Rare Tea Co. ธุรกิจชาที่ดีต่อทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

4,184 VIEWS
PIN

image alternate text
“เป้าหมายของฉัน คือการทำให้ผู้คนหันมาให้คุณค่ากับชาเหมือนไวน์ ชาวไร่ชาในแอฟริกาจะได้มีความมุ่งมั่นและก้าวหน้าได้เหมือนอย่างไร่ไวน์ในฝรั่งเศส” - เฮนเรียตต้า โลเวลล์ (Henrietta Lovell) ผู้ก่อตั้งบริษัทแรร์ที (Rare Tea)

คนอังกฤษดื่มชาเฉลี่ยวันละ 6 ถ้วย ส่วนมากคือชาดำป่นในถุง รสชาติขมจัด ต้องดื่มกับนมและน้ำตาล แตกต่างจากเทรนด์การดื่มกาแฟ ทั้งดริป แอร์โรเพรส โคลด์บรู ซิงเกิ้ลออริจิน ผู้คนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับกาแฟมากกว่าชามาก ทั้งๆ ที่เครื่องดื่มทั้งสองชนิดนี้ มีรสชาติที่ซับซ้อนไม่แพ้กัน และสถานการณ์ความยากลำบากของชาวไร่ชากับกาแฟที่ถูกกดราคาจากตลาดตะวันตกนั้นไม่ได้แตกต่างกันเลยสักนิด

สมัยศตวรรษที่ 18 ประเทศอังกฤษมีชาคุณภาพดีจากทั่วโลกให้เลือกซื้อ เลือกชิมมากมาย วิกฤติราคาถูกในอังกฤษที่ทำร้ายเกษตรกรผู้ผลิตชา เริ่มมาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลต้องการนำเข้าชาราคาถูกสุด เพื่ออย่างน้อยประชาชนจะได้มีกำลังพอซื้อชามาติดบ้านไว้เสมอ เพราะชาก็เหมือนอาหารพื้นฐานของคนอังกฤษ ไม่ต่างจากนมและขนมปัง หลังจากช่วงสงครามโลก ซูเปอร์มาร์เก็ตเข้ามาในประเทศ และพยายามแย่งลูกค้าจากร้านค้าเล็กๆ จึงพยายามกดราคาของอาหารหลักเหล่านี้ให้ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ธุรกิจขนมปัง ผลิตภัณฑ์จากนม และชา ก็ยังได้รับผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้

เฮนเรียตต้า โลเวลล์ (Henrietta Lovell) ผู้ก่อตั้งบริษัทแรร์ที (Rare Tea) จึงพูดเอาไว้ว่า “เป้าหมายของฉัน คือการทำให้ผู้คนหันมาให้คุณค่ากับชาเหมือนไวน์ ชาวไร่ชาในแอฟริกาจะได้มีความมุ่งมั่นและก้าวหน้าได้เหมือนอย่างไร่ไวน์ในฝรั่งเศส”

หลังจากทำงานในบริษัทข้ามชาติมาเกือบสิบปี เฮนเรียตต้าได้เดินทางไปทำงานในฮ่องกงและจีนอยู่บ่อยๆ ทำให้เธอได้ลองชิมชาคุณภาพดีจนรู้สึกสนใจและเริ่มศึกษาเกี่ยวกับชาชนิดต่างๆ รวมทั้งเดินทางท่องเที่ยวไปตามไร่ชาในประเทศจีน อินเดีย และแอฟริกา วันหนึ่งเธอตัดสินใจลาออกจากงานออฟฟิศในบริษัทใหญ่ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วหันมาเดินตามความชอบของตนเอง ด้วยการเปิดบริษัท Rare Tea ขึ้นมาในลอนดอน

สิบกว่าปีหลังจากเปิดบริษัท ทุกวันนี้ เฮนเรียตต้า เป็นที่รู้จักในชื่อคุณหญิงชา หรือ tea lady เธอไม่เพียงแค่จัดหาชาและเบลนด์ชนิดต่างๆ ให้กับเชฟและร้านอาหารมิชลินสตาร์ชื่อดังทั่วโลก ตั้งแต่โนมา (Noma) ที่โคเปนเฮเกน อลัน ดูคาส มูการิทส์ (Mugaritz) ที่สเปน ไปจนถึงทีรูมไฮโซในโรงแรม Claridges ที่ลอนดอน เธอยังทำเบลนด์ส่วนตัวให้กับควีนอลิซาเบธ และเจ้าชายวิลเลียมอีกด้วย

จากบริษัทเล็กๆ ที่เธอทำทุกอย่างเองจากห้องนอน มาถึงทุกวันนี้ได้ ก็เพราะเฮนเรียตตาเชื่อในคุณภาพสินค้าของสิ่งที่เธอขายนั่นเอง แม้ว่าเมื่อสิบปีที่แล้ว การดื่มชาแบบ loose leaf (เป็นใบชา ไม่ใส่ซอง) จะไม่เป็นที่นิยมเลยแม้แต่น้อย แต่เฮนเรียตต้าก็ยืนยันว่าถ้าจะขายชาที่ชงออกมาแล้วรสชาติดีสมราคา คุณภาพ และน้ำพักน้ำแรงของเกษตรกรแล้ว อย่างไรก็ขายให้ชงกันในถุงชาใบเล็กๆ ที่มีส่วนผสมของพลาสติกไม่ได้เด็ดขาด แม้หลายคนบอกว่า การชงชาจากใบชานั้นยุ่งยากซับซ้อน แต่เธอเชื่อว่าถ้าชาของเธอรสชาติดีจริง อย่างไรเธอก็จะต้องสร้างตลาดการดื่มชาจากใบชานี้ขึ้นมาในอังกฤษได้อย่างแน่นอน

สำหรับเฮนเรียตต้า ชาที่ดี ไม่ใช่แค่รสชาติดีเท่านั้น ต้องดีต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม นั่นคือต้องปลอดสารพิษ ไม่มีสารเคมี ขนส่งทางเรือเมื่อเป็นไปได้ เพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แพ็กเกจทุกอย่างไม่มีพลาสติกและสามารถนำมารีไซเคิลได้ นอกจากนั้นยังต้องดีต่อผู้ผลิต เกษตรกรที่ปลูกชาต้องไม่ถูกกดราคา ซื้อขายกันอย่างแฟร์ๆ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ชาของ Rare Tea เป็นการค้าขายโดยตรง (direct trade) ทั้งหมดโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เฮนเรียตตาจะเดินทางไปตามไร่ชาต่างๆ ทั่วโลกด้วยตนเองทุกปี เพื่อสานสัมพันธ์กับเกษตรกรและเจ้าของไร่ชา ไปเรียนรู้เกี่ยวกับชา เก็บเกี่ยวชา และชิมชาชนิดต่างๆ ก่อนจะสั่งซื้อผลผลิตประจำปี

แม้จะคัดสรรอย่างพิถีพิถันขนาดนี้ แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าชาของ Rare Tea ไม่มีตรารับรองสินค้าออร์แกนิกเลย นั่นเพราะการจะได้ตรารับรองออร์แกนิกมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องส่งเอกสารเยอะแยะไปหมด แถมยังมีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายอีกด้วย แน่นอนว่าไร่ชาเล็กๆ บนภูเขาที่ทำงานกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บางแห่งไม่มีน้ำประปาหรือกระแสไฟฟ้า จะมาหวังให้เจ้าของไร่ทำเรื่องร้องขอรับรองตราออร์แกนิกก็ดูจะเป็นสิ่งเกินตัวไปสักหน่อย เฮนเรียตต้าจึงตัดสินใจไม่ใส่ตราออร์แกนิกลงบนชาของ Rare Tea เพราะมันไม่แฟร์สำหรับไร่เล็กๆ ที่ไม่มีตรารับรอง เพื่อเป็นการสนับสนุนไร่เหล่านี้ เธอจึงใช้วิธีส่งชาไปตรวจสอบเองที่แล็บในสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อให้มั่นใจชาว่าชาที่เธอขายไม่มีสารเคมีตกค้าง

บางคนสงสัยว่าบริษัทชื่อ Rare Tea (แปลว่า ‘ชาหายาก’) แต่กลับขายชาปกติทั่วไป อย่างชาเขียว เอิร์ลเกรย์ หรืออิงลิชเบรคฟาสต์ สำหรับเฮนเรียตต้าแล้ว สิ่งที่ ‘หายาก’ หลักๆ ไม่ได้หมายถึงแค่เพียงชา แต่เป็นวิธีการดำเนินธุรกิจชาของเธอต่างหาก อย่างไรก็ตาม Rare Tea ก็มีชาแปลกๆ ที่มีขายแค่สองถึงสามกิโลกรัมต่อปีเท่านั้น อย่างชาดอกอัลมอนด์จากสเปน ที่เสิร์ฟในร้านอาหารมิชลินสตาร์ชื่อดังหลายร้านในยุโรป ถ้าสงสัยว่าทำไมชาดอกอัลมอนด์นี้ถึงราคาแพง และมีขายแค่เพียงไม่กี่กิโลกรัมต่อปี ตอนหน้าเราจะพาไปลงสถานที่ พบเจอกับเจ้าของฟาร์มออร์แกนิคในสเปน ปีนป่ายต้นอัลมอนด์ จะได้เข้าใจว่ากว่าจะได้ดอกอัลมอนด์มาแต่ละกรัมนั้นมันยากเย็นขนาดไหน

ภาพโดย: เฟิร์น ศรีปุงวิวัฒน์

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS