขณะที่ลูกค้าเราก็เตรียมตัวของเขา ตอนนี้คราฟต์เบียร์ไม่ใช่เรื่องว้าวแล้วนะ เขาแค่ อ๋อ คราฟต์เบียร์ อ๋อ ร้าน My BEER Friend ก็จบ”
ในเวลา 4 ปีแห่งความค่อยเป็นค่อยไปนี้ My BEER Friend เริ่มสร้างรากฐานวัฒนธรรมคราฟต์เบียร์ให้แข็งแรงขึ้นทีละน้อย จนกลายเป็นการวางจำหน่ายหลายสิบร้านทั่วจังหวัด และเมื่อจำกัดการขายไว้เฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ หาซื้อทีอื่นไม่ได้ มันจึงกลายเป็นของดีประจำจังหวัดไปด้วยโดยปริยาย
“แรกๆ ก็มาโดยบังเอิญบ้าง อะไรบ้าง หลังๆ ก็เริ่มมีแบบตามมากินเบียร์เลย มีทั้งตั้งใจมาเอง แล้วก็มีแบบที่เขาระบุมาในโปรแกรมการเดินทางเลย หนึ่ง กินข้าวซอย สอง ไหว้พระธาตุดอยสุเทพ แล้ว สาม ก็มากิน My BEER Friend (หัวเราะ) มีรถตู้มาจอดเลย ถึงแล้วครับ ตรงนี้นะครับ ที่มาของร้านคือแบบนี้ๆ มันก็ฮาดี ผมชอบนะ กับอีกอย่างหนึ่งก็คือพวกที่รับพรีออร์เดอร์ของจากเชียงใหม่ ประกอบด้วย แคบหมู แหนม และ My BEER Friend”
เหมาพูดแล้วหัวเราะร่า เราสัมผัสได้ถึงความภาคภูมิใจที่อยู่ในเสียงหัวเราะนั้นอย่างซ่อนไม่มิด ทั้งความภาคภูมิใจที่มีต่อ My BEER Friend ของเขา และความภาคภูมิใจในจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน
คุณรักเชียงใหม่ไหม? เราถามทั้งที่รู้คำตอบอย่างชัดเจน
“มาก” เขาตอบทันที
สิ่งที่คุณทำอยู่ คุณทำเพื่อกระตุ้นวัฒนธรรมบางอย่างให้กับเชียงใหม่หรือเปล่า – มีคนชิงถามต่อ
“ไม่เลย เพราะว่า เชียงใหม่ไม่จำเป็นจะต้องโดนกระตุ้นขนาดนั้น เชียงใหม่เจ๋งของเขาอย่างนี้อยู่แล้ว แต่ผมแค่มีความรู้สึกแค่ว่า เชียงใหม่ทำไม่อันนี้ไม่มี ทำไมอันนั้นไม่มี แบบนี้มากกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเรามีความรู้สึกว่าเราเป็นคนจังหวัดนิยมนั่นแหละ เพราะเรารักเชียงใหม่มาก ไม่เคยไปไหน ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ก็อยู่ที่นี่ เชียงใหม่มันพอดีมากสำหรับผม มันไม่มากไม่น้อย เราอาจจะช้ากว่าเมืองหลวง แต่เราก็ไม่ควรขาดอะไร เช่นบาร์คราฟต์เบียร์ดีๆ”
เราตั้งคำถามไปสุ่มๆ ว่านี่อาจคือเหตุผลที่ My BEER Friend มีวางจำหน่ายเฉพาะในเชียงใหม่เท่านั้น
“อ๋อไม่ ไม่เลย ผมเป็นคนจังหวัดนิยมแน่ๆ แต่ที่ไม่ขายเบียร์ที่ไหน จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเลย โอเคมันอาจจะดูเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดนิดหน่อย แต่ว่าความจริงแล้วคือขี้เกียจส่ง ขี้เกียจมีปัญหา คือตอนที่ทำ Home Brew ด้วยความเป็น Home Brew มันก็จะไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพที่เท่าเบียร์ ณ วันนี้ เพราะฉะนั้นข้อผิดพลาดมันเกิดขึ้น จากการขนส่งก็ดี จากการที่เสิร์ฟเบียร์ของเราไม่ถูกวิธีก็ดี แล้วมันมีฟีดแบ็กมา ไม่เห็นอร่อยเลย My BEER Friend เห้ย อันนี้รับไม่ได้ (หัวเราะ) ขอขายในที่ที่เราขี่มอเตอร์ไซค์ไปดูได้ดีกว่า ไหนดูสิมันไม่อร่อยยังไง อันดับแรกคือเรื่องนี้
“ที่สำคัญคือ มันมีแบบนี้ทั่วโลก โรงเบียร์ท้องถิ่น ก็ไปตำบลนี้สิ ในเมืองนี้ ของประเทศนี้ เขาก็มีโรงเบียร์ ก็เป็นโรงเบียร์เล็กๆ ที่ไม่ได้มีความสามารถในการจำหน่ายสินค้าเขาอะไรมากมาย แต่ว่าในแถวบ้านนั้น มันก็มีโรงนี้ แล้วทุกคนก็ต้องไปกิน พอเราย้ายไปอีกที่นึง มันก็มีอีก ก็เป็นอย่างนี้เสมอ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราต่อกันอยู่ เหลือแต่คนดื่มแล้วว่าคนดื่มแค่อยากจะได้อะไร
“ผมแฮปปี้แล้วที่วันนี้ผมได้ทำเบียร์ ที่วันนี้มีคนแบบพวกคุณมาถึงเชียงใหม่ แต่ก็ยังเชื่อว่าวันหนึ่งมันจะมีคนที่เสียงดังมากกว่าคนทำเบียร์ ก็คือคนกินเบียร์ คือคนพวกที่ไม่เข้าใจว่าอยู่ที่ไหนก็เคยได้กิน แต่พอมาอยู่ที่นี่ทำไมไม่มี IPA กินวะ ซึ่งบอกเลยว่าสำหรับเราในฐานะผู้ผลิตนะ เราทำได้เว้ย จะกินอะไรล่ะ บอกมาเลย ถ้าพูดถึงการผลิตเราต้มได้หมดเลย เพียงแต่เราติดเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้คราฟต์เบียร์มันเกิดขึ้นในเมืองเล็กเมืองน้อยแบบจริงๆ ไม่ได้แค่นั้น”
ฟังดูเหมือนว่าในก้าวการเติบโตของคราฟต์เบียร์ไทย จำเป็นต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แน่นอนว่าผู้ผลิตคราฟต์เบียร์กำลังรวมตัวกันแข็งแรงมากขึ้น ในท้องตลาดเรามีเบียร์ที่หลากหลายขึ้น แต่คล้ายกันว่ายังมีอีกหลายจุดของวงจรที่จำเป็นจะต้องเดินไปในทางเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนคราฟต์เบียร์ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างสมเหตุสมผล บางจุดทำได้ยาก บางจุดทำได้ง่ายกว่า และดูจะกระเตื้องขึ้นที่ละนิดๆ ในทุกวัน
“สำหรับ My BEER Friend คนกินสำคัญนะ การ educate การดูแลกัน แล้วก็เข้าอกเข้าใจกัน มันเหมือนว่า เราไม่กินดราฟต์เบียร์นะ แต่ลูกค้ากิน แล้วเราจะจูนกันอย่างไร เมื่อวานเขาก็กิน วันนี้เขามากินคราฟต์เบียร์ พรุ่งนี้เขาก็กลับไปกินเบียร์อุตสาหกรรมเหมือนเดิม ก็ต้องเข้าใจเขา เหตุผลเดียวก็คือเรื่องราคา”
แล้วทำอย่างไรคราฟต์เบียร์จะถูกลงได้กว่านี้?
“ทำเบียร์ที่นี่ ทำที่นี่เลย แล้วก็เอาของที่นี่ทำ ไม่ต้องนำเข้ามาจากนิวซีแลนด์ ไม่ต้องบินไปโฮจิมินห์เพื่อไปต้มเบียร์ แล้วก็ไปอีกเพื่อไปเทสต์เบียร์ก่อนบรรจุ มันเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แล้วก็ภาษีสินค้านำ ถ้ามีโรงเบียร์ เบียร์จะถูกลง แล้วคราฟต์เบียร์มันจะเกิดขึ้นได้จริงๆ ในราคาจับต้องได้จริงๆ ที่คนกินจะสามารถมาหาเราได้บ่อยเท่าที่ต้องการ”
คำตอบของเหมาเป็นคำตอบเดียวกันกับที่เคยได้ยินจากคนต้มเบียร์ทั่วประเทศ แน่นอนว่าอาหารคราฟต์ เครื่องดื่มคราฟต์ต่างๆ ย่อมจะราคาสูงกว่าอาหารหรือเครื่องดื่มที่ลำเลียงออกมาจากระบบอุตสาหกรรม หากแต่ว่าต้นทุนของคราฟต์เบียร์นั้นสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะต้องแบกรับทั้งค่าเดินทางขนส่งและค่าภาษีนำเข้าในฐานะของสุราต่างประเทศ
“แต่ตอนนี้เราก็เดินทางกันมาไกลมากแล้วนะ เราก็มีผู้แทนที่เป็นคนต้มเบียร์อยู่ในสภาแล้ว ผู้บริโภคก็ตระหนักรู้แล้วว่ากฏหมายมันเป็นอย่างนี้ เราเลยต้องต้มเบียร์ที่อื่น แล้วนำเข้ากลับมา คนที่เดินมาหาเราเนี่ย เขารู้แล้ว ไม่ต้องอธิบายอีก ซึ่งในวันข้างหน้ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบไหนก็ต้องจับตาดูด้วยกันทั้งหมด”
“ส่วน My Beer Friend ก็จะไม่มีเจ้าของคนเดียวแล้ว” เมื่อเราถามถึงวันข้างหน้าของ My BEER Friend บ้าง เขาก็ตอบอย่างตื่นเต้น “เราตั้งใจไว้แบบนี้ เรามีแผนว่า วันหนึ่งเราจะได้ส่งต่อหุ้นโรงเบียร์ให้กับร้านสาขาทั้งหมด แล้วก็กันส่วนหนึ่งให้คนเชียงใหม่ ร้านที่เอาเบียร์ของเราไปวางขาย จะได้สิทธิ์เป็นคนถือหุ้นกลุ่มแรก แล้วเขาก็จะเป็นสาขาไปโดยปริยาย อันนี้ในเชิงกลยุทธ์ ส่วนในเชิงหล่อก็ต้องบอกว่า อะไรที่คนรู้สึกได้เป็นเจ้าของร่วมกัน ถ้าโรงเบียร์นี้เกิดขึ้นได้จริง ทุกคนก็จะแฮปปี้
“แล้วเราก็ฝันไว้ว่าเราก็จะแบ่งหุ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินประมาณหนึ่งล้านบ้านให้คนถือ คนละพันบาท ทุกคนก็จะได้เป็นเจ้าของ My BEER Friend แล้วมันจะกลายเป็นโรงเบียร์ของเมืองโดยแท้ เป็น My BEER Friend จริงๆ มันจะทำให้เชียงใหม่เป็นที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เจ๋งขึ้นอีก จริงๆ เท่านี้ผมก็แฮปปี้ดีแล้ว แต่ผมอยากไปต่อ ผมอยากได้ยินคนอื่นเขาพูดว่า เออ พวกเชียงใหม่มันเจ๋งว่ะ”
My BEER Friend Market
พิกัด: 299 ถนนช้างม่อย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
เวลาเปิด – ปิด: 17:00-00:00 (หยุดทุกวันอังคาร)
ภาพโดย สุรเชษฐ วงศ์หาญ