ปีนี้ยกให้เป็นปีทองของหมาล่าเลยค่ะ เข้าตรอกซอกซอยไหนก็มีหมาล่าหม้อไฟ ยิ่งหมาล่าสายพานหยิบกินคิดตังค์กันแบบนับจำนวนไม้ ตามราคาแต่ละสี มีร้านเปิดใหม่ผุดขึ้นตลอด แต่ละร้านมีเอกลักษณ์แตกต่าง แข่งกันที่น้ำซุปและน้ำจิ้ม แต่สิ่งที่มีเหมือนกันไม่ว่าแบรนด์ไหนสาขาไหนคือเครื่องดื่มคุ้นตา 3 กระป๋องนี้ ‘น้ำฟัก ตงกัวฉา’ กระป๋องเขียว ‘น้ำจับเลี้ยงหวังเหล่าจี๋’ และ ‘นมหวังจือ’ กระป๋องแดง
รสหวานหอม สดชื่นของเครื่องดื่มทั้ง 3 ชนิด ดับความเผ็ดชาจากหมาล่าหม้อไฟได้ดี จึงไม่แปลกที่กลายเป็นเครื่องดื่มสามัญประจำร้าน ไหนๆก็เจอกันบ่อยในร้านหมาล่า ลองมาทำความรู้จักเบื้องหลังของน้ำหวาน 3 กระป๋องนี้กันค่ะ
‘หวังเหล่าจี๋’ น้ำจับเลี้ยงยอดฮิตในร้านหมาล่าที่ขายในร้านขายยามาก่อน
เครื่องดื่มสมุนไพรจีน Wong Lo Kat หรือหวังเหล่าจี๋ (Wanglaoji) ในภาษาจีนกลาง เป็นเครื่องดื่มที่มีประวัติยาวนาน สืบย้อนไปตั้งแต่ปี 1828 สมัยราชวงศ์ชิง ในมลฑลกวางตุ้ง โดยนายแพทย์ Wong Chat Bong ที่เชี่ยวชาญสมุนไพรจีนเป็นคนคิดค้นขึ้น กระทั่งในปี 1949 รัฐวิสาหกิจจีนชื่อกว่างเย้า (Guangzhou Yangcheng Pharmaceutical) เข้ามาบริหาร
แรกเริ่มเดิมทีหวังเหล่าจี้เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรกล่องสีเขียวที่มีวางขายเฉพาะในร้านขายยาเท่านั้น ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นสมุนไพร ทำให้เข้าถึงยากเลยมีคนกินเฉพาะกลุ่ม กระทั่งกลุ่มบริษัทหงเต้า (Hung To) จากฮ่องกง ที่ทำธุรกิจและอาหารอยู่แล้วได้รับสิทธิ์ในการผลิตและทำตลาดหวังเหลาจี๋กระจายสินค้าขายทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ โดยรีโปรดักส์ ปรับสูตรให้กินง่ายขึ้นและเปลี่ยนแพคเกจจากกล่องสีเขียวเป็นกระป๋องสีแดงมีตัวอักษรสีเหลืองเด่นชัด กระตุ้นความอยากให้รู้สึกว่าดูน่ากิน และทุ่มโปรโมทว่าเป็นเครื่องดื่มจับเลี้ยงคลายร้อน ดับกระหาย แก้ร้อนใน ดื่มได้ทุกโอกาส
จับเลี้ยงกระป๋องแดง รสชาติหวานหอมจึงเป็นที่รู้จักและครองตลาดเครื่องดื่มไปทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ บูมสุดๆ จนทำยอดขายได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท
อย่างว่าค่ะ เรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร บริษัทแม่อย่างกว่างเย้า รู้สึกว่าส่วนแบ่งที่ได้รับจากหงเต้า ผู้จัดจำหน่ายน้อยจนไม่สมเหตุสมผล สาวไปสาวมาจนไปเจอเรื่องโอละพ่อ เพราะผู้จัดการคนหนึ่งของกว่างเย้า ดันฉ้อโกงแอบรับสินบนใต้โต๊ะจากหงเต่ากลายเป็นคดีความใหญ่โตในปี 2005 ทำให้สัญญาระหว่างทั้งสองเป็นอันโมฆะ หงเต้าหมดสิทธิ์ในการจำหน่ายและทำตลาดน้ำหวังเหล่าจี๋ รวมทั้งต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3 ล้านดอลล่าห์ฮ่องกง
ดูเหมือนเรื่องจะจบ แต่ Hung To ไม่จบ ในเมื่อรู้ไส้รู้พุง รู้ว่าน้ำจับเลี้ยงอร่อยๆ นี่ทำยังไง เลยผลิตน้ำจับเลี้ยงขายเองซะเลย ใช้ชื่อว่า ‘เจียตัวเป่า’ ภายใต้ JDB Herbal ของหงเต้า บรรจุกระป๋องสีแดง ตัวอักษรสีเหลือง ถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็เหมือนกับหวังเหล่าจี๋จนแทบจะแยกไม่ออก แถมยังโฆษณาโปรโมทว่า หวังเหล่าจี๋ เปลี่ยนชื่อเป็น เจียตัวเป่าแล้วนะ คนเลยแห่มาซื้อเจียตัวเป่ากันหมด
เรื่องนี้นี่เรียกว่าเป็นมหากาพย์เลยค่ะ เล่าแบบย่นย่อ สุดท้ายก็กลายเป็นข้อพิพาท มีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น บทสรุปคือหงเต้าแพ้ไปในที่สุด น้ำเจียตัวเป่าผู้มาทีหลังเลยต้องเปลี่ยนกระป๋องจากสีแดงเป็นสีเหลืองทอง แน่นอนว่าคนดื่มจำน้ำจับเลี้ยงได้จากกระป๋องสีแดง หวังเหล่าจี๋กลับมาครองตลาดเช่นเคย ในขณะที่เจียตัวเป่าขาดทุนย่อยยับ เพราะทุ่มเงินไปกับการตลาดให้คนจดจำใหม่
‘ตงกวาฉา’ TAISUN น้ำฟักเขียวหอมหวานสัญชาติจีน แต่ผลิตในไทย
‘ตงกวาฉา’ ตรา TAISUN หรือน้ำฟักเขียวกระป๋องเขียว มีรูปลูกฟักใหญ่ๆ บนกระป๋องอย่างที่เราคุ้นเคย เป็นเครื่องดื่มที่ทำจากลูกฟักเขียวต้มกับน้ำตาล รสชาติหอมหวาน นิยมดื่มกันมากในประเทศไต้หวันและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปกติแล้วชาฟักเขียวในไต้หวันเป็นเครื่องดื่มดับกระหายที่หาได้ทั่วไป แทบทุกที่ตามร้านค้าริมถนน พ่อค้าแม่ค้าจะต้มน้ำฟักเขียวใส่โหลตักขายริมทาง ขายดีมากโดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน
หลายคนที่เห็นน้ำฟักเขียวในร้านหม่าล่าอาจเข้าใจว่า น้ำฟักตงกัวฉากระป๋องเขียวที่มีภาษาจีนหราโดดเด่นขนาดนี้ต้องมาจากจีนแน่ๆ ความจริงก็ไม่ผิดไม่ถูกซะทีเดียวค่ะ ต้นกำเนิดน้ำฟักก็มาจากไต้หวันนี่ละ เพียงแต่ไทยเราซื้อมาผลิตเอง โดยการร่วมทุน 3 บริษัทใหญ่ คือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เจ้าของมาม่าบะหมี่กึ่งรายใหญ่ของไทย
กระป๋องน้ำฟักเขียวตราไทซันเวอร์ชั่นไต้หวันกับไทยเลยไม่เหมือนกันซะทีเดียว ส่วนรสชาติไม่แน่ใจว่าเหมือนหรือต่างกันไหม เราเองก็เคยดื่มน้ำฟักเขียวในร้านหมาล่าที่ไทยนี่ละ รสชาติหวานหอม ดับความเผ็ดร้อนของหมาล่าได้ดีมาก ถึงไม่กินหมาล่าก็เป็นน้ำดับกระหายคลายร้อนได้ดีเลยทีเดียว
นมหวังจือ นมกระป๋องแดงในตำนาน
เอ่ยชื่อ ‘นมหวังจือ’ หลายคนอาจงงๆ แต่ถ้าบอกว่านมกระป๋องแดงรูปเด็กยิ้มจากเมืองจีน น่าจะร้องอ๋อกันบ้าง นอกจากจะเห็นได้ในร้านหมาล่า ช่วงหนึ่งก็เกิดกระแสตามล่าหาซื้อนมกระป๋องแดงกันให้ทั่วโซเชียล เป็นนมกระป๋องจิ๋วพร้อมดื่ม แช่เย็นดื่มแล้วได้รสหวานมันนัวหอม เหมือนดื่มนมข้นหวานชงที่นัวกว่าปกติยังไงยังงั้น
เห็นฮิตๆ อย่างนี้น้องไม่ใช่นมโนเนมที่มาตีตลาดแค่ในไทยนะคะ เพราะนมหวังจือเป็นเพียงโปรดักส์หนึ่งในอาณาจักรขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในใต้หวัน ชื่อว่า Want Want หรือวั่งวั่งตามสำเนียงจีน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2505 มีประสบการณ์ทางธุรกิจมากกว่า 60 ปี ในตลาดทั่วเอเชีย อเมริกา แอฟริกา และยุโรป โดย Tsai ในวัย 66 ปี ได้เข้ามาดูแลธุรกิจอาหารต่อจากพ่อตั้งแต่เขาอายุเพียง 19 ปี และเกิดแนวคิดทำสินค้าใหม่คือ แครกเกอร์ที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อบริษัทเดิมของพ่อจาก I Lan Foods Industrial (ไอแลนฟู้ดอินดัสทรี) เป็น Want Want วั่งวั่ง ในภาษาจีนหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองและโชคลาภ อีกนัยนึงก็เพื่อให้ชื่อดูสากลมากขึ้น ออกเสียงได้ง่าย สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาแม่จึงมักเรียกว่า ว้อนท์ว้อนท์
อีกทั้งโลโก้น้องว่างไจ่ หรือ Hot Kid เด็กผู้ชายหน้ายิ้ม ลิ้นเป็นรูปหัวใจ ใส่เอี๊ยมน้ำเงิน ที่เราเห็นอยู่บนกระป๋องนมคือโลโก้แบรนด์ Want Want ที่ช่วยสร้างการจดจำได้อย่างดี นับแต่นั้นมา Want Want China ก็กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องดื่มและขนมสไตล์จีนรายใหญ่ที่สุดของโลก มีสำนักงานขายมากกว่า 400 แห่ง และมีพนักงานมากกว่า 50,000 คน
ปัจจุบัน Want Want กำลังเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทย โดยเลือกสินค้าอาหารที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการด้านโภชนาการของคนไทย เช่น Milky Toffy, เครื่องดื่มชนิดต่างๆ
อ้างอิง
- https://www.youtube.com/watch?v=4vmNC9PB5SA
- https://www.blockdit.com/posts/60742ede0e8c57354ba78633
- https://www.globaltimes.cn/content/592623.shtml?fbclid=IwAR0TvprIgD4NqQO-jwN-axCJ4zmim7kGjx0xPHJ40TU12KB5lrhWXnYh8h4
- https://www.marketthink.co/32014
- https://www.tiktok.com/@marketthinkth/video/7190712890851216666
- Want Want – Wikipedia
- Want Want, the popular snack from Taiwan, has arrived in Thailand (want-want.co.th)