‘บาหลี’ เชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก เพราะอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ใหญ่

2,860 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
คุยกับเชฟน้อยอายุ 13 ปีเรื่องอาหารปลอดภัยและการกินเพื่อเปลี่ยนโลก

หลายคนอาจเติบโตมากับก้นครัว คอยหยิบจับจานชาม เป็นลูกมือเด็ดผักล้างผัก เรื่อยมาจนถึงการหั่นตัดซอย ซึมซับงานครัวมาตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ทำอาหารได้เก่งกาจ หากก็ต้องยอมรับว่าในยุคหลัง เด็กๆ กับงานครัวถูกแยกออกจากกันอย่างแทบจะเด็ดขาด เราหลายคนเลยโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่จับมีดไม่ถนัด และแยกชนิดผักไม่เป็น

อาจฟังดูไม่ใช่เรื่องเลวร้ายนัก ในเมืองที่เต็มไปด้วยร้านอาหารข้างทางราคาไม่กี่สิบบาท แต่ความห่างเหินจากก้นครัวและวัตถุดิบอาหารของตนเองในแต่ละมื้อนี่เองคือสุญญากาศทางอาหารของสังคมไทย และการไม่รู้จักอาหารที่กำลังตักเข้าปากในแต่ละคำ ก็คือจุดเริ่มต้นของการสูญเสียความยั่งยืนทางอาหารในอนาคต

แต่ไม่ใช่กับบาหลีบาหลี นามเสนา เชฟน้อยวัย 13 ปี ที่หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาจากรายการ ‘เชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก’ ทางช่อง Thai PBS เมื่อหลายปีก่อน ที่บาหลีและป้าแอน (ศศิธร คาฤทธิ์) เป็นผู้ดำเนินรายการ พาผู้ชมและเด็กๆ ไปรู้จักที่มาของอาหารถึงแหล่งเรียนรู้เรื่องอาหารท้องถิ่น ไปจนถึงทำเองกินเองด้วยความสนุก

เวลาผ่านไปราวสามปี จากเด็กหญิงตัวเล็กในรายการ บาหลีเติบโตขึ้นมากับการเรียนแบบบ้านเรียน (Home school) พร้อมการสนับสนุนจากแม่ไก่ (ธนพร อาจธะขันธ์) เธอคลุกคลีกับเรื่องอาหารอย่างจริงจัง และเป็นเสียงเล็กๆ เสียงหนึ่งที่เล่าเรื่องความปลอดภัยของอาหารได้ชวนฟังและเข้าถึงง่ายจนผู้ใหญ่ต้องฉุกคิด

เริ่มเข้าครัวตั้งแต่ตอนไหน

ประมาณ 7-8 ขวบค่ะ ตอนแรกๆ เป็นลูกมือแม่ก่อน ช่วยหั่น ช่วยผัด ช่วยทอด พอเริ่มคิดว่ามันสนุก เริ่มชอบ ก็เลยทำจริงจัง เริ่มหาเมนูที่ทำง่ายๆ ก่อน หรือไม่ก็ให้แม่เป็นคนช่วยสอนว่าต้องทำอะไรบ้าง ถ้าบอกว่าอยากกินเมนูนี้ อยากทำเมนูนี้ แม่ก็จะบอกว่าทำอะไร ให้เตรียมอะไร ปรุงรสชาติแบบไหน

พอเรียนแบบบ้านเรียน หนูก็มีโอกาสเลือกเรื่องที่สนใจมากกว่า หนูจะบอกแม่ว่าชอบเรื่องนี้ สนใจเรื่องนี้นะ ช่วยดูให้หน่อยได้ไหม อย่างช่วงนี้หนูทำขนมเป็นหลัก อาหารจะลดลง ก็บอกแม่ว่าดูให้หน่อยได้ไหมว่ามีที่ไหนสอน หรือมีที่ไหนที่มีคนที่มีความรู้ ที่เราจะไปหาเขาได้ ก็มีไปเรียนเป็นคอร์สบ้าง การไปเจอคนเก่งๆ ทำให้เราอยากทำอาหาร ทำขนมให้เก่งขึ้น

จุดเริ่มต้นของการเป็นเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก

ต้องขอบคุณป้าแอนค่ะ ป้าแอนรู้จักกับพ่อและแม่ หนูก็รู้ว่าป้าแอนทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องอาหารอยู่แล้ว และที่เชียงใหม่ก็จะมีกิจกรรม ‘ข่วงนี้ดีแต๊’ ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ทุกปี เป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ป้าแอนทำรถชำเปลี่ยนโลก ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย มีบูธของป้าแอนที่สาธิตการทำอาหารในงาน หนูก็ไปหาป้าแอนเลย ไปช่วยเขา พอได้ไปลองทำ ได้เจอเพื่อนๆ เจอคนที่มาชิมอาหารของเราแล้วอร่อย ก็สนุก ติดใจ หนูไปทุกปี

จนวันหนึ่งมีพี่ผู้กำกับเขาติดต่อป้าแอนมาว่าอยากได้รายการทำอาหารในช่องเขา อยากให้ป้าแอนเป็นพิธีกร แล้วก็ให้หาเด็กมาคนหนึ่ง ช่วงนั้นหนูไปทำกิจกรรมกับป้าแอนตลอดเรื่องอาหาร ป้าแอนเลยให้หนูเป็นพิธีกรร่วมด้วย ก็ทำยาวมาจนถึงโครงการรถชำฯ ถึงตอนนี้เลย

หลังจากทำรถชำเปลี่ยนโลกแล้วมุมมองเรื่องอาหารเปลี่ยนไปแค่ไหน

เปลี่ยนเยอะมากค่ะ ก่อนหน้านั้นหนูก็เป็นเด็กธรรมดาที่กินขนมขบเคี้ยว กินของกินเล่นเยอะ ตอนนี้หนูก็กินนะ แต่เมื่อก่อนกินเยอะมาก วันละห้าถุงอะไรแบบนี้ ตอนยังไปโรงเรียนก็ต้องซื้อตลอด แต่พอได้เข้ามาทำรายการเราก็รู้เรื่องคุณค่าทางอาหาร อะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน อะไรควรลด ได้ความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย จนถึงพวกอาหารหมักดอง เครื่องปรุงรสเราได้ทำเอง ไปเห็นวิธีทำเต้าเจี้ยว กะปิ ซีอิ๊ว ได้ฝึกทำจริงๆ ก็คือตอนทำรายการเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลกเลย

เด็กหลายคนเข้าใจว่าเรื่องอาหารไม่ใช่เรื่องที่ต้องสนใจตอนนี้ แต่หนูมองว่าเด็กคือคนที่กำลังโต อย่างน้อยที่สุดเราต้องรู้จักของที่ดีและปลอดภัย เพราะอาหารสำคัญกับชีวิตเรามากๆ ถ้าเรากินของดี  กินอาหารที่มีคุณค่าทางอาหาร ปลอดภัย มันก็จะช่วยให้ร่างกายเราดีขึ้น

หมายถึงพอทำอาหารมากขึ้นก็เลือกกินอาหารดีขึ้น

ที่จริงหนูก็กล้าพูดว่าหนูยังกินขนมอยู่นะ ยังต้องกินข้าวนอกบ้าน กินฟาสต์ฟู้ด แต่ถามว่ากินบ่อยเหมือนเดิมไหม ไม่เลย ถ้าสามารถเลือกได้ ก็จะเลี่ยง อาจจะยังเลิกไม่ได้ แต่ลดได้

ถ้าไปเดินตลาด เดินซูเปอร์มาร์เก็ต เราก็จะเจอผักเดิมๆ คะน้า แตงกวา แครอท เพราะคนปลูก คนขาย เขาคิดว่าปลูกแบบนี้แล้วขายได้ ส่วนคนที่ซื้อก็ซื้อไปเท่าที่มี มีอันไหนก็กินอันนั้น จริง ๆ คนเมื่อก่อนปลูกผักกินเอง ก็กินไปตามระบบนิเวศของมัน กินตามที่มันมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือท้องถิ่นของเรา

พอด้วยความที่หนูเป็นคนทำอาหาร ก็จะรู้ว่าถ้าไม่มีผักอันนี้ เราจะใช้ผักอะไรแทนได้ ไม่จำเป็นว่าถ้าจะกินผักก็ต้องใช้ผักนี้อย่างเดียว อย่างตอนนี้ที่บ้านเริ่มทำฟาร์ม ปลูกเองแล้ว เพราะว่าเรารู้สึกว่าแต่ละพื้นที่มันมีระบบนิเวศของมัน เราสามารถปลูกผักกินเองตามฤดูกาลได้ เพราะว่าคนเราไม่จำเป็นต้องกินผักชนิดเดียวทั้งปี ผักท้องถิ่นเรามีอยู่เยอะมาก ยิ่งช่วงนี้คนเริ่มกลับมากินผักออร์แกนิก ผักปลอดสาร แล้วเราก็เป็นหนึ่งในจำนวนเป็นล้านคนที่พยายามจะเปลี่ยนวงจรวัตถุดิบอาหารจากการเลือกบริโภคของเราเอง

อย่างตอนนี้กำลังสนใจเรื่องขนม ทำขนมเป็นหลัก ก็พยายามทดลองสูตรเบเกอรีออร์แกนิก หนูอยากรู้ว่าเราจะสามารถลดบางอย่างหรือเพิ่มบางอย่างได้ไหม เพราะของทำเบเกอรีมันจะเป็นไขมันหมดเลย เราจะใส่แครอทออร์แกนิกได้ไหม ใส่น้ำตาลธรรมชาติจากแม่ทาได้ไหม ใส่แป้งที่ทำเองได้ไหม หรือใช้แป้งจากแหล่งไหนจะได้รสสัมผัสที่ดีกว่ากัน หนูว่ามันมีของที่เราเอามาทำได้อยู่หมดแล้ว แน่นอนว่ารสชาติอาจจะไม่เหมือนเค้กหรือขนมที่ฝรั่งทำตามสูตรบ้านเขา แต่หนูเชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาเราแค่ติดกับรสชาติที่ว่า เค้กแบบนี้มันต้องเป็นแบบนี้นะ จะมาใส่แป้งอันนี้แล้วทำให้มันรสชาติฝืดคอ ต้องหวานแบบนี้ ต้องใช้แป้งแบบนี้ คือใช่มันอาจจะเป็นรสชาติแบบที่เราเคยชินและอร่อยกับมันก็ได้ แต่มันไม่ใช่รสชาติของความปลอดภัย

แต่บางคนบอกว่าเรายังเด็กอยู่ อาจจะทำอะไรมากไม่ได้ ตรงนี้จริงไหม

ก็จริงในแง่ที่ว่าตอนนี้เราก็ยังเด็ก อาจจะยังเคลื่อนไหวในรูปแบบของผู้ใหญ่ไม่ได้ แต่หนูคิดว่า ถ้าเราพยายามลดของไม่มีประโยชน์ลง เพิ่มอาหารที่ดีและปลอดภัยเข้ามาในชีวิต ทำให้ติดเป็นนิสัย เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ตลาดมีอาหารดีๆ เพิ่มขึ้น

อย่างหนูที่เมื่อก่อนกินขนม กินอาหารอะไรก็ได้ ในตลาดในร้านสะดวกซื้อมีอะไรก็ซื้อหมด พอเริ่มใส่ใจมากขึ้น เราก็จะต้องหาว่าที่ไหนมีขนมที่กินได้ ที่ไหนมีผักปลอดสาร พอเริ่มมีคนกินแบบนี้มากขึ้น วันหนึ่งตลาดมันก็ต้องเปลี่ยน อย่างคนขายผักพอเขาเห็นว่าผักแบบนี้ขายดี เขาก็จะปลูกขายอยู่อย่างนั้นไม่กี่อย่าง หนูคิดว่าทุกอย่างเริ่มจากคนกิน ถ้าวันหนึ่งแม่ค้าเห็นว่าผักแบบนี้ขายได้น้อยแล้ว เกษตรกร แม่ค้า ก็จะเปลี่ยนไปปลูกผักแบบอื่น ขายผักแบบอื่นที่มันปลอดภัยกับเรามากขึ้น ผู้บริโภคมีส่วนเปลี่ยนตลาดแบบนี้มากๆ

หนูก็เป็นคนหนึ่งที่อยากตามใจปากเหมือนกัน อาหารสำเร็จรูป ขนมซอง มันคือความอร่อยแบบที่เราเคยชิน เพราะเราสร้างความอร่อยมาแบบผิดๆ ก็ต้องค่อยๆ เปลี่ยน ถ้าเราลดให้มันน้อยลง แค่เดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง มันก็ช่วยได้นะ เพราะหนูว่าถ้าคนขายของพวกนี้ไม่มีผู้บริโภค เขาก็จะเปลี่ยนแปลงของเขาเอง

สุดท้ายทุกอย่างมันย้อนกลับไปที่ผู้บริโภคหมดเลย ถ้าผู้บริโภคเลือกที่จะกินแต่ผักปลอดสาร ผู้ผลิตเขาก็ต้องหามาขายอยู่แล้ว ผู้บริโภคกินแบบไหน ผู้ผลิตเขาก็ทำมาแบบนั้นตามกลไกที่เรารู้กัน เพราะวงจรชีวิตมันเชื่อมกันอยู่แบบนี้

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS