ฮาวทู (ไม่) ทิ้ง ส่งขยะในครัวไปชุบชีวิตที่ไหนได้บ้าง?

1,914 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
​​​​​​​รวม 6 ปลายทางที่ชอบๆ ที่จะชุบชีวิตใหม่ให้ขยะก้นครัวของเราอีกครั้ง

“มองดูรอบตัวมีของมากมายทิ้งไปเท่าไรก็ไม่เคยจะหมดเลย
ตกอยู่ชิ้นหนึ่งใครใจร้ายจังเลยทิ้งไว้ที่เดิมหรือทิ้งที่ไหนดี…”
ทิ้งแต่เก็บ (OST. ฮาวทูทิ้งTHE TOYS)

เชื่อว่าบรรดาพ่อบ้านแม่บ้านและคนก้นครัวทั้งหลายคงเกิดเหตุการณ์ ‘ทิ้งแต่เก็บ’ เหมือนอย่างเนื้อเพลงกันบ้างโดยเฉพาะชาวครัวสายกรีนทั้งมือใหม่และทั้งขาประจำเพราะว่าขยะพลาสติกซึ่งเป็นผลพลอย (ไม่อยาก) ได้จากการซื้อวัตถุดิบเครื่องปรุงและข้าวของต่างๆ นั้นเพิ่มขึ้นมาเพียงวันละไม่กี่ชิ้นก็จริง แต่พอรวมกันทั้งเดือนก็พบว่าครัวในบ้านนี่เป็นจุดกำเนิดของขยะจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

แม้ว่าการกำจัดขยะพลาสติกจากต้นทางอย่างเช่นการเลี่ยงไปใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้จะเป็นการลดจำนวนขยะพลาสติกดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเราต่างต้องยอมรับความจริงที่ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้นโดยเฉพาะขาประจำซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะไม่ว่าจะซื้อของน้อยแสนน้อยขนาดไหนเราก็มักจะได้บรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาด้วยเสมอ

หากการปฏิเสธภาชนะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งคือเกมรุก การรีไซเคิลขยะพลาสติกก็เปรียบได้กับเกมรับที่ต้องดำเนินควบคู่กันไปทั้งสองทางเพื่อที่เราจะชอปปิ้งได้แบบไม่รู้สึกผิดกับโลกใบนี้มากเกินไป แถมขยะของเรายังจะถูกชุบชีวิตให้เกิดใหม่กลายเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เจ๋งจนต้องยกนิ้วให้

อย่างไรก็ตามในการส่งพลาสติกไปชุบชีวิตใหม่ก็มีข้อควรคำนึงที่สำคัญคร่าวๆ ดังนี้  

1.แยกชนิดของพลาสติกให้เป็น

พลาสติกแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกันและแน่นอนว่าย่อมจะมีกระบวนการการหลอมและขึ้นรูปแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นชาวก้นครัวคุณภาพอย่างเราจึงต้องสังเกตสัญลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของพลาสติกแต่ละแบบ แล้วจำไว้ให้แม่นเพื่อที่ว่าจะได้ส่งน้องๆ พลาสติกไปสู่ปลายทางได้โดยไม่หลงออกจากเผ่าพันธุ์ของน้องนั่นเอง

2. ล้างให้สะอาดตากให้แห้ง

ขยะพลาสติกโดยเฉพาะ (อดีต) บรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารทั้งอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสุกต้องผ่านการล้างกำจัดคราบมันและเศษอาหารให้เกลี้ยง เพราะเราจำเป็นต้องเก็บรวบรวมขยะเหล่านี้ไว้ในบ้านเรานานพอดูกว่าที่ปริมาณขยะจะมากพอ สำหรับการจัดส่งหากไม่ล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนขยะเหล่านี้ก็จะมีแต่กลิ่นบูดเน่า จนสุดท้ายก็จะทำใจเก็บไว้ไม่ไหวต้องโยนทิ้งไปให้รถเทศบาลจัดการเหมือนเดิม

นอกจากจะทำให้เราเก็บสะสมขยะพลาสติกไว้ได้นานๆ โดยไม่ปวดใจแล้ว การล้างขยะพลาสติกให้สะอาดก่อนยังช่วยลดการปนเปื้อนในกระบวนการการรีไซเคิลยังทำให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เกิดใหม่ขึ้นจากขยะของเราเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น

แน่นอนว่าเคล็ดลับในการกำจัดคราบมันและเศษอาหารก็คือการแช่พลาสติกไว้ในน้ำยาล้างจานหรือน้ำสบู่ที่ผสมน้ำให้เจือจาง ใช้มือลูบคร่าวๆ เพื่อให้คราบมันหลุดออกแล้วล้างให้สะอาดอีกครั้งด้วยน้ำเปล่า ผึ่งลมให้แห้ง สำหรับถุงกับข้าวหรือถุงพลาสติกอื่นๆ สามารถใช้ที่แขวนผ้าและไม้หนีบมาช่วยในการลดพื้นที่ตากได้เป็นอย่างดี

3. (ทิ้งแต่) เก็บ!

ขั้นตอนที่ปราบเซียนที่สุดก็คือขั้นตอนนี้นั่นก็คือการ (ทิ้งแต่) เก็บ! เพราะพลาสติกจากขยะในครัวนั้นแยกย่อยได้หลายประเภทมากๆ มันจึงเปรียบเสมือนการสะสมกองขยะพลาสติกกองเล็กๆ หลายๆ กองไปเรื่อยๆ จนแต่ละกองกลายเป็นกองขยะอ้วนพีที่มีน้ำหนักและปริมาณมากพอคุ้มค่าสำหรับการขนส่งไปยังปลายทางที่ชอบๆ ของพลาสติกแต่ละประเภทนั่นเอง

เหมือนจะไม่ยุ่งยากอะไรแต่เชื่อเราเถอะว่าการมีกองขยะกองเล็กกองน้อยอยู่ในห้องครัวเต็มไปหมดนั้นไม่ใช่เรื่องที่สนุกแน่ สุดท้ายหากจัดการระบบการเก็บขยะได้ไม่ดี ไม่ใครก็ใครสักคนในบ้านย่อมจะสติเตลิดและโกยขยะที่เราอุตส่าห์เพียรสะสมไปทิ้งแน่นอน ดังนั้นแล้วเพื่อความปลอดภัยอย่าลืมจัดถังขยะแบบมีฝาปิดขนาดย่อมๆ จำนวนหลายๆ ใบไว้แยกประเภทพลาสติกที่ล้างทำความสะอาดแล้ว โดยจะเพิ่มความน่ารักน่าชังด้วยการติดป้ายแยกประเภทแล้วจัดบรรดาถังขยะให้เข้าแถวอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่มุมใดมุมหนึ่งของครัวก็จะทำให้น้องๆ ดูน่าเอ็นดู น่าทะนุถนอมมากขึ้น แถมยังใช้งานง่ายอีกด้วยแน่ะ

เมื่อแยกชนิดทำความสะอาดและจัดเก็บขยะไว้เป็นหมวดหมู่ชัดเจนแล้ว ก็เป็นเวลาของการส่งน้องไปเกิดใหม่โดยการรีไซเคิลให้ขยะของเรากลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามและมีประโยชน์สำหรับคนอื่นต่อไป หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าในปัจจุบันมีหลายองค์กรที่เริ่มรับบริจากขยะพลาสติกและขยะประเภทอื่นๆ มากมาย เราจึงขอรวบรวมเอาองค์กรที่ (อาจ) เหมาะจะเป็นบ้านหลังใหม่ของขยะจากก้นครัวแต่ละบ้านได้ ดังนี้

วัดจากแดง – บ้านใหม่สำหรับขวด PET

วิธีสังเกต : ขวด PET คือขวดแบบเดียวกับขวดพลาสติกสีใสๆ ที่ใช้บรรจุน้ำดื่มหรือน้ำมันพืชหากไม่มั่นใจให้สังเกตสัญลักษณ์ลูกศรที่วนกันเป็นสามเหลี่ยมจะระบุอักษร PET หรือ PETE หรือเลข 1 กำกับไว้ แต่หากไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ระบุ ให้สังเกตใต้ขวดหากเป็นขวด PET จะมีรอยนูนเล็กๆ อยู่ตรงกลางของก้นขวด ซึ่งเป็นรอยที่เกิดจากการเป่าขึ้นรูปผลิตภัณฑ์
วิธีเตรียม: แกะฉลากแยกฝาออกล้างให้สะอาด สะบัดน้ำออกให้หมด หรือผึ่งทิ้งไว้ให้แห้งสนิท รีดให้แบนเพื่อประหยัดพื้นที่จัดเก็บ
เกิดใหม่เป็น: ขวด PET สีใสๆ เหล่านี้จะไปเกิดใหม่เป็นผ้าไตรจีวรผ่านกระบวนการอัปไซคลิง (upcycling) ให้ออกมาเป็นเส้นใยแล้วนำไปรวมกับเส้นใยชนิดอื่น โดยผ้าไตรจีวร 1 ผืนใช้ขวด PET จำนวน 15 ขวดและผ้าไตรจีวร 1 ชุด ใช้ขวด PET จำนวน 60 ขวด
จัดส่งไปที่: วัดจากแดง ซอยวัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดงจ.สมุทรปราการ โทร. 06 6159 9558

Precious Plastic Bangkok – บ้านใหม่ของพลาสติก HDPE และพลาสติก PP

วิธีสังเกต: พลาสติก HDPE และพลาสติก PP คือพลาสติกจำพวกฝาขวดและห่วงใต้ฝา รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆเช่น แก้วชานมไข่มุก แก้วโยเกิร์ต ขวดซอสแบบพลาสติก ขวดน้ำยาทำความสะอาดที่มีสัญลักษณ์ลูกศรวนกันเป็นสามเหลี่ยมพร้อมตัวอักษร HDPE (หรือเลข 2) กำกับไว้ และตัวอักษร PP (เลข 5) กำกับไว้
วิธีเตรียม: แช่น้ำร้อนผสมน้ำยาล้างจานเพื่อลอกฉลากที่เป็นสติ๊กเกอร์ออก ล้างให้สะอาดแล้วผึ่งให้แห้ง
เกิดใหม่เป็น: ที่รองแก้ว ตะกร้า กระถางต้นไม้ โคมไฟ และเครื่องประดับสวยๆ โดยกำไรบางส่วนนำไปสร้างเครื่องรีไซเคิลพลาสติก นำไปสนับสนุนการวิจัยเพื่อผลิตเครื่องบดและโมเดลเครื่องรีไซเคิล พร้อมกับนำไปจัดเวิร์กชอปในการรีไซเคิลพลาสติกให้กับเด็กและเยาวชนอีกด้วย

จัดส่งไปที่: Precious Plastic Bangkok @ FREC Bangkok ชั้น1 เลขที่ 77 ถนนนครสวรรค์ แขวง วัดโสมนัสเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานครฯ 10100 (เข้าทาง ถ.นครสวรรค์ ซอยตรงข้ามกับผ่านฟ้าบุ๊คเซ็นเตอร์ตึกสีน้ำเงิน) โทร. 09 1871 5792

 วน – บ้านใหม่ของพลาสติก LDPE 

วิธีสังเกต: พลาสติกประเภท LDPE มักเป็นพลาสติกที่ยืดได้ เช่น ฟิล์มห่ออาหาร ถุงพลาสติก ถุงใส่ขนมปัง ถุงน้ำแข็ง ถุงน้ำตาล ถุงซิปล็อก ฟิล์มสำหรับแพ็กขวดน้ำ ฟิล์มสำหรับแพ็กกล่องนม ฟิล์มสำหรับแพ็กน้ำอัดลมฟิล์มสำหรับแพ็กทิชชู บับเบิ้ลกันกระแทก ซองพัสดุ สังเกตง่ายๆ คือเมื่อใช้มือดึงพลาสติกออกพลาสติกจะเหนียวและขาดออกจากกันยาก เมื่อขาดแล้วรอยขาดจะเป็นหยักชัดเจน
วิธีเตรียม: ลอกหรือตัดส่วนที่เป็นสติกเกอร์กระดาษออก ล้างให้สะอาดตากให้แห้ง ขยำหรือบีบอัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ
เกิดใหม่เป็น: เม็ดพลาสติกซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตพลาสติกขึ้นรูปอื่นๆ ได้มากมาย เช่น ถุงขยะหรือถุงพลาสติกแบบใช้ซ้ำ นอกจากนี้พลาสติกทุกๆ 1 กิโลที่ส่งเข้ามาเข้าร่วมโครงการทาง บมจ. ทีพีบีไอ ก็จะบริจาคเงิน 5 บาท ให้กับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จัดส่งไปที่: ‘โครงการวน’ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) 42/174 ม.5 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม 73210

Dr.Pow Green road – บ้านใหม่ของถุงพลาสติกทุกประเภท

วิธีสังเกต: ถุงอะไรก็ได้ที่เป็นพลาสติกรับเรื่อยๆ ไม่มีกำหนดปิดโครงการ รับจนกว่าขยะพลาสติกจะหมดโลก! (เขาเขียนไว้อย่างนี้จริงๆ)
วิธีเตรียม: ล้างให้สะอาดตากให้แห้ง ขยำหรือบีบอัดให้เป็นชิ้นเล็กเพื่อประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ
เกิดใหม่เป็น: บล็อกปูถนนจากพลาสติกรีไซเคิล โดยหากใช้บล็อกรีไซเคิลนี้ปูในพื้นที่ 1 ตารางเมตรก็จะส่งถุงพลาสติกไปเกิดใหม่ได้มากถึง 4,000 ใบเลยทีเดียว

จัดส่งไปที่: ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ เลขที่ 22 ซอย 7 ถนนหมื่นด้ามพร้าคต ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ 50300

โครงการหลังคาเขียว– บ้านหลังใหม่ของกล่อง UHT

วิธีสังเกต: กล่องเครื่องดื่มนมหรือกล่องน้ำผลไม้แบบ UHT
วิธีเตรียม: แกะกล่องแล้วกางออกให้เป็นแผ่นเดียว ล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้งแล้วมัดรวมกันเป็นกองเพื่อให้ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ
เกิดใหม่เป็น: หลังคาสีเขียว หลังคาขนาด 1 x 2.4 เมตรที่ 1 แผ่นสามารถรียูสกล่อง UHT ไปกว่า 2,000 กล่องและหลังคาเหล่านี้จะถูกนำไปบริจาคให้กับชุมชนที่ขาดแคลนต่อไป
จัดส่งไปที่: ศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม โดยบริษัทไฟเบอร์พัฒน์จำกัด (เขียนที่หน้ากล่องว่า ‘ร่วมโครงการหลังคาเขียวฯ’) ที่อยู่ 30/11 หมู่ที่ 11 วัดบางเสาธง บางนา-ตราด บางเสาธง สมุทรปราการ 10570

 โครงการสมุด Green Way – บ้านหลังใหม่ของสลิปและใบเสร็จ 

วิธีสังเกต: ใบเสร็จรับเงิน สลิปรายการสินค้า กระดาษใช้แล้วทั้งหน้าเดียวและสองหน้า รวมถึงกระดาษทุกชนิด (ยกเว้นกระดาษลัง)
วิธีเตรียม: แยกสีกระดาษขาว สี และกระดาษน้ำตาล แกะแม็กเย็บหรือตัวหนีบออกให้เรียบร้อย เรียงลงกล่องเพื่อให้ประหยัดพื้นที่จัดเก็บ
เกิดใหม่เป็น: สมุดบันทึกจากกระดาษรีไซเคิลเพื่อเด็กๆ ที่ขาดแคลนทั่วประเทศ
จัดส่งไปที่: แผนกสื่อสารองค์กรฯ (Green Way) บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง 40/40 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเ

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS