“ขนมเบื้องทำด้วยปากยากอะไร” ศึกสองเมียที่ทำจมื่นไวยบ้านแตก

6,080 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก (สํา) ก. ดีแต่พูด แต่ทำไม่ได้.

ราชบัณฑิตยสภาได้ให้ความหมายของสำนวนนี้ไว้อย่างสั้นง่ายแต่ได้ใจความ เมื่อยังเล็กฉันนึกสงสัยว่าการละเลงขนมเบื้องโดยใช้ปากมันง่ายตรงไหน หน้าคงต้องแนบไปกับกระทะร้อนๆ จนไหม้พองน่ากลัว จนเมื่อโตขึ้นอีกหน่อยจึงได้เข้าใจว่าการละเลงขนมเบื้องด้วยปากในที่นี้ไม่ใช่การใช้ปาก (จริงๆ) ในการละเลงขนมเบื้อง แต่เป็นการใช้คำพูดทำงานแทนนั่นต่างหาก (พุทโธ่พุทถัง ฉันในวัยเด็กนี่นับเป็นคนความคิดพิลึกพิลั่นใช้ได้เลยล่ะ)

ขนมเบื้องเป็นขนมไทยโบราณ ในอดีตมีหน้าขนม 2 แบบ เรียกว่าหน้าหวานและหน้าเค็ม หน้าหวานทำจากไข่และน้ำตาลทรายขาวตีให้ขึ้นฟู ส่วนหน้าเค็มทำจากเนื้อกุ้งแม่น้ำและมันกุ้ง โรยมะพร้าวขูด ใบมะกรูดหั่นฝอย ผักชี หอมกลิ่นพริกไทยดี มักนิยมทำกันมากในช่วงหน้าหนาว เพราะเป็นช่วงที่กุ้งแม่น้ำมีมันมากที่สุดของปี ดังที่มีบันทึกไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่ให้ข้อมูลเรื่องการพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง หนึ่งในพระราชพิธีเดือนอ้าย (เดือนมกราคม) มีรายละเอียดว่า

“ …การเลี้ยงขนมเบื้องนี้ ไม่ได้มีสวดมนต์ก่อนอย่างเช่นพระราชพิธีอันใด กำหนดพระสงฆ์ตั้งแต่เจ้าพระ พระราชาคณะ 80 รูปฉันในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ขนมเบื้องนั้นเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาเก่า เถ้าแก่ พนักงานดาดปะรำตั้งเตาละเลงข้างท้องพระโรง การซึ่งกำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้นับเป็นอย่างตรุษคราวหนึ่ง และเฉพาะต้องที่กุ้งมีมันมากจึงเป็นเวลาที่เลี้ยงขนมเบื้อง …”

นงานพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้องนี้เอง สตรีชาววังทั้งหลายก็จะถือเป็นโอกาสในการประกวดประขันฝีมือกันว่าใครจะทำขนมเบื้องได้บางสวยกว่า เพราะการละเลงขนมเบื้องนับเป็นหนึ่งในฝีไม้ลายมือของกุลสตรีไทย คือ หญิงใดที่สามารถจีบพลูยาว ทำขนมจีบไทยได้งาม ปอกมะปรางริ้วได้ละเอียดลออเสมอกัน และละเลงขนมเบื้องได้บางสวย นับเป็นยอดหญิงที่ชำนิชำนาญงานบ้านงานฝีมือดี ว่ากันว่า การแข่งขันกันอย่างไม่เป็นทางการนี้เข้มข้นจนขนาดที่ว่าในคืนก่อนงานพระราชกุศล จะมีการแอบหัก ‘กระจ่า’ หรืออุปกรณ์ละเลงขนมเบื้องของคู่แข่งทิ้งเพื่อตัดกำลังกันตั้งแต่เนิ่นๆ เลยทีเดียว

ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน การเชือดเฉือนกันด้วยขนมเบื้องนี้เองยังเป็นเหตุให้พระไวยต้องบ้านแตก เพราะเมียทั้งสอง – นางสร้อยฟ้าและนางศรีมาลา ทะเลาะกันใหญ่โตถึงขั้นจะฆ่าแกงกัน

พระไวย หรือจมื่นไวยวรนาถเป็นบุตรชายของขุนแผนและนางพิมพิลาไลยหรือนางวันทอง เดิมทีชื่อว่าพลายงามและได้รับเลื่อนตำแหน่งจนเป็นจมื่นหรือเจ้าหมื่น เมื่อแรกได้หมั้นหมายไว้กับนางศรีมาลา ลูกสาวของพระพิจิตร แต่ภายหลังได้เจ้าสร้อยฟ้า ซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่มาเป็นเมียพระราชทานอีกคน

สมเด็จพระพันวษามีดำริให้พระไวย นางศรีมาลาและนางสร้อยฟ้าแต่งงานในวันเดียวกัน ทั้งสามคนจึงอยู่กันอย่างผัวหนึ่งเมียสองเรื่อยมา จนถึงจุดแตกหักที่เกิดจากศึกประชันขนมเบื้องระหว่างนางศรีมาลาและนางสร้อยฟ้าในวันหนึ่ง

“วันเมื่อจะก่อเกิดกำเนิดเข็ญ                         พระหมื่นไวยนั่งเล่นตะวันบ่าย
ที่หอนั่งลมเย็นเห็นสบาย                               กับเจ้าพลายชายชุมพลผู้น้องยา
ชุมพลหยิบกระดานคลานมาพลัน                เล่นหมากรุกพนันกันฤๅขา
แพ้พี่ไวยฉันจะให้ถอนขนตา                         ถ้าหากพี่แพ้ข้าจะว่าไร
พระไวยว่าถ้าพี่นี้แพ้เจ้า                                   จะให้เขาทำขนมมาเสียให้
ขนมเบื้องแผ่นน้อยน้อยอร่อยใจ                    ว่าแล้วสั่งไปในทันที…”

บ่ายวันธรรมดาที่พลายชุมพล น้องชายของพระไวยชวนพระไวยเล่นหมากรุก หากพลายชุมผลเป็นผู้แพ้ ตนเองจะยอมให้พระไวยถอนขนตาทิ้ง ฝั่งพระไวยจึงพนันต่อว่า หากพระไวยเป็นฝ่ายแพ้ จะให้เมียทั้งสองทำขนมเบื้องให้พลายชุมพลได้กิน ว่าแล้วพระไวยก็สั่งให้นางสร้อยฟ้าและนางศรีมาลาทำขนมเบื้องในทันที

“…สร้อยฟ้าศรีมาลาว่าเจ้าคะ                        ตั้งกระทะก่อไฟอยู่อึงมี่
ต่อยไข่ใส่น้ำตาลที่หวานดี 
                           แป้งมีเอามาปรุงกุ้งสับไป
ศรีมาลาละเลงแผ่นบางบาง
                         แซะใส่จานวางออกไปให้
สร้อยฟ้าไม่สันทัดอึดอัดใจ
                          ปามแป้งใส่ไล้หน้าหนาสิ้นที
พลายชุมพลจึงว่าพี่สร้อยฟ้า
                        ทำขนมเบื้องหนาเหมือนแป้งจี่
พระไวยตอบว่าหนาหนาดี
                           ทองประศรีว่ากูไม่เคยพบ…”

ฝ่ายนางศรีมาลาพื้นเพเป็นคนพิจิตร ฉันขอเดาว่าย่อมจะคุ้นเคยกับขนมเบื้องซึ่งเป็นวัฒนธรรมในครัวภาคกลางอยู่มากกว่านางสร้อยฟ้า ทั้งยังเป็นบุตรสาวของเจ้าเมืองที่ย่อมจะได้รับการบ่มเพาะเรื่องมรรยาท จริยา และการบ้านการเรือนจากผู้เป็นแม่มาไม่มากก็น้อย จึงไม่แปลกที่นางศรีมาลาจะละเลงขนมเบื้องได้บางสวย ใส่จานไว้ให้อวดพลายชุมพลได้อย่างไม่ขายหน้า

ส่วนเจ้าสร้อยฟ้านอกจากจะเป็นหญิงชาวเหนือที่ไม่รู้จักมักคุ้นขนมเบื้องมากนัก ซ้ำยังเป็นพระธิดาของกษัตริย์ที่อาจไม่ใกล้ชิดกับงานบ้านงานเรือนมากเท่าบุตรสาวของเจ้าเมือง จึงทำขนมเบื้องออกมาหนาเตอะทำเอาพลายชุมพลแซวเข้าให้ว่าหนาอย่างแป้งจี่ แม้พระไวยจะพยายามเอาใจเมียด้วยการบอกว่าตนชอบขนมเบื้องหนาๆ ของนางสร้อยฟ้าก็ตาม

“…ลาวทำขนมเบื้องผิดเมืองไทย            แผ่นผ้อยมันกะไรดังต้มกบ
แซะม้วนเข้ามาเท่าขาทบ                      พลายชุมพลดิ้นหรบหัวร่อไป
ฝ่ายนางศรีมาลาชายตาดู                    ทั้งข้าไทยิ้มอยู่ไม่นิ่งได้
อีไหมร้องว้ายข้อยอายใจ                     ลืมไปคิดว่าทำขนมครก…”

นางทองประศรี (แม่ของขุนแผนและย่าของพระไวย) เห็นนางสร้อยฟ้าละเลงขนมเบื้องหนาเตอะไม่บางสวยจึงได้ทีเหยียดหยันหลานสะใภ้จากเชียงใหม่ไปว่าเมื่อเป็นลาวย่อมทำขนมเบื้องไทยได้ไม่สวยงาม พลายชุมพลก็พาลหัวเราะไปด้วย ซ้ำฝ่ายคู่แข่งอย่างนางศรีมาลา รวมถึงข้าทาสบริวารในบ้านยังยิ้มเยาะให้อับอาย นางสร้อยฟ้าคงเจ็บใจเหลือประมาณ ซ้ำนางไหม สาวใช้ของนางสร้อยฟ้ายังตอกย้ำด้วยการแก้ต่างให้แบบไม่เข้าท่าว่าที่นางสร้อยฟ้าทำขนมเบื้องหนาๆ นั่นก็เป็นเพราะว่านางลืมตัวว่ากำลังทำขนมครกอยู่ต่างหาก!

“…ชุมพลร้องแซ่แก้ไม่รู้สิ้น                         นานไปก็จะปลิ้นเป็นห่อหมก
สร้อยฟ้าตัวสั่นอยู่งันงก                       
      หกแป้งต่อยกระทะผละเข้าเรือน
ทองประศรีร้องว่าอีห่าลาว                 
          ทำฉาวเจียวอีหมาขี้เรื้อนเปื้อน
เทแป้งแกล้งให้เปรอะเลอะทั้งเรือน                 กระทะกะท่อยต่อยเกลื่อนลาวจัญไร…”

พลายชุมพลยังไม่วายแซวเข้าอีกว่าฝ่ายนางสร้อยฟ้าแก้ตัวไปน้ำขุ่น หากพูดกันนานเข้านางอาจอ้างว่านางลืมตัวจะทำห่อหมกเสียก็ได้ ด้านนางสร้อยฟ้าโกรธจนตัวสั่น พาลเทแป้งขนมเบื้องเลอะเทอะเต็มบ้าน ทำเอานางทองประศรีที่ใครว่าดีนักหนาถึงกับด่าหลานสะใภ้อย่างสาดเสียเทเสียว่าเป็นลาวจัญไร

“…นั่งแนบแอบน้องประคองนวล           ยียวนด้วยความเสนหา
แสงประทีปส่องสว่างกระจ่างตา           ชวาลาดับเสียชวนเมียนอน
ศรีมาลาจึงว่าช่างน่าอาย                     ผู้คนทั้งหลายยังตื่นว่อน
พระไวยปลอบว่าเจ้าอย่างอน               ความรักพี่นี้ร้อนดังไฟเรือง
ศรีมาลาว่าชะช่างร้อนจิตร                   พระอาทิตย์ยังไม่ลับดังแสงเหลือง
เด็กเด็กมันยังตื่นครื้นทั้งเมือง              ขนมเบื้องทำด้วยปากยากอะไรฯ”

เมื่อศึกขนมเบื้องได้ผลแพ้ชนะเด็ดขาดแล้ว นางสร้อยฟ้าเก็บตัวอยู่ในห้องด้วยเจ็บใจ ส่วนนางศรีมาลาและพระไวยสบโอกาสได้อยู่กันสองต่อสอง พระไวยจึงชวนเมียรักเข้านอนแต่หัวค่ำ ในขณะที่นางศรีมาลาอิดออดว่าคนยังตื่นกันอยู่ทั้งเมืองหากจะรีบนอนก็ย่อมต้องอายเขา อีท่าไหนไม่ทราบได้นางศรีมาลาได้เอ่ยถึงขนมเบื้องขึ้นมาในประโยคสุดท้าย

“ฝ่ายสร้อยฟ้าแว่วว่าขนมเบื้อง           ให้แค้นเคืองปวดปอดตลอดไส้
วับดังดินประสิวปลิวถูกไฟ                  เข้าใจว่าศรีมาลานินทาตัว
จึงร้องไปว่านางช่างขนมเบื้อง             ช่างยกเรื่องอวดหม่อมเจ้าจอมผัว
หม่อมนางช่างละเลงข้าเกรงกลัว           เมื่อหยุดแล้วยังยั่วกันไปเจียว
อุแม่เอ๋ยข้าไม่เคยบำรุงรส                   มันจึงเปรอะเลอะหมดไม่มันเขี้ยว
แซะม้วนเท่าแขนได้แผ่นเดียว            ผัวจึงไม่กระเสียวกระซิกเลยฯ”

นางสร้อยฟ้าเมื่อได้ยินคำว่าขนมเบื้องก็เข้าใจว่านางศรีมาลากำลังนินทานางอยู่ จึงวี้ดว้ายขึ้นว่าแหมๆ แม่ช่างขนมเบื้องช่างละเลงเก่งนัก ขนาดหยุดละเลงขนมเบื้องแล้วยังไปละเลงอย่างอื่นต่ออีกรึ? ฉันมันผิดเองที่ไม่เคยทำขนมเบื้องมาก่อน เมื่อได้ทำมันจึงเลอะเทอะไปหมด แถมยังทำจนหนาเตอะและม้วนเท่าแขน ฝ่ายสามีอย่างพระไวยจึงไม่สนใจตน

เรื่องราวหลังจากนั้นเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างเมียที่สองอย่างนางสร้อยฟ้า และเมียที่หนึ่งอย่างนางศรีมาลา ผสมรวมกับนางทองประศรีซึ่งไม่ชอบใจหลานสะใภ้นอกแผนการอย่างนางสร้อยฟ้าเป็นทุนเดิม นางสร้อยฟ้าทั้งคับแค้นใจที่ต้องพ่ายให้กับนางศรีมาลา ทั้งน้อยอกน้อยใจที่ผัวไม่รัก และยังต้องแบกรับความเกลียดชังและคำก่นด่าจากครอบครัวของพระไวย ทำให้สถานการณ์เลยเถิดไปจนกระทั่งว่านางสร้อยฟ้าตัดสินใจทำเสน่ห์ให้พระไวยเกลียดนางศรีมาลา และรักตนให้มากขึ้น

เวลาผ่านไปเมื่อพลายชุมพลจับได้ว่านางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์มนตร์ดำ นางก็ต้องโทษถึงประหารชีวิต แต่ด้วยเห็นแก่ลูกในท้อง นางสร้อยฟ้าจึงได้รับการลดโทษเหลือเพียงเนรเทศกลับเชียงใหม่ไปตามเดิม

จะเห็นได้ว่า ฝีมือการละเลงขนมเบื้องของนางสร้อยฟ้าไม่ได้บอกว่านางเป็นคนดีหรือไม่ดี เก่งหรือไม่เก่งเพียงเท่านั้น แต่ยังมีส่วนบ่งบอกถึงการเป็นคนนอกวัฒนธรรมของนางสร้อยฟ้าที่พลัดถิ่นฐานมาแต่งงานอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ต่างสังคม ต่างวัฒนธรรม ความเจ็บปวดใจจากศึกขนมเบื้องของนางสร้อยฟ้าจึงอาจไม่ได้มาจากนางศรีมาลาทั้งหมด แต่เป็นความเจ็บปวดที่พระไวยไม่คิดให้รอบคอบพอก่อนจะออกคำสั่งที่นับเป็นการหักหาญน้ำใจกันก็เป็นได้

เพราะถ้าหากพระไวยสั่งให้เมียทั้งสองทำขนมอื่นได้ตามใจ นางสร้อยฟ้าอาจได้ทำขนมล้านนาที่เข้ามือมากกว่าจนจมื่นไวยต้องลงให้กับปลายจวัก ทั้งรักทั้งหลง แบบที่นางศรีมาลาและนางทองประศรีต้องมาขอสูตรไปหัดทำบ้างก็ได้ ใครจะไปรู้

(อย่ากระนั้นเลย ฉันในวัยที่โตแล้วก็ยังนับว่าเป็นคนที่มีความคิดพิลึกพิลั่นอยู่ดีนั่นแหละ)

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS