หากเราเชื่อว่าอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เราก็ควรเชื่อว่าหนังสือที่ดีก็จะทำให้หัวใจแข็งแรงเช่นเดียวกัน อาหารคือสิ่งหล่อเลี้ยงร่างกาย ส่วนความรู้ความคิดใหม่ๆ คือสิ่งหล่อเลี้ยงหัวใจให้เติบโตและมองเห็นความเป็นไปได้บนโลกใบนี้อยู่เสมอ การได้อ่านหนังสือเล่มใหม่จึงเป็นเหมือนเมนูใหม่ของสมอง ซึ่งแน่นอนว่ามันสำคัญไม่แพ้กับการเลือกสรรอาหารดีๆ ในแต่ละวัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับหนังสือที่แสนเอร็ดอร่อยทั้ง 5 เล่มนี้ ที่เมื่ออ่านจบแล้วคุณจะนอนไม่หลับกระสับกระส่าย ครั่นเนื้อครั่นตัวอยากลุกมาเข้าครัวให้กลิ่นอาหารหอมฟุ้งไปทั่วบ้าน นอกจากหนังสือเหล่านี้จะเป็นอาหารสมองชั้นยอดแล้ว บรรดาตัวละครและนักเล่าเรื่องที่แอบซ่อนอยู่ในเล่มก็จะชี้ชวนให้คุณหาอาหารดีๆ มาบำรุงร่างกายและจิตใจด้วยเช่นกัน
เตรียมเงินให้พอ เตรียมท้องให้ว่าง อย่าลืมเช็กความพร้อมของห้องครัวและโต๊ะอาหาร แล้วมาตะลุยอ่านให้อิ่มจนจุกกันไปเลยดีกว่า!
สามฤดูเป็นหนึ่งใจ – อุรุดา โควินท์
สำนักพิมพ์มติชน
อุรุดา โควินท์ คือนักเขียนที่หมกมุ่นอยู่กับการทำอาหาร และเป็นแม่ครัวที่หมกมุ่นอยู่กับการเขียน เธอเป็นทั้งสองอย่างได้ดีอย่างทัดเทียมกัน และนั่นทำให้ตัวหนังสือของเธอมีผลให้ท้องร้องจ๊อกๆ เสมอ
สามฤดูเป็นหนึ่งใจคืองานเขียนแบบโฮมเมดที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของผู้เขียนและคนรอบข้าง แทรกแต่ละส่วนด้วยเรื่องสั้นอีก 4 เรื่อง ให้ได้อ่านกันอย่างจุใจ เมนูแทบจะทั้งหมดในเล่มคือการเล่าด้วยภาษาง่ายๆ ประกอบกับเมนูธรรมดาๆ แต่มีเสน่ห์และมีรายละเอียดอย่างอบอุ่นใจ ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และอาหารว่าง แม้จะมีเมนูรัสเซียแทรกอยู่ด้วยแต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานที่ครัวเล็กๆ จะทำได้อย่างไม่ลำบาก พร้อมสูตรสั้นแบบอ่านแล้วทำตามได้ทันที ใครอ่านเล่มนี้จบแล้วไม่นึกอยากทำอาหารเลย คงต้องนับถือว่าเป็นคนจิตแข็งมากๆ คนหนึ่ง
My Chefs – อนุสรณ์ ติปยานนท์
สำนักพิมพ์ Salmon Books
หลายคนอาจคุ้นชื่อของอนุสรณ์จากงานเขียนโรแมนติกอย่างลอนดอนกับความลับในรอยจูบ หรือตะวันออกศอกกลับที่ว่าด้วยความเหงาและความเศร้า แต่จริงๆ แล้วอนุสรณ์คืออีกคนหนึ่งที่ลุ่มหลงและมีชีวิตผูกพันอยู่กับอาหารและงานครัว My Chefs คือหนังสือที่เล่าย้อนถึงความทรงจำชีวิตก้นครัว ตั้งแต่วัยเด็กกับรสมือของที่บ้าน เรื่อยมาจนถึงวัยหนุ่มที่เขาใช้ไปกับครัวของร้านอาหารหลายแห่งในลอนดอนจนก้าวสู่การเป็น Sous Chef และต่อเนื่องมาถึงประสบการณ์อาหารที่อนุสรณ์เริ่มเรียนรู้กับอาหารไทยในวันที่ตัดสินใจกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง
My Chefs เป็นเหมือนการทบทวนความทรงจำในครัวของเขา ทบทวนความรู้สึกและความหมายของชีวิตจากหน้าเตาและในวงล้อมกินข้าว ลอนดอน เชียงใหม่ วังเวียง แม่กลอง และอีกสารพัดแห่งที่หนังสือเล่มนี้จะพาคุณเดินทางไปเข้าใจความสำคัญของอาหาร และรสชาติของชีวิตที่ไม่ได้มีแค่ความหวานซึ้ง แต่มีความเผ็ด ความนัว ขมปร่า และฝาดเฝื่อนในบางครั้ง – แต่ขอรับรองว่าเป็นรสชาติที่ควรค่ากับการชิม
เบื้องลึกในครัวลับ – แอนโธนี โบร์เดน
นรา สุภัคโรจน์ แปล
สำนักพิมพ์ Merry-Go-Round Publishing
เบื้องลึกในครัวลับไม่ใช่หนังสือใหม่ แถมแอนโธนี โบร์เดน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังจบชีวิตตัวเองไปแล้วหลังพ่ายการต่อสู้กับโรคซึมเศร้า แต่เล่มนี้ยังคงเป็นหนังสือที่เราอยากแนะนำอยู่ดี เพราะว่าในหนังสือเล่มนี้ แอนโธนี โบร์เดน เชฟ นักเขียน และพิธีกรรายการอาหารคนนี้ได้เปิดเปลือยเรื่องราวของครัวอุตสาหกรรม นับตั้งแต่ร้านขนาดเล็กเท่ารูหนูไปถึงร้านติดดาวมิชลิน ด้วยสำเนียงเสียดสี จิกกัด แต่จริงใจ 100% อันเป็นเอกลักษณ์และเป็นตัวตน ‘จริงๆ’ ของเขาอย่างที่หาใครมาเทียบได้ยากเหลือเกิน
คุณต้องอ่านเล่มนี้หากคุณอยากเป็นเชฟ ใส่ชุดสีขาวและหมวกทรงสูงอยู่ในครัวของร้านอาหารชื่อดัง เพราะนี่คือเรื่องราวโดยละเอียดและเปิดเผยที่สุดเท่าที่จะมีเชฟสักคนเคยเขียนหนังสือมา คุณจะสนุกกับเล่มนี้แน่ๆ ถ้าคุณเป็นเชฟ โดยเฉพาะเชฟในร้านอาหารใหญ่ๆ ที่เบื้องหลังเต็มไปด้วยความมั่วซั่ว เสียงตะโกนโหวกเหวก แผลมีดบาดและรอยน้ำร้อนลวก ส่วนถ้าคุณเป็นแค่คนธรรมดาๆ ที่ชอบกินอาหาร คุณควรอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะนี้อาจเป็นโอกาสเดียวที่คุณจะได้รับรู้ว่า เบื้องหลังอาหารจานสวยๆ ที่คุณกินอยู่ทุกวันมีเรื่องเล่าอะไรซ่อนอยู่บ้าง
วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว – มูเระ โยโกะ
สิริพร คดชาคร แปล
สำนักพิมพ์ Sandwich Publishing
นวนิยายขายดีและมินิซีรีส์อบอุ่นใจจากญี่ปุ่น ถูกสำนักพิมพ์น้องใหม่อย่าง Sandwich Publishing (แค่ชื่อก็น่ากินแล้ว) หยิบจับมาแปลเป็นภาษาไทย ในชื่อว่า วันที่เหมาะกับขนมปัง ซุป และแมว เรื่องราวของ ‘อากิโกะ’ พนักงานประจำที่จู่ๆ มีเหตุให้ชีวิตต้องพลิกผัน ลาออกจากงานประจำมาเปิดร้านอาหารเล็กๆ ที่ขายเพียงขนมปังและซุป
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตนี้ อากิโกะมีเจ้าแมว ‘ทาโระ’ คอยส่งเสียงร้อง “แอ๋วๆ” อยู่ในสถานการณ์เสมอ ท่ามกลางการดำเนินเรื่องเรียบง่ายแบบญี่ปุ่นสุดๆ หนังสือเล่มนี้กลับพูดถึงการก้าวออกจากความเคยชินเดิมๆ ได้น่าสนใจ พร้อมกับมีส่วนที่ขับเคี่ยวปมและปัญหาบางอย่างในชีวิตมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง เป็นหนังสือที่อบอวลไปด้วยกลิ่นขนมปัง ซุป แกล้มความน่ารักของน้องแมว แบบที่อ่านจบแล้วคุณจะอยากได้ซุปครีมอุ่นๆ มาปลอบประโลมจิตใจสักชาม
คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง – ฟูมิเอะ คนโด
กนกวรรณ เกตุชัยมาศ แปล
สำนักพิมพ์ Sunday Afternoon
ชีวิตอันแสนเรียบนิ่งของพนักงานออฟฟิศวัย 37 ปี ‘นาระ เอโกะ’ พลันเปลี่ยนไปเมื่อได้เจอกับคาเฟ่สีขาวขนาดกะทัดรัดที่ชื่อว่า คาเฟ่ลูส คาเฟ่ที่จะปิด 1 อาทิตย์ในทุกๆ 1 เดือน เพื่อให้เชฟสาวเจ้าของร้านได้ออกเดินทางไปตามหาแรงบันดาลใจในการทำเมนูใหม่ๆ ต่อไป
คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง เป็นหนังสือที่ดำเนินเรื่องแบบเรียบง่ายตามสไตล์ญี่ปุ่น แต่ทุกครั้งที่นาระ เอโกะไปเยือนคาเฟ่ลูสแห่งนี้ก็จะมีเรื่องราวชวนคิดชวนติดตามเสมอ ในความเรียบง่ายนั้นเราจึงอดไม่ได้ที่จะรอคอยว่าเมื่อไรกันนะที่เอโกะจะไปคาเฟ่ลูสอีกครั้ง นอกจากการค่อยๆ ย้ำเรื่องการเปิดรับสิ่งใหม่ในชีวิตแล้ว สิ่งที่เราถูกใจมากที่สุดก็คือบรรดาเมนูชื่อยาวที่หนังสือบรรยายไว้น่ากินจนทำเอาเราท้องร้อง
เมื่อหน้าสุดท้ายจบลง หลายคนอาจอยากออกตามหาคาเฟ่ลูสใกล้ตัวบ้าง แต่สำหรับเราแล้ว เราอยากออกเดินทางเพื่อกลับมาทำอาหาร แล้วทำร้านคาเฟ่ลูสของตัวเองละ
โลกของหนังสือและโลกของอาหารมีบางอย่างที่คล้ายกัน นั่นคือเมื่อลงได้ใช้เวลากับมันแล้ว สิ่งที่เคยคิดว่ายากก็จะง่ายขึ้นเรื่อยๆ และเราจะมองเห็นความชอบ ความต้องการของเราชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน