7 อาหารสุดป๊อปที่เกิดจากความบังเอิญ

2,482 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
อาหารส่วนมากมีต้นกำเนิดที่ชัดเจน แต่ก็มีหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากความบังเอิญล้วนๆ

รสชาติอร่อยแค่ไหน คุณประโยชน์ล้ำเลิศเพียงใด คุ้มค่ากับเงินที่จะเสียไปไหม  3 สิ่งนี้มักผุดขึ้นมาในหัวเสมอเวลาสายตากวาดเจอเข้ากับกองวัตถุดิบหรืออาหาร แต่มีสิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนมองข้ามไป เคยสงสัยกันไหมว่า อาหารที่เรากำลังกินกันในทุกๆ วันนี้ มีต้นกำเนิดเกิดขึ้นมาได้ยังไง? นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวยามที่เรามองเห็นอาหารเลยใช่ไหม แต่รู้ไว้ก็ไม่เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติอาหารที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากความตั้งใจ แต่เป็นเพราะความบังเอิญและโชคชะตาล้วนๆ ที่ทำให้อาหารนั้นๆ เกิดมีชีวิตชีวา เป็นวัตถุดิบที่ป๊อปปูล่าร์มาจนถึงปัจจุบัน

เอาเป็นว่า บนโลกนี้มีความลับของอาหารอยู่มากมายที่เราไม่เคยรู้ ที่ถ้าได้รู้จะต้องเกิดความทึ่ง อย่างเช่นเหล่าอาหารที่เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญแท้ๆ เชียวเหล่านี้

ชีส

รสเค็มละมุนลิ้น ผลผลิตจากการแปรรูปนมและกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ถือกำเนิดขึ้นบนโลกราว 6,000 ปีก่อนคริสตศักราช ณ ดินแดนร้อนระอุยิ่งกว่าแดดประเทศไทย นั่นคือทะเลทรายแถบเมโสโปเตเมียนั่นเอง โดยเรื่องเกิดจาก ชายชาวอาหรับ กับอูฐคู่ใจของเขา (ฟังคล้ายนิทานอีสปที่เคยได้ยินกันมา) เรื่องราวมีอยู่ว่า ชายชาวอาหรับผู้นี้ได้เดินทางข้ามเมืองด้วยอูฐ แน่นอนว่าเส้นทางที่เขาเลือกใช้ในการเดินทางนั้นหนีไม่พ้นทะเลทราย สถานที่ซึ่งกระตุ้นความหิวกระหายได้เป็นอย่างดี แต่เขาได้เตรียมนมใส่กระเป๋าที่ทำมาจากกระเพาะของแกะเอาไว้บรรเทาอาการคอแห้งเรียบร้อย เมื่อรู้สึกคอแห้งจึงหยิบนมขึ้นมาดื่ม แต่กลับพบว่า นมที่อยู่ในกระเพาะแกะนั้นกำลังเล่นมายากลกับเขา มันแยกออกจากกันเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นน้ำนมปกติ ส่วนที่สองจับตัวกันเป็นก้อน แถมมีรสชาติอร่อยอย่างที่ลิ้นของเขาไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

ทำไมนมถึงจับตัวเป็นก้อน กลายเป็นชีสขึ้นมาได้? นั่นเป็นเพราะเยื่อบุในกระเพาะของแกะมีเอนไซม์เรนเนท (Rennet) เมื่อเจอความร้อนระอุของทะเลทรายและแรงสั่นสะเทือนจากการเดินทางบนหลังอูฐ จึงทำให้นมจับตัวกันเป็นก้อน และกลายเป็นชีส อาหารที่ใครๆ ต่างก็รักในที่สุด

เบียร์

เมรัยยอดฮิต สายดื่มไม่มีใครไม่รู้จักแน่นอน เพราะช่วงย่ำค่ำในหลายๆ พื้นที่ ‘เบียร์’ จะถูกหยิบยกขึ้นมาวางบนโต๊ะพร้อมกับแกล้ม ดึกได้ที่สักหน่อยเสียงดนตรีจะคลุกเคล้าบรรยากาศและอาหารหลอมรวมกันจนทำให้เกิดความมึนเมา ผสมผสานความเฮฮาในวงเหล้า บอกได้ว่าม่วนคักๆ แม้จะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าต้นกำเนิดของเบียร์เกิดขึ้นในสมัยใด แต่มีเรื่องสืบมาโดยมุขปาฐะว่า เบียร์เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอารยธรรมเมโสโปเตเมีย คนแถบนั้นมักจะเก็บธัญพืชมาเตรียมทำขนมปัง แต่เรื่องบังเอิญเกิดขึ้นเมื่อพื้นที่ที่ใช้เก็บธัญพืชมีความชื้นมาก ทำให้เมื่อนำธัญพืชเข้าไปเก็บไว้เป็นเวลานานก็เกิดกระบวนการหมักจนกลายเป็นของเหลวแบบงงๆ ต้องขอบคุณชาวเมโสผู้ที่ทดลองชิมน้ำหมักจากธัญพืช เราจึงได้รู้จักกับเบียร์ เครื่องดื่มชวนเมาในดวงใจ ที่เป็นที่นิยมมากแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม ว่าแล้วก็ชนแก้วฉลองให้ชาวเมโสกันสักหน่อย!

สเลอปี้

เรื่องพังๆ ที่พาให้ปัง ‘สเลอปี้’ เครื่องดื่มปั่นที่เราคุ้นเคยกันเมื่อก้าวเท้าเข้าเซเว่น เป็นที่นิยมกันในหมู่คนทุกเพศทุกวัย เซเว่นไหนมีสเลอปี้ต้องรีบคว้าแก้วเข้าไปกดรับเกล็ดน้ำแข็งหวานฉ่ำ เรื่องราวของสเลอปี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1950 โอมาร์ เนดลิค เจ้าของร้านไอศกรีม Dairy Queen (คุ้นๆ กันไหม) ในรัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาเครื่องทำน้ำอัดลมพังบ่อยครั้ง เพราะไม่มีเงินทุนมากพอจะซื้อเครื่องทำน้ำอัดลมที่มีคุณภาพ ด้วยเหตุชวนให้ปวดหัวนี้เอง ทำให้เขาตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเอาน้ำอัดลมไปแช่ในช่องแช่แข็ง เพื่อให้ทันต่อปริมาณลูกค้าที่เข้ามาซื้อ แต่ปรากฏว่า! ได้ผลดีเกินกว่าจะเป็นน้ำอัดลมเย็นๆ ดื่มดับกระหาย น้ำอัดลมของเขามีลักษณะเป็นเกล็ดวุ้น ตกลูกค้าได้เป็นเท่าทวีคูณ ทำเสิร์ฟแทบไม่ทัน เขาจึงผลิตเครื่องทำน้ำอัดลมแช่แข็งขึ้นมาใช้ สะบัดก้นไม่ง้อเครื่องทำน้ำอัดลมป่วยๆ และตั้งชื่อให้มันอย่างน่ารักว่า ICEE ความเนื้อหอมของ ICEE แพร่กระจายไปแตะจมูก 7-Eleven เข้า การขอซื้อลิขสิทธิ์จึงเกิดขึ้นระหว่างพ่อค้าน้ำอัดลมกับเจ้าของเซเว่น ท้ายที่สุดเรื่องราวจบลงตรงที่ โอมาร์ เนดลิค ตัดสินใจขายลิขสิทธิ์น้ำอัดลมแช่แข็งให้เซเว่น ICEE ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสเลอปี้ โด่งดังปังเป็นพลุแตกไปทั่วโลก

หมูหัน

กลับมาโซนเอเชียแถบบ้านเราบ้าง เรื่องราวการสละชีพแบบไม่ทันตั้งตัวของน้องหมู ทำให้เกิดความอร่อยไปทั่วโลก เรื่องหมูๆ นี้ เกิดจากครอบครัวชาวจีนครอบครัวหนึ่ง ครอบครัวนี้ประกอบอาชีพเป็นชาวนา และเลี้ยงหมูไว้ใต้ถุนบ้านเพื่อนำไปขายเป็นรายได้เสริม พอเข้าช่วงฤดูหนาว ความเย็นเยือกเข้าปกคลุมทุกพื้นที่ในจีน ทำให้ต้องตัดสินใจก่อไฟเพื่อสร้างความอบอุ่น ทว่าลมหนาวได้พัดพาให้ไฟโหมกระหน่ำและลามไปทั่วบ้านอย่างรวดเร็ว เจ้าของบ้านหนีรอดออกมาได้ แต่เหล่าเจ้าหมูทั้งหลายตายในกองเพลิงอย่างอเนจอนาถ เมื่อไฟสงบลง เจ้าของบ้านได้พากันไปสังเกตหมูก็พบว่ามันไม่ได้ไหม้เป็นเถ้าถ่านอย่างที่คิด แต่กลับกลายเป็นหมูที่มีเนื้อสีแดงสวย กลิ่นก็หอมยั่วน้ำลาย จึงแบ่งกันกิน และทำต่อกันมาเรื่อยๆ ในชื่อเมนู ‘หมูหัน’ อาหารขึ้นชื่อตามภัตตาคารอาหารจีน ไทยเราก็เห็นกันบ่อยๆ ตามโต๊ะจีนหรืองานเทศกาลต่างๆ หมูทั้งตัวนอนแผ่บนเตาย่างชวนน้ำลายสอเป็นที่นิยมมากในหลายๆ ประเทศด้วยรสชาติและรูปลักษณ์ที่จัดมาให้เห็นความเป็นหมูกันแบบสะใจ ทั้งนี้บรรดาหมูหันยังเป็นอาหารที่เปรียบเสมือนความหวังในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อใช้ชีวิตในงานมงคลต่างๆ ของจีนอีกด้วย เรียกได้ว่าสละชีพเพื่อชาติอย่างแท้จริง

ไอศกรีมแท่ง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหน้าร้อนต้องโดนไอศกรีมสักหน่อยพอให้ชื่นใจ แต่รู้ไหมว่าของกินที่ให้ความสดชื่นในรูปแบบแท่งนี้ มีประวัติความเป็นมาจากความบังเอิญของเด็กชายวัย 11 ปีเท่านั้นเอง เจ้าหนูคนนี้มีชื่อว่า แฟร็งก์ เอ็ปเพอร์สัน เด็กน้อยขี้ลืมชาวซานฟรานซิสโก เขาได้วางแก้วบรรจุน้ำผสมผงโซดาพร้อมทั้งไม้กวนทิ้งไว้ที่หลังบ้าน ข้ามคืนมาแล้วหนึ่งคืนถึงได้ เอ๊ะ! ฉุกคิดคิดมาได้ว่าลืมน้ำไว้นี่นา จึงรีบวิ่งกลับไปด้วยความว่องไวตามประสาเด็ก โอ๊ะ! น้ำจับตัวเป็นก้อนแข็งไปซะแล้ว แต่จะให้ทิ้งน้ำแข็งโซดาแก้วนี้ไปก็เสียดายแย่ ด้วยความเฉลียวฉลาดเอ็ปเพอร์สันจึงนำแก้วไปผ่านความร้อน  ก้อนน้ำแข็งเสียบไม้ได้ล่อนออกมา ให้กินสมใจอยาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1922 มีการจัดเลี้ยงน้ำหวานแท่งในลักษณะเดียวกันกับโซดาแท่งของเอ็ปเพอร์สันเมื่อหลายปีก่อน เอ็ปเพอร์สันในวัย 28 ปี จึงจดสิทธิบัตรความภาคภูมิใจของเขาในชื่อ ‘ไอศกรีมแช่แข็งเสียบไม้’ (frozen ice on a stick) มีชื่อยี่ห้อว่า Epsicle Ice Pop และย่อให้ติดหู พูดได้คล่องปากเหลือแค่ Posicle ไอศกรีมแช่แข็งเสียบไม้ของเอ็ปเพอร์สันดังจนถูกบันทึกให้ Popsical มีความหมายโดยรวมว่าไอศกรีมแท่งทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไร เป็นความบังเอิญที่เย็นฉ่ำไปตลอดชีวิตของเอ็ปเพอร์สันเลย

วูสเตอร์ซอส

ซอสปรุงรส รสชาติอมเปรี้ยว หอมกลิ่นเครื่องเทศนานาชนิด เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น จนสังเกตได้ว่านอกจากโชยุแล้วก็มีวูสเตอร์ซอสนี่แหละที่ประดับอยู่บนโต๊ะในร้านอาหารญี่ปุ่นด้วย แทนที่จะมีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่นตามความนิยมในการเอาไปประกอบอาหาร แต่ซอสตัวนี้กลับมีต้นกำเนิดสุดบังเอิญจากประเทศอังกฤษซะงั้น โดยเรื่องราวเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1835 ขุนนางแห่งเมืองวูสเตอร์ ได้ว่าจ้างให้สองนักเคมีจอห์น เวลลีย์ ลี และวิลเลียม เพอร์รินส์ ช่วยทำซอสที่เขาโปรดปรานหลังเดินทางไปกินในเบงกอลให้ที สองนักเคมีตกปากรับคำแล้วเริ่มหาวัตถุดิบที่คาดว่าจะให้รสชาติตามต้นฉบับที่ขุนนางได้บอกต่อความอร่อย วัตถุดิบหลักนั้นคือ หัวหอม  น้ำส้มสายชู น้ำมะขาม กระเทียม ปลาแอนโชวี และเครื่องเทศต่างๆ พวกเขาเตรียมวัตถุดิบไว้ในโหล เก็บไว้ในห้องใต้ดินและไปทำธุระส่วนตัวจนลืมสิ้นภารกิจที่ได้ตกปากรับคำกับขุนนางไว้ เวลาล่วงเลยไปหลายปี พรหมลิขิตทำให้สองนักเคมีตัดสินใจทำความสะอาดห้องใต้ดิน และพบเข้ากับโหลวัตถุดิบที่ถูกลืมทิ้งไว้อย่างน่าสงสาร ด้วยความเสียดายจึงลองเปิดชิมดู ปรากฏว่าซอสที่นอนเหงาอยู่นานปีนี้มีรสชาติจัดจ้านถูกอกถูกใจแบบต้องยกนิ้วให้ ทั้งคู่จึงผลิตและนำไปขายในชื่อ ลีแอนด์เพอร์รินส์ (Lea & Perrins) ในปี ค.ศ. 1837 กลายเป็นที่นิยมจวบจนปัจจุบัน

ทำไมเราจึงเห็นวูสเตอร์ซอส ในร้านอาหารญี่ปุ่น ทั้งที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น? ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แป้งสาลีที่นำมาทำเส้นบะหมี่หายาก การเพิ่มปริมาณกะหล่ำปลีจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการประหยัดเส้นแถมอิ่มท้อง เมื่อใส่กะหล่ำปลีเยอะ รสชาติอาหารจืดคนญี่ปุ่นจึงนำวูสเตอร์ซอสที่มีรสชาติเข้มข้นอย่างที่กินกับทงคัตสึหรือโครอกเกะมาตั้งแต่ปลายยุคเมจิมาผัดกับกะหล่ำปลี กลายเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศในที่สุด

เต้าหู้

โปรตีนเน้นๆ จากถั่วเหลือง คุณประโยชน์มากมายที่หาซื้อได้ง่ายเพราะราคาแสนถูก องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้เต้าหู้กลายเป็นอาหารธรรมดาสุดแสนพิเศษที่เรียกร้องให้เหล่าพ่อบ้านแม่บ้านนำไปประกอบอาหาร ต้ม ผัด แกง ทอด กันอยู่บ่อยๆ  ถึงแม้จะเป็นอาหารธรรมดาๆ แต่ประวัติของเต้าหู้ไม่ธรรมดาเลย เพราะเกิดขึ้นโดยบังเอิญในประเทศจีนเมื่อ 2,000 ปีก่อน ตามตำนานเล่าขานว่า มีรับสั่งจากองค์ชายหลิวอัน พระราชนัดดาของจักรพรรดิหลิวปัง (กษัตริย์องค์แรกในราชวงศ์ฮั่น) ให้พ่อครัวบดถั่วเหลืองแล้วนำไปต้มกับน้ำซุป เพื่อถวายแด่พระมารดาที่ประชวรหนักอยู่ แต่องค์ชายเกรงว่าน้ำซุปถั่วเหลืองถ้วยนี้จะจืด ไม่เป็นที่พอพระทัย จึงโปรดให้พ่อครัวคนเดิมเติมเกลือลงไปเพื่อชูรสชาติของซุป ปรากฏว่าถั่วเหลืองในหม้อจับตัวกันเป็นก้อนนุ่มนิ่มสีขาว เป็นที่พอพระทัยของพระมารดา งงเป็นไก่ตาแตกกันทั้งพระราชวังว่าเพราะอะไรถั่วเหลืองบดเป็นผงผสมน้ำซุปจึงได้กลายรูปร่างเป็นของแข็งที่มีสัมผัสนุ่มหยุ่นไปซะได้ นั่นเป็นเพราะว่าเกลือที่ใส่ลงไปผสมกับผงถั่วเหลือง คือ ‘ดีเกลือ’ (MgSo4) ที่มีความเข้มข้นสูง และหยุดยั้งความสามารถในการละลายน้ำของโปรตีน ทำให้โปรตีนละลายน้ำได้ต่ำลงจนแยกตัวออกจากน้ำและตกตะกอนเป็นก้อนในที่สุด ความมหัศจรรย์ทางเคมีนี้ ถูกผลิตซ้ำเรื่อยมากว่า 2,000 ปี กลายมาเป็นวัตถุดิบทรงคุณประโยชน์รสอร่อยในจานอาหารปัจจุบัน

 

เรื่องโดย ปรางค์วลัย บุญเขียว

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS