อาจเพราะไม่ได้กินหอยแครงบ่อยนัก จึงทำให้ฉันตกใจกับราคาหอยแครงลวกตัวเล็กไม่ถึงยี่สิบตัว ในราคาร้อยบาท ยังไม่ทันคิดต่อว่าแม่ค้า ก็โดนเบรกจากคุณน้านักกินหอยว่าไม่ใช่การค้ากำไรเกินควร หอยแครงสดๆ ในตลาดขนาดตัวเล็กจ้อยก็โลละร้อยกว่าบาทแล้ว หอยตัวใหญ่อย่างเมื่อก่อนนี่แทบไม่มีมาให้เห็น…
ทั้งขนาดและราคาทำให้ฉันตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับหอยแครงตัวเขื่องกิโลละ 50-60 บาทที่ฉันจำความได้ตอนไปเดินจ่ายตลาดกับแม่เมื่อหลายปีก่อน ด้วยความคาใจทำให้รีเสิร์ชไปพบกับแหล่งผลิตหอยแครงขนาดใหญ่ที่ตำบลคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม และที่นั่นทำให้เราพบกับคำตอบที่น่าหวาดหวั่นพอๆ กับราคาหอยแครง
“ปี 54-55 น้ำท่วมใหญ่ เริ่มมีน้ำเสียทั้งอ่าวไทย ปัญหาหอยแครงตายก็เริ่มเกิดขึ้น ปี 56-57 นี่ตายแบบผ่อนส่ง ก็ยังไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร จากที่หอยตายช่วงปลายฝนต้นหนาว น้ำเหนือหลาก น้ำเสียไหลมาจากมหาชัยทำให้หอยแครงตายประจำทุกปี เข้าปี 58 มันเริ่มไม่ใช่ ไม่ใช่ฤดูน้ำเสียหอยก็ยังตาย มันเริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่าเพราะอะไรกันแน่ หอยแครงตายเกือบทั้งอ่าว” วรเดช เขียวเจริญ ผู้ยึดอาชีพเลี้ยงหอยในตำบลคลองโคนมา 30 กว่าปีเล่าให้เราฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
หอยแครงตายสร้างผลกระทบมหาศาลแก่ผู้เลี้ยงหอยในพื้นที่คลองโคน หอยพันธุ์พื้นเมืองคลองโคนที่ขยายพันธุ์ได้น้อยลงจนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องสั่งซื้อลูกหอยมาจากสุราษฎร์ธานี ระนอง ไม่เว้นกระทั่งพม่า และมาเลเซีย หากแต่การปล่อยพันธุ์หอยลงพื้นที่เลี้ยงในทะเล หรือแม้แต่ในบ่อก็ไม่ได้การันตีว่าจะเก็บหอยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
“พอหอยโตขึ้นมาหน่อยชาวบ้านต้องรีบจับออกก่อนเขาเรียก ‘ชิงหนี’ น้ำเสีย ถ้าสังเกตดูในตลาดเราจะไม่ค่อยเห็นหอยตัวใหญ่ เพราะชาวบ้านต้องรีบจับมาขาย ไม่งั้นมันตายหมด ยังโตไม่เต็มที่ก็ต้องรีบจับก่อน อย่างก่อนหน้านี้ลากขึ้นมานี่ตายหมด มีแต่เปลือก” ชิษนุวัฒน์ (ธเนศ) มณีศรีขำ ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม
ความคลางแคลงใจถึงสาเหตุการตายที่แท้จริงนำมาสู่ ‘โครงการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดและการป้องกันการตายหมู่ (ยกฟาร์ม) ของหอยแครงตำบลคลองโคนโดยมีส่วนร่วมของชุมชน’ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยนักวิชาการจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาทำงานเก็บข้อมูลร่วมกับชาวคลองโคน ระยะเวลาเกือบปีที่งานวิจัยคู่ขนานระหว่างนักวิชาการและชาวบ้านทำให้ได้พบสาเหตุทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในพื้นที่เอง
ศึกษา ชะลอ เพื่อรอด
“อาจารย์คณะนักวิชาการทีมวิจัย ให้เราใช้ไทม์ไลน์ย้อนไปว่าตั้งแต่เมื่อไรที่เริ่มมีอาชีพเลี้ยงหอยทั้งในทะเลและในบ่อ ทำให้รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา วิถีชีวิตที่สะดวกสบาย ชุมชนที่เติบโตขยายขึ้น ถนนหนทาง ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนไปด้วย เราวัดทั้งค่า ph อุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนไปทุกช่วงเวลา จนพบว่า มันมาจากชุมชนนี่แหละ วิถีชีวิตบนฝั่งสร้างน้ำเสียปล่อยลงไป” วรเดช เขียวเจริญ ผู้เลี้ยงหอยที่เป็นส่วนหนึ่งในทีมวิจัยเล่าถึงกระบวนการที่ทำให้พบกับสาเหตุ
ความร่วมมือในชุมชนทั้งจากชาวบ้าน ร้านค้า รีสอร์ทในพื้นที่ด้วยการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำให้ปัญหาคลี่คลายลงบ้าง แต่กับปัจจัยภายนอกอย่างฟาร์มหมูในจังหวัดใกล้เคียงที่สร้างน้ำเสีย หรือแม้แต่การลักลอบอาศัยจังหวะฝนตก น้ำเอ่อปล่อยน้ำเสียทิ้งไหลลงมาสู่พื้นที่คลองโคน ณ ปัจจุบันก็ยังคงเป็นปัญหาหลักที่รอการแก้ไข การเลี้ยงหอยในบ่อเลี้ยงแทนการเลี้ยงในทะเล จึงเป็นการ ‘ชะลอ’ ปัญหาที่ผู้เลี้ยงหอยบางกลุ่มพอทำได้
“เราวิจัยการเลี้ยงหอยในบ่อด้วย เพราะในทะเลหวังไม่ได้แล้วตราบใดที่ปัญหาใหญ่ยังอยู่ การเลี้ยงในบ่อทำให้เราควบคุม ตรวจสอบน้ำเข้าน้ำออกได้ ถ้าเสี่ยงเลี้ยงในทะเลน้ำเสียขึ้นมาตอนไหนเราไม่ทันรู้เลย แต่นี่ถ้าน้ำเสียก็ชะลอไว้ก่อน เพราะการเลี้ยงหอยในบ่อก็ยังต้องผันน้ำจากทะเลเข้า-ออก ให้หอยได้กินแพงก์ตอน พอเริ่มเลี้ยงได้ผล ข้างนอกก็น้ำเสียยาวนานอีก ก็เปลี่ยนน้ำไม่ได้ ล่าสุดนี่เราเพาะแพงก์ตอนกันเองแล้ว แต่มันก็ยังไม่พอนะ แล้วทุกอย่างมันคือต้นทุน การเพาะแพงก์ตอนก็คือต้นทุนที่เพิ่มเข้ามา” ชิษนุวัฒน์ รวมถึงทีมวิจัยและชาวบ้านจึงหวังให้ผู้บริโภคช่วยกันส่งเสียงตั้งคำถาม แม้แต่คำถามเล็กๆ อย่าง ‘หอยแครงทำไมถึงแพง?’
นอกจากหอยแครงที่แพงขึ้น ตราบใดที่ธรรมชาติยังกู่ไม่กลับ ทำให้เหมือนเดิมไม่ได้ ความมั่นคงทางอาหารก็อาจหายไปในวันใดวันหนึ่ง “เกษตรกรรายเล็กรายน้อย ชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำไปเก็บหอยตามทะเล ก็ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เฉพาะผู้บริโภคนะ แทนที่เราจะมีอาหารที่เกิดจากธรรมชาติจริงๆ ไม่ได้เพาะเลี้ยง แต่มันมีคนที่เห็นประโยชน์ของตนเองโดยไม่ได้สนใจผลกระทบ ตอนนี้ไม่ใช่แค่หอยอย่างเดียวแล้ว ปลาสลิดที่เลี้ยงที่สมุทรสงครามก็แทบจะไม่ได้ผลผลิต ต้องรีบเอาปลาขึ้น เพราะน้ำที่เอามาเลี้ยงก็เจอน้ำเสียน้ำทิ้ง กว่าน้ำเสียจะลงทะเลก็ผ่านบ่อปลา บ่อกุ้ง สัตว์ที่อาศัยในลำคลอง ทะเล ก็ได้รับผลกระทบ ผู้บริโภคเองก็ต้องส่งเสียงเพราะนอกจากหอยแครงจะแพง สัตว์ทะเลอื่นๆ จะแพง อาจจะไม่มีหอยแครงกินกันในอนาคต”
ได้แต่หวังว่าทุกภาคส่วนจะร่วมกันตระหนักถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ใน ‘ความแพงของหอยแครง’ เพื่อที่เราจะไม่เพียงได้กินหอยแครงราคาย่อมเยา แต่เพื่อให้เราได้มีหอยแครงกินกันอีกนาน และส่งต่อความมั่นคงทางอาหารให้คนรุ่นหลังต่อไป
ภาพจาก: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)