10 เมนูต่างชาติ ที่อยู่มานานจนกลายเป็นอาหารญี่ปุ่น

4,624 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
รวมเมนูที่ดูญี่ปุ๊น...ญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้วเป็นลูกครึ่งลูกเสี้ยวที่มาจากความอร่อยทั่วโลก

ญี่ปุ่นแม้เป็นประเทศเกาะเล็กๆ แต่มีความโดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมอาหารอย่างแข็งแรงจนกระจายไปทั่วโลก เรียกได้ว่าเราสามารถหาร้านอาหารญี่ปุ่นได้ในทุกประเทศ บางทีอาจเจอร้านอาหารญี่ปุ่นได้ถี่กว่าร้านอาหารท้องถิ่นจริงๆ เสียอีก อาจเป็นเพราะความหลากหลาย รสชาติที่กลมกล่อม หรือจะเป็นเพราะภาพลักษณ์ของการเป็นอาหารสุขภาพก็ตามแต่ แต่คงไม่มีใครโต้แย้งว่าอาหารญี่ปุ่นกลายเป็นอาหารที่คนทั่วโลกรู้จักและคุ้นเคยในปัจจุบัน

แต่บางคนอาจไม่รู้เลยว่า หลากหลายเมนูที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเป็นญี่ปุ๊น…ญี่ปุ่นนั้น กลับเป็นลูกครึ่ง ลูกเสี้ยว หรือแม้กระทั่งเป็นลูกแท้ๆ ที่โยกย้ายมาจากประเทศอื่น ทั้งประเทศฝั่งตะวันออกและประเทศฝั่งตะวันตก เช่นวัฒนธรรมการกินข้าวเป็นคาร์โบไฮเดรตหลักที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการรับวัฒนธรรมต่อจากจีน หรืออาหารประเภทโยโชคุ  (yōshoku – 洋食) อาหารญี่ปุ่นที่ปรุงขึ้นจากอิทธิพลของอาหารฝรั่งเศส เป็นเต้น

ทั้งหมดนี้คือการเดินทางและความเปลี่ยนแปลงของอาหาร ผ่านการติดต่อกันเพื่อความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จนกลายเป็นเมนูลูกครึ่งแสนโอชะมากมาย แถมเมนูเหล่านั้นยังย้อนกลับออกไปหาประเทศต่างๆ ตามกระแสความนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นอีกต่างหาก เรียกได้ว่าเป็นหลักฐานชั้นดีที่บอกว่าความอร่อยนั้นเป็นสากล และไม่มีใครสามารถผูกขาดหรือจำกัดไว้เฉพาะสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งได้เลย

คาเรไรซุ (KareRaisu/カレーライス)

ผงกะหรี่มีต้นกำเนิดดั้งเดิมมาจากประเทศอินเดีย แต่เมื่อพูดถึงข้าวแกงกะหรี่ เรากลับคุ้นเคยกับภาพคาเรไรซุ หรือข้าวแกงกะหรี่แบบญี่ปุ่นมากกว่าแกงกะหรี่อินเดียเสียอีก หลังจากที่อังกฤษและประเทศแถบยุโรปรับเอาผงกะหรี่จากอินเดียไปใช้ปรุงอาหารในช่วงศตวรรษที่ 18 แล้ว ในยุคเมจิ (1868-1912) ญี่ปุ่นก็รับเอาวัฒนธรรมการปรุงอาหารโดยใช้ผงกะหรี่มาจากประเทศฝั่งยุโรปอีกต่อหนึ่งผ่านการติดต่อค้าขาย ในช่วงแรกผงกะหรี่เป็นเครื่องปรุงพิเศษที่มีราคาแพงจึงมีบริโภคเฉพาะกลุ่มอย่างจำกัดเท่านั้น จนเมื่อมีการนำเข้าผงกะหรี่มากขึ้น รวมถึงมีการปรุงผงกะหรี่ที่เป็นแบบฉบับของญี่ปุ่นเอง แกงกะหรี่จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการเสิร์ฟในกองทัพ ในโรงเรียน จนกระทั่งกลายเป็นอาหารแสนคุ้นเคยของชาวญี่ปุ่นในปัจจุบัน

โคร็อกเกะ (Korokke/コロッケ)

เมนูปั้นทอดขวัญใจเด็กญี่ปุ่นเมนูนี้ เดาเชื้อชาติได้ไม่ยากเพราะชื่อคล้ายกันกับโครแก็ต (croquette) ของฝรั่งเศส ผิดเพี้ยนไปบ้างก็ตามข้อจำกัดในการออกเสียงของชาวญี่ปุ่นเท่านั้น โคร็อกเกะแบบญี่ปุ่นนิยมทำจากมันฝรั่งบดเป็นหลัก เพิ่มรสชาติด้วยสารพัดไส้อย่างคาเรโคร็อกเกะ (ไส้แกงกะหรี่) เอบิโคร็อกเกะ (ไส้กุ้ง) ยาไซโคร็อกเกะ (ไส้ผัก) และแตกต่างจากโครเก็ตของฝรั่งเศสที่วิธีการเสิร์ฟ ในขณะที่โครเก็ตมักถูกเสิร์ฟเป็นอาหารจานเคียง (side dish) ในช่วงวันหยุดเทศกาล แต่โคร็อกเกะของญี่ปุ่นมีขายทั่วไปในรูปแบบของสตรีตฟู้ดห่อกระดาษสำหรับเดินกิน เป็นท็อปปิงในเมนูต่างๆ อย่างโคร็อกเกะโซบะ หรือกระทั่งนำไปทำเป็นแซนด์วิชที่เรียกว่าโคร็อกเกะปังก็ได้เช่นกัน

ราเมน (Ramen / ラーメン) และเกี๊ยวซ่า (Gyoza / ギョーザ)

มาเป็นแพ็กคู่สำหรับบะหมี่น้ำยอดนิยมอย่างราเมน และเกี๊ยวซ่าคู่หู ที่ไม่บอกก็น่าจะเดาออกว่าเดินทางมาจากประเทศจีนแน่ๆ โดยราเมนนั้นสันนิษฐานว่ามาจากจีนเพราะออกเสียงใกล้กันกับคำในภาษาจีนว่า ลาเมียน (拉麺 / Lamian) ที่หมายถึงเส้นที่นวดด้วยมือ โดยมีหลักฐานบันทึกถึงราเมนไว้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 ส่วนเกี๊ยวซ่าก็มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนเช่นเดียวกัน และมาแพร่หลายในญี่ปุ่นอย่างชัดเจนช่วงศตวรรษที่ 19 โดยขายเป็นชุดคู่กับราเมน จนในปัจจุบัน ทั้งราเมนและเกี๊ยวซ่าเป็นที่รู้จักในนามของอาหารญี่ปุ่นยอดนิยมอีกจานหนึ่ง

เทมปุระ (Tempura/ 天ぷら)

สารพัดผักและอาหารทะเลชุบแป้งทอดที่ดูแสนจะญี่ปุ่นเมนูนี้ แท้จริงแล้วมาจากชาวโปรตุเกส ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น เพราะในอดีต การใช้น้ำมันปริมาณมากเพื่อทอดอาหารไม่ใช่ความนิยมในครัวญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากน้ำมันเป็นของราคาแพง เดิมทีเทมปุระจึงเป็นอาหารที่จำกัดอยู่ในกลุ่มชาวโปรตุเกสที่ติดต่อกับญี่ปุ่นเฉพาะพื้นที่เกาะคิวชูและจังหวัดนางาซากิเท่านั้น จนเมื่อถึงสมัยเอโดะที่มีการผลิตน้ำมันพืชและน้ำมันงาได้มากขึ้น เทมปุระจึงแพร่หลายและได้รับความนิยมไปทั่วญี่ปุ่น ศิลปะการทอดเทมปุระของญี่ปุ่นนั้นลึกล้ำและละเอียดในทุกๆ มิติ เรียกว่าแม้กระทั่งเสียงในการทอดที่แตกต่างกันก็บอกคุณภาพของเทมปุระได้ คนญี่ปุ่นกินเทมปุระกันมาก จนเทมปุระถูกยกให้เป็น ‘รสชาติของเอโดะ’ เคียงคู่กับซูชิและโซบะเลยทีเดียว

ฮัมบากุ (hambagu / ハンバーグ)

ฮัมบากุหรือฮัมบากุสเต๊ก เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากฮัมเบิร์กสเต๊ก สเต๊กเนื้อสับปั้นก้อนจากเยอรมัน โดยเริ่มต้นจากการเสิร์ฟเป็นฮัมเบิร์กสเต๊กในเมืองโยโกฮาม่าซึ่งเป็นท่าเรือแรกที่เปิดให้กับชาวต่างชาติได้เข้ามาติดต่อตั้งแต่ในช่วงยุคเมจิ จนภายหลัง ฮัมเบิร์กสเต๊กได้ถูกปรับรสชาติให้ถูกปากคนญี่ปุ่นมากขึ้น โดยมีการเพิ่มหัวหอมสับ ไข่ เกล็ดขนมปัง หรือวัตถุดิบอื่นๆ ไปเพื่อให้มีรสชาติที่หลากหลายมากขึ้น และยังมีการพลิกแพลงเพิ่มลูกเล่นให้ฮัมบากุอย่างเช่นเสิร์ฟพร้อมกับข้าวสวย ข้าวแกงกะหรี่ หรือเสิร์ฟแบบกระทะร้อนอีกด้วย

 ทาโกไรซุ (takoraisu/ タコライス )

ทาโกไรซุ หรือ Taco rice เป็นเมนูเด็ดประจำจังหวัดโอกินาว่า ที่เกิดจากเมนูเม็กซิกันอย่างทาโก้ แผ่นแป้งห่อไส้เนื้อสัตว์ปรุงรส ใส่ผักกาดแก้ว มะเขือเทศ และชีส โดยใน ค.ศ. 1984 มีพ่อครัวชาวญี่ปุ่นเห็นทหารอเมริกันกินทาโก้อย่างเอร็ดอร่อย จึงนำเครื่องเคราแบบทาโก้มาเสิร์ฟกับข้าวให้เข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น จนกลายเป็นอาหารแบบโอกินาว่าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งแมคโดนัลด์และทาโก้เบล สองร้านอาหารเชนจากตะวันตกยังต้องเสิร์ฟทาโกไรซุเป็นเมนูพิเศษที่มีให้กินเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

โอมุไรซุ (Omu-raisu /オムライス)

หากจะพูดถึงโยโชคุ (洋食 – yooshoku) หรืออาหารญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารแบบตะวันตก ชื่อของโอมุไรซุน่าจะเป็นชื่อแรกที่ชาวญี่ปุ่นส่วนมากนึกถึง เพราะเป็นเมนูยอดนิยมสำหรับคนทุกเพศทุกวัย จากออมเล็ตที่เป็นมื้อเช้าแบบตะวันตก ถูกเสิร์ฟพร้อมกับข้าวสวยและกลายเป็นอาหารสามัญที่กินได้ทุกมื้อตลอดทั้งวัน แถมยังพัฒนาให้ดูเหนือชั้นขึ้นโดยเสิร์ฟพร้อมกับข้าวผัด เสิร์ฟแบบข้าวห่อไข่ หรือครีมมี่โอมุไรซุ ข้าวไข่ข้นแสนโด่งดังที่ด้านนอกนุ่มนิ่ม ด้านในฉ่ำเยิ้ม เมื่อใช้มีดกรีดตลอดแนวของไข่ ไข่ข้นก็จะแบะออกเผยให้เห็นความชุ่มฉ่ำด้านใน เสิร์ฟพร้อมซอสมะเขือเทศเปรี้ยวหวานหรือแกงกะหรี่ญี่ปุ่นก็น่ากินน้ำลายไหลไม่แพ้กัน

คาสึเทระ (kasutera /カステラ)

อาจเดากันยากสักนิดด้วยชื่อที่เปลี่ยนไปจากต้นฉบับมากหน่อย แต่คาสึเทระก็คือ Pão de Castela เค้กไข่ที่ดั้งเดิมมาจากประเทศโปรตุเกสนั่นเอง โดยคาสเทลล่าเป็นเค้กที่เก็บไว้ได้นาน จึงเหมาะจะพกพาไปด้วยเมื่อต้องเดินทางโดยเรือ ในช่วงศตวรรษที่ 16 ชาวโปรตุเกสได้เดินทางเข้ามาค้าขายกับญี่ปุ่นที่จังหวัดนางาซากิ จึงได้มีสินค้าใหม่หลายๆ อย่างแพร่หลายในพื้นที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฟักทอง บุหรี่ รวมถึงเค้กไข่ที่กลายมาเป็นคาสึเทระด้วยเช่นกัน เดิมทีคาสึเทระถือเป็นขนมที่ไม่ได้หากินได้ง่ายนัก จนภายหลังเมื่อน้ำตาลถูกลง เค้กคาสึเทระจึงได้รับความนิยมมากขึ้น และมีการปรับปรุงรสชาติให้ถูกใจชาวญี่ปุ่นจนกลายเป็นขนมหวานประจำถิ่นของนางาซากิที่เมื่อใครแวะไปเยือนก็เป็นอันต้องหิ้วติดมือกลับมาด้วยทุกครั้งไป

สปาเกตตีนโปลิตัน (Spaghetti Neapolitan/ スパゲッティーナポリタン)

แม้ชื่อเมนูจะละม้ายคล้ายกับชื่อเมืองนาโปลีของประเทศอิตาลีก็ตาม แต่เราไม่สามารถหาสปาเกตตีนโปลิตันกินในประเทศอิตาลีได้แม้แต่ร้านเดียว เพราะสปาเกตตีนโปลิตันเป็นอาหารที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นต่างหาก แถมยังแตกต่างจากพาสต้ามะเขือเทศของอิตาลีแทบจะสิ้นเชิง คือนอกจากจะไม่ใช้เส้นแบบอัลเดนเต้แบบอิตาลีแล้ว ยังเน้นรสชาติของซอสมะเขือเทศแบบเต็มๆ แทรกด้วยใส้กรอกหรือเบคอน พร้อมผักจำพวกหัวหอมและพริกหยวกซอยเป็นชิ้นเล็กๆ กลายเป็นสปาเกตตีหน้าตาตะวันตกจ๋า แต่กลับเป็นอาหารแสนคุ้นเคยของชาวญี่ปุ่นอย่างที่หาซื้อได้ตามร้านอาหารทั่วไป โดยที่ประเทศเจ้าของวัฒนธรรมอย่างอิตาลีนั้นแทบจะไม่รู้จักเมนูนี้เลยด้วยซ้ำ

แคลิฟอร์เนียโรล (California roll /カリフォルニアロール)

แคลิฟอร์เนียโรลหรือแคลิฟอร์เนียมากิ อาจเป็นเมนูเดียวในลิสต์นี้ที่ถือกำเนิดนอกเกาะญี่ปุ่น เพราะข้าวห่อสาหร่ายรวยเครื่องเมนูนี้เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยพ่อครัวชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า โคดากะ ไดคิชิโระ ที่พบว่าชาวอเมริกันกินอาหารญี่ปุ่นประเภทอื่นๆ เยอะมาก แต่กลับไม่นิยมอาหารประเภทซูชิและปลาดิบเอาเสียเลย เพราะกลิ่นคาวของปลาสดยังไม่เป็นที่คุ้นชินในหมู่ผู้บริโภคชาวอเมริกันมากนัก จึงคิดเมนูข้าวปั้นแบบใหม่ขึ้น โดยเพิ่มวัตถุดิบอื่นๆ ที่ชาวอเมริกันโปรดปรานลงไป ไม่ว่าจะเป็นมายองเนส ไข่กุ้ง ไข่หวาน ปูอัด เทมปุระกุ้ง และเลียนแบบรูปร่างของฮ็อตดอกจนกลายเป็นข้าวปั้นแท่งที่ได้ชื่อใหม่ว่าแคลิฟอร์เนียโรล เป็นที่ถูกอกถูกใจของชาวอเมริกันจนแจ้งเกิดเป็นเมนูใหม่นอกประเทศ แคลิฟอร์เนียโรลแพร่หลายไปยังร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วโลก รวมถึงเดินทางย้อนกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นเอง เพื่อเป็นการยืนยันว่า ความอร่อยที่หลากหลายนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ขอเพียงเราเปิดใจให้รสชาติใหม่ๆ ได้ทำหน้าที่ของมันบ้างก็พอ

กราฟิก: ณัฐฐินันท์ นนทสิงห์

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS