7 วิถีกินดีแบบยั่งยืนในหนึ่งวัน
STORY BY | 15.03.2018

2,826 VIEWS
PIN

image alternate text
กินอย่างยั่งยืน กินยังไง? รวบรวม 7 วิถีการกินที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมและทำลายสุขภาพของเราแบบง่ายๆ มาให้ลองทำตาม

เรื่องกินเรื่องใหญ่ใครๆ ก็รู้ แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือการกินของเราส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล แค่เรื่องอาหารเหลือทิ้ง (Food waste) หลายล้านตันในแต่ละวันที่เกิดจากการกินทิ้งกินขว้างและระบบจัดการอาหารอันไร้ประสิทธิภาพนั่นก็ทำให้เราสูญเสียทรัพยากรทั้งพลังงานและแรงคนไปไม่รู้เท่าไหร่

ไม่ใช่เท่านั้น การกินยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบอื่นๆ ชนิดที่เราอาจไม่เคยระแคะระคาย เช่น เมื่อคนเมืองต้องการกินมะม่วงสุกนอกฤดูกาลมากๆ เข้า ก็เร่งเร้าให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีเร่งผลผลิต สุดท้ายก็เกิดเป็นการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์ตลาด หนักเข้าก็อาจทำให้พันธุ์มะม่วงท้องถิ่นบางชนิดสูญพันธุ์จนเหลือเพียงสายพันธุ์ที่ทำกำไร

นักกิจกรรมด้านอาหารในอเมริกาจึงมองว่าแบบนี้ไม่ได้การ เพราะการกินดีอยู่ดีทั่วๆ ไป เช่นกินคลีน กินออร์แกนิก หรือการอุดหนุนสินค้าอินทรีย์ก็ยังคงมีจุดบอดที่น่าเป็นห่วง และการช่วยเหลือเป็นส่วนๆ เช่นอนุรักษ์เฉพาะน้ำ ดูแลเฉพาะป่า หรือใส่ใจเฉพาะเรื่องอาหารเหลือทิ้ง ก็ยังมีพลังไม่พอทำให้ ‘ระบบอาหาร’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

สิ่งที่เวิร์คคือวิถี Sustainable Eating หรือการ ‘ใช้ชีวิต’ ให้เกื้อหนุนสิ่งแวดล้อมที่สุด ทั้งการกิน อยู่ หลับนอน ทุกส่วนควรสอดคล้องและช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย… แต่ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน เรามีวิธีง่ายๆ แต่ได้ผลจริงเหล่านี้มาให้ลองทำตาม!

7.00 AM : Grow Something

เพาะบางต้นไว้เก็บกิน (รดน้ำต้นไม้ในกระถางเล็กๆ ตอนเช้า)

ปลูกผักไว้กินเอง เริ่มจากต้นง่ายๆ เช่นกะเพรา โหระพา สะระแหน่ ที่นับจากวันปักกิ่งลงดิน อีกหนึ่งอาทิตย์ก็ได้กินแล้ว และนอกจากเราจะได้กินผักปลอดภัย ยังทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วย

8.00 AM : Tap your Tap

พกแก้วตัวเองไว้ก็อุ่นใจ (ซื้อกาแฟตอนเช้า)

พกขวดหรือกระบอกน้ำติดตัวไว้ใส่เครื่องดื่มจากร้านต่างๆ นอกจากช่วยลดพลังงานที่ใช้กำจัดขยะ ยังปลอดภัยจากสารเจือปนที่อาจผสมอยู่ในแก้วพลาสติกด้วย

12.00 PM : Eat Seasonally

เลือกกินตามฤดูกาล  (กินมื้อกลางวัน)

เลือกกินผักผลไม้ตามฤดูกาล นอกจากจะได้กินผักผลไม้ราคาถูก คุณภาพดี ยังช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องใช้ยาเคมีเร่งผลผลิตให้ออกทุกฤดูกาลด้วยนะ

14.00 PM : No Plastic Bag

บอกลาถุงพลาสติก (ซื้อของเซเว่นระหว่างวัน) 

เชื่อเถอะว่ากินน้ำจากแก้วสะอาดดีที่สุด และใช้ถุงผ้าใส่ของก็ช่วยลดขยะได้มาก ในทางอ้อมยังช่วยลดความเสี่ยงที่พลาสติกจะเจือปนในน้ำและดิน จนทำให้อาหารการกินของเราปนเปื้อน

17.00 PM : Shop locally

อุดหนุนของท้องถิ่น (ซื้ออาหารในตลาดก่อนกลับบ้าน)

เริ่มจากสำรวจว่าละแวกบ้านเรามีของดีอะไรและลองอุดหนุนดูสักหน่อย ก็จะช่วยกระจายเม็ดเงินสู่ท้องถิ่น ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน และคุณภาพสินค้าในชุมชนก็จะดีขึ้นด้วย

18.30 PM : Nose to Tail cooking

ใช้ทุกส่วนปรุงให้หมดจด (ปรุงอาหารเย็นในครัว)

ขณะทำอาหาร จำให้ขึ้นใจว่า “การทิ้งเป็นสิ่งสุดท้าย” เช่นการใช้เปลือกแตงโมส่วนที่อ่อนๆ มาแกงส้ม หรือการนำแกนสับปะรดมาหมักทำน้ำยาล้างจาน วิถีแบบนี้จะช่วยลดขยะลงได้มาก

19.00 PM : Eat less meat

กินเนื้อให้น้อยในมื้อเบาๆ (กินมื้อค่ำกับครอบครัว)

กินเนื้อให้น้อย! ในแต่ละปีอุตสาหกรรมปศุสัตว์ปล่อยก๊าซมีเทนที่ทำให้โลกร้อนขึ้นสู่บรรยากาศถึงราวๆ 3 เปอร์เซ็น แต่ถ้าอยากกินเนื้อ แนะนำให้เลือกเนื้อที่เลี้ยงแบบอินทรีย์ดีที่สุด

กระทรวงเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกาประเมินว่า ถ้าหากเราเพิ่มเวลามื้อกลางวันจาก 20 เป็น 30 นาที จะเพิ่มเปอร์เซ็นที่เราจะกินอาหารหมดจาน และช่วยลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งได้ถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS