ใครๆ ก็รักไอศกรีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวไทยผู้มีแค่ฤดูร้อน ร้อนมาก ร้อนมากที่สุด ร้อนเหลือเหงื่อไหลทีไรก็อดนึกถึงไอศกรีมเย็นฉ่ำหวานหอมชื่นใจไม่ได้ อยากจะขอขอบคุณผู้คิดค้นสร้างสรรค์ไอศกรีมขึ้นมาเป็นคนแรก แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าเครดิตนี้ควรไปตกที่ใคร เพราะต้นกำเนิดของไอศกรีมนั้นมีแค่เพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้าง และมาจากหลากหลายแหล่งเหลือเกิน บ้างว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ในยุคจักรพรรดิเนโรแห่งโรมัน ที่ได้พระราชทานเลี้ยงไอศกรีมแก่เหล่าทหารในกองทัพ ซึ่งสมัยนั้นไอศกรีมยังเป็นเพียงหิมะที่เหล่าทาสไปขุดมาจากภูเขา แล้วนำมาผสมกับน้ำผึ้งและผลไม้
บ้างก็ว่าไอศกรีมเกิดจากชาวจีนเมื่อราวสี่พันปีที่แล้วนี่เอง โดยชาวจีนนำนมที่เหลือไปหมกไว้ในหิมะเพื่อเก็บไว้ให้นานขึ้น จนนมแข็งตัวกลายเป็นไอศกรีมต้นแบบของโลก และในเวลาไล่เลี่ยกันที่อินเดียก็มี Kulfi ไอศกรีม ที่เกิดจากการนำนมมาต้มผสมกับถั่วพิสตาชิโอ แล้วแช่เย็นจนแข็ง
ศตวรรษที่ 13 มาร์โคโปโลนำสูตรไอศกรีมกลับมาจากจีนและพัฒนาต่อจนเป็นไอศกรีมที่ใช้การปั่นให้เย็นจนแข็งที่เรียกว่า เจลาติ (Galati) ซึ่งทำให้ชาวอิตาเลี่ยนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าบรรพชนของตนเป็นคนค้นพบไอศกรีมเป็นครั้งแรก
แต่ไอศกรีมกลายเป็นที่รู้จักของคนค่อนโลกก็ในปี ค.ศ. 1533 เมื่องานเฉลิมฉลองพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างแคเทอรีน เดอเมดิซี แห่งเวนิส กับกษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 ของฝรั่งเศส มีการนำของหวานกึ่งแช่แข็งทำจากครีมข้นหวานที่มีลักษณะคล้ายไอศกรีมในปัจจุบัน มาเสิร์ฟให้กับแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่แจ้งเกิดไอศกรีมให้โลกได้รู้จัก
เข้าใจว่าช่วงแรกไอศกรีมเป็นเพียงครีมหวานที่เย็นจัด หรือกินผสมกับเกล็ดน้ำแข็งในฤดูหนาวเท่านั้น จนกระทั่งปี ค.ศ. 1846 ได้มีการประดิษฐ์เครื่องปั่นไอศกรีมที่อาศัยความเย็นจากน้ำแข็งผสมเกลือ เป็นการปฏิวัติให้ไอศกรีมทำง่ายขึ้น และเป็นครีมน้ำแข็งสมชื่อ ‘Ice Cream’ นับจากนั้นไอศกรีมก็กลายเป็นของหวานที่คนทั่วไปสามารถกินได้ ไม่ใช่อาหารพิเศษเฉพาะพระราชา ขุนนาง และเศรษฐีอีกต่อไป
จากวันนั้นจนวันนี้ จะว่าไอศกรีมมีการวิวัฒน์มากก็ได้ หรือจะว่าไม่ค่อยแตกต่างนักก็ได้ แล้วแต่มุมมอง เพราะแม้เราอาจจะรู้สึกว่าปัจจุบันมีไอศกรีมให้เลือกกินมากมายหลากหลายตาลายไปหมด แต่ส่วนมากคือการนำเอาไอศกรีมมาเสริมแต่งหรือใส่ส่วนผสมที่เป็นรสชาติแปลกๆ เพราะแท้จริงแล้วเมื่อแบ่งตามส่วนผสมหลักและวิธีการผลิต ไอศกรีมมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ดังนี้
ไอศกรีม (Standard Ice Cream)
ไอศกรีมธรรมดาที่คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกัน มีส่วนผสมของนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม น้ำตาล และวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงแต่งกลิ่น รส เนื้อเหนียว เนียน นุ่มลิ้น โดยต้องผ่านขั้นตอนการตีปั่นให้ความเย็นจนเหนียวหนืด แล้วแช่แข็งอีกครั้งจึงจะกินได้
กรานิต้า (Granita)
ไอศกรีมแบบเกล็ดน้ำแข็ง มีต้นกำเนิดจากแคว้นซิซิลี ทางใต้ของอิตาลี มีส่วนผสมของน้ำผลไม้ น้ำตาล อาจมีส่วนผสมของเหล้าหรือกาแฟด้วยก็ได้ ไม่ผ่านการตีส่วนผสม เนื้อจึงมีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็งละเอียดไม่เท่ากัน ให้ความรู้สึกกรุบกรอบ สดชื่น
ซอร์เบต์ (Sorbet)
มีส่วนผสมหลักเพียง 2 อย่างคือ ผลไม้ และน้ำตาล โดยอาจมีน้ำ กรด หรือส่วนผสมอีกเล็กน้อย แต่จะไม่มีส่วนผสมของนมหรือไขมัน ซอร์เบต์คล้ายกรานิต้า แต่มีการตีส่วนผสม เนื้อจึงเป็นเกล็ดละเอียด นุ่ม รสชาติผลไม้เข้มข้นออกเปรี้ยวหรือหวานตามรสชาติผลไม้ที่นำมาทำ
เชอร์เบท (Sherbet)
มีส่วนผสมของผลไม้ น้ำตาล บวกกับนม ครีม ไข่ขาว เจลาติน หรือเนยอีกเล็กน้อย เนื้อจึงมีความเหนียว เนียนละเอียด มีความเข้มข้นกว่าซอร์เบต์ แต่ยังเบากว่าไอศกรีมธรรมดา รสชาติออกเปรี้ยวหรือหวานแบบกลมกล่อม ไม่เข้มข้นแบบซอร์เบต์
ซอฟต์เสิร์ฟ (Soft Serve)
ไอศกรีมนมเนื้อเนียนนุ่ม เสิร์ฟที่อุณหภูมิสูงกว่าไอศกรีมชนิดอื่น และไม่ต้องแช่เย็นก่อนเสิร์ฟ แต่จะนำส่วนผสมใส่เครื่องแล้วบีบใส่โคนหรือถ้วยไอศกรีมได้เลย เนื้อสัมผัสจึงเนียนนุ่มละลายในปาก และละลายเร็วมาก
เจลาโต้ (Gelato)
คำว่า gelato เป็นภาษาอิตาเลี่ยน มาจากคำว่า frozen มีต้นกำเนิดจากอิตาลี และมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไอศกรีมอื่นๆ ทำให้ได้รับรสชาติได้อย่างเต็มที่ชัดเจน เจลาโต้ยังมีปริมาณอากาศ (overrun) น้อยกว่าไอศกรีมทั่วไป เนื้อจึงแน่น แต่เนียนนุ่มลิ้น
ไอศกรีมโยเกิร์ต (Y๐gurt Ice Cream)
ขวัญใจคนคุมน้ำหนักแต่ตัดใจจากไอศกรีมไม่ได้ มีส่วนผสมหลักคือไอศกรีมและโยเกิร์ต ให้รสชาติผสมผสานระหว่างหวานกลมกล่อมแบบไอศกรีมกับเปรี้ยวเล็กนัอยแบบโยเกิร์ต เนื้อไม่แน่น แต่เนียนนุ่มละมุนลิ้น
Photo: www.instyle.de / https://www.braciamiancora.com / https://cucina.fidelityhouse.eu / https://3.bp.blogspot.com / https://www.8days.sg / www.aussieblends.
อ้างอิง: https://kantadonpun/prapheth-khxng-xis-khrim