จับเลี้ยงกรานิต้า รวมมิตรเกล็ดน้ำแข็งหวานเย็นดับร้อนเมืองสยาม

2,505 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
พลิกเพลงจับเลี้ยงธรรมดาๆ ให้เป็นกรานิต้าหวานเย็นชื่นใจ พร้อมเครื่องเคราแน่นๆ ไว้ดับทุกความร้อนในฤดูหนาวที่ไม่หนาวนี้

แต่เดิมผู้เขียนตั้งใจจะเผยแพร่เมนูนี้ช่วงประมาณเดือนเมษายน แต่ด้วยสภาวะอากาศช่วงนี้ที่กรมอุตุพยากรณ์ว่าจะหนาว แต่กลางวันแดดร้อนจับใจ จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมาหาของหวานดับร้อน โดยรวบรวมเครื่องหวานเย็นคู่เมืองไทยมานำเสนอใหม่ให้ชื่นใจกันค่ะ

เรื่องไม่ยากตามเคย มีขั้นตอนการเตรียมนิดหน่อย บัดนี้เริ่ม!!!

ส่วนประกอบ

1. น้ำจับเลี้ยงปรุงสำเร็จ จำนวนตามต้องการ อุดหนุนมากหลายถุงคนขายก็มีรายได้ดี ซื้อมาส่วนหนึ่งแบ่งเตรียมทำกรานิต้า อีกส่วนแจกจ่ายคนรอบข้าง เพื่อนบ้าน ญาติสนิท หรือแม้แต่เพื่อนพ้องในออฟฟิศ ชื่นใจดีนักแล สำหรับคนขยัน ท่านสามารถ ซื้อเป็นแบบเครื่องจับเลี้ยงแห้งจากร้านขายยาจีนมาต้มเอง ปรุงระดับความหวานได้ตามใจเลยค่ะ จากนั้นนำน้ำจับเลี้ยงเทใส่ภาชนะรูปทรงสี่เหลี่ยม แบบถาดหรือพิมพ์ขนมก็ได้ นำไปแช่ช่องแข็ง ซึ่งควรแช่ในช่องแข็งแยกประเภท ไม่แช่รวมกับช่องแช่แข็งที่แช่เนื้อสัตว์หรือของคาว เพื่อให้กรานิต้าหรือขนมที่จะแช่มีกลิ่นหอมเหมือนเดิม ไม่มีกลิ่นคาวปนค่ะ

โดยความสำคัญของการทำกรานิต้าคือต้องเป็นผลึกเล็กๆ เกาะซ้อนๆ กัน มีความเป็น ‘เกล็ดในเกล็ด’ มีหน้าตาเหมือนหินแกรนิต ดังนาม ‘กรานิต้า’  ซึ่งต่างจาก ‘น้ำแข็งขูด’ หรือ ‘Icee’ ซึ่งเป็นเกล็ดน้ำแข็งฝอยๆ ใจความสำคัญอยู่ที่เมื่อนำน้ำหรือส่วนผสมไปแช่เย็น เทลงไปให้ความหนาหรือสูงไม่ควรเกิน 1-2 นิ้ว เพื่อทำงานง่าย ภาชนะควรเป็นทรงสี่เหลี่ยม เพราะหากเป็นทรงกลม น้ำแข็งจะดิ้นไปมาทำงานยากค่ะ

เมื่อแช่ส่วนผสมสัก 1 ชั่วโมงจะเริ่มเป็นวุ้น ให้ใช้ส้อมกระแทกเพื่อให้ผลึกแยกกันก่อน จากนั้น ทุก 1 ชั่วโมงโดยประมาณ (ขึ้นกับความเย็นของตู้เย็น) ให้นำมาขูดหรือกระแทกเรื่อยๆ จนน้ำแข็งเกาะตัวเหมือนผลึกหินแกรนิต เมื่อใกล้จะเสิร์ฟ จึงขูดให้เป็นเกล็ดเล็กๆ

หมายเหตุ: หากส่วนผสมเป็นน้ำใสๆ อาจจะเกิดผลึกช้า แต่ถ้ามีเพคตินในเนื้อ หรือเป็นส่วนผสมที่เป็นน้ำผลไม้ จะเป็นเกล็ดง่ายกว่าค่ะ

2. ซื้อน้ำเก๊กฮวยหอมๆ จากร้านโปรดหรือจะลงมือต้มเองก็ได้ อย่าลืมแจกจ่ายให้คนที่รักดื่มกันชื่นใจถ้วนหน้า ตามประเพณีข้อ (1) ก่อนปันส่วนที่เหลือมาทำกรานิต้าเพื่อเตรียมประกอบขนมค่ะ

3. หาซื้อเฉาก๊วย ซึ่งใช้ได้ทั้ง 2 แบบ กล่าวคือท่านที่ชอบรับประทานหวานน้อย ซื้อแบบรสจืด ส่วนท่านที่ชอบรสหวาน ขอให้ซื้อแบบปรุงรสในตัว ดิฉันพบเห็นมีคนทำเฉาก๊วยใส่น้ำผึ้งในตัวกันแพร่หลาย อร่อยชื่นใจมากค่ะ บรรจุในแพคพอดีต่อการรับประทานหรือจัดจานได้อย่างสะดวก เพียงคว่ำลงในจานก็ได้รูปทรงสวยงาม ส่วนท่านที่ชอบแบบรสจืด สามารถหาซื้อในตลาด เป็นก้อนใหญ่ๆ หรือแบบแพคใส่ภาชนะเป็นถังเล็กๆ หรือกล่อง นำมาตัดแต่งเป็นทรงให้สวยงามด้วยพิมพ์วงแหวนที่ใช้ตัดคุกกี้ โดยมีเคล็ดความอร่อยคือก่อนจะลงมือประกอบจานเพื่อเสิร์ฟ ให้นำเฉาก๊วยที่แช่เย็นเตรียมไว้ในช่องธรรมดานั้น ย้ายเข้าแช่ในช่องแช่แข็งสัก 1-1 ชั่วโมงครึ่ง ให้เนื้อรอบนอกของเฉาก๊วยเป็นเกล็ดน้ำแข็งกรอบๆ (ทั้งนี้ความเป็นเกล็ดกรอบ จะมากน้อยแล้วแต่เนื้อเฉาก๊วยของแต่ละเจ้า)

4. ลูกชิด ซึ่งสามารถหาซื้อแบบใส่บรรจุภัณฑ์ ในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือจะสนับสนุนแม่ค้าขนมหวานโดยซื้อจากร้านค้าขนมหวานก็ดีต่อใจค่ะ

5. เม็ดแมงลัก สามารถซื้อแบบซองไว้ชงดื่มลดน้ำหนักได้ด้วย หรือจะซื้อจากร้านหวานเย็นช่วยกันอุดหนุนแม่ค้า ก็ดีต่อใจ(เหมือนข้อ 4 ) ค่ะ

6. ขอร่วมสมัยขึ้นมาอีกนิด โดยชักชวนเครื่องหวานเย็นยอดนิยมอย่างไข่มุกหนึบๆ หอมเครื่องยาจีน มาร่วมวง ให้อร่อยขึ้นไปอีก และสำหรับท่านที่ชอบดื่มชานมไข่มุก นอกจากจะหาซื้อไข่มุกมาเตรียมแล้ว ก็ขอให้ซื้อชานมมาด้วยเสียเลย แล้วนำมาทำกรานิต้าเตรียมไว้ตามวิธีข้อ (1)

อร่อยขึ้นไปอีก นั่นปะไร คุณขา!

7. ท่านผู้อ่านยังจำ ‘ขนมไทยจงเจริญ’ ตอน ขุมทรัพย์ท้าวทองกีบม้า ตำรับทองม้วนกรอบ ที่ผู้เขียนขอให้ท่านซื้อกล้วยเชื่อม แล้วให้นำมาใช้แต่น้ำเชื่อมและน้ำกะทิ โดยให้เก็บตัวกล้วยเชื่อมแช่เย็นไว้ เพื่อจะนำมาประกอบในเมนูนี้นั่นเอง ท่านใดบอกว่า รับประทานไปหมดแล้ว ยิ่งดี จะได้กลับไปอุดหนุนขนมไทย ซื้อกล้วยเชื่อมมาใหม่ เพื่อใช้ประกอบในเมนูนี้ ซื้อบ่อยๆ ให้แม่ค้าขนมไทยชื่นใจกันค่ะ (อิอิ)

8. แช่โหลแก้วทรงโอ่งหรือถ้วยขอบเตี้ยตามที่ท่านเห็นว่างาม เตรียมไว้ให้เย็นจัดในช่องแช่แข็ง

9. เมื่อได้ส่วนประกอบครบ ลงเลข 9 พอดี บัดนี้เป็นมงคลฤกษ์ แห่งความเย็นฉ่ำหวานชื่นใจ ลงมือประกอบพร้อมเสิร์ฟดังนี้ค่ะ

วางเนื้อเฉาก๊วยรูปงามลงกลางจาน เรียง เคียง ร้อย ด้วยกล้วยเต็มๆ ชิ้น หรือหั่นเป็นแว่นตามที่ท่านเห็นงาม ตามด้วยพาเหรดไข่มุก ลูกชิด และเม็ดแมงลักประปราย ตักกรานิต้ารสต่างๆ ทั้งจับเลี้ยง เก๊กฮวย และชานม วางลงบนเนื้อเฉาก๊วย ล้นหลามมาถึงข้างๆ ด้วย ตามความงามที่ท่านออกแบบเอง ยิ่งเยอะ ยิ่งอร่อย ชื่นจายยยยย

ก่อนเสิร์ฟประดับด้วยใบมินต์สักหน่อย ซึ่งแม้ผู้เขียนจะไม่ได้ขอให้ซื้อเตรียมไว้ข้างต้น แต่เชื่อว่าในตู้เย็นของผู้รักการปรุงอาหารต้องมี  

เปล่งเสียง ‘ขนมไทยจงเจริญ’ เป็นอันเสร็จพิธี

อย่าลืม ถ่ายรูปลงอินสตาแกรม ชักชวนกันมาทำของหวานจากขนมไทยให้ไลค์และแชร์กันมากๆ นะคะ จึงจะ ‘เจริญ’ และ ‘เสร็จพิธี’ จริงๆ

 

บทความเพิ่มเติม

 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS