ประวัติศาสตร์การชำระล้างในพื้นที่ก้นครัว

14,559 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ตามรอยอดีตของการล้างจาน ตั้งแต่น้ำยาเหลืองใสย้อนไปสมัยยังใช้ขี้เถ้าและใยบวบ

ในบรรดาภารกิจงานครัวทั้งหลาย เราขอยกให้งานทำความสะอาดเป็นงานโหดหินอันดับหนึ่ง และเชื่อว่าหลายคนก็คงคิดเหมือนกัน โดยเฉพาะกับครัวไทยที่มีกรรมวิธีซับซ้อน เพราะนั่นหมายถึงการใช้จานชามเพิ่มขึ้น รวมถึงคราบมัน คราบอาหารจากการต้มผัดแกงทอดที่กว่าจะเสร็จแต่ละเมนูเล่นเอาเลอะเทอะไปทั่วทั้งคนทั้งจานชาม

หลังมื้อเย็นวันหนึ่งที่กำลังจัดการกับคราบมันของแกงกะทิบนถ้วยพลาสติกด้วยซันไลต์ น้ำยาล้างจานที่ทำให้การขจัดคราบสกปรกจากอาหารเป็นเรื่องง่ายในปัจจุบัน ฉันนึกสงสัยว่าก่อนหน้านี้เราใช้วิธีการแบบไหนรับมือกับคราบมันและคราบสกปรกเหล่านี้ พอได้ค้นข้อมูลย้อนกลับไปในอดีตก็เซอร์ไพรส์อยู่บ้างเมื่อรู้ว่า จริง ๆ แล้วเราเคยใช้สบู่อเนกประสงค์ในการล้างจานมาก่อน ซึ่งสบู่ก็ถูกใช้อย่างอเนกประสงค์สมชื่อ เพราะใช้รวมไปถึงการสระผม ซักผ้า และอาบน้ำอีกด้วย

หน้าตาของสบู่ที่ว่านี้ก็เป็นก้อน ๆ คล้ายกับสบู่ที่เราใช้อาบน้ำในยุคนี้อยู่เหมือนกัน และดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ของการซักล้างรวมไปถึงการทำความสะอาดเสื้อผ้า ร่างกาย วัสดุอุปกรณ์ทั้งหลายดูจะมีจุดร่วมในยุคหนึ่งอยู่ที่สบู่ทั้งสิ้น

เริ่มจากการชำระล้างร่างกาย การอาบน้ำของคนไทยจากหลักฐานที่ปรากฏในหมายเหตุของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ดูเหมือนจะเป็นกิจวัตรที่ค่อนข้างธรรมดา อาบกันทุกวัน วันละหลายรอบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อชำระร่างกายให้สะอาด มักมีการใช้สมุนไพรใกล้ตัวที่หาได้ง่าย เช่น ใยบวบ มะกรูด ประคำดีควาย ไพล เพื่อช่วยให้สะอาดสะอ้านมากขึ้น หรือหากจะซับซ้อนละเมียดละไมขึ้นอีกระดับหนึ่งก็ขัดตัวด้วยมะขามเปียกและลงขมิ้นให้ผิวเป็นสีเหลืองนวล ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้คนช่วยอีกหลายมือ จึงเป็นการอาบน้ำขัดตัวที่เกิดขึ้นกับเจ้าขุนมูลนายในโอกาสพิเศษมากกว่าจะเป็นกิจวัตรประจำวัน

ส่วนการทำความสะอาดเสื้อผ้านั้นเป็นวิธีที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมาย เพราะแต่เดิมเราใช้วิธี ‘ทุบ’ คราบสกปรกออกจากผ้า รวมถึงการฟาดและการใช้มือเปล่าขยี้ โดยในบางท้องถิ่นจะมีการแช่น้ำประคำดีควายหรือน้ำด่างจากขี้เถ้าก่อนซักเพื่อให้คราบสกปรกหลุดออกง่ายขึ้น เรียกได้ว่าการทำความสะอาดเสื้อผ้าถือเป็นงานหนักอีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียว

สำหรับการล้างจานนั้นมีหลายตำรา ส่วนใหญ่ใช้น้ำขี้เถ้าและผงขี้เถ้าขัดถ้วยชาม เพราะการทำครัวด้วยเตาถ่านทำให้ทุกบ้านมีขี้เถ้าอยู่เสมอ และน้ำขี้เถ้าก็มีฤทธิ์เป็นด่าง ช่วยทำความสะอาดคราบมันได้ดี บ้างก็มีการต้มน้ำร้อนเพื่อลวกเอาคราบมันออกจากถ้วยชามก่อนล้างด้วยน้ำด่าง นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำซาวข้าวหรือน้ำล้างข้าวที่ช่วยลดกลิ่นคาวจากอาหาร รวมถึงใช้มะกรูด มะนาว และวัสดุธรรมชาติอย่างใยบวบหรือกาบมะพร้าวในการขัดถูทำความสะอาดร่วมด้วย

จนกระทั่งเมื่อ ‘สบู่’ เดินทางเข้ามาในไทยพร้อมการติดต่อค้าขายกับต่างชาติราวร้อยกว่าปีก่อน ก็กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการชำระล้างของชาวไทยไปโดยสิ้นเชิง เพราะสบู่เข้ามาในกระบวนการทำความสะอาดอย่าง ‘อเนกประสงค์’ คือใช้ทำความสะอาดได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่อาบน้ำ สระผม ซักผ้า ไปจนถึงการล้างจานชามเลยทีเดียว ไม่ต้องแปลกใจหากคนที่พอจะมีอายุอยู่บ้างยังคงคุ้นเคยกับการใช้สบู่ทำความสะอาดทุกอย่าง กระทั่งตัวฉันเองก็ยังนึกภาพออกว่าตอนเด็กๆ เคยได้ใช้ ‘สบู่กรด’ หรือ ‘สบู่ลาย’ สบู่ก้อนเล็กๆ สีฟ้าขาวในการซักถุงเท้าหรือเสื้อผ้าที่มีคราบสกปรกมาก หากจะให้แพงขึ้นมาอีกก็ต้องเป็น ‘สบู่ซันไลต์’ ก้อนใหญ่สีเหลืองที่ต้องทยอยหั่นมาใช้ทีละส่วนๆ ซึ่งจะมีกลิ่นหอมน่าใช้กว่าสบู่กรด เราจึงมักเก็บสบู่ซันไลต์ไว้ใช้กับการอาบน้ำและล้างจานมากกว่าการซักผ้า

กว่าสบู่จะลดบทบาทลงเหลือเพียงแค่การอาบน้ำ ก็คือตอนที่มีการจำหน่ายผงซักฟอกครั้งแรกในประเทศไทยราวปี 2475 ในยุคแรกผงซักฟอกยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะต้องนำไปละลายน้ำร้อนก่อนจึงจะใช้ได้ จนเมื่อมีการพัฒนาสูตรให้สามารถละลายได้ในน้ำอุณหภูมิห้อง ผงซักฟอกจึงรับบทดูแลความสะอาดของเสื้อผ้าและภาชนะนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนน้ำยาล้างจานอย่างที่เราคุ้นเคยกัน ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นในราวปี 2514 โดยบริษัทลีเวอร์บราเธอร์ส ประเทศอังกฤษ เริ่มพัฒนาจากสบู่อเนกประสงค์มาเป็นครีมสำหรับล้างจานโดยเฉพาะ แล้วจึงกลายเป็นของเหลวสีเหลืองใสในแบบของซันไลต์อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน แต่กว่าจะมีการนำเข้ามาจำหน่าย จนกลายเป็นที่นิยมในไทยก็อีกหลายสิบปีให้หลัง ซึ่งก็คล้ายกับที่เราเรียกขนมเยลลี่รสผลไม้ว่าปีโป้ ด้วยความที่สบู่ซันไลต์อยู่ในประวัติศาสตร์การทำความสะอาดในบ้านเรามานานถึงร้อยกว่าปี ประกอบกับน้ำยาล้างจานยี่ห้อแรกที่เข้ามาทำความรู้จักกับงานครัวไทยก็คือยี่ห้อซันไลต์ เราหลายคนจึงใช้ชื่อที่คุ้นหูอย่างซันไลต์มาใช้แทนคำว่าน้ำยาล้างจานไปเสียอย่างนั้น

ฉันนึกถึงภาพตัวเองต้องไปตักผงขี้เถ้ามาล้างจานกองพะเนินเทินทึกแล้วก็พบว่าคงดูไม่จืด และงานครัวคงกลายเป็นเรื่องน่าถอนหายใจ เมนูโปรดประจำบ้านก็คงหายไปหลายเมนู เพราะไม่มีใครยอมเสียเวลามาต้มน้ำร้อนลวกคราบมันหรือรองน้ำซาวข้าวมาแช่จานแน่ ๆ ชีวิตที่ไม่ได้อบเบเกอรี่และไม่ได้กินแกงกะทิฝีมือแม่คงเป็นชีวิตที่หดหู่น่าดู หรือถ้าจะต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ จัดการกับจานชามทุกมื้ออาหาร ก็ดูจะเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายพอกัน แถมเวลาของฉันยังต้องแบ่งไปให้กับการอ่านหนังสือ ดูซีรี่ส์เรื่องโปรด วิ่งรอบหมู่บ้านตอนเย็น เม้าท์กับเพื่อน และอื่นๆ อีกมากมาย

โชคดีที่ฉันไม่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการต้องอดกินของอร่อยกับการต้องเสียเวลาล้างจานเป็นชั่วโมง เพราะปัจจุบันน้ำยาล้างจานกลายเป็นรักแท้ของครัวไทยไปแล้ว โดยเฉพาะกับงานศึกหนักด่านสุดท้าย อย่างคราบมัน คราบสกปรก และกลิ่นคาวทั้งหลาย

ฉันในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านงานชำระล้างประจำครัวของบ้าน (หรือเรียกให้ง่ายก็คือเป็นคนล้างจานนั่นแหละ) ขอเป็นตัวแทนของสมาคมผู้พิทักษ์ความสะอาดในพื้นที่ก้นครัว ยกย่องนวัตกรรมน้ำยาล้างจานและประวัติศาสตร์การชำระล้างอันยาวนานนี้ที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นหลายระดับ แทนที่จะเสียเวลาจมอยู่กับกองจานชามและซิงก์ล้างจานเป็นชั่วโมง ฉันใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีแล้วเอาเวลาที่เหลือมาขีด ๆ เขียน ๆ บอกเล่าเรื่องราวของน้ำยาสีเหลืองใสธรรมดาๆ ที่ทำหน้าที่ได้อย่างมหัศจรรย์นี้มาแบ่งปันกับทุกคน นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีจริงไหมคะ

ว่าแล้วฉันก็คงต้องขอตัวไปเก็บจานชามที่ตากทิ้งไว้ก่อนค่ะ จะได้จบภารกิจท้ายครัวของวันนี้อย่างงดงามเสียที

 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS