พูดถึงชื่อ ภัทรพัฒน์ โลโก้รูปเลข 9 ไทยที่ดูดีๆ ก็เหมือนรูปช้างหมอบจะต้องลอยเข้ามาในความคิดแน่ๆ แต่ถ้าถามต่อไปว่าแล้วรู้ไหมว่าภัทรพัฒน์คืออะไร เสียงน่าจะแตก บางคนอาจบอกว่าคือแบรนด์ บางคนอาจบอกว่าไม่ใช่ร้านขายของโครงการในพระราชดำริเหรอ ซึ่งคำตอบคือถูกทั้งสองข้อ เพราะภัทรพัฒน์เป็นชื่อตราสินค้าพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนาเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว ปัจจุบันภัทรพัฒน์มีหน้าร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กว่า 10 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ไม่รวมร้านตัวแทนอย่างร้านภูฟ้า โกลเดนเพลซ และเลมอนฟาร์ม
ชื่อภัทรพัฒน์ มาจาก ‘ภัทร’ ที่หมายถึง สิ่งดีงาม กับ ‘พัฒนา’ ที่หมายถึง ความเจริญ นัยยะของภัทร+พัฒน์ก็คือความยั่งยืน ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ต้องการช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ภัทรพัฒน์จึงทำงานร่วมกับชุมชนในเรื่องการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปพร้อมๆ กับการส่งมอบองค์ความรู้ การจ่ายเงินให้สินค้าของภัทรพัฒน์ไม่เพียงเป็นการอุดหนุนชุมชนแต่ยังได้สินค้าที่มีคุณภาพกลับไปด้วย ยังไม่รวมวัตถุประสงค์แฝงที่ทรงคุณค่าอย่างเช่นการปลูกต้นชาน้ำมัน ไม่ใช่เพียงเพื่อน้ำมัน แต่ได้ประโยชน์เรื่องการพลิกฟื้นผืนป่าที่ถูกทำลาย
แนวคิดและการคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ยืนพื้นอยู่บนการสนับสนุน พัฒนา ต่อยอด สร้างโอกาสให้ชุมชนทั่วประเทศ ทำให้ฉันฝ่าความร้อนยามบ่ายมาเยือนร้านภัทรพัฒน์ สาขาปตท. วิภาวดี 62 ซึ่งเป็นสาขาใหม่ล่าสุดที่สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ เพราะมีนัดหมายคุยเรื่องการทำงานเพื่อช่วยเหลือ สร้างโอกาส เพิ่มมูลค่าให้สินค้าพื้นบ้านกับ คุณภากมล รัตตเสรี กรรมการและรองเหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา ที่มาพร้อมเรื่องเล่าน่าสนใจแบบฟังจบแล้วแทบอยากจะซื้อผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นในร้านเลยทีเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นล้วนมี ‘สตอรี่’ ที่เป็นกุศโลบายจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา
“เพราะมูลนิธิมีรายได้จากเงินบริจาคเท่านั้น ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเลย พระองค์ท่านไม่ให้เบียดเบียนภาษีประชาชน แล้วยังไม่ให้เรี่ยไรด้วย เราเลยต้องเล่าเรื่องให้ทุกคนฟังว่าเราทำอะไรไปบ้าง”
“ก่อนหน้านี้ เรามีพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ทำเกษตรหลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ สมุนไพร เลี้ยงปลา และแปรรูปสินค้าจากของเหลือ ช่วงแรกขายในโครงการ คนมาดูงานก็ซื้อไป แล้วไปปากต่อปากกันว่าสินค้ามีคุณภาพ เมื่อทำรายได้ก็ขอตราพระราชทาน จะได้มีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง” คุณภากมลย้อนถึงจุดเริ่มต้นของภัทรพัฒน์ที่มากับโลโก้เลข 9 ไทย มีความหมายสองนัยยะ หนึ่งคือหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ให้กำเนิดมูลนิธิชัยพัฒนา อีกความหมายคือรูปช้างหมอบ เป็นเหมือนการนำสินค้าจากชุมชนมาต่อยอดจำหน่าย “ท่านรับสั่งว่าแทนที่จะขายในโครงการ ก็จะได้ส่งเสริมชาวบ้านให้มีช่องทางมากขึ้น เพราะคำว่าภัทร หมายถึง สิ่งดีงาม พัฒนา หมายถึง ความเจริญ นัยยะของภัทร+พัฒน์ก็คือความยั่งยืน การทำแบรนด์นี้เราต้องรักษาคุณภาพและเวลาช่วยชุมชนก็ไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไป แต่ต้องช่วยพัฒนา ต้องให้องค์ความรู้”
ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ถูกนำมาพัฒนาต่อยอด
ภัทรพัฒน์เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากโครงการในพระราชดำริที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการลงพื้นที่เยี่ยมราษฎร สินค้าในร้านจึงไม่เพียงหลากหลายแต่ยังมาจากทั่วประเทศ ท้องถิ่นไหนมีของดีอะไรก็นำมาจำหน่าย โดยต้องผ่านการพัฒนาและออกแบบเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
“อย่างสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ที่เพชรบุรี เขาทำเรื่องเกษตรพอเพียงและทฤษฎีใหม่หลายโครงการ เน้นทำสมุนไพรเป็นหลัก ปลูกแซมในป่า แล้วเอามาผลิตเป็นลูกประคบ ยาหม่อง พิมเสน เราก็เอามาออกแบบแพกเกจจิ้งใหม่ให้ตรงกับตลาด กลุ่มลูกค้าสำคัญนะ ไม่งั้นจะมีคำว่าทาร์เก็ทกรุ๊ปหรือ เพราะแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ในโครงการเราขายนักเรียน ขายคนมาดูงาน ราคาไม่แพงมาก พอเข้าห้าง ลูกค้าเป็นอีกกลุ่มแล้ว มีกำลังซื้อ หน้าตาต้องสวยหน่อย การเพิ่มมูลค่าก็จำเป็น”
การเพิ่มมูลค่าเป็นหนึ่งในคีย์เวิร์ดที่ฉันได้ยินค่อนข้างบ่อยในวันนี้ เน้นย้ำถึงความหมายของการ ‘พัฒนา’ เพราะที่นี่ไม่ใช่เพียงตัวกลางซื้อมาขายไป แต่ระหว่างทางนั้นคือการต่อยอด สร้างโอกาส ส่งมอบองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน
“หรือที่ลำลูกกา คลอง 16 มีศูนย์วิจัยการเกษตรหลากหลายปลูกข้าว ไม้ผล ผัก อย่างมะเฟือง เราขายสด ลูกไม่สวยถูกคัดออก แทนที่จะทิ้งก็เอามาทำยาสระผม สบู่ ทำแบบโฮมเมดไม่ใส่สารเคมี ปรากฏว่าใช้ดี แต่ทำขายเยอะๆ ไม่ได้ เพราะมะเฟืองมีไม่พอ เราก็ต่อยอดไปที่ชุมชนให้ปลูกแล้วส่งต่อ แต่ก็ยังเป็นงานระดับชุมชนอยู่ ยังไม่แมส สินค้าเราสั่งเป็นหมื่นไม่ได้ เป็นร้อยยังลำเค็ญ” คุณภากมลเล่าพลางหัวเราะ “เรียกว่าทำเป็นต้นแบบให้คนมาดูงานดีกว่าว่าเรามีวิธีพัฒนาตัวสินค้ายังไง เริ่มจากตรงไหน”
ไม่เพียงผลิตภัณฑ์จากโครงการพระราชดำริ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเสด็จลงพื้นที่เยี่ยมเยียนราษฎร
“น้ำยาล้างจานใบย่านางมาจากการที่สมเด็จพระเทพฯ ท่านเสด็จเยี่ยมร.ร.เด็กดาวน์ซินโดรมที่กาฬสินธุ์ ที่โรงเรียนเขาปลูกใบย่านางเต็มไปหมดทุกพื้นที่ เพราะเขาเอามาทำเป็นแชมพู สบู่ น้ำยาล้างจานใช้กันเองในโรงเรียน แล้วมันใช้ดีและไม่มีสารเคมี เราก็เลยเอามาขาย เพราะใช้ดีด้วยและได้ช่วยให้เด็กๆ มีรายได้ แรกๆ ก็ใส่ขวดใสๆ น่ารักๆ แต่เด็กดาวน์เขาจะกวนน้ำยาไม่เท่ากัน เดี๋ยวกวนนานเดี๋ยวนึกจะไปวิ่งเล่นก็กวนเร็ว เลยต้องใส่ขวดทึบเพราะน้ำยาสีไม่เหมือนกันเลย มากี่รอบก็ไม่เหมือน”
ผลิตภัณฑ์ของภัทรพัฒน์มีนับร้อยชนิด ครอบคลุมทั้งหัตถกรรม ผ้าทอ สมุนไพร อาหารแปรรูป เครื่องสำอางค์ และของใช้ต่างๆ โดยแต่ละอย่างล้วนมี ‘สตอรี่’ หรือเรื่องเล่า อาทิ ใบชาปลูกที่อ.ฝาง เชียงใหม่ เป็นโครงการร่วมกับจีน ก่อนจะส่งมาแปรรูปที่โครงการ กลายเป็นชาผสมสมุนไพรสูตรเฉพาะที่หาไม่ได้ที่อื่น กล้วยตากมาจากโครงการปลูกกล้วยที่พิษณุโลก เป็นกล้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ไม่ได้ขายแค่กล้วยตากแต่วิจัยพันธุ์กล้วยและพัฒนาแพกเกจจิ้งด้วย
ข้าวจากหลากหลายจังหวัดทั้งสระบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา เป็นข้าวปลอดสารเคมี สีที่โรงสีที่ลาดบัวหลวง ซึ่งทางซีพีมาทำให้เป็นแบบ gasifier ไม่มีขยะเหลือทิ้ง มะพร้าวจากอัมพวาถูกนำมาออกแบบแพกเกจจิ้งใหม่ แม้แต่การบูรก็ยังทำออกมาเป็นรูปแคคตัส แครอท สุดน่ารัก
น้ำมันเมล็ดคามีเลีย น้ำมันจักรพรรดิ
ในบรรดาผลิตภัณฑ์นับร้อยๆ ชนิด ตัวที่ถือเป็นไฮไลท์คือ ‘ชาน้ำมัน’ หรือ ‘น้ำมันเมล็ดคามีเลีย’ ที่ได้รับการกล่าวขานว่าคือน้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก ด้วยสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน แต่เหนือกว่าตรงสามารถใช้ทอดอาหารได้ด้วย และยังมาพร้อมกุศโลบายในการฟื้นฟูผืนป่าอย่างได้ผล น่าเสียดายที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก
“เส้นทางการเดินทางของชาน้ำมันมาจากจีน ที่จีนเขาเรียกว่า Emperor Oil หรือ น้ำมันจักรพรรดิ เดิมเขาหีบน้ำมันแล้วส่งเข้าไปในวังเท่านั้น คนทั่วไปไม่มีสิทธิ์กิน แม้ทุกวันนี้ที่ขายในจีนก็ยังถือว่าเป็นน้ำมันพรีเมี่ยม ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ท่านมีวิสัยทัศน์ การปลูกต้นชาน้ำมันไม่ใช่ได้แค่ผลผลิต แต่ยังฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมด้วย เพราะเวลาเสด็จด้วยเฮลิคอปเตอร์ ท่านจะเห็นพื้นที่ที่ถูกทำลายเยอะ ถ้าเอาไม้เศรษฐกิจไปปลูกแทน อีกสิบปีก็ต้องตัด ต้องเริ่มกันใหม่ แต่ต้นชาน้ำมันอายุเป็นร้อยปี ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้ คนจะหวงแหนไม่ทำลาย ฉะนั้นปลายทางจึงไม่ใช่แค่เพียงน้ำมัน”
หลังจากจีนถวายต้นกล้าชาน้ำมันมากว่า 900,000 ต้น มูลนิธิชัยพัฒนาก็ร่วมกับกรมป่าไม้และแม่ฟ้าหลวงนำไปปลูกที่ดอยตุงโดยให้ความรู้กับกลุ่มคนในท้องถิ่นเรื่องการปลูกและดูแล ตามด้วยการสร้างโรงงานเพื่อหีบน้ำมัน นอกจากจะเป็นการฟื้นฟูป่ายังสร้างอาชีพ และตัวผลิตภัณฑ์เองก็ไม่เพียงดีต่อสุขภาพ ยังต่อยอดทำเครื่องสำอางค์ นำไปเป็นสีย้อมผ้าได้ด้วย
ความท้าทายของการนำของที่มีมาขายให้ได้
หลักการตลาดง่ายๆ เพื่อป้องกันความเจ๊งอย่างหนึ่งก็คือการวิจัยตลาด เช่นเราอยากจะขายรถยนต์ ก็ต้องรีเสิร์ชตลาดปัจจุบันว่าต้องการรถยนต์แบบไหน รถยนต์ชนิดไหนกำลังมา เพื่อจะได้ผลิตรถยนต์ได้ตรงตามความต้องการ แต่งานขายของภัทรพัฒน์เรียกว่าเป็นกระบวนการย้อนกลับ เพราะโจทย์คือมีของในมืออยู่แล้ว—ไม่ว่าตลาดจะต้องการไหม–แต่ ‘ต้อง’ ขายให้ได้
“เราไม่ได้ผลิตสินค้าตามความต้องการของคน เรามีของแต่ทำยังไงจะขายได้ มันตรงข้าม เป็นความท้าทาย ป้ามีเสื่อจะให้ป้าเปลี่ยนก็ไม่ได้ เราต้องเอามาขาย” อีกครั้งที่คุณภากมลหัวเราะ “เราพยายามทำงานคราฟต์ให้มูลค่าเพิ่มแบบญี่ปุ่น ที่เราก็รู้ว่าเป็นงานชาวบ้านนี่แหละ แต่เขาเอามาเพิ่มมูลค่า เหมือนอย่างกระเป๋าทำจากเสื่อกก มันเพิ่มมูลค่าทั้งดีไซน์ การตัดเย็บ เราขายหลักพันได้ จากเดิมเป็นเสื่อผืนละ 450”
การปรับเปลี่ยนว่ายากแล้ว การรักษาคุณภาพ รักษามาตรฐานยิ่งยากกว่า เพราะคุณป้าคุณยายที่เคยทำเสื่อทำกระเป๋าแบบตามใจฉัน ทำกี่ชิ้นก็ไม่เหมือนกันไม่เข้าใจถึงการที่ต้องทำทุกชิ้นให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ข้อนี้ทางภัทรพัฒน์แก้ง่ายๆ ด้วยการพามาดูงานเวลามีงานแฟร์ที่ห้างสรรพสินค้าพารากอนหรือไบเทค
“ให้เขามาดู มาขายเอง เขาจะได้รู้ว่าลูกค้าเป็นใคร ชอบงานแบบไหน เขาจะได้เข้าใจคำว่ามาตรฐาน คุณภาพ แล้วกลับไปเป็นกระบอกเสียงให้ อย่างเสื่อ เมื่อก่อนจะกรีดยังไงก็ได้ แต่ตอนนี้ต้องกรีดให้เล็ก เพราะไม่ได้ขายแค่ที่บ้าน แต่เอาไปโชว์ถึงอังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น ฉะนั้นจึงต้องมีคำว่าคุณภาพ คำว่ามาตรฐาน ต้องให้เขาปรับมายด์เซตว่าถ้าจะขายแบบนี้ต้องทำยังไง”
ความท้าทายอีกอย่างก็คือเรื่องปริมาณ เวลาเจอคนอยากได้สินค้าจำนวนเยอะๆ ทางภัทรพัฒน์ไม่สามารถทำส่งให้ได้
“เคยมีฝรังสั่งตะกร้า 3,000 ใบ” คุณภากมลเล่า “เราบอกอย่าว่าแต่พัน แค่หลักร้อยยังยาก เพราะชาวบ้านทำด้วยมือทั้งหมด ขั้นตอนก็เยอะ ทำไม่ได้มากขนาดนั้น”
10 ปีแห่งการเติบโตของภัทรพัฒน์
“เรียกว่าเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเราทำงานคนเดียวไม่ได้” คุณภากมลรับ “โดยเฉพาะหัตถกรรม ถือเป็นของใหม่ เพราะมูลนิธิชัยพัฒนาไม่เคยมีงานหัตถกรรมมาก่อน เริ่มครั้งแรกกับงานหญ้าแฝก ทำร่วมกับกับปตท. ลงพื้นที่ไปเจอชุมชนสานกระบุงตะกร้า แต่เราจะขายกระบุงตะกร้าอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เลยทำให้มันโกอินเตอร์ เพิ่มมูลค่า เพิ่มเรื่องดีไซน์”
อันดับแรกคือการหาพันธมิตรเป็นคณะสถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง
“ไหนๆ คณะก็มีนักศึกษาที่ต้องทำธีสิสอยู่แล้ว ก็เอามาลงพื้นที่จริงเรียนรู้ by doing เราเอากลุ่มแรกไปลงพื้นที่เพชรบูรณ์ กินนอนกับชาวบ้าน ทำธีสิสของจริง เป็นงานออกแบบที่ได้เกรดด้วย ได้ขายจริงด้วย เด็กก็แฮปปี้เพราะเขาไม่เคยไปเจออะไรแบบนี้ เราก็ไม่ต้องจ้างดีไซเนอร์แพงๆ”
จากหญ้าแฝกต่อยอดสู่กกซึ่งเป็นงานหัตถกรรมชาวบ้านที่จ. สุรินทร์ ใช้เวลาทำกันหลังทำนา แต่ปรากฏว่าขายไม่ได้เพราะทุกคนทำเหมือนกัน เสื่อก็ธรรมดา กระเป๋าก็ธรรมดา ภัทรพัฒน์จึงเริ่มงานด้วยโจทย์ในใจ
“หนึ่ง เปลี่ยนมายด์เซ็ต เราต้องเข้าใจเขา ต้องเข้าใจภูมิสังคม เปลี่ยนเขาไม่ได้ แต่ขอให้เขาปรับ ก็ต้องละลายพฤติกรรม ทำยังไงให้ป้ารักเรา ให้เรารับป้าได้ ต่อมาคือเขาขาดอะไร องค์ความรู้ที่ไม่มีคืออะไร เราส่งนักศึกษาลงไปในพื้นที่ จริงๆ แล้วมันคอนทราสต์เรื่องวัยกันมาก เหมือนแม่กับลูก แต่กลายเป็นเรื่องดี เพราะป้าๆ เขาก็เอ็นดูเด็กเหมือนลูกหลาน เด็กก็เคารพ เป็นเรื่องน่ารักของธรรมเนียมไทย”
แต่ก็ใช่ว่าทุกชุมชนจะง่ายสะดวกดายเหมือนกันไปหมด บางชุมชนที่ดื้อก็มี
“เราก็ใช้หลักเดียวกับในหลวงท่านที่มีหลักทรงงานคือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งก็ไม่ได้ง่าย ต้องใช้เวลาเป็นปี กับหลักอีกอัน ขาดทุนคือกำไร การลงพื้นที่มันมีค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ เราแบกรับตรงนี้ โดยที่กำไรอยู่ที่ชุมชน ตรงที่เขาได้รับองค์ความรู้ที่ต่อยอดชีวิต กำไรคือสิ่งนี้ คือการมอบโอกาสให้ การที่เขามีโอกาส ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน มีรายได้เพิ่ม มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
“วัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของมูลนิธิชัยพัฒนาคือทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี เราไม่ได้แค่ช่วยเขาแล้วจบ แต่ช่วยเพื่อให้เขาพึ่งตัวเองได้ วันหนึ่งไม่มีเรา เขาจะต้องอยู่ได้ เราต้องสร้างให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะหลายชุมชนมีข้อจำกัด บางที่คนทำอายุเกือบร้อย ไม่มีคนมาสานต่อ ไหนจะการเดินทาง อยู่ไกล กว่าจะได้ความรู้แต่ละอย่าง เราต้องใช้เวลาสอน ต้องทำอย่างต่อเนื่อง”
หลักสำคัญอีกข้อสำหรับงานหัตถกรรมของภัทรพัฒน์ก็คือต้องสร้างอัตตลักษณ์ของชุมชนให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ขายของเหมือนกันมาตัดราคากันเอง สามชุมชนอาจจะทอสีเดียวกันแต่ต้องมีลายของตัวเอง ชนิดที่เห็นแล้วรู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนไหน รวมทั้งต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกันด้วย
จุดมุ่งหมายสูงสุดไม่ใช่ตัวเงิน แต่คือให้ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองได้
หลักการทรงงานของร.9 คือต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี สามารถพึ่งตัวเองได้ ภัทรพัฒน์จึงเป็นแบบอย่างให้ชุมชนได้เห็นว่าจะต้องพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อย่างไร เพื่อสามารถเข้าสู่ความยั่งยืนแท้จริงและเข้ากับความหมายของคำว่าชัยชนะแห่งการพัฒนา
“เพราะในหลวงท่านตั้งมูลนิธิชัยพัฒนามาไม่ใช่ให้เราไปรบกับใคร แต่รบกับความยากจนของราษฎร ช่วยให้เขามีโอกาสมากขึ้น เขาต้องเปิดใจรับองค์ความรู้และส่งต่อให้ลูกหลาน ต้องมีการสืบทอด”
ฉะนั้น การอุดหนุนภัทรพัฒน์และผลิตภัณฑ์โครงการพระราชดำริจึงเป็นการอุดหนุนชุมชนจริงๆ โดยไม่ใช่แค่เพียงทำบุญ แต่ยังได้สินค้าที่มีคุณภาพกลับไปด้วย
ซื้อสินค้าภัทรพัฒน์ได้ที่ www.patpat9.com และร้านภัทรพัฒน์ทุกสาขา