ธนาคารเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน พื้นที่แลกเปลี่ยน ส่งต่อความยั่งยืน

13,275 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เมล็ดพันธุ์เม็ดจิ๋ว แหล่งกำเนิดอาหารและความหลากหลายทางพันธุกรรม

“ถ้าจะยึดประเทศให้ยึดแหล่งน้ำมัน หากจะยึดคุมประชาชนให้ยึดแหล่งอาหาร” คือคำกล่าวของนักการทูตชาวอเมริกัน ในสารคดี ‘Seed: The Untold Story’ ที่เล่าเรื่องราวความงดงามของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเมล็ดพันธุ์ จากอดีตที่ผักชนิดหนึ่งเคยมีนับร้อยสายพันธุ์ แต่ปัจจุบันกลับสูญหาย และเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดอาหารกำลังถูกกลุ่มนายทุนยึดครองไว้โดยที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ไม่ทันระแคะระคายเลยว่า พืชผักที่กินอยู่ทุกวัน เป็นผลผลิตจากเมล็ดพันธุ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ตัดแต่งพันธุกรรมจนไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้ แทนที่เกษตรกรจะมีสิทธิ์เป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์จากแปลงผักของตน

การต่อสู้เพื่อความยั่งยืนและอิสรภาพในการครอบครองพันธุกรรมจึงเกิดขึ้น เช่นเดียวกับ ‘กลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน’ ที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่สื่อสารในการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน รวมทั้งเมล็ดพันธุ์พืชเศรษฐกิจอย่างถั่วฝักยาว ถั่วพู ที่ไม่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ขยายพันธุ์ต่อได้ชั่วลูกชั่วหลาน

แม้จุดเริ่มต้นของเจ้าของเพจ พี่แอ๊ด-อรุณี นิยมกูล จะไม่ได้มีปณิธานยิ่งใหญ่ เพียงแค่อยากระบายเมล็ดพันธุ์จากแปลงผักของตนที่เหลือใช้เกินจำเป็น แต่ปัจจุบันที่กลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์ก่อตั้งมาได้เกือบ 5 ปี มีสมาชิกราว 7 หมื่นคน ก็ทำหน้าที่กอบกู้และอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ ด้วยการแบ่งปันและส่งต่อระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม เพียงจ่าหน้าซอง ชื่อ-ที่อยู่ ระบุเมล็ดพันธุ์ที่ขอรับเป็นใบเบิกส่งถึงธนาคารเมล็ดพันธุ์ ธนาคารจะจัดส่งเมล็ดพันธุ์มาให้ และเมื่อคุณบ่มเพาะเมล็ดจนเป็นต้นกล้าเติบใหญ่ให้ดอกออกผล ก็ถึงคราวแบ่งสันปันส่วนคืนดอกเบี้ยเป็นเมล็ดพันธุ์ให้ธนาคาร เป็นดอกเบี้ยที่ไม่ต้องผ่อนผันชำระ เพราะไม่มีเดดไลน์ส่งดอก ใช้ใจแลกใจล้วนๆ โดยมีกฎง่ายๆ ที่ถือเป็นกฎเหล็ก คือเมล็ดพันธุ์ที่นำมาโพสต์ในกลุ่มมีไว้เพื่อแบ่งปัน แจกจ่าย แลกเปลี่ยนเท่านั้น หากโพสต์จำหน่ายเพื่อการค้าเมื่อไร พี่แอ๊ดผู้ก่อตั้งเพจพร้อมกำจัดจุดอ่อนด้วยการลบออกจากกลุ่มทันที

กลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์เริ่มต้นมาจากอะไร

เราเป็นเกษตรกร ทำอาชีพเกษตรมาตลอด แล้วเมล็ดพันธุ์เรามันเยอะเกินที่จะใช้ไปมาก ซึ่งปกติเราก็ทิ้ง แต่ละปีเราทิ้งเมล็ดพันธุ์ไปเยอะมาก แต่เห็นในเฟซบุ๊กที่พอหลายคนเห็นว่าเป็นเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านก็อยากได้ เลยเปิดกลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์ขึ้นมา ให้โลกออนไลน์เป็นสื่อกลางช่วยแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ ประจวบเหมาะกับเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านก็เริ่มหายาก พ่อแม่รุ่นก่อนหลายคนก็ไม่ได้ส่งต่อเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ให้ลูก เมล็ดพันธุ์ซองๆ ก็เข้ามาแทนที่

เมล็ดพันธุ์ซองกับเมล็ดพันธุ์ที่เราเก็บเองต่างกันอย่างไร

เมล็ดซองปลูกไปถ้าผลแก่ก็ต้องเก็บทิ้ง เขาตัดต่อพันธุกรรมมาแล้ว มันขยายพันธุ์ต่อไม่ได้ เกษตรกรก็ต้องกลับไปซื้อเมล็ดพันธุ์เขาใหม่ และไม่ทนต่อโรคด้วยนะ เลยต้องปลูกแบบกระตุ้นสารเคมี แต่เมล็ดพันธุ์ที่เราเก็บเอง พอผลแก่ก็เป็นประโยชน์กับเรา เพราะเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกต่อได้ แข็งแรงด้วย โยนๆ ไปไม่ได้รดน้ำมันยังขึ้น

แข็งแรงกว่าแล้วทำไมเกษตรกรบางส่วนยังใช้เมล็ดพันธุ์ซอง

เมล็ดพันธุ์ซองมันให้ผลดกไง โตไว แข็งแรงทนทานถ้าฉีดยาเช้า-เย็น ทั้งที่จริงๆ แล้วเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเขาจะมีกลไกปรับตัวตามธรรมชาติ ตามพื้นที่ที่เขาอยู่ อย่างแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่ถ้านำเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่นี้ไปปลูกในอีกพื้นที่ เขาก็จะเกิดการปรับตัวจนอยู่ได้ในพื้นที่นั้นๆ แข็งแรงและขยายพันธุ์ในพื้นที่นั้นต่อได้ แต่ต้องใช้เวลา

สมาชิกที่จะมาขอแบ่งเมล็ดพันธุ์ต้องทำอย่างไรบ้าง

มีกติกาแต่ละโพสต์เพื่อให้เขาได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แค่นั้น ถ้าแค่ให้บอกว่ารับเมล็ดพันธุ์มันดูไม่มีค่า ไม่รู้ว่าเขาให้ใจกับเราเหมือนที่เราให้ใจกับเขาหรือเปล่า เราแจกจนกว่าจะปิดโพสต์เลยนะ เท่าที่เรามีเมล็ดพันธุ์ แค่ตอบคำถาม แล้วจ่าหน้าซองชื่อ ที่อยู่ตัวเอง พร้อมเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการ ส่งซองเปล่ามาตามที่อยู่ก็จะส่งเมล็ดพันธุ์กลับไป 

เมล็ดพันธุ์ที่นำมาแจกส่วนใหญ่เป็นพืชพันธุ์ประเภทไหน

ตั้งแต่ผักพื้นบ้าน ไปจนถึงผักเศรษฐกิจบางชนิดที่มีแจกตลอดทั้งปี เช่น ถั่วฝักยาว ข้าวโพด น้ำเต้า บวบ ถั่วพู ซึ่งเรามีเมล็ดพันธุ์อยู่เยอะ ที่เยอะเพราะเราประสบความสำเร็จจากการให้เมล็ดพันธุ์ แล้วเขาคืนดอกเบี้ยกลับมาเป็นเมล็ดพันธุ์ แต่ถ้าเขาล้มเหลว เราก็จะรู้ได้เลยว่าเมล็ดพันธุ์ที่เราให้ไปมันยังแข็งแรงไม่พอ เราก็ต้องมาพัฒนาใหม่ให้มันแข็งแรงและเพียงพอกับความต้องการ ยิ่งถั่วฝักยาวมันเป็นผักเศรษฐกิจเนอะ อันนี้ต้องยอมรับว่าถ้าเขาไปซื้อเมล็ดพันธุ์มันก็แพง แล้วเพาะพันธุ์ต่อไม่ได้อีก เราเลยพยายามเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ได้จำนวนมาก เพื่อเพียงพอจะกระจายไปทั่วประเทศ แล้วเขาก็ส่งเมล็ดพันธุ์คืนกลับมาเป็นดอกเบี้ยให้เราแจกจ่ายต่อ เป็นการตั้งต้นที่แข็งแรงให้ได้กระจายต่อไปอย่างมั่นคงและไม่สูญหาย เกิดการหมุนเวียน ให้เรามีทุนส่งต่อให้คนอื่น โดยเราเองก็เหนื่อยน้อยลง

เลยเป็นที่มาของชื่อธนาคารเมล็ดพันธุ์ คือการเก็บสะสม แลกเปลี่ยน คืนดอกเบี้ยด้วยเมล็ดพันธุ์หรือเปล่า

ใช่ เราตั้งชื่อขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกเข้าใจด้วยแหละว่า เราไม่ได้ให้อย่างเดียว ไม่ได้ให้แล้วหาย ถ้าให้แล้วหายจะมีประโยชน์อะไร การคืนดอกเบี้ยของเราก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องคืนดอกเบี้ยกลับมาเท่าที่เราให้ไปด้วย แต่คืนดอกเบี้ยตามที่ใจอยากจะให้ ถ้ายังไม่พร้อมไม่มีคืนก็ปลูกต่อไปก่อนจนมันเหลือเฟือ เกินสำหรับคุณแล้วก็แบ่งปันกลับคืนมา เขาก็รู้จักการให้ และได้รับคำขอบคุณกันระหว่างสมาชิกก็ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ

ระหว่างสมาชิกคุยแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันเองได้เลย หรือต้องส่งมาให้เราเป็นศูนย์กลางแจกจ่าย

แลกเปลี่ยนแจกจ่ายกันเองได้เลย ขอให้ทำตามกติกาที่เรากำหนดไว้ก็พอ ยกตัวอย่างมีพริกแดงอยากแจกมากเลย ก็ให้พิมพ์ชื่อที่อยู่ไว้ในคอมเม้นสำหรับคนที่อยากได้ สมาชิกเป็นผู้เบิก บางทีก็มีกติกาน่ารักๆ มาเล่นกัน เราก็ชอบอ่านนะ เวลาอ่านคำตอบ เราจะรู้ถึงความตั้งใจของเขา

กลุ่มคนที่มาขอแบ่งเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรหรือเปล่า 

มีทั้งเกษตรกรและแม่บ้านที่อยากปลูกผักกินเอง เขาเอาไปปลูกกินเองแล้วรู้เลยว่าผักในท้องตลาดที่มีสารเคมีกับผักธรรมชาติที่ปลูกเองไร้สารรสชาติมันต่างกัน เพราะคนที่ทำเกษตรกรเคมี เขาฉีดยากันแมลงเช้า-เย็น แต่ทำไมเราทำได้โดยไม่ฉีดยา เพราะเราเข้าใจธรรมชาติไง อย่างคนที่ฉีดยา ยามันก็ฆ่าแมลงตัวที่ช่วยกำจัดแมลงอื่นๆ ตายไปด้วยหมด สรุปไม่เหลือตัวช่วยก็ต้องพึ่งยาเคมีตลอดไป แต่เราใช้ธรรมชาติมันมีแมลงตัวที่ช่วยกำจัดศัตรูพืชอยู่

เห็นมีน้องผู้ชายยังเด็กๆ มาโพสต์คำถามว่าใบหูเสือใช้ทำอะไร คอมเม้นต์คำตอบแลกกับเมล็ดพันธุ์บวบนมพิจิตร นี่ก็ถือเป็นกติกาในการแจกจ่าย และทำให้คนรู้จักผักพื้นบ้านด้วยว่าคือผักอะไร เอาไปทำอะไรกินได้บ้าง

ใช่ คนในกลุ่มก็ได้รู้จัก อย่างบวบ หลายคนยังไม่รู้จักเลยว่ามันมีหลายพันธุ์ กระเจี๊ยบเป็นอย่างไร กระเจี๊ยบมอญแดงเป็นอย่างไร ก้านมันจะสีแดงๆ บางคนโตแล้วยังไม่เคยรู้จักเลยนะ ก็เกิดการแลกเปลี่ยนกันเรื่องเพาะปลูกด้วย ส่งการบ้านให้ดูว่าเมล็ดพันธุ์ที่เอาไปมันเป็นอย่างไร มันร่วงแล้วเติบโตต่อได้อย่างสวยงามไหม

บวบนมพิจิตร

หากผู้บริโภครู้จักพืชพันธุ์ผักพื้นบ้านมากกว่าแค่คะน้า กะหล่ำ จะส่งผลต่อคนกินอย่างไร

ความปลอดภัย อย่างพวกคะน้า กะหล่ำปลูกโดยธรรมชาติไม่ได้ตลอดทั้งปีนะ ถ้าเห็นคะน้า กะหล่ำในหน้าร้อนที่ทนร้อนได้ขนาดนี้ ให้รู้ไว้เลยว่าตัดต่อพันธุกรรมให้มันทนอยู่ได้ อีกอย่างเขาใช้สารเคมีหลายตัวให้มันทนอยู่ได้และโตไวกว่าปกติ ถ้าปลูกแบบธรรมชาติ 1 เดือนอาจจะยังต้นเล็กแกร็นอยู่ แต่ถ้ากระตุ้นด้วยเคมี 20 วันก็โตเต็มที่แล้ว มันมีผักตามธรรมชาติที่ทนร้อนได้ดีกว่า อย่างมะเขือเปราะ มะเขือต่างๆ นี่ก็ทนทาน ปลูกไปสิ กินไปเถอะ ไม่ว่างรดน้ำมันยังอยู่ได้เลย

กระเจี๊ยบฝักแก่ รอเก็บเมล็ดพันธุ์

เด็กในเมืองที่เกิดมาก็รู้จักแต่คะน้า แครอท กะหล่ำ เป็นสาเหตุทำให้เขาไม่ค่อยกินผักพื้นบ้านหรือเปล่า เพราะไม่รู้จักเลยไม่กิน ไม่ใช่ว่าไม่อยากกิน 

เราต้องปลูกฝังเขา ถึงมีกลุ่มให้เขาเห็นว่า เออ ผักนี้มันปลูกง่ายนะ กินไม่ยากนะ อร่อยนะ เอาไปทำอะไรกินได้บ้าง เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ วัยรุ่นก็เจอแต่ผักตามห้าง ผักสลัด ผักคะน้า ผักกาดขาวต้มจืด กินสุกี้ที่ร้านอาหารก็เจอผักกาดขาว เขาก็ชินกับการกินแบบนี้ เพราะว่าพ่อแม่เลี้ยงมาแบบนี้ เลี้ยงด้วยการใช้เงินซื้อกิน เด็กก็เลยกินผักอย่างอื่นไม่เป็น ก็มันไม่เคยมีให้กิน พอเขามาเห็นผักที่ไม่คุ้นเคยตอนโตแล้ว เขาก็ไม่อยากสัมผัสผักพวกนี้ เพราะกินไม่เป็น 

เมล็ดผักพูม ผักพื้นบ้านภาคใต้ เรียกอีกชื่อว่าผักหวานป่า ใช้ใบ ยอดอ่อนประกอบอาหาร

ซึ่งส่งผลกับกลไกการตลาดด้วยไหม

ใช่ เกษตรกรเขาก็ต้องการปลูกผลผลิตที่ตลาดรองรับเยอะๆ เช่น ถั่วฝักยาว คะน้า แล้วสมมติมาปลูกใบแต้วเยอะๆ ข้ามวันสองวันไม่มีคนซื้อก็อยู่ไม่ได้แล้ว มันเหี่ยวแห้ง คุณก็ขาดทุน เขาก็ไปปลูกพวกที่ตลาดมันรองรับ เช่น มะเขือเทศปลูกส่งออกด้วย ปลูกเยอะแต่สารเคมีก็เยอะเหมือนกัน คนที่ทำเน้นจำนวนมากๆ ก็ต้องพึ่งเคมีทั้งหมด

ถ้าอย่างนั้นต้องเริ่มตั้งแต่พ่อแม่

ใช่ ปลูกฝังตั้งแต่พ่อแม่ พ่อแม่ลองปลูกผักดูไหม ปลูกมะเขือ ปลูกพริก ง่ายๆ แล้วใช้ให้ลูกไปเก็บ มะเขือสดๆ ทำไมจะไม่อร่อย กรอบอร่อยดีออก มะเขือพันธุ์ลูกเล็กๆ มีหลายพันธุ์มากที่เราแจกไป มะเขือเปราะ มะเขือไข่เต่า หรือมะอึก อย่างตำส้มตำไม่มีมะเขือก็ใส่มะอึกแทนได้ หรือตำน้ำพริกกะปิ ไม่มีมะเขือพวงก็ใส่มะอึก อร่อยจะตาย เพิ่มความนัว ระหว่างมีมะเขือกับมะอึกก็เลือกมะอึกดีกว่า

ก้าวต่อไปของกลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน

ตอนนี้เราเปิดเป็นโรงเรียนเมล็ดพันธุ์ให้เด็กนักเรียนมาศึกษา แปลงผักก็จะเป็นผักพื้นบ้าน ผักตามฤดูกาลหมุนเวียนกันไป เริ่มในพื้นที่ชุมชนเราก่อนเพื่อเป็นการสร้างต้นแบบ ปลูกฝังเด็ก เพราะเรามองว่าอนาคตเด็กอาจจะไม่รู้จักพืชพรรณเหล่านี้แล้วนะ ถ้าเป็นช่วงปิดเทอมก็วางแผนจัดให้มีการเข้าค่าย เรียนรู้เรื่องการพึ่งพาตนเองให้ได้ การปลูกผัก ทำอาหาร ซึ่งก็มีเข้ามาเรียนบ้างแล้ว อายุตั้งแต่ 5 ขวบ 7 ขวบ ไปจนถึง 10 ขวบ

มาไกลจากความตั้งใจแรกที่แค่ระบายเมล็ดพันธุ์เหลือใช้มากเลย

ใช่ เราได้มิตรภาพจากการทำตรงนี้ด้วยนะ แล้วจุดมุ่งหมายเราตอนนี้คือเราเห็นว่าอนาคตถ้าเราไม่เก็บและกระจายเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมันจะต้องสูญหาย แต่ถ้าเราทำตรงนี้ วันหนึ่งเราตายอย่างน้อยก็มีคนทำเมล็ดพันธุ์มาแจกจ่ายเหมือนเรา เราปลูกฝังรุ่นลูกรุ่นหลานเรานี่แหละ ให้มีคนสืบทอด เราทำแล้วไม่ได้เหนื่อยเปล่าเพราะเห็นการต่อยอดเกิดขึ้นจากคนที่รับเมล็ดพันธุ์ไป ได้เก็บอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้านที่วันหนึ่งมันอาจจะสูญหายไปหากไม่อนุรักษ์ไว้ แม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ก็ดีกว่าไม่มีเลย

 

ภาพจาก กลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS