ฉันกำลังมีโปรเจ็กต์พิเศษคืองานเขียนบทหนังที่พูดถึงเรื่อง ‘อาหารบ้าน’ แรงบันดาลใจนี้มาจากอาหารของยายที่เลี้ยงฉันมาตั้งแต่เด็ก แม้ทุกวันนี้คุณยายจะเสียไปแล้วแต่อาหารของยายก็ยังวนเวียนอยู่ในบ้าน (ไม่ใช่ผีคุณยายนะคะ) ได้กินกี่ครั้งก็คิดถึงคุณยายทุกทีและอาจจะเพราะอาหารของคุณยายนี่แหละที่ส่งผลให้วัฒนธรรมการกินข้าวมื้อเย็นกับที่บ้านค่อนข้างมีความสำคัญมาก วันไหนไม่กินต้องโทร.บอก และช่วงไหนไม่กินบ่อยๆ ต้องเริ่มถูกก่นด่าจนการกินข้าวบ้านเป็นเหมือนพิธีกรรมที่รวมคนในบ้านไว้ด้วยกัน ที่พูดมานี่ไม่ได้อึดอัดหรอกนะคะ ชอบเสียด้วยข้าวบ้านอร่อยที่สุดแล้ว 🙂
แต่ช่วงนี้คิด-เขียนบทไม่ค่อยออกค่ะ วันหยุดลมเย็นๆ เลยลงมือรีเสิร์ชด้วยการชวนพ่อ (ศาสตราจารย์ ดร.ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ อดีต บ.ก.นิตยสารครัว) คุยเรื่อง ‘พาข้าว’ เสียหน่อยคาดว่าความเป็นนักวิชาการอันเข้มข้นของพ่อน่าจะช่วยขยายมิติทางสังคมอะไรให้กับลูกได้บ้าง… เมื่อคุยเสร็จแล้วก็คิดว่ามีประโยชน์จึงเรียบเรียงเป็นบทสัมภาษณ์มาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ
ในทัศนะของพ่อพาข้าวคืออะไร
พ่อ : พูดง่ายๆ ว่าการมีพาข้าวก็คือ… ไอ้บ้านนี้มีการทำอาหารแล้วก็สมาชิกในบ้านมากินข้าวด้วยกันเป็นประจำ หรือในมื้อที่สำคัญๆ ซึ่งคนทำอาหารเป็นหลักโดยส่วนใหญ่ก็อาจจะแม่หรือพ่อ
แล้วถ้าซื้ออาหารมานั่งกินด้วยกันถือเป็นพาข้าวไหม
พ่อ : อันนั้นยังไม่ถือเป็นพาข้าว พาข้าวในความหมายจริงๆ แล้วเนี่ยมันต้องมีการ cooking เกิดขึ้น ต้องมี ‘คน’ ปรุงบวกกับ‘รส’ อาหารเฉพาะของจานนี้ สมาชิกในบ้านจะจดจำรสชาติและรำลึกถึงคนทำเสมอ เหมือนกับที่เธอกินยำไก่บ้านแล้วคิดถึงคุณยายน่ะ พาข้าวมันสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้น
อย่างที่บ้านเรา ตุ๊กเป็นแม่บ้านแม่ครัว แม้ว่าตุ๊กจะไม่ใช่คนในครอบครัวโดยสายเลือดแต่เขาอยู่กับเรามานานจนเหมือนเป็นครอบครัว และแม้ว่าคุณยายจะเสียไปแล้วแต่อาหารของคุณยายยังถือว่ามีความสำคัญมากในบ้านเราใช่ไหม? ตุ๊กเองเขาก็ได้รับถ่ายทอดการทำอาหารมาจากคุณยาย ดังนั้นอาหารที่พี่ตุ๊กทำก็ยังมีรสชาติแบบคุณยายที่ต่อเนื่องกันมารวมไปถึงคนอื่นๆ ในบ้านด้วย บางทีพ่อก็ทำนานๆ ทีแม่เธอก็ทำหรือต้องก็ทำ (พี่ชาย) เหล่านี้ก็มีความสำคัญมาก
แล้วทำไมแค่กินข้าวด้วยกันไม่พอเหรอ
พ่อ : อ้าว! (หัวเราะ) การทำอาหารเนี่ยนะมันเป็นความตั้งใจของคนทำทำเพื่อที่จะให้ลูกหลานได้กิน
พี่ต้อง : กินข้าวด้วยกันไม่ต้องกลับบ้านก็ได้ไง
พ่อ : ใช่เวลาเราไปกินอาหารตามร้านเนี่ยเราก็กินแค่เพียงว่าร้านนี้อร่อยร้านนี้ไม่อร่อยแค่นั้น แต่ว่ามันไม่มีตัวบุคคลถึงแม้จะบอกว่า “โอ้โหเชฟคนนี้มือดีมาก” แต่มันไม่ใช่ว่าคุณจะรักเชฟคนนี้มากเพราะเขาทำอาหารให้คุณกิน…มันไม่ใช่ แต่อาหารที่ทำกินเองที่บ้านมันมีคนทำ เวลาเขาทำเขาตั้งใจทำเพื่อที่จะให้สมาชิกในบ้านลูกหลานได้กิน เพราะฉะนั้นเนี่ยมันก็จะมีความพิเศษเริ่มต้นจากความผูกพันกับรสชาติ รสชาตินี้มันไม่ใช่ว่าใครทำก็ได้แต่ว่าเป็นรสชาติที่ผูกกับคนทำ แม่ทำหรือยายทำอย่างงี้
แล้วถ้าบ้านๆ หนึ่งไม่มีพาข้าวจะเกิดอะไรขึ้นคะ
พ่อ : แนวโน้มก็คือว่าสมาชิกในครอบครัวจะไม่มาเจอกันเพราะไม่มี family meal ถึงแม้ว่าบางครอบครัวอาจจะบอกว่าเอ้ยฉันซื้อข้าวมานั่งกินด้วยกันแต่ว่ามันก็ไม่สามารถที่จะมาทดแทน family meal ที่ทำกินเองได้ คือเพราะว่าการทำอาหารกินเองเนี่ยจะเกิดแรงดึงดูดให้สมาชิกมานั่งกินที่บ้านด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา
พี่ต้อง: ตัวอาหารมันเป็น branded ครอบครัวว่านี่คืออาหารของ family ใคร family มัน แบบเวลาฝรั่งเขากลับไปงาน thanks giving ที่บ้านส่วนใหญ่เขาก็จะทำอาหารเองเพราะว่ามันมีความพิเศษในกระบวนการอยู่ เป็นอุบายให้กลับบ้านมาทำอาหารร่วมกัน และเป็นอาหารที่กินได้ที่นี่ที่เดียว พี่ว่ามันเป็น symbolic เป็นการแชร์ common interest และความเป็น family เดียวกัน เวลาซื้อกินของที่ซื้อมามันไม่มี common interest มันไม่มีความเป็นครอบครัว มันอาจจะไม่ได้อร่อยเหมือนอาหารของเชฟแต่ว่ามันมีความเฉพาะความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ
พ่อ : อาหารซื้อกินมันไม่มีชีวิตไม่มีความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่อาหารบ้านเนี่ยเวลาแต่ละจานมาเรียงรายบนโต๊ะเราจะอยากรู้ว่าจานนี้ใครทำ จานนี้แม่ทำ จานนี้พ่อทำ อีกจานลูกสะใภ้ทำ บรรยากาศที่ตามมาบนโต๊ะอาหารก็คือใครทำจานไหนก็จะขายจานของตัวเองอยากให้หมดเร็วพอลูกหลานกินหมดก็ชื่นใจ (หัวเราะ)
ถามพี่ต้องบ้างถ้าพี่ไม่ได้แต่งงานเข้ามาอยู่ด้วยกันแบบนี้แต่แต่งงานออกไปมีครอบครัวเดี่ยวของตัวเองคิดว่าจะมีพาข้าวไหม
พี่ต้อง : ก็คงมีแต่ว่าอาจจะไม่บ่อยเพราะเป็นแบบคนรุ่นใหม่เวลาน้อย แต่คิดว่าคงต้องหาโอกาสพิเศษเช่นวันเกิดหรือว่าโอกาสที่ลูก request อยากกินโน่นนี่ แต่สำหรับพี่ส่วนตัวนะมื้อสำคัญก็คืออาหารเช้า อาหารเย็นมันอาจจะมีความ relax อยากออกไปเปิดหูเปิดตากินอะไรนอกบ้านบ้าง แต่อาหารเช้ามันมีความจำเป็นที่อยากให้กินของดีๆ
การมีครอบครัวใหญ่เราก็จะมี history ติดตามมาด้วยเพราะมีรุ่นยาย รุ่นแม่ รุ่นน้า แต่ทุกวันนี้ครอบครัวเดี่ยวในสังคมมีมากขึ้นทำให้การจะมีพาข้าวมันยากขึ้นหรือเปล่า เพราะเราต้องสร้าง history ใหม่?
พ่อ : ปัญหาของคนรุ่นใหม่พอไปอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวคือโดยส่วนใหญ่จะมองว่าการทำอาหารเป็นภาระ ฉันไม่มีเวลา… แต่จริงๆ คือฉันไม่ได้สนใจต่างหาก แต่ลองดูเถอะ… ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือจะเป็นผู้ชายก็แล้วแต่ ถ้ามีคนใดคนหนึ่งสนใจเรื่องทำอาหาร พอลงมือทำอาหารปุ๊บอีกคนหนึ่งเขาจะต้องมากินด้วย มาร่วม appreciate ด้วย ในครอบครัวจะมี interaction ต่อกัน แล้วพาข้าวก็จะเกิดขึ้นโดยปริยายไม่ได้ยากเย็นยิ่งใหญ่ขนาดสร้าง history ใหม่อะไรหรอก
พี่ต้อง : เออจริงๆ มันอาจจะเป็นกุศโลบายในการทำให้ครอบครัวรวมศูนย์กัน
พ่อ :ความสัมพันธ์ระหว่างผัวเมียเนี่ยนะยิ่งถ้าอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวแล้วไม่มีเรื่องของการทำอาหารอาจจะทำให้รากฐานความสัมพันธ์ไม่แข็งแรง เพราะจริงๆ การทำอาหารด้วยกันหรือการมีส่วนช่วย หรือกระทั่งไม่ต้องช่วยแต่ว่ารับรู้ว่าอีกคนกำลังตั้งใจทำอาหาร เหล่านี้มันโยงบุคคลให้เข้าหากันถึงแม้ไม่ช่วยทำแต่มาช่วยกิน… “โอ้โหเธออร่อยนะ” การมีแม่ทำให้กิน พ่อทำให้กิน เมียทำให้กินหรือผัวทำให้กิน มันจะเกิดความรู้สึกขอบคุณ
สังเกตว่าเดี๋ยวนี้ร้านอาหารโดยมากก็จะมีคอนเซปต์ home cooking แล้วนะ หรือคนพยายามหาอะไรทดแทนการมีพาข้าว?
พี่ต้อง : มันจะทดแทนได้ไงมันไม่ใช่อาหารที่คนใน family เราทำอะ พี่ว่าคนฮิตร้านอาหารแนว home cooking เพราะมันเป็น trend มันดี ใช้วัตถุดิบดีกว่า สุขภาพดีกว่า อะไรก็ว่าไปแต่ไม่ใช่เป็นเพราะว่าขาดความทรงจำของคนที่บ้าน หรือว่าคิดถึงที่บ้าน
พ่อ : อย่าง chef table นี่จริงๆ แล้วเนี่ยมันก็คือพยายามที่จะสร้างการบริการอาหารในลักษณะเหมือนมากินที่บ้านนะ มันก็เป็นความพยายามอย่างหนึ่งในการที่จะทดแทน เพราะว่าการกินอาหารที่บ้านคนกินเขาจะรู้ว่าคนทำอาหารเป็นใคร แล้วก็การกินอาหารมันก็ relax มากขึ้น เชฟจะออกมาพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ให้อารมณ์เหมือนพาเพื่อนมากินข้าวที่บ้าน ซึ่งถ้าพูดไปแล้วเนี่ยก็คือการทำให้ใกล้เคียงกับบรรยากาศของ family meal เรารู้จักคนทำเราได้พูดคุยกับคนทำ
ทำไมมนต์เสน่ห์ของการกินอาหารกับครอบครัวมันอยู่ในกระแสมากขึ้นในรูปแบบร้านอาหาร แต่การทำอาหารกินกันจริงๆ ในครอบครัวกลับมีน้อยลง
พ่อ: จริงๆ แล้วการทำอาหารมันเป็น psychological need ของผู้คนเลยนะ เพราะว่าอาหารมันคือความรักมันถูกทำโดยคนที่ห่วงหา เวลากินด้วยกันได้พูดคุยกันได้เชื่อมโยงกัน การกินข้าวด้วยกันมันไม่ได้สักแต่ว่ากินให้อิ่ม มัน develop ความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วมนุษย์ทุกคนต่างโหยหาสิ่งเหล่านี้ เพราะว่ามนุษย์มันไม่ใช่แค่เพียงกินเพื่ออยู่
ทีนี้ถามว่า psychological need ตรงนี้แต่ก่อนเรามี family meal หรือ family cooking เป็นตัวที่ตอบสนอง แต่เมื่อครอบครัวสมัยใหม่เริ่มไม่มีพาข้าวเพราะครอบครัวแตกเป็นหน่วยย่อย แต่พ่อคิดว่ายังไงคนก็ยังโหยหาสิ่งเหล่านี้ สมมติยกตัวอย่างเพื่อนของแม่บ้านเขาไม่มีพาข้าว แต่ว่าสิ่งที่เขาทำก็คือจะมีการซื้อมากินหรือไม่ก็นัดลูกๆ ไปกินที่ร้านอาหารโอเคพ่อแม่ลูกอาจจะได้มาเจอกัน แต่ psychological need มันไม่ได้รับการตอบสนองแบบ completely หรอก อย่างเพื่อนแม่น่ะสมัยที่ยายยังอยู่ยายก็จะทำไข่พะโล้เอย แกงเปรอะเอย ห่อหมกหน่อไม้เอยไปฝากบ้านเขาบ่อยๆ แล้วพื้นเพเขามาจากอีสาน คุณยายเองก็มาจากอีสาน ทีนี้มันก็จะมีแนวรสชาติแบบอีสานบ้านเฮาเป็นตัวเชื่อม เขาก็จะ appreciateอาหารของยายมาก อาหารทำให้คนเราคิดถึงบ้านนะ มันมี affection อยู่ในอาหารจริงๆ มันไม่ได้หมายถึงเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น มันหมายถึงความรักถิ่นด้วย ทีนี้เวลาแม่ชวนเพื่อนคนนี้มากินข้าวที่บ้านเขาจะดีใจมาก (รู้สึกได้ทดแทนเหมือนไปกิน chef table เหรอคะ?) มันไม่เหมือน chef table ตรงที่มันมาจากคนที่เขารู้จักคุ้นเคยไง เขาจะกระตือรือร้นอยากมามาก ซึ่งในแง่นี้พ่อคิดว่ามันก็คือ psychological need อะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาหาร
แต่มันเป็นการตอบสนองแบบภายนอกนิดนึงหรือเปล่า?
พ่อ : อันนี้แน่นอนๆ เพราะถ้าเป็นการตอบสนองจากภายในมันต้องมาจากเงื่อนไขครอบครัวของเขาเอง แต่เขาไม่ใช่คนทำอาหาร เมียเขาก็ไม่ทำอาหาร ในเมื่อไม่มีใครทำอาหารแล้วทุกคนทำงานกันมาทั้งวันก็เหนื่อยแล้วละ… แต่จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดู การเติบโต เขาไม่ได้เติบโตมาแบบทางเราเพราะฉะนั้นพอมีครอบครัวเขาก็ไม่ทำ
แต่หนูก็เติบโตมาแบบไม่ทำอาหารนะ
พ่อ: ใช่ เธอเติบโตอย่างไม่ทำอาหาร พอเธอไปมีครอบครัวแนวโน้มที่เธอจะไม่ทำอาหารมันก็มี… การที่เราจะเห็นคุณค่าของการมีพาข้าว คุณจะต้องถูก bought up มาอย่างมีส่วนร่วมในการสร้างพาข้าวนั้น โอกาสที่พาข้าวมันจะสืบต่อไปก็มีมากขึ้น การที่จะมีพาข้าวนั้นเนี่ยมันไม่ได้สักแต่ว่ามีแค่คนๆ หนึ่งที่ทำ เช่นมียายยายก็ทำไปคนอื่นรอกิน แต่ว่ามันต้องมีสมาชิกที่เข้าไปร่วมทำด้วย มีน้า มีแม่ มีหลานเข้าไปช่วยแล้วก็เกิดการเรียนรู้ เกิดความรู้สึกชอบที่จะทำอาหาร หรือไม่อย่างนั้นมันก็ต้องมีคนใดคนหนึ่งแหละที่เห็นความจำเป็นของการมีพาข้าวต่อไป
อย่างพ่อเนี่ยตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้ทำอาหารอะไรมากมาย อย่างเก่งก็ทอดไข่เจียว ไข่ผัดข้าว แต่พอไปเรียนต่างประเทศความจำเป็นมันก็บังคับให้ต้องเริ่มทำ แล้วพ่อเองไม่ได้มีอคติกับการทำอาหารก็เลยลงไปหาหนังสือหาตำราอาหารมาทำเต็มเลยแล้วมันก็ติดตัวมาตั้งแต่นั้น อย่างเธอก็เหมือนกันนะ เธอไม่เคยทำอาหารจริงๆ แต่ถ้าเงื่อนไขมันจำเป็นที่เธอจะต้องทำ เธอก็จะนึกถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ นึกถึงรสชาติในความทรงจำ แล้วพอไปลองลงมือทำมันก็จะเกิดการเรียนรู้ แล้วรู้ไหมการทำอาหารมันมีจุดสำคัญมากอย่างนึงเลยนะที่คนมองข้าม (อะไรคะ?) การทำอาหารมันทำให้เกิด fulfillment ว่า “ฉันได้ทำ!” แล้วถ้ามีคนกินแล้วเขาว่า “เออมันอร่อยนะ” เราก็จะมีความรู้สึกภูมิใจ ซึ่งมันไม่เหมือนความรู้สึกภูมิใจเวลาทำงานอื่นนะ
อย่างเธอไปทำงานหนังทำอะไรก็แล้วแต่แน่นอนพอเธอทำได้ดีมีคนชอบเธอก็จะรู้สึกภูมิใจเหมือนกัน แต่มันขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกตัวเธอเยอะ เช่น กระแสตอบรับหรือรายได้อะไรอย่างนี้ มันเป็นกระบวนการแห่ง ‘ความภูมิใจ’ ที่มันซับซ้อนมากแต่การทำอาหารนี่มันเหมือนแค่… เฮ้ย ฉันได้ลงมือทำ ได้อยู่กับมัน ฉันมีสมาธิ ฉันพอใจที่มันออกมาเป็นอย่างนี้ แม้แต่การทำอาหารแล้วพังยังเกิดความรู้สึก fulfillment นั้นเลย นี่คือความสุขอันเรียบง่ายที่หาได้จากการทำอาหาร (เขาถึงบอกว่าทำอาหารรักษาโรคซึมเศร้าได้?) ใช่ การทำอาหารมันเป็น creative อย่างหนึ่ง (ต่อให้เราจะทำตามสูตรชาวบ้านก็ตาม?) …มันไม่มีใครหรอกที่เดินไปตามทางเป๊ะๆ พอมาถึงจุดหนึ่งปุ๊บเนี่ยนะ ความเป็นมนุษย์มันจะ adapt ลักษณะคนมันเป็นอย่างนั้นมันถึงเกิด fulfillment ขึ้นมาในตัวเองได้ยังไงล่ะ
ในอดีตเรามีพาข้าวเกิดขึ้นโดยปริยายเพราะว่าการซื้อกินข้างนอกมันแพงกว่า คนไม่ได้มีสถานะทางเศรษฐกิจใช้จ่ายได้เท่าปัจจุบันนี้ lifestyle ไม่เหมือนทุกวันนี้ พ่อยังคิดว่าคนรุ่นใหม่ควรจะพยายามฝืนความสะดวกสบายของตัวเองหรือความเคยชินของตัวเองเพื่อให้มีพาข้าวไหม
พ่อ : พ่อยังคิดว่ามันยังมีความจำเป็นอยู่นะ ความรักความผูกพันซึ่งเป็นพื้นฐานครอบครัวที่ยั่งยืนมันมาจากไหนล่ะ มันก็มาจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัวนั่นแหละ เช่น การทำอาหาร การกินอาหารด้วยกันเนี่ยมีความสำคัญมาก แล้วก็ไม่ได้ยากเลยที่จะทำ ไม่ได้บอกเลยนะว่าจะต้องทำทุกวัน ทำทุกมื้อหรืออะไรแต่ขอให้ทำเถอะ มนุษย์เราเกิดมามันต้องกินกิจกรรมที่จะเกี่ยวข้องกันมากที่สุดก็คือเรื่องของอาหารนี่แหละ ฉะนั้นอย่าดูเบา สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมาก ไอ้ที่ซื้อของวันเกิดให้กัน ซื้อดอกไม้ให้กัน เหล่านั้นมันเป็น gimmick อะ แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานเลยคือการได้ทำอาหารให้คนที่คุณรักกิน ไม่ว่าจะเป็นคู่ชีวิตหรือว่าลูกเต้ามันจะเป็นตัวที่ทำให้ผูกพัน แต่แน่นอน gimmick อะไรเล็กๆ น้อยๆ เนื่องในโอกาสพิเศษมันก็เป็นตัวช่วย แต่ถ้าคุณมัวแต่ทำ gimmick เล็กๆ น้อยๆ โดยที่ไม่มีรากฐานเลยมันไม่ได้
แล้วเราพูดได้ไหมว่าบ้านที่มีพาข้าวมีแนวโน้มที่ครอบครัวจะแบบแข็งแรงกว่า
พ่อ : น่าจะเป็นอย่างนั้น
ต่อให้ครอบครัวนั้นอาจจะมีปัญหาอะไรก็ตามมันยังมีกระดูกที่แข็งแรง?
พ่อ: คืออันนี้ก็ไม่รู้ว่าการวิจัยเขาพบอย่างนี้หรือเปล่านะ แต่ในทัศนะของพ่อพ่อว่าใช่เลย
คือคนเราถ้ามีครอบครัวแล้วนะแต่ไม่มีพื้นฐานในเรื่องพวกนี้อย่างมั่นคงพอ เวลาเกิดปัญหาอะไรเล็กๆ น้อยๆ มันก็พร้อมที่จะแตกหักแยกทางกันเดิน หย่าร้าง แต่ถ้าคนมันมีความสัมพันธ์พื้นฐานที่มันถูกพัฒนาแล้วแม้มีเรื่องกระทบกระทั่งอะไรกันบ้าง แต่ไอ้ตัวพื้นฐานตรงนี้มันจะช่วยดึงกันเอาไว้ พ่อก็เลยคิดว่าครอบครัวที่มีพาข้าว มีการกินอาหารด้วยกันน่าจะมีความแข็งแรงแล้วก็นำไปสู่ปัญหาการหย่าร้างน้อยกว่า หรือระหว่างพ่อแม่กับลูกบางคนบอกว่าไม่รู้จะคุยอะไรกับลูก เพราะว่าแต่ละคนก็ยุ่งและมีหน้าที่การงานเฉพาะอะไรของตัวเอง มันไม่มี area ที่มาทับซ้อนกันให้เกิดการพูดคุย อันนี้คือปัญหาของสังคมปัจจุบันที่ individualistic มากๆ แต่ว่าเมื่อไรที่มีคนในครอบครัวเริ่มทำอาหาร มันจะเป็นตัวดึงคนในบ้านให้ใกล้กันเข้ามา ไม่ต้องไปบังคับให้ลูกมาช่วยทำก็ได้ แค่กลิ่น เช่นพ่อกำลังต้มกาแฟหอมฉุย แค่นั้นก็ดึงความรู้สึกของคนให้มาผูกกันได้แล้ว แล้วเชื่อไม่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วความสัมพันธ์กับลูกเนี่ยนะมันจะดีขึ้นมาก