แค่เด็ด ‘ผักพื้นบ้าน’ ก็สะเทือนถึงดวงดาว!

4,006 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ผักพื้นบ้าน ผักท้องถิ่นที่นับวันก็ยิ่งจะหายหน้าหายตาไปจากสำรับกับข้าว เกี่ยวข้องอย่างไรบ้างกับอาหารของมนุษยชาติ มีบทบาทแค่ไหนต่ออนาคตของเรา

ก่อนจะมาสาธยายเหตุผลว่าทำไมทุกคนควรกินผักพื้นบ้านให้มากขึ้น เราขอชวนเล่นเกมง่ายๆ กันก่อน

โจทย์ของเราก็คือ จงบอกชื่อผักให้ได้มากที่สุดในเวลา 10 วินาที เริ่ม!

เชื่อว่าคำตอบที่หลายคนตอบซ้ำๆ กันจะต้องมี แตงกวา มะเขือเทศ แครอท คะน้า หัวหอม ถั่วงอก กะหล่ำ กะเพรา เป็นพื้นฐาน

ส่วนใครพูดถึงชะอม ผักขี้เหล็ก ดอกโสน ดอกขจร กระถิน มะระขี้นก ดอกแค ผักเชียงดา ไหลบัว สะตอ สะเดา หรือผักอื่นๆ ที่มีความนีซขึ้นมาบ้าง โปรดจินตนาการหน้าอู้หูของเรา

แต่ถ้าใครมีชื่อผักโหบเหบ ผักกูด หน่อกะลา ผักติ้ว ผักน้ำ ผำ ไก ลูกเหรียง ยอดมันปู ผักพ่อค้าตีเมีย และผักอื่นๆ ที่ชื่อชวนสงสัยอีกมากมายนานา โปรดจงรับการโค้งคำนับจากเราไปสามครั้งแบบงามๆ ไม่ใช่ในฐานะของคนที่รู้จักผักมากกว่าคนอื่น แต่ในฐานะของผู้รักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้กับโลกใบนี้

ผักพื้นบ้านกับความหลากหลายทางชีวภาพ

คำว่า ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ ฟังดูเป็นคำใหญ่คำโต คล้ายกับว่ามันคือเรื่องไกลตัวที่น่าจะเกี่ยวข้องกับนักวิทยาศาสตร์ หรือนักพันธุวิศวกรรมมากกว่าแม่ค้าบนแผงผัก แต่จริงๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกับการเดินตลาดมากกว่าที่เราคิด

อธิบายอย่างง่ายแบบไม่สนใจตัวเลขสถิติก็คือ ปัจจุบันนี้ผักที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต หลับตานึกได้ว่าไปตลาดไหนก็ต้องเจอ ผักที่เรากินกันอยู่บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน หรือผักในสิบชื่อแรกที่เรานึกถึง ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตของเมล็ดพันธุ์ที่แกะออกมาจากซองทั้งสิ้น เมล็ดพันธุ์ผักซองๆ เหล่านี้มีที่มาจากไหน คำตอบก็คือมีที่มาจากห้องแล็บหรือกระบวนการทางพันธุวิศวกรรมศาสตร์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์มาแล้วว่ามีอัตราการรอดสูง มีขนาดที่ตรงตามมาตรฐานตลาด มีคุณสมบัตินานาสารพัดอย่างที่การันตีได้ว่าเกษตรกรจะสามารถส่งผลผลิตขายในตลาดได้แน่นอนหากดูแลอย่างเหมาะสมตามเงื่อนไข แต่ในความเป็นมาตรฐานเดียวกันนั้นยังแฝงไปด้วยการผูกขาดอยู่อย่างชัดเจนเกินจะมองข้ามได้

ส่วนเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่เติบโตตามธรรมชาติ เก็บเกี่ยว ดูแลรักษา และส่งต่อโดยฝีมือของเกษตรกรเอง กลับมีความไม่แน่นอนมากกว่า ทั้งในแง่ของการอยู่รอดและคุณภาพของผลผลิต การปลูกพืชพันธุ์ท้องถิ่นโดยหวังผลทางการค้าอย่างจริงจังจึงทำได้ยากกว่าการฉีกเมล็ดพันธุ์จากซองมาปลูกหลายเท่านัก

อธิบายอย่างง่ายลงไปอีกโดยไม่สนใจคำศัพท์วิชาการทั้งหลายแหล่ ระหว่างมะเขือเทศลูกโต สีแดงสด เนื้อหนาฉ่ำน้ำ กับมะเขือส้มลูกเล็ก สีเขียว สีเหลืองสด ไล่ไปจนถึงส้มแดง เนื้อบางและแข็ง ไม่ฉ่ำน้ำเท่ามะเขือเทศแต่รสเปรี้ยวชื่นใจ สิ่งไหนคือสิ่งที่เราคุ้นตาในแผงตลาดมากกว่ากัน?

แน่นอนว่าคำตอบคือมะเขือเทศ ก็เพราะมะเขือเทศลูกโตเหล่านั้นคือสายพันธุ์ที่ถูกนำไปปรับปรุงแล้วเรียบร้อย ผ่านกระบวนการทางพันธุกรรมที่ผสมและคัดสรรมาให้มีลักษณะตามที่ต้องการ ปลูกง่าย ปลูกได้ทั้งปี ขายได้ตามตลาดทั่วไป ในขณะที่มะเขือส้มยังคงควบคุมลักษณะของผลผลิตไม่ได้ เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้างไปตามแต่ปัจจัยที่ต่างกัน ทั้งอายุ ความสมบูรณ์ของดิน ปริมาณน้ำ ไปจนถึงการกลายพันธุ์ของเมล็ด

ลองสมมติให้ตัวเราเองเป็นเกษตรกร ระหว่างมะเขือเทศที่ผลผลิตเป็นมาตรฐานมีตลาดรองรับ กับมะเขือส้มที่ใน พ.ศ.นี้เด็กรุ่นใหม่แทบไม่มีใครรู้จัก เราจะเลือกลงทุนกับสายพันธุ์ไหนมากกว่ากัน? ตอบอย่างไม่ลังเลว่าต้องเป็นอย่างแรก และนี่คือเหตุผลที่มะเขือเทศครองตลาดและกลายเป็นภาพคุ้นตาได้มากกว่ามะเขือส้ม ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับใครที่นึกหน้าตาต้นมะเขือเทศยังไม่ออก การจะรู้จักมะเขือส้มได้ย่อมถือเป็นเรื่องยากเย็น มะเขือส้มจึงค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเมนูส้มตำทั้งหลายแหล่กลายเป็นเวทีของมะเขือเทศไปทั้งหมด (ทั้งๆ ที่มะเขือส้มลูกเล็กพวกนั้นเข้ากับรสของส้มตำมากกว่าตั้งเยอะ!)

ไม่เพียงแต่กับในจานส้มตำ มะเขือเทศยังชนะขาดทั้งในเวทีแผงผัก และบนเวทีของการเพาะปลูกด้วย คำถามถัดไปก็คือ การที่มะเขือเทศชนะขาดลอยมันน่ากังวลตรงไหน?

สิ่งที่น่ากังวลกว่าเรื่องความหลากหลายของรสชาติ ก็คือความหลากหลายของสายพันธุ์ที่หมายถึงความยั่งยืนของอาหารด้วยเช่นกัน เมื่อผู้บริโภคอย่างเราๆ รู้จักเพียงมะเขือเทศลูกโต เกษตรกรก็ต้องเลือกปลูกเฉพาะมะเขือเทศที่มีมาตรฐานตามระบบอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เรียกได้ว่ามะเขือลูกแดงๆ ในท้องตลาดแทบจะมีที่มาจากห้องแล็บที่เดียวกันซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมล็ดพันธุ์จากซองเหล่านี้มักถูกตัดต่อให้ไม่สามารถขยายพันธุ์รุ่นที่สองได้ เมื่อเกษตรกรปลูกมะเขือเทศจนเก็บเกี่ยวไปแล้ว ก็จะไม่สามารถนำเมล็ดจากแปลงของตัวเองมาเพาะปลูกเป็นรุ่นที่สองได้อีกต้องกลับไปซื้อเมล็ดพันธุ์ซองใหม่มาปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เหมือนกับรอบการเพาะปลูกเดิม

ความน่ากลัวของมะเขือเทศที่มีต้นขั้วมาจากที่เดียวกัน ก็คือสายพันธุ์เหล่านี้มักต้านทานโรคได้เท่าๆ กัน ต้านทานศัตรูพืชได้เท่าๆ กัน หมายถึงต้องใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยากำจัดศัตรูพืชแบบเดียวกันด้วย ในขณะที่โรคพืชและศัตรูพืชพัฒนาตัวเองให้ต้านทานกับเคมีเหล่านี้มากขึ้นไปพร้อมๆ กับความนิยมในการบริโภค เกษตรกรทั้งหลายก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้สารพิษทั้งหลายทั้งปวงในปริมาณมากขึ้น เพื่อรักษาให้คุณภาพและปริมาณของผลผลิตไม่ลดน้อยลงจากเดิม

ท้ายที่สุด วงจรของผักคุ้นหูเหล่านี้ก็คือการเพิ่มอำนาจให้สารเคมี เพิ่มอำนาจให้บริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์แต่ลดความหลากหลายทางชีวภาพลง ส่งเสริมให้วงจรน่ากลัวทางเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลงให้วนเวียนต่อไปไม่รู้จบ และแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่รออยู่น่ากลัวกว่าที่คิด

ไม่ใช่แค่เพียงมะเขือเทศเท่านั้น ผักยอดนิยมอื่นๆ ก็กำลังค่อยๆ สั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่ผักพื้นบ้านอันหมายถึงความหลากหลายทางรสชาติและทางชีวภาพค่อยๆ อ่อนกำลังลง จนในที่สุดวันหนึ่งรุ่นลูก หลาน หรือเหลนของเราอาจะรู้จักผักเพียงไม่กี่สิบชนิด ทั้งจากเหตุที่กินไม่เป็น ไปจนถึงเพราะผักพื้นบ้านเหล่านั้นถูกมองข้ามจนน้อยใจ ชิงสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะเริ่มแนะนำให้ใครได้รู้จัก

เราจึงอยากยกมือทักกวักมือเรียกให้ทุกคนลองเปิดใจให้ผักชื่อแปลกทั้งหลาย ชักชวนผักหน้าตาประหลาดเหล่านั้นมาแสดงผลงานบนเวทีสำรับให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะมันอร่อยและมีรสชาติที่แตกต่าง แต่ผักพื้นบ้านเหล่านี้ยังมีประโยชน์ และจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาแหล่งอาหารให้หลากหลายและแข็งแรงอย่างที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีจากโรงงาน เพื่อส่งต่อสายพันธุ์มหัศจรรย์เหล่านี้ไปยังรุ่นอื่นๆ อีกหลายรุ่น ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร มาพบกับเหล่าผักพื้นบ้านได้ที่ KRUA.CO ตลอดทั้งเดือนนี้ เพราะเราตั้งใจจะเป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างและสนับสนุนให้ทุกคนกินผักอย่างหลากหลายก่อนที่เด็กๆ ของเราจะนึกชื่อผักได้ไม่ครบสิบ และก่อนที่เราจะต้องฝากปากท้องไว้กับอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่พร้อมจะขูดรีดเราทั้งโลกได้ในวันใดวันหนึ่ง

ที่สำคัญ ตำไทย ตำลาว ใส่มะเขือส้มมันอร่อยกว่าใส่มะเขือเทศจริงๆ เราขอยืนยัน  

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS