Almond Blossoms ชาดอกอัลมอนด์ สีชมพูอ่อนๆ จากแรงงานของความรัก

7,007 VIEWS
PIN

image alternate text
เรื่องราว ‘ชาดอกอัลมอนด์’ ชวนสัมผัสรสชาติละเอียดลออ ของอัลมอนด์ และหวานละมุนจากเกสรดอกไม้

ชาสมุนไพร หรือ infusions นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับชา หรือ tea เท่าไรนัก นอกจากชงด้วยการแช่น้ำร้อนเหมือนกัน แต่ในขณะที่ใบชาอย่างชาดำ ชาเขียว หรือชาขาว มาจากพืชตระกูลเดียวกันนั่นคือ คาเมเลีย (Camelia) ชาสมุนไพรนั้นกลับต้องใช้คำว่ามีสมุนไพรอะไรที่กินได้ ก็เอามาแช่น้ำร้อน ทำเป็นชาได้ทั้งนั้น

แต่ละประเทศอาจจะมีชาสมุนไพรเฉพาะของท้องถิ่น อย่างแอฟริกาใต้มีเรดบุช (Redbush หรือ Roisbos) บัลแกเรียขึ้นชื่อเรื่องดอกกุหลาบ กรีซมีชาจากบนภูเขามากมาย ประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนที่ปลูกต้นมะกอกกันเยอะๆ ก็เอาใบมะกอกมาชงเป็นชากิน ดอกไม้หลายชนิด อย่างดอกส้ม ก็เป็นที่นิยมนำมาชงชาเช่นกัน

วันนี้จะพาไปรู้จักกับ ‘ชาดอกอัลมอนด์’ สีชมพูอ่อนๆ คล้ายดอกซากุระ มีรสชาติอ่อนๆ ของถั่วอัลมอนด์ และหอมหวานจากเกสรดอกไม้เหมือนน้ำผึ้ง ด้วยรสชาติละเอียดลออ ทำให้เวลานำมาเสิร์ฟคู่กับอาหารสไตล์ fine dining ชาตัวนี้จะช่วยส่งเสริมรสชาติอาหารแต่ละจานได้เป็นอย่างดี ไม่ตีกันหรือแย่งกันเด่น แถมยังมีสาร taxifolin ช่วยป้องกันมะเร็งสมองอีกด้วย

ส่วนมากแล้วดอกอัลมอนด์มักถูกนำมาตกแต่งจานอาหารเพื่อความสวยงาม ไม่ได้นำมาชงเป็นชากิน เพราะการที่รสชาติไม่จัดมาก การจะหาดอกอัลมอนด์รสชาติดีจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ตอนที่เห็นราคาประมาณ 750 บาทต่อชา 15 กรัม เรายังคิดว่าชาอะไรกันเนี่ย โคตรแพงเลย แต่หลังจากที่ได้ตามไปเก็บดอกอัลมอนด์ถึงสวน พูดคุยกับเฟอร์ราน (Ferran) เจ้าของฟาร์มแล้ว ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมชาดอกอัลมอนด์ถึงไม่ได้เป็นชาแบบง่ายๆ ทั่วๆ ไป และราคาแพงลิบได้ขนาดนี้

โดยก่อนจะเลือกดอกอัลมอนด์จากฟาร์มของเฟอร์รานมาขายนั้น เฮนเรียตต้า ‘คุณหญิงชา’ แห่ง Rare Co. Tea (อ่านบทความเรื่อง Rare Co. Tea ที่นี่) ได้ลองชิมดอกอัลมอนด์จากหลากหลายฟาร์มทั่วทั้งสเปน ก่อนจะสรุปได้ว่า สำหรับเธอนั้น ดอกอัลมอนด์พันธุ์มาร์โคน่า (marcona) ของเฟอร์รานรสชาติดีเยี่ยมเหนือฟาร์มอื่นๆ เพราะขนาดดอกอัลมอนด์จากฟาร์มเดียวกัน แต่คนละต้น รสชาติยังแตกต่างกันเลย ลองคิดดูแล้วกันว่า จากคนละฟาร์ม คนละเมือง รสชาติจะต่างกันได้ขนาดไหน

เราไปถึงฟาร์มของเฟอร์รานที่อยู่ในเมืองเล็กๆ แถบทาร์ราโกนา (Tarragona) กันตอนบ่ายแก่ของปลายฤดูหนาว เฟอร์รานเพิ่งโทรไปบอกเฮนเรียตตาเมื่อสิบวันก่อนว่า ดอกอัลมอนด์เริ่มบานแล้วนะ เพราะแต่ละปี ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวนั้นสั้นมาก และไม่อาจบอกล่วงหน้าได้นาน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละปีนั่นเอง

ความโรแมนติกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวดอกอัลมอนด์คือมีคำพูดว่า การเก็บเกี่ยวดอกอัลมอนด์เป็น ‘แรงงานของความรัก’ ซึ่งก็เป็นเพราะความบอบบางของเจ้าอัลมอนด์แต่ละดอกนั่นเอง จะเขย่าให้ร่วงลงมาจากต้นแล้วเก็บทีเดียวไม่ได้เป็นอันขาด แม้แต่จะเอื้อมมือเก็บแบบทีละหลายๆ ดอกยังไม่ได้เลย ต้องเก็บกันทีละดอกเท่านั้น ไม่งั้นกลีบดอกไม้จะร่วงหล่นจากเกสร ซึ่งเวลาร้านอาหารนำไปชงเสิร์ฟลูกค้า จะต้องใช้ดอกอัลมอนด์ 3 ดอกต่อชา 1 ถ้วย ถ้าใช้ดอกที่กลีบไม่ครบ รสชาติก็จะออกมาไม่กลมกล่อม เวลาเก็บเกี่ยวเลยต้องประณีตมาก ความบอบบางของดอกอัลมอนด์ถึงขั้นที่ว่าบางวันที่ออกไปเก็บหากเจอลมแรง พัดดอกไม้ที่เก็บได้จนกระเจิดกระเจิง ก็ถึงกับต้องทิ้งไปเลยทีเดียว

แถมต้นอัลมอนด์ยังไม่ใช่ต้นไม้พุ่ม แต่เป็นไม้ยืนต้น นอกจากต้องแหงนหน้าเก็บกันทีละดอกแล้ว ยังมีการปีนป่ายขึ้นบันได ไต่ตามกิ่งก้านไปนั่งเก็บยืนเก็บกันบนต้นไม้อีกด้วย

มาเห็นกับตาแบบนี้แล้วต้องยอมรับว่าไม่ใช่งานง่ายๆ เลยจริงๆ แถมพอเก็บกันเสร็จแล้ว จากดอกไม้สดที่เก็บได้ 1 กิโลกรัม ตากแห้ง 5 วันน้ำหนักจะลดลงเหลือแค่ 200-300 กรัมเท่านั้น! โดยทะนุถนอมเก็บมาแล้ว เฟอร์รานยังต้องนำเจ้าดอกไม้น้อยๆ เหล่านี้ มาวางเรียงกันบนผ้ามัสลิน ให้แห้งอย่างช้าๆ บนห้องใต้หลังคาในบ้านของเขา ช่วงที่อากาศยังเย็นอยู่แบบนี้ บ้านทั้งหลังได้รับพลังงานความร้อนจากเตาผิงไม้ เป็นการเพิ่มกลิ่นควันไม้อ่อนๆ ให้กับชาดอกอัลมอนด์ ถือเป็นเสน่ห์ที่หาได้เฉพาะดอกอัลมอนด์จากที่นี่เท่านั้น

อ่านจบแล้วใครนึกอยากจะลองหาซื้อชาดอกอัลมอนด์มาชิมบ้าง ก็ยังเป็นความยากอีกหนึ่งต่อ เพราะไม่ได้หาซื้อได้ง่ายๆ ดาษดื่น เนื่องจากกรรมวิธีการเก็บเกี่ยวยากลำบากขนาดนี้ เลยไม่ได้มีวางขายทั่วไป สั่งได้ทางออนไลน์ไม่กี่เว็บเท่านั้น ถ้าไม่บังเอิญไปอยู่ตามฟาร์มอัลมอนด์ในช่วงปลายฤดูหนาวที่ดอกอัลมอนด์กำลังบานสะพรั่ง ก็อาจจะต้องเก็บเงิน วางแผนล่วงหน้าหลายเดือน เพื่อไปลองชิมชาดอกอัลมอนด์ตามร้านอาหารชื่อดังที่เสิร์ฟชาดอกอัลมอนด์คู่กับดินเนอร์ เป็น non-alcoholic drink pairing อย่างที่ NOMA หรือ Mugaritz นั่นเอง

ภาพโดย: เฟิร์น ศรีปุงวิวัฒน์

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS