นอกจาก You are what you eat. แล้ว ฉันเชื่อว่า You are what you read. ก็สำคัญไม่แพ้กันค่ะ เคยไหมคะเวลาอ่านหนังสือที่มีเมนูอะไรเราก็จะนึกอยากทำหรืออยากกินเมนูนั้นๆ ขึ้นมา ในช่วงที่เขียนคอลัมน์นี้อยู่ สภาพอากาศบ้านเราก็ครึ้มฟ้าครึ้มฝนจากพายุอยู่บ่อยๆ ฉันเลยอยากชวนมาอ่านหนังสือว่าด้วยเครื่องดื่มชุบชูใจอย่าง ‘ชา’ กันค่ะ
ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้ ชาถูกมองว่าเป็นเครื่องดื่มของคนมีอายุแบบเหล่ากงเหล่าม่า แต่พอเทรนด์เรื่องสุขภาพเริ่มมาแรงมากขึ้น ชาก็ถูกรื้อฟื้นความสำคัญให้กลับมาอยู่ใน Pop Culture ด้วยถูกไหมคะ นั่นก็คงจะเป็นเพราะว่าจริงๆ แล้วชามีประโยชน์มากทั้งกับร่างกายและจิตใจ ในวันที่ฝนตกอากาศเย็น ชาร้อนๆ หอมๆ ก็มักจะอร่อยเป็นพิเศษ และถ้าจะให้พิเศษยิ่งขึ้นก็ควรต้องมีหนังสือดีๆ ไว้อ่านแกล้มชากันด้วย
ฉันเลยขอแนะนำหนังสือ 5 เล่มนี้ไว้เป็นเพื่อนคู่ในยามจิบชาฟังเสียงฝน หวังว่าจะทำให้ชาของทุกคนอร่อยขึ้นนะคะ
ทุกวันเป็นวันที่ดี ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน
สำนักพิมพ์ Bibli
รวมบทบันทึกว่าด้วยการเรียนชงชาสุดคร่ำเคร่งแบบญี่ปุ่นจากปลายปากกาของโมริชิตะ โนริโกะ นักเขียนและผู้สื่อข่าวที่วนเวียนอยู่กับการเรียนชงชามากว่า 25 ปี ความสนุกของเล่มนี้นอกจากจะอยู่ที่รายละเอียดของพิธีชงชาอย่างญี่ปุ่นที่มีเยอะอย่างเหลือเชื่อแล้ว ยังอยู่ที่การได้มองเห็นมุมมองของผู้บันทึกที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การเรียนอย่างจำยอมเพราะโดนคะยั้นคะยอแกมบังคับจากผู้เป็นแม่ จนมาถึงในช่วงหลังที่โนริโกะใช้พิธีชงชาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ เข้าใจ และก้าวผ่านเรื่องแย่ๆ ในชีวิตไปได้
หนังสือเล่มนี้ชวนเสพติดจนถึงขนาดว่าถูกหยิบไปดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์เรื่อง หัวใจ ใบชา ความรัก – Every Day A Good Day (รับชมได้ทาง Netflix) แต่เมื่อเทียบกันกับตัวหนังสือแล้วฉันเอนเอียงไปให้หนังสือมากกว่าด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง (ใครอ่านและดูแล้วมาแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ)
ชาเขียวอุ่นๆ กับคุณในวันจันทร์
สำนักพิมพ์ Piccolo
เห็นชื่อสำนักพิมพ์ Piccolo ฉันก็หยิบเล่มนี้ไปจ่ายเงินแบบไม่คิดเลยค่ะ (ฮา) พอได้มาอ่านถึงรู้ว่า อ๋อ เล่มนี้เป็นเครือญาติกันกับ “โกโก้อุ่นๆ กับคุณในวันพฤหัสฯ” นั่นเอง โครงสร้างของหนังสือก็จะคล้ายกันเลยค่ะ คือเป็นเรื่องอบอุ่นหัวใจจำนวน 12 ตอน แต่เล่มนี้ดำเนินเรื่องด้วยเรื่องราวตลอด 1 ปี (12 เดือน) และจะวนเวียนอยู่กับ 2 เมืองหลักคือโตเกียวและเกียวโต
ตัวละครของผู้เขียนอย่างคุณมิจิโกะ อาโอยามะ ก็ยังน่าติดตามและมีความเป็นมนุษย์มากๆ อยู่เช่นเคย ใครที่ชอบความเรียบง่ายอบอุ่นหัวใจอย่างบรรดาซีรีส์อาหารสัญชาติญี่ปุ่นทั้งหลาย เล่มนี้น่าจะถูกรสนิยมมากๆ ใครที่ชอบเล่มโกโก้อุ่นๆ กับคุณในวันพฤหัสฯ ก็ควรมีเล่มนี้ด้วย ส่วนใครที่ยังไม่มีทั้งสองเล่ม แนะนำให้ซื้อไปเติมกองดองทั้งคู่เลยค่ะ!
มากกว่าชา
สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
ตอกย้ำความงดงามของการชงชาญี่ปุ่นกันอีกเรื่องด้วยหนังสือ ‘มากกว่าชา’ แต่เล่มนี้เป็นผลงานการเขียนของคนไทย นั่นก็คือคุณภูพิงค์ มะโน เจ้าของเพจ Facebook : รู้เรื่องเรื่องชา ที่เป็นทั้งผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายชาทั้งปลีกส่ง และเป็นเนิร์ดชาคนหนึ่งที่ฉันกดติดตามไว้เป็นรายการโปรดไว้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นเลยค่ะ
รู้เฟื่องเรื่องชาคล้ายว่าจะเป็นหนังสือเรื่องการชงชา แต่เมื่ออ่านไปได้ราวค่อนเล่มฉันก็คิดว่า นี่เป็นหนังสือวัฒนธรรมญี่ปุ่นชัดๆ เพียงแต่เล่าความเป็นญี่ปุ่นผ่านเรื่องการชงชาเท่านั้นเอง เราจะได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความคิดความอ่านและความเชื่ออย่างญี่ปุ่นผ่านบันทึกของผู้เขียน ผ่านฤดูกาลทั้งสี่ อ่านเป็นเซ็ตคอมโบต่อจากเล่ม ‘ทุกวันเป็นวันที่ดี ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน’ แล้วฉันกดเสิร์ชหาที่เรียนชงชาญี่ปุ่นแทบจะทันทีเลยค่ะ
World Atlas of Tea
สำนักพิมพ์ บลู สกาย บุ๊คส์
ช่วงหลังมานี้ฉันจะนึกปันใจให้หนังสือปกเข็งเล่มใหญ่ๆ ภาพสวยๆ เป็นพิเศษ และคอลเลคชันที่ฉันกำลังทยอยเก็บสะสมก็คือ World Atlas of ต่างๆ ค่ะ เพราะฉะนั้นจึงขอมาป้ายยาเล่ม World Atlas of Tea ด้วยอีกหนึ่งเล่ม เล่มนี้แปลไทยและพิมพ์โดยบลู สกาย บุ๊คส์ ใครที่เป็นแฟนเครื่องดื่มต่างๆ ต้องเกาะติดสำนักพิมพ์นี้ไว้เลยนะคะ
World Atlas of Tea เป็นหนังสือเล่มใหญ่ที่รวมแทบจะทุกเรื่องของชาไว้ในนั้น ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานของชา รสชาติ แหล่งกำเนิด การเบลนด์ การชง การดื่ม แม้จะราคาแรงอยู่สักหน่อยตามประสาหนังสือปกแข็งเย็บกี่เล่มใหญ่ยักษ์ แต่ใครที่อยากจะเข้าวงการชา เปิดร้านชา หรือกระทั่งว่าแค่อยากสะสมหนังสือสวยๆ ไว้ติดบ้าน รับรองว่าคุ้มจ่ายแน่นอนค่ะเล่มนี้
รวยรินกลิ่นชา
สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์
เล่มนี้เป็นอีกเล่มที่ฉันชอบมากๆ แต่ต้องขอเลือกมาแนะนำเป็นอันดับท้ายๆ เพราะตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จึงน่าจะหาซื้อได้ยากมากแล้วค่ะ (ฉันเองไปได้มาจากร้านหนังสือมือสองแบบส้มหล่น โชคดีมากๆ) เล่มนี้จะเป็นคู่มือชาฉบับชาจีน ที่ไม่ได้เล่าถึงแค่เรื่องใบชา แต่โยงใยไปถึงเรื่องป้านชา ถุงชา ร้านน้ำชา วัฒนธรรมจีนว่าด้วยชา เช่นว่า โดยปกติแล้วคนจีนมักจะรินเหล้าล้นจอกเพื่อแสดงความคารวะ แต่กับน้ำชา ถ้ารินล้นจอกละก็ถือเป็นการหมิ่นเกียรติกันเกิดให้อภัย พร้อมท้ายเล่มที่มีดัชนีคำจีนไว้แบบอัดแน่น เพราะผู้เขียนอย่างคุณเรืองรอง รุ่งรัศมี นั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องคำจีนคำไทยที่รุ่มรวยความรู้ด้านนี้แบบหาตัวจับยาก
เพราะฉะนั้นนอกจากเรื่องสิ่งละอันพันละน้อยของชาจีนแล้ว สิ่งที่ทำให้ฉันชอบเล่มนี้มากก็คือสำนวนสำเนียงในการเขียนอย่างนักเขียนรุ่นเก่านี่แหละค่ะ อ่านแล้วเพลินเหมือนกับดูสารคดีดีๆ สักเรื่อง ยิ่งถ้าแกล้มไปกับชาอู่หลงหรือทิกวนอิมสักป้านนี่จะยิ่งเข้ากันสุดๆ ใครเจอเล่มนี้วางขายมือสองที่ไหนให้รีบคว้าไปจ่ายเงินโดยไวนะคะ
อ่านบทความเพิ่มเติม
- ‘ชา’ ความบังเอิญที่ก่อเกิดเครื่องดื่มสู่อิสรภาพ
- เปิดตำรา กว่าจะมาเป็น ‘วิถีชา’ ฉบับญี่ปุ่น
- รู้จักอาหารโบราณ ผ่านหนังสือที่ควรมีไว้ในชั้นหนังสือทุกบ้าน
- 5 เล่มนี้ อ่านแล้วต้องลุกไปเข้าครัว
กราฟิกโดย เกวลิน งามโสภาสิริสกุล