อดอาหาร กินแล้วล้วงคออ้วก ควบคุมการกินไม่ได้? ทำความรู้จัก Eating Disorder โรคร้าย ใกล้ตัวกว่าที่คิด

412 VIEWS
PIN

image alternate text
ชวนสำรวจอันตรายของโรคความผิดปกติในการกินอย่างโรคอดอาหาร โรคกินไม่หยุด และโรคล้วงคอ

เมื่อพูดถึงเรื่องความเจ็บป่วยที่เกิดจากอาหารการกิน เรามักนึกไปถึงโรคที่แสดงอาการทางกายให้เห็นชัด อย่างเช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ไปจนถึงเบาหวาน ความดัน และโรคเรื้อรังต่างๆ แต่ผู้ป่วยโรค Eating Disorder หรือโรคความผิดปกติในการกินส่วนใหญ่มีอาการทางกายที่อาจไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เราจึงคิดว่า Eating Disorder เป็นเรื่องไกลตัวมาก ทั้งที่ผลการศึกษาพบกว่ามีวัยรุ่นไทยที่มีทัศนคติและพฤติกรรมการกินผิดปกติอยู่ราว 10.74% เลยทีเดียว*

ทัศนคติและพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติที่ว่านี้มีความเข้มข้นมากน้อยต่างกันไปตามภาวะของโรค พื้นฐานสุขภาพกายใจของผู้ป่วยหรือผู้มีอาการ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย นับตั้งแต่การจำกัดอาหารอย่างเคร่งครัดจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน การล้วงคอ ใช้ยาถ่ายหรือยาขับปัสสาวะโดยไม่มีเหตุ รวมถึงพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นการรู้สึกผิดหลังกินอาหาร แม้จะฟังดูไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่อาการเหล่านี้คือสัญญาณเตือนว่าเรากำลังบ่มเพาะทัศนคติหรือพฤติกรรมบางอย่างที่จะนำไปสู่โรคความผิดปกติในการกินหรือ Eating Disorder ได้ค่ะ

ก่อนที่พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะพัฒนาจนกลายเป็นความเจ็บป่วยทางกายและทางใจ ฉันเลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ Eating Disorder ให้มากขึ้นอีกสักหน่อย เพื่อให้เราสามารถสังเกตตัวเองและคนรอบข้างได้ทันท่วงที จะได้ไม่มีใครต้องมาเจ็บป่วยเพราะอาหารการกินกันค่ะ 

Eating Disorder คืออะไร

Eating Disorder มีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า ‘โรคความผิดปกติในการกิน’ ค่ะ หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายมากขึ้น มันก็คือการที่คนคนหนึ่งมีความรับรู้หรือมีความรู้สึกกับรูปร่างของตัวเองที่ผิดไปจากปกติ ไม่พอใจในรูปร่างของตัวเอง ให้ความสำคัญกับการมีน้ำหนักน้อย มีรูปร่างผอมบางมากเกินไป จนส่งผลให้เจ้าตัวเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการกินไปด้วย อาหารแสนอร่อยที่ควรจะเป็นความสุขและเป็นพลังงานให้ร่างกายได้ใช้ ก็กลับกลายเป็นศัตรูตัวร้าย เพราะมันเป็นตัวการที่ทำให้น้ำหนักขึ้นและอ้วนเผละ ไม่ผอมอย่างที่ต้องการเสียที

เมื่อมองว่าการกินกลายเป็นอุปสรรค์ต่อการมีรูปร่างผอมเพรียวอย่างที่ต้องการ คนแต่ละคนก็จะตอบสนองต่อปัญหานี้ต่างกันค่ะ ส่งผลกระทบต่อร่างกายต่างกัน จึงพัฒนากลายเป็นโรคความผิดปกติในการกินที่ต่างกันไปด้วย  

สาเหตุของ Eating Disorder

แม้จะสร้างความสูญเสียมานักต่อนัก แต่โรคความผิดปกติในการกินก็ยังไม่ใช่โรคที่เราจะเจาะจงหาสาเหตุแบบแน่นอนได้ค่ะ ในทางการแพทย์มีการศึกษาพฤติกรรมและประวัติของผู้ป่วย Eating disorder มาแล้วมากมาย แต่ก็พบว่าสาเหตุของโรคนี้ระบุได้เพียงกว้างๆ เท่านั้น เช่น

  • มีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับอาหาร เช่น การถูกห้ามกิน การอดอาหาร ถูกหวานล้อมหรือบังคับให้ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น
  • ค่านิยมรูปร่างผอมบางในสังคมใหญ่ และสังคมคนรอบตัว ทำให้เกิดการเปรียบเทียบรูปร่าง (appearance comparison) และเกิดเป็นความไม่พอใจในรูปร่างของตัวเอง หรือมีทัศนคติต่อภาพลักษณ์ของตนเองในทางลบ
  • ในบางการศึกษาพบว่าอาจสัมพันธ์กับโรคมนุษย์สมบูรณ์แบบ (perfectionism) การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low self-esteem) โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้นับว่าเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ (trigger) ที่ทำให้ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมหรืออาการของโรคขึ้น ผู้ป่วยแต่ละคนมีตัวกระตุ้นที่แตกต่างกันออกไป โรคความผิดปกติในการกินจึงเรียกได้ว่าไม่ใช่แค่อาการป่วยกาย แต่เป็นความเจ็บป่วยที่มีจุดเริ่มต้นอยู่ในจิตใจแล้วลุกลามส่งผลกระทบไปในเชิงกายภาพ กว่าคนใกล้ตัวหรือผู้ป่วยเองจะสังเกตและยอมรับได้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้คือความเจ็บป่วย ก็ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าถึงการรักษาได้ช้ากว่าที่ควรเสมอ

Eating Disorder ที่พบได้บ่อย

Anorexia Nervosa (AN)

Anorexia (อะนอเร็กเซีย) มักรู้จักในชื่อ ‘โรคคลั่งผอม’ ผู้ป่วยก็จะมีร่างกายซูบผอมสมชื่อค่ะ คำว่าซูบผอมในที่นี้มีตั้งแต่ระดับที่ค่า BMI หรือค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) ตั้งแต่ 18.45 ลดหลั่นไปจนถึง 15 (เทียบกับคนปกติซึ่งควรอยู่ในช่วง 18.5-24.99) เรียกว่าผอมจนหนังติดกระดูก แต่กระนั้นผู้ป่วยก็มักจะจำกัดอาหารอย่างสุดโต่งอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าจะรับประทานอาหารน้อยกว่าปกติแล้วก็ตาม 

นอกจากนี้แล้วยังอาจมีพฤติกรรมการล้วงคอให้อาเจียนหลังมื้ออาหาร ใช้อย่างถ่าย ยาขับปัสสาวะ หรือยาสวนทวารเพื่อให้น้ำหนักลดลง บางรายอาจมีพฤติกรรม Binge Eating หรือกินอาหารมากๆ ในคราวเดียวร่วมด้วย แต่โดยรวมแล้วปริมาณพลังงานที่ได้รับในแต่ละวันก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงทำให้ผู้ป่วยซูบผอมผิดปกตินั่นเองค่ะ

การรับรู้หรือเชื่อว่าตัวเองอ้วนเกินไปอยู่ตลอดเวลามีชื่อเรียกว่าพฤติกรรมรับรู้รูปร่างตัวเองผิดเพี้ยน (body image disturbance) ซึ่งเป็นพฤติกรรมเบื้องต้นที่พบได้ในผู้ป่วยโรคความผิดปกติในการกินแทบทุกประเภทเลยค่ะ สำหรับผู้ป่วยโรค Anorexia พฤติกรรมนี้น่ากังวลตรงที่ว่า มันส่งผลให้ร่างกายซึ่งผอมบางและขาดอาหารอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ต้องเผชิญกับการจำกัดอาหารต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะอาจเกิดภาวะมึนงง ขาดประจำเดือน กล้ามเนื้อสลาย อวัยวะภายในล้มเหลว รวมถึงภาวะอื่นๆ ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

Bulimia Nervosa (BN)

Bulimia (บูลีเมีย) หรือที่เรียกกันว่า ‘โรคล้วงคอ’ ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบเจอได้ไม่น้อยค่ะ พฤติกรรมของผู้ป่วยโรคบูลีเมียพื้นฐานเลยคือการควบคุมการกินของตัวเองได้ยาก จนอาจเผลอตัวกินอาหารครั้งละเยอะๆ แล้วค่อยแก้ปัญหาด้วยการล้วงคอให้อาเจียนเพื่อเอาอาหารมื้อนั้นๆ ออกมา พฤติกรรมการกินอาหารครั้งละเยอะๆ แล้วล้วงคอของผู้ป่วยโรคบูลีเมียจะมีความถี่สูงกว่าผู้ป่วย Eating Disorder แบบอื่นๆ ดังนั้นร่างกายจึงยังได้สารอาหารเบื้องต้นเพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยบูลีเมียไม่ได้มีร่างกายซูบผอมแบบที่สังเกตเห็นได้ชัดเสมอไป

แม้จะฟังดูอันตรายน้อยกว่าการมีรูปร่างผอมโซ แต่จริงๆ แล้วโรคบูลีเมียไม่ได้ปลอดภัยไปกว่า Eating Disorder แบบอื่นเลยค่ะ เพราะเมื่อมีรูปร่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ คนรอบข้างก็จะยิ่งสังเกตอาการเบื้องต้นได้ยากขึ้น ตัวผู้ป่วยเองก็จะยิ่งยอมรับภาวะของโรคและเข้าถึงการรักษาได้ช้าลงไปด้วย

การล้วงคอเพื่อให้ร่างกายอาเจียนเอาอาหารออกมามีผลข้างเคียงหลายอย่าง เพราะสิ่งที่ออกมาไม่ได้มีแค่อาหารที่กินเข้าไปเท่านั้น แต่ยังมีกรดในกระเพาะอาหารรวมอยู่ด้วย เมื่อพฤติกรรมล้วงคอเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็อาจเกิดภาวะที่ฟันถูกกัดกร่อนจากกรด รวมถึงอาจเกิดการระคายเคืองจนทางเดินอาหารฉีกขาด เป็นแผล และนำไปสู่โรคอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคบูลีเมียจำนวนหนึ่งยังได้รับอันตรายจากการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ล้วงคอจนเกิดการสำลัก หรือหลุดเข้าไปในลำคอจนปิดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งอาจมีผลถึงชีวิตได้

Binge Eating Disorder (BED)

Binge Eating Disorder (บิ้นจ์-อีทติ้ง ดิสออเดอร์) มีชื่อภาษาไทยว่า ‘โรคกินไม่หยุด’ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารครั้งละมากๆ คล้ายกับผู้ป่วยโรคบูลีเมีย แต่จะต่างกันที่ว่า ผู้ป่วยโรคนี้มีพฤติกรรมการล้วงคอหรือใช้ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ น้อยมากจนถึงไม่มีเลยค่ะ

แม้จะไม่มีพฤติกรรมการ ‘ชดเชย’ อาหารที่กินเข้าไปด้วยการล้วงคอหรือใช้ยาถ่าย แต่ก็ใช้ว่าผู้ป่วยโรคกินไม่หยุดจะภูมิใจในสัดส่วนของตัวเองจนอ้วนแบบเฉิดฉายนะคะ เพราะคนกลุ่มนี้มักหมกมุ่นอยู่กับการลดน้ำหนักตลอดเวลา เพราะไม่มั่นใจและไม่พอใจในรูปร่างของตัวเองเลย 

พฤติกรรมการกินไม่หยุดของผู้ป่วยบิ้นจ์-อีทติ้งมีหลากหลายมากค่ะ ตั้งแต่การกินอาหารมากกว่าปกติแม้จะไม่รู้สึกหิว ควบคุมตัวเองให้หยุดกินไม่ได้แม้จะรู้สึกอิ่มจนแน่นแล้วก็ตาม บางรายจะหยุดกินก็ต่อเมื่ออาหารหมดเกลี้ยงแล้วเท่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักไม่ร่วมมื้ออาหารกับคนอื่นๆ แต่จะแอบกินอาหารคนเดียวในเวลาและสถานที่ที่ลับตาคน เมื่อกินเสร็จแล้วก็มักจะรู้สึกผิด เสียใจ เศร้า หรือโกรธตัวเองที่กินอาหารมากเกินไป แล้วเมื่อถึงวาระในการกินอาหารครั้งต่อไป วงจรการกินแม้ไม่หิว กินไม่หยุด แล้วรู้สึกผิดหรือโทษตัวเองทีหลังก็จะวนอยู่อย่างนี้ไม่รู้จบ แม้ว่าจะไม่มีผลข้างเคียงทางกายมากเท่าโรคความผิดปกติในการกินแบบอื่น แต่ก็เป็นความเจ็บป่วยทางใจต้องหนักหนาไม่น้อยเลยค่ะ

โรคความผิดปกติในการกินอื่นๆ

โรคคลั่งผอม โรคล้วงคอ และโรคกินไม่หยุด ล้วนเป็นภาวะความผิดปกติในการกินที่ส่งผลให้เกิดการป่วยใจป่วยกายเหมือนกัน แต่ถูกแบ่งกลุ่มตามรายละเอียดย่อยเพื่อให้วิเคราะห์พฤติกรรมและรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น ดังนั้นมันจึงไม่ได้ครอบคลุมความผิดปกติในการกินทั้งหมดค่ะ เป็นเพียงแค่กลุ่มโรคที่พบเจอได้มากกว่าโรคอื่นๆ เท่านั้นเอง

นอกจาก 3 โรคที่พูดถึงข้างต้นแล้ว Eating disorder ที่น่าทำความรู้จักยังมีอีกหลายประเภท เช่น

Other Specified Feeding or Eating Disorder (OSFED): ภาวะความผิดปกติในการกินที่ไม่เข้าข่ายโรคอะนอเร็กเซีย บูลีเมีย และบิ้นจ์-อีทติ้ง แต่มีอาการหรือพฤติกรรมเบื้องต้นคล้ายกัน มักถูกจัดให้รวมกันอยู่ในกลุ่มนี้ สามารถแยกย่อยได้หลายประเภท เช่น Purging Disorder โรคล้วงคอแบบไม่มีภาวะการกินครั้งละมากๆ ร่วมด้วย, Night Eating Syndrome ภาวะที่ความอยากอาหารต่ำในเวลากลางวัน และสูงผิดปกติในเวลากลางคืน เป็นต้น

Avoidant/Restrictive Food Intake Disorder: การหลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารบางชนิดด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่ความกังวลในรูปร่างหรือน้ำหนัก แต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายจนทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร สาเหตุหลักของ Avoidant/Restrictive Food Intake Disorder อาจมาจากความอยากอาหารที่ลดลง การปฏิเสธรส กลิ่น หรือสัมผัสของอาหารบางประเภท รวมถึงการกลัวผลลัพธ์ที่มาจากการรับประทานอาหาร เช่น กลัวสำลัก กลัวอาเจียน จนเลือกที่จะไม่รับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารเฉพาะอย่างเท่านั้น

Disordered Eating Pattern: แบบแผนการกินที่ผิดปกติ คือ ความผิดปกติในการกินที่ยังไม่เข้าข่ายว่าเป็นภาวะความเจ็บป่วย แต่ก็มีการทำซ้ำๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะ เช่น ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดเกินไปตลอดเวลา รู้สึกล้มเหลวในการลดน้ำหนักอยู่เสมอ ใช้ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ หรือยาสวนทวารโดยไม่จำเป็นบ่อยครั้ง รวมถึงพฤติกรรมอดอาหารหรือกินอาหารมากเกินไปในลักษณะเดิมๆ แบบแผนการกินที่ผิดปกติเหล่านี้แม้ยังไม่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นโรค แต่ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ควรมองหาสาเหตุ เพื่อให้ได้รับการรักษาหรือแก้ไขทันท่วงที ก่อนจะที่พัฒนาไปเป็นความป่วยไข้ต่อไปในอนาคต

การวินิจฉัยและรักษา

อาการหรือพฤติกรรมของ Eating disorder ทั้งหลายที่พูดถึงไปข้างต้น น้อยมากๆ ที่ผู้ป่วยจะสามารถยอมรับอาการของโรคและพาตัวเองไปให้ถึงการรักษาได้ การสังเกตพฤติกรรมการกินของคนใกล้ชิด คนรอบตัว จึงเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ทีเดียวค่ะ 

หากพบว่าคนรอบข้างของเรามีพฤติกรรมการกินที่ผิดแปลกไป เช่น คุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา กินน้อยลงมากๆ เข้าห้องน้ำนานๆ ทุกครั้งหลังจากกินอาหาร แยกตัวออกไปกินข้าวลำพัง ไม่กินข้าวในเวลามื้ออาหารแต่ไปกินเวลาอื่นที่ไม่มีใครอยู่ด้วยแทน ฯลฯ เป็นเวลานานเกิน 3 เดือน ควรรีบเปิดใจคุยกันให้ผู้ป่วยได้รับรู้ถึงความเป็นห่วงและหวังดี แล้วหาโอกาสพาผู้ป่วยไปปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุดค่ะ

การวินิจฉัยโรคความผิดปกติในการกินทุกแบบ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นหลัก เพราะแบบแผนพฤติกรรมของผู้ป่วยแต่ละคนไม่ได้เหมือนกันเสมอไป รวมทั้งต้องวินิจฉัยลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ร่วมด้วย ส่วนการรักษามักเป็นการปรับพฤติกรรมบำบัดร่วมกับการใช้ยาบางชนิด และอาจรวมถึงการทำจิตบำบัดด้วยในผู้ป่วยบางกลุ่ม

การรักษาโรคความผิดปกติในการกินเป็นกระบวนการที่ยาวนาน อาศัยความอดทน วินัย และความเอาใจใส่จากคนรอบข้างสูงมากๆ หากมีคนใกล้ตัวที่กำลังต้องต่อสู้กับ Eating disorder อยู่ อย่าลืมให้กำลังใจกันเยอะๆ นะคะ

ข้อมูลจาก
– *ความชุกของทัศนคติและพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติในนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร โดย อาภาภรณ์ พึ่งยอด และ ปราโมทย์ สุคนิชย์ วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 56 ฉบับที่ 2 เมษายน – มิถุนายน 2554
– โรคความผิดปกติในการกินในช่วงวัยรุ่นจากมุมมองนักกำหนดอาหาร โดย ธนทัต แซ่เล้า และคณะ วารสารโภชนบำบัด Thai JPEN ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2563
– ความผิดปกติของการกินและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในนักเรียนวัยรุ่นหญิงของพื้นที่รับผิดชอบของเขตสุขภาพที่ 8 โดย อภิชิต ศรีอวน และ เบญจา มุกตพันธุ์ วารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชน ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2565

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS