วิธีกินแบบหมดจด ลดขยะเป็นศูนย์

3,930 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ขยะจากเศษอาหารของแต่ละบ้าน ก็เป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน ว่าแต่จะต้องทำอย่างไรกับเศษอาหารดีล่ะ?

ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการรณรงค์ลดการสูญเสียอาหารในครัวเรือนก่อนที่จะเป็นขยะอย่างจริงจัง มักมีแต่การรณรงค์คัดแยกขยะรีไซเคิลจนทำให้ปัจจุบันนี้มีปริมาณขยะรีไซเคิลจากการจัดเก็บขยะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่ปริมาณขยะจากอาหารกลับมีสูงขึ้น  เนื่องจากความไม่เข้าใจในขั้นตอนที่ทำให้เกิดขยะอาหารในครัวเรือนนี่เองที่เป็นสาเหตุให้คนทิ้งขว้างอาหาร ทั้งอาหารที่ยังไม่ได้บริโภคและอาหารที่ทิ้งโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ รวมไปถึงอาหารที่ถูกปล่อยให้เน่าเพราะขาดความใส่ใจ

ขยะอาหารเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในครัวเรือน ลองหันมาใส่ใจกับการบริโภคมากขึ้น เราจะช่วยกันลดปริมาณขยะอาหาร และประหยัดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ตามนี้เลย

1.วางแผนให้ชัดเจน

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ขาดการวางแผนก่อนซื้ออาหาร มักซื้อของเกินความจำเป็น  ดังนั้นการวางแผนซื้ออาหารที่ดีจะเป็นการหลีกเลี่ยงการซื้อของที่ไม่มีประสิทธิภาพและเหลือทิ้ง การวางแผนมีความจำเป็นก่อนการซื้ออาหารหรือวัตถุดิบและการบริโภคในครัวเรือน ช่วยลดการสูญเสียวัตถุดิบและการเกิดขยะอาหารจากการซื้อของเกินความจำเป็นซึ่งนำมาสู่การทิ้งอาหารต่างๆโดยไร้ความจำเป็น

2.ตรวจสอบและจัดเก็บวัตถุดิบ

ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดที่มีฉลากบ่งวันหมดอายุและแสดงวันที่ผลิต แบ่งเป็น 2 ประเภท คือผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถรับประทานได้หากเลยวันหมดอายุ เพราะจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ที่ยังรับประทานได้แม้หมดอายุไปแล้ว โดยผู้บริโภคพิจารณาจากสี กลิ่น รส ด้วยตนเองได้ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจ ส่วนใหญ่คิดว่าเมื่อเลยวันหมดอายุก็ต้องทิ้ง ลองหยิบผลิตภัณฑ์ขึ้นมาดูดีๆ บางชนิดอย่างนม โยเกิร์ต อาจจะรับประทานไม่ได้ แต่ผักหรือผลไม้บางชนิดต่อให้เลยวันหมดอายุก็ยังกินได้ 

นอกจากนี้เรายังควรรู้วิธีจัดเก็บเพื่อยืดอายุวัตถุดิบ พื้นฐานของการเก็บถนอมอาหารและการทำอาหารมีหลายข้อ ตั้งแต่อาหารที่กินไม่หมดสามารถปิดด้วยพลาสติกแร็ป นำไปแช่ไว้ในตู้เย็น หรือผลไม้ก็สามารถล้างให้สะอาด เก็บไว้ในกล่องสุญญากาศ เนื้อสัตว์ก็หั่นเตรียมใส่ถุงซิปล็อกแช่เย็นให้เรียบร้อย

การจัดชั้นเก็บผลิตภัณฑ์บ่อยๆ เพื่อตรวจสอบจำนวนวัตถุดิบและวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ การปรับเปลี่ยนพื้นที่การจัดวางในตู้เย็นยังทำให้มีเนื้อที่เพิ่มมากขึ้น สามารถป้องกันการเกิดขยะอาหารได้ ผลการสำรวจบอกว่าการทำความสะอาดชั้นจัดเก็บหรือตู้เย็นนานๆ ครั้ง ทำให้ต้องทิ้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารเป็นจำนวนมากเพราะส่วนใหญ่หมดอายุหรือเน่าบูด

3.เก็บของเหลือไว้ทำปุ๋ยหรือทำประโยชน์อย่างอื่น

แนวทางการลดปริมาณขยะอาหารในครัวเรือนมีมากมาย ทั้งทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร น้ำสกัดชีวภาพ นำไปเป็นอาหารสัตว์ หรือนำไปทำประโยชน์อื่นๆ อาทิ เปลือกไข่ นำไปตากแห้งบดให้ละเอียดเก็บไว้ ใช้โรยรอบแปลงผักหรือกระถางเพาะเมล็ด ช่วยป้องกันหอยทากมากินต้นอ่อนพืชได้ หรือใช้โรยในถังไส้เดือนช่วยลดความเป็นกรดของดินและกำจัดไรแดงในถังเลี้ยงได้ ส่วนเปลือกถั่วลิสง มีไนโตรเจนสูงตากแห้งแล้วบดหยาบๆ ผสมกับดินช่วยบำรุงต้นไม้และพืชผักได้เป็นอย่างดี(อ่านบทความ จัดการวัตถุดิบให้หมด ลดขยะเป็นศูนย์)

4.ถนอมอาหารด้วยวิธีต่างๆ    

    

อาหารที่เหลือจากการบริโภคในแต่ละมื้อสามารถนำมาเก็บรักษาด้วยการแช่แข็งเพื่อยืดอายุ (อ่านบทความ วิธีช่วยโลกด้วยการแช่แข็งอาหาร) นำมาแปรรูปเพื่อให้เก็บได้นานขึ้นหรือทำเป็นอาหารชนิดใหม่ เช่น นำมาดอง ตากแดด หมัก กวน อาหารปรุงสุกแล้วหลายประเภทก็นำมาทำเป็นอาหารชนิดใหม่ได้หากรับประทานไม่หมด เช่น แกงประเภทต่างๆ ที่เหลือจากงานบุญและงานเลี้ยงต่างๆ ชาวล้านนานำมารวมกันแล้วปรุงใหม่โดยเติมส่วนประกอบอย่างวุ้นเส้น หน่อไม้ดอง แต่งกลิ่นโดยใส่ใบมะกรูด ตะไคร้ เรียกแกงชนิดนี้ว่า ’แกงโฮะ’ ข้าวสวยที่เหลือก็นำไปตากแดดให้แห้ง บดแล้วนำไปทำเป็นขนมข้าวตู แม้แต่ไก่ต้มที่เหลือจากการเซ่นไหว้ก็นำมารวนหรือทำไก่เค็มได้

5.ปลูกผักจากเศษผักที่เหลือ

เคยสังเกตไหมว่าเราต้องเสียเงินไปเท่าไรกับการซื้อผักสวนครัวชนิดเดิมๆ มาประกอบอาหาร จริงๆ แล้วเราปลูกผักสวนครัวเหล่านี้ได้ง่ายๆ จากส่วนที่เหลือของมันเอง ไม่ว่าจะต้น ใบ กิ่ง แถมยังดูแลไม่ยากเย็น แค่รดน้ำเป็นประจำเท่านั้น (อ่านบทความ ปลูกผักสวนครัวจากเศษพืชเหลือใช้) เราก็จะมีผักสวนครัวสดใหม่ไว้กิน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วยังได้กินผักสด สะอาด ปราศจากสารพิษตกค้าง ดีต่อสุขภาพอีกด้วย

ภาพประกอบโดย: บวรชัย ปุ๊ดธรรม

อ่านบทความเพิ่มเติม

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS