ข้าวยำที่คนไทยทั้งประเทศคุ้นเคยและรู้กันอย่างกว้างๆ ว่าเป็นข้าวยำปักษ์ใต้นั้น แท้ที่จริงดัดแปลงมาจากตำรับข้าวยำของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเรียกขานในภาษาท้องถิ่นว่า “นาซิ กาบู” และเป็นอาหารสำคัญประจำเทศกาลศีลอดรอมฎอน ใน 3 จังหวัดนี้ ตำรับข้าวยำปัตตานีดูจะโด่งดังกว่าเพื่อน แม้ข้าวยำที่จังหวัดสงขลาก็เป็นอิทธิพลข้าวยำปัตตานีด้วยเหมือนกัน
เรื่องข้าวยำปักษ์ใต้ใช่จะจบแค่นี้ ยังมีข้าวยำอีก 2 ตำรับในรัฐกลันตัน และตรังกานู ที่ติดชายแดนไทยของมาเลเซีย หน้าตาและรสชาติใกล้เคียงกับข้าวยำปัตตานี ข้อมูลบางแห่งสรุปแบบฟันธงว่าคือข้าวยำแบบเดียวกัน ที่สำคัญคือยำกับสมุนไพรซอยละเอียดหลายชนิดรวมกัน ต่างกันมากหน่อยก็ตรงน้ำยำที่ใช้ปรุงรสของมาเลย์ออกจะรุ่มรวยเครื่องเคียงมากกว่า ตำรับข้าวยำมลายูที่ว่านี้ คือ นาซิ กราบู (nasi kerabu) และนาซิ อูลัม (nasi ulam) ซึ่งเราได้นำสูตรมาแสดง โดยดัดแปลงมาจากสูตรของ Betty Yew ในหนังสือ Rasa Malaysia, the complete Malaysian Cookbook
เมื่อข้าวจากเอเชียแพร่เข้าไปในตะวันออกกลาง สเปน และอิตาลี ข้าวถูกนำไปใช้เป็นเครื่องประกอบของสลัดด้วย แม้สลัด tabbouleh ของเลบานอนจะใช้ข้าวสาลีบดหยาบ (cracked wheat) แต่ก็น่าจะทดแทนได้ด้วยข้าวกล้องของไทยเรา ในอิตาลี นอกจากริซอตโตแล้ว ยังนิยมนำข้าวมาทำสลัด มีข้อสังเกตว่าสลัดข้าวของฝรั่งนั้น นิยมหั่นหรือซอยผักเป็นชิ้นเล็กหรือเส้นฝอยเหมือนกัน เฉพาะ tabboulehนั้น เด่นพิเศษที่พาร์สเลย์ ซึ่งเป็นสมุนไพรหอมเหมือนกัน