อดีตของย่านวังบูรพาคือความรุ่งเรืองและแหล่งรวมพลของ ‘โก๋หลังวัง’ กลุ่มวัยรุ่นแห่งยุคซิกซ์ตี้ (1960s)เพราะวังบูรพานี้เอง คือศูนย์การค้าแห่งแรกของไทยที่ทั้งทันสมัยที่สุดและยิ่งใหญ่คึกคักที่สุดในยุคนั้น หากวัยรุ่นยุคนี้มีย่านสยาม วัยรุ่นยุคเก้าศูนย์มีเซ็นเตอร์พอยต์ วัยรุ่นยุคหกศูนย์ก็มีย่านวังบูรพานี่แหละที่เป็นศูนย์กลางหลังจากนั้นจึงมีร้านรวงต่างๆ ตามมาอีกมากมาย รวมถึง ‘ออน ล๊อก หยุ่น’ ร้านเบรกฟาสต์ขวัญใจโก๋หลังวังขนาดที่เล่าลือกันว่า ‘แดง ไบเล่ย์’ จิ๊กโก๋หน้าหล่อ เซเลบแห่งพระนครก็ฝากท้องกับร้านนี้อยู่เป็นประจำ
ย่านพระนครมีโรงภาพยนตร์ถึง 3 แห่ง คือโรงภาพยนตร์คิง โรงภาพยนต์ควีน และโรงภาพยนตร์แกรนด์ คอยฉายทั้งหนังไทยและหนังเทศจากสารพัดค่ายอยู่ตลอด นอกจากนี้ยังมีศาลาเฉลิมกรุง โรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันนี้ด้วย นอกจากจะเป็นศูนย์รวมของโก๋หลังวังแล้ว ย่านนี้จึงกลายเป็นแหล่งรวมพลของชาวบันเทิงไปโดยปริยาย ร้านออน ล๊อก หยุ่น ซึ่งอยู่ข้างโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง และอยู่ตรงข้ามกับพื้นที่ของค่ายภาพยนตร์หลายชื่อ ก็ได้กลายเป็นแหล่งพบปะ นั่งพักผ่อนเสวนาตามประสาสภากาแฟของเหล่าคนบันเทิงทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังและแมวมองมาส่องสายตาหาดาวดวงใหม่ กระทั่งมิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ คู่พระนางอันดับหนึ่งในยุคนั้นก็เป็นลูกค้าออน ล๊อก หยุ่นด้วยเช่นกัน
แต่หลังจากการอุบัติขึ้นของสยามสแควร์และย่านศูนย์การค้าราชประสงค์ในช่วงหลัง ความนิยมก็เคลื่อนไปยังพิกัดใหม่ โรงหนังและห้างร้านทยอยปิดตัวลง เหลือเพียงร่องรอยความรุ่งเรืองอย่างโรงหนังศาลาเฉลิมกรุงที่ปัจจุบันยังคงยืนหยัดให้ความบันเทิงอยู่เช่นเคย ห้างไนติงเกล โอลิมปิก และแน่นอนว่ารวมถึง ออน ล๊อก หยุ่น ร้านอาหารเช้า 80 ปีร้านนี้ด้วย
แม้จะไม่มีบันทึกหลักฐานว่าออน ล๊อก หยุ่น คือร้านเบรกฟาสต์ร้านแรกของไทยหรือไม่ แต่การที่ร้านอื่นๆ ในรุ่นเดียวกันได้ทยอยโบกมือลาไปจนไม่เหลือแล้ว ส่วน ออน ล๊อก หยุ่นยังคงเสิร์ฟเบรกฟาสต์แบบเดิมมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะไม่ใช่โก๋หลังวังแต่เราก็นึกอยากมาลิ้มลองเบรกฟาสต์ในตำนานนี้ดูสักวัน
อาหารเช้าแบบตะวันตกที่เสิร์ฟเป็นชุด ไข่ดาว แฮม ไส้กรอก เบคอน ถูกท็อปด้วยความเป็นเอเชียอย่างกุนเชียงรสหวาน คือจานซิกเนเจอร์ที่วางอยู่บนทุกโต๊ะ โดยมีตัวเลือกให้ลูกค้าใส่หรือไม่ใส่เครื่องได้อย่างหลากหลายตามใจ (55–90 บาท) หรือจะเป็นเมนูขนมปังอย่าง ขนมปังเนยสด (23 บาท) ขนมปังเนื้อนิ่มเสิร์ฟพร้อมกับเนยแท้และน้ำตาลให้ดีไอวายแบบหวานมากน้อยตามใจชอบ หรือขนมปังทาเนยน้ำตาล (23 บาท) ขนมปังปิ้งฉ่ำเนย มีจุดเด่นคือขนมปังค่อนข้างนิ่มต่างจากร้านขนมปังปิ้งส่วนใหญ่ที่มักใช้ขนมปังซึ่งค่อนข้างอยู่ตัว
หรือจะเป็นขนมปังสังขยา (28 บาท) ขนมปังตัดขอบ นึ่งพอให้เนื้อนิ่ม พร้อมกับสังขยาสูตรเฉพาะของร้านที่ไม่หวานเกินไป และเป็นสังขยาสีส้มที่ค่อนข้างเนื้อหนัก ไม่เหลวเละเป็นน้ำ เมื่อเจอกับความมันของนมข้นจืดก็นับว่าเป็นอีกเมนูที่ลงตัว กินคู่กับชาจีนร้อนที่ทางร้านเสิร์ฟให้ฟรีสำหรับทุกคน เป็นมื้อเช้าเบาๆ ที่ราคาสบายกระเป๋ามากทีเดียว
ที่แปลกตากว่าใครเพื่อนเห็นจะเป็นขนมปังชุบไข่ (35 บาท) แบบที่ไม่เคยได้กินที่ไหนมาก่อน เพราะไม่ใช่เฟรนช์โทสต์แต่ละม้ายคล้ายกับไข่เจียวมากกว่า เคล็ดลับความอร่อยคือกินกับซอสเปรี้ยวหรือซอสพริกเพื่อตัดความมัน โดยเฉพาะซอสพริกยี่ห้อดั้งเดิมที่ทางร้านเลือกใช้ซึ่งเด่นที่ความเผ็ดนำ ไม่เปรี้ยวหวานอย่างที่นึก
ส่วนเมนูเครื่องดื่มก็เป็นไปตามมาตรฐานของสภากาแฟทั่วไป อย่างเช่นกาแฟคั่วเองที่เน้นคั่วเข้มเพื่อชงให้หอมมันตามสไตล์กาแฟโบราณ ชาเย็น ชามะนาว และสารพัดเมนูน้ำหวานให้ได้ดื่มเรียกความสดชื่นยามเช้า
ท่ามกลางแดดสายที่เริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ ลูกค้าก็ยังคงทยอยเดินเข้าออกโต๊ะนั้นโต๊ะนี้ ทั้งร้านชั้นล่างที่เรานั่งอยู่ และชั้นสองที่มีโต๊ะให้นั่งกินกันเงียบๆ นอกจากลูกค้าขาจรอย่างเราที่อยากมาพิสูจน์ความเป็นตำนานดูสักครั้งแล้ว ก็ยังมีลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สะพายกล้องตั้งใจมาเก็บบรรยากาศร้านกลับไปด้วย เหล่าคาเฟ่ฮอปเปอร์ที่แต่งตัวย้อนยุคมาแอบอิงบรรยากาศความเก่าไว้เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดียก็พอมีให้เห็นตลอดทั้งวัน
ไม่พียงเหล่าขาจรที่แวะเวียนมานานทีปีหน ออน ล๊อก หยุ่นยังคงกลิ่นไอเดิมด้วยลูกค้าขาประจำทั้งวัยกลางคนและวัยเก๋า แม้ความจอแจจะไม่เอื้อให้เกิดบทสนทนาเข้มข้นตบโต๊ะอย่างภาพสภากาแฟที่อื่น แต่เมนู “เหมือนเดิมเฮีย” จากลูกค้า และ “อาม่าเป็นไงบ้าง” จากฝั่งเจ้าของร้านก็สร้างบรรยากาศของความคุ้นเคยเล็กๆ ในความวุ่นวายของเช้าวันนี้
เมื่อมานึกว่า ออน ล๊อก หยุ่น ให้บริการอาหารเช้าแบบ ‘เบรกฟาสต์’ มาตั้งแต่ต้น ในช่วงที่ไทยได้รับวัฒนธรรมอเมริกันมาเต็มๆ ทั้งเรื่องดนตรี แฟชั่น และอาหาร ก็นับว่าเป็นร้านที่นำสมัยกว่าใครเพื่อน ข้ามผ่านกาลเวลามาหลายสิบปี จนเจ้าของร้านเปลี่ยนมือมาสู่ทายาทรุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน ออน ล๊อก หยุ่น ก็ยังคงเสิร์ฟเบรกฟาสต์ด้วยเมนูเดิมไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงบรรยากาศของร้านที่ยังคงเดิม โต๊ะไม้กลมเข้าชุดกับเก้าอี้เล็กแบบโบราณ ตู้ไม้บิลด์อิน เคาน์เตอร์รูปตัวแอลหน้าร้าน กระป๋องไมโลที่ถูกแดดเลียจนสีซีดจาง คล้ายกับว่าออน ล๊อก หลุ่น คือแคปซูลเวลาที่เก็บภาพของยุคซิกซ์ตี้แห่งพระนครไว้อยู่เหมือนเดิม
หลายธุรกิจต่อสู้กับความเปลี่ยนผัน ข้ามยุคสมัยด้วยการปรับเปลี่ยนตัวเองตามกระแสขึ้นลง แต่ออน ล๊อก หยุ่น ร้านเบรกฟาสต์ในตำนานต่อสู่กับความเปลี่ยนผันด้วยการไม่เปลี่ยนตาม ผ่านความนำสมัยมาเป็นความล้าสมัย จนเมื่อกระแสความนิยมวกกลับไปหาความเก๋า ออน ล๊อก หยุ่น ที่กักเก็บวันเวลาเก่าๆ ไว้เต็มเปี่ยมจึงพลิกเกมกลับมาเป็นที่หนึ่งแห่งความคลาสสิกอีกครั้ง
ว่ากันว่าสถานที่หนึ่งๆ เมื่ออยู่มานานมากพอก็จะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง เวลากว่า 80 ปีที่ออน ล๊อก หยุ่นอยู่คู่ฝั่งพระนครมาก็อาจเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่มีให้เห็นเป็นรูปธรรมใน พ.ศ.นี้
ออน ล๊อก หยุ่น (On Lok Yun)
สถานที่: ถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ใกล้กับศาลาเฉลิมกรุง)
เวลาเปิด-ปิด: 05.30 – 15.30