สมัยนี้คำศัพท์อะไรๆ ก็ดูจะเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยไปเสียหมด มีศัพท์ใหม่ประหลาดๆ เกิดขึ้นทุกวัน วันนี้เราเลยมีคำศัพท์ในครัวเก๋ๆ มาบอกมือใหม่ทั้งหลาย ซึ่งแม้บางคำจะให้ฟีลเก่าไปหน่อย แต่ความจริงแล้วคำเหล่านี้ไม่ได้เป็นศัพท์โบราณอะไรเลยนะ ถ้าพูดกับคนทำอาหารอยู่แล้วก็จะร้องอ๋อ… แต่ถ้าพูดกับคนที่ไม่เข้าครัวเลยอาจมีงง เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน มีคำไหนควรต้องรู้ไว้บ้างจะได้คุยกับเขารู้เรื่อง มือใหม่จ๋า เร่เข้ามาฟังทางนี้เลย!
1. แล่นใบ หมายถึงเวลาตำพริกแกงหรือน้ำพริกไม่ละเอียด ทำให้ยังเห็นพริกเป็นชิ้นใหญ่ๆ อยู่ ปัญหาตำพริกแกงแล้วแล่นใบจะเจอเสมอในมือใหม่ จริงหรือไม่จ๊ะ
2. เซ็งไม่ได้ใช้กับอารมณ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงอาหารที่รสจืด ชืด มักใช้กับอาหารที่ทำทิ้งไว้นานแล้วไม่อร่อย เช่น ยำทำทิ้งไว้นานจนเซ็งหมดแล้ว
3. ขี้โล้ (ไม่ใช่ขี้โม้) คือขี้ตะกอนที่ได้จากการเคี่ยวหัวกะทิจนแตกมัน น้ำมันที่เดือดลอยอยู่หน้าตะกอนจะเรียกว่าน้ำมันขี้โล้ ซึ่งจริงๆ ก็คือการสกัดน้ำมันมะพร้าวแบบง่ายๆ ที่บ้าน เขาเอาไปใช้ทำขนม หรือใช้ทาถาดขนมไทยเพื่อกันติด และยังทำให้ขนมมีกลิ่นหอมอีกด้วย
4. จี่ การทำอาหารให้สุกโดยนำไปนาบกับกระทะใส่น้ำมันน้อยๆ หรือเอาไปย่างไฟอ่อนๆ เพื่อให้สุก เช่น ข้าวจี่ คือข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนเอาไปย่าง
5. มูน เป็นกริยาการใช้กะทิเคล้ากับข้าวเหนียวให้เข้ากัน ออกมาก็เลยเรียกว่าข้าวเหนียวมูน
6. หม้อแขก คือหม้อกลมมีปากบานออกเล็กน้อย แต่ไม่มีหูหรือด้ามจับ มีฝาปิดแบนๆ เลยทำให้วางซ้อนกันได้ ใครไม่เคยเห็นให้ไปดูตามร้านขายข้าวแกงหรือตามรถเข็นโรตี พี่แขกมักจะใส่แป้งโรตีเก็บไว้ในนั้น
7. สามเกลอ เครื่องโขลกแบบไทยประกอบด้วยรากผักชี กระเทียม พริกไทย โขลกรวมกัน นำไปทำอาหารต้ม ผัด แกง ทอด ช่วยเพิ่มกลิ่นหอมให้อาหาร ตัวอย่างเช่น หมูก้อนทอดนี่ขาดสามเกลอไม่ได้เลย
8. เจียว คือการทอดไขมันสัตว์เพื่อรีดเอานํ้ามัน เช่น เจียวกากหมูให้ได้นํ้ามันหมู หรือหมายถึงทอดของบางอย่างในน้ำมัน เช่น เจียวไข่ เจียวหอม เจียวกระเทียม
9. รวน หมายถึงการทำให้อาหารสุกด้วยน้ำหรือน้ำมันในปริมาณน้อยๆ หรือบางครั้งไม่ใส่เลย วิธีคือใส่เนื้อสัตว์หรือผักลงไปคั่วหรือคนในหม้อ กระทะที่มีน้ำหรือน้ำมันน้อยๆ จนอาหารนั้นสุก เช่น รวนหมูสับในหม้อจนสุกแล้วเอาไปทำลาบ
10. จัก คือการเอามีดแกะผักผลไม้ทำให้เป็นแฉก หยัก คล้ายฟันเลื่อย เช่นการจักแตงกวา ไข่ต้ม
11. ฝาน หมายถึงการตัดเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้เป็นแผ่นหรือชิ้นบางเท่าๆ กัน
12. เกรอะ ก็คือการแยกส่วนผสมเหลวใสออกจากส่วนที่ข้น โดยการกรองด้วยผ้าหรือกระดาษ เช่น การเกรอะตาล เป็นการแยกเนื้อตาลกับน้ำตาลใส โดยเนื้อตาลแห้งๆ เอาไปทำขนมตาล ส่วนน้ำใสๆ เอาไปทำวุ้นตาล
13. สง หมายถึงการใช้มือข้างเดียวหรือสองข้างช้อนอาหารขึ้นจากน้ำ เช่น ล้างผักแล้วสงขึ้นจากน้ำให้แห้ง
14. เหม็นโอ่ คือกลิ่นเหม็นของอาหารที่ใกล้จะเสีย เช่น วางผลไม้ตากลมไว้ทำให้เหม็นโอ่
15. ปร่า เป็นการบอกลักษณะรสชาติที่ไม่ดี ไม่กลมกล่อมของอาหารเช่น แกงเผ็ดถ้วยนี้รสปร่า