ขนมไทยเป็นภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน แม้องค์ประกอบหลักจะมีเพียงไม่กี่อย่าง ได้แก่ แป้ง น้ำตาล และมะพร้าวแต่กลับสามารถสร้างสรรค์ขนมนานาชนิดออกมาได้สารพัดด้วยกรรมวิธีที่ต่างกัน บ้างต้องกวน บ้างต้องหมัก บ้างต้องต้ม บ้างต้องทอด ฯลฯ ประกอบกับวัตถุดิบท้องถิ่นที่ถูกแทรกเข้ามาตามวีถีใกล้สิ่งไหนก็กินสิ่งนั้น อาทิ น้ำตาลที่ให้ความหวานก็มีแยกย่อยออกไปตามท้องถิ่น ตั้งแต่น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด น้ำตาลอ้อย ไม่รวมแป้งอีกสารพันชนิด ทั้งแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งมันสำปะหลัง แป้งเท้ายายม่อม ฯลฯ
เมื่อรวมกับเทคนิคการอบและการใช้ไข่ที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารต่างชาติในภายหลัง ขนมไทยก็ยิ่งซับซ้อนหลากหลายมากขึ้นนับได้เป็นร้อยๆ ชนิด บ้างก็กลับมาเป็นที่นิยม บ้างก็แทบจะเลือนหายไปกับกาลเวลา จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สำนักพิมพ์แสงแดดตั้งใจผลิตหนังสือ ‘ขนมไทย’ เล่มนี้ขึ้น ด้วยความต้องการรวบรวมสารพันสิ่งเกี่ยวกับขนมไทยเอาไว้ให้ครบถ้วน
หนังสือเล่มนี้จึงครบครันตั้งแต่เรื่องราวการกำเนิดของขนมไทย เครื่องปรุงสำคัญสำหรับทำขนมไทยทั้งแป้งสารพันชนิด มะพร้าวสารพัดอย่าง ไข่ สี กลิ่น ไปจนถึงอุปกรณ์ในการทำขนมไทยทั้งเบสิกและอุปกรณ์เฉพาะอย่าง แถมด้วยแนะนำย่านขายอุปกรณ์ทำขนมไทยสำหรับให้ผู้รักการทำขนมไทยได้ไปเลือกซื้อหา
และแน่นอน สูตรขนมไทย จำนวน 87 สูตร ครอบคลุมทั้งขนมตระกูลไข่ (ตระกูลทอง) ขนมน้ำกะทิและเปียก ขนมข้าวเหนียวมูน ขนมนึ่งและต้ม ขนมกวน ขนมเชื่อม วุ้น และขนมน้ำแข็ง รวมถึงขนมทอดและขนมอบ
เกี่ยวกับต้นกำเนิดของขนมไทย
- คำว่า ‘ขนม’ มีใช้มาหลายร้อยปีและไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใด
- มีการจารึกชื่อขนมในแท่งศิลาจารึกแบบลายแทงสมัยโบราณ ขนมที่ปรากฏคือไข่กบ (เม็ดแมงลัก) นกปล่อย (ลอดช่อง) บัวลอย (ข้าวตอก) และอ้ายตื้อ (ข้าวเหนียว) เรียกการเลี้ยงขนมอย่างนี้ว่า ประเพณีสี่ถ้วย
- ขนมไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสมัยอยุธยา ปรากฏข้อความในจดหมายเหตุหลายฉบับ บางฉบับกล่าวถึง ‘ย่านป่าขนม’ หรือตลาดขนม
- ยุคที่ขนมไทยมีความหลากหลายและเฟื่องฟูที่สุดคือ ช่วงที่สตรีชาวโปรตุเกส มารี กีมาร์ เดอปิน่า ได้สมรสกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นท้าวทองกีบม้า ท่านได้ทำขนมหวานตำรับโปรตุเกส ได้แก่ ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง สังขยา หม้อแกง ฯลฯ และมีการเผยแพร่ต่อกันมา จนได้รับยกย่องให้เป็น ‘ราชินีขนมไทย’
สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่