เจ้าหนูข้าวจี่… ขี้โกงจนได้ดี

3,134 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
การ์ตูนไทยที่เหมือนเป็นภาคกลับตาลปัตรของ 'เจ้าหนูซูชิ' เพราะไม่สนใจเรื่องความมุมานะแต่เล่าเรื่องการอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม

หากญี่ปุ่นจะมีมังงะ ‘ไอ้หนูซูชิ’ ที่ทำให้เรารู้จักศิลปะการทำซูชิมากขึ้น ของไทยเองก็มีคอมิกส์ที่นำเสนออาหารพื้นบ้านอย่าง ‘เจ้าหนูข้าวจี่’ มาสู้กับเขาเหมือนกัน แต่ในขณะที่มังงะแสดงให้เห็นการต่อสู้อย่างมุมานะของตัวละคร เพื่อไปสู่จุดสูงสุดของการเป็นเชฟ เจ้าหนูข้าวจี่กลับสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ด้วยวิธีเล่าเรื่องที่เหมือนได้รับอิทธิพลมาจากหนังตลกโจวซิงฉือผสมกับมุกตลกคาเฟ่ เกิดเป็นการ์ตูนบ๊องๆ ที่ใช้อาหารท้องถิ่นมาเป็นแก่น ขณะที่ก็สามารถบอกเล่ายุคสมัยและจำลองสภาพสังคมได้อย่างเจ็บแสบไม่น้อย

 ‘เจ้าหนูข้าวจี่’ เป็นผลงานของ เกษม อภิชนตระกูล และคุณากร ขุนนราศัย โดยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร ‘ซีคิดส์’ เมื่อพ.ศ. 2559 แต่ยังไม่ทันจบ นิตยสารก็ปิดตัวไปเสียก่อน แล้วจึงออกมาเป็นหนังสือการ์ตูน 2 เล่มจบในเวลาต่อมา

ในปีที่ตีพิมพ์ เป็นช่วงปลายของยุคสื่อสิ่งพิมพ์เต็มทน มันเลยสะท้อนออกมาในเรื่องด้วยการกำหนดให้หนึ่งในตัวละครเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารแจกฟรี ที่ต้องแย่งคอนเทนต์กันกับนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แล้วเราก็จะเห็นว่าคู่ขัดแย้งนี้ดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อการอยู่รอดของตนแค่ไหน

ข้าวจี่ เป็นทายาทร้านแผงลอยขายข้าวจี่ที่ยืนหยัดมายาวนานบนถนนกังสะเดิด (ถนนสมมติ) ที่ซึ่งจังหวัดขอนแก่นพยายามจะทำให้มันเป็นศูนย์กลางอาหารนานาชาติ เราเลยเห็นร้านอาหารแพงๆ หรูๆ เปิดเรียงรายกันบนถนนสายนี้ แต่มีร้านสตรีทฟู้ดเพียงร้านเดียวที่หน้ามึนขายข้าวจี่แบบไม่แยแสใคร พื้นที่ตรงนี้เลยกลายเป็นแก้มปลาที่ใครๆ ก็อยากกิน จนตัวแทนร้านระดับโลกคนแล้วคนเล่าเดินทางมาท้าทายฝีมือการทำอาหารเพื่อช่วงชิงพื้นที่ตรงนี้มาดำเนินกิจการแทนให้ได้

ด้วยอาหารที่เข้าทางของข้าวจี่ คือข้าวจี่ เมนูหากินง่ายในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งใครก็ทำได้เพราะแค่เอาข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นเป็นทรงกลมหรือรี จากนั้นเอาเกลือมาทานำขึ้นไปย่างบนเตาถ่านให้พอเกรียมๆ เสร็จแล้วค่อยเคลือบด้วยไข่แล้วย่างต่อจนเหลืองอร่าม กินเปล่าๆ หรือแกล้มกับน้ำพริกก็อร่อยแถมอยู่ท้องพร้อมทำงานต่อได้อีกหลายชั่วโมง

สิ่งที่การ์ตูนสอดแทรกเข้ามาในเรื่องคือการแสดงให้เห็นวัฒนธรรมการกินข้าวจี่ของชาวอีสาน ไม่ว่าจะเป็นการที่มันซื้อง่ายขายคล่องในราคาย่อมเยา มันจึงเป็นเมนูมหาชนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ สามารถกินระหว่างเดินทางสะดวกสบายประหยัดเวลา และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงฤดูหนาว เพราะข้าวจี่ในยามที่ย่างเสร็จใหม่ๆ จะช่วยสร้างความอบอุ่นได้อย่างดี แต่เพราะความที่เป็นอาหารสะดวกตามประสาฟาสต์ฟู้ดแห่งประเทศไทย เลยทำให้มันตกเป็นรองในทุกทางเมื่อเทียบกับเมนูที่เข้ามาท้าชนทั้งหลาย อย่างปลาเผา และอาหารจากชาติอื่นๆ ทั้ง จีน, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น และอเมริกา ที่พยายามแสดงให้เห็นความเหนือชั้นในศิลปะการปรุง แล้วไอ้ข้าวเหนียวทาเกลือชุบไข่ จะไปสู้อะไรกับใครได้?

ความสนุกมันอยู่ตรงนี้แหละ ข้าวจี่ไม่ใช่คนที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นคนมุมานะอะไร แถมยังมั่นใจในตัวเองสูงด้วย ขณะที่ผู้ท้าชิงของเขาส่วนใหญ่ล้วนมาพร้อมพลังงานที่จะพิสูจน์ตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งหากเป็นนิยายทั่วไป ตัวละครอย่างข้าวจี่จะถูกผลักไปอยู่ขั้วตรงข้ามของคนอ่านแน่นอน เพราะนอกจากจะชิลล์เหลือเกินแล้ว ยังหัวหมอเป็นที่หนึ่งอีกด้วย

สิ่งที่ตรึงเราเอาไว้ขณะอ่าน ‘เจ้าหนูข้าวจี่’ คือการทำให้เราอยากติดตามว่า ในขณะที่คู่แข่งแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ นั้น ข้าวจี่จะหน้ามึนพลิกเกมมาคว้าชัยชนะด้วยวิธีใด โดยการ์ตูนกำหนดให้ข้าวจี่เป็นพระเอกประเภทแอนตี้ฮีโร่ หรือตัวละครที่ไม่น่าเอาใจช่วย แน่นอนว่าการที่มันดำเนินเรื่องไปสองเล่มจบได้ ก็หมายความว่าเขาได้เอาชนะผู้ท้าชิงไปเรื่อยๆ แต่ชัยชนะของเขาเกิดจากกลโกงแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกติกาให้เข้าทางตัวเอง จัดตั้งกรรมการที่มาจากเครือข่ายของตน และใช้ ‘ตัวช่วย’ สารพัดที่พอจะเป็นทางลัดไปสู่ความอร่อยเร็วที่สุดอย่าง ‘ผงชูรส’

ผงชูรสกลายเป็นตัวช่วยให้ข้าวจี่คว้าชัยชนะอยู่หลายตอน ซึ่งในขณะที่ดูเหมือนจะเอาเปรียบผู้เข้าแข่งขันที่งัดทักษะการทำอาหารมาฟาดฟันเต็มที่ ข้าวจี่กลับเลือกสาดผงชูรส ซุปก้อน และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาสู้ในโค้งสุดท้ายได้ตลอด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความอร่อยจากสารเคมี ที่เมื่อเทียบกับศิลปะวัฒนธรรมการทำอาหารของคู่แข่งแล้ว ดูจะไร้อารยธรรมโดยสิ้นเชิง แต่ข้าวจี่ก็สร้างความชอบธรรมให้ชัยชนะของตัวเอง ด้วยมายาคติความอร่อยสูตรสำเร็จที่เข้าถึงมหาชนได้มากกว่า

ข้าวจี่จึงเปรียบเสมือนตัวละครที่เสพติดชัยชนะ จนไม่ได้สนใจความถูกต้องหรือความยุติธรรมใด พร้อมจะใช้ช่องโหว่ทุกมิติเขียนกติกาให้เข้าทางตัวเองได้เสมอ แล้วถามว่าเรารักตัวละครเช่นนี้ลงได้อย่างไร นี่นับเป็นความร้ายกาจของผู้เขียนการ์ตูนเรื่องนี้ นั่นคือพวกเขาใช้ความโรแมนติกต่อการประกอบวิชาชีพร้านอาหาร ตลบหลังมาเอาชนะใจคนอ่านได้ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมความสุขของคนกิน ไปจนถึงการใส่ความรักลงไปในการทำอาหาร ที่อาจลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ แต่ก็ดูหล่อใช่ไหมล่ะ?

ภายใต้เสียงหัวเราะที่เราลั่นออกมาเป็นระยะขณะอ่าน ‘เจ้าหนูข้าวจี่’ ได้สอดแทรกความจริงบางอย่างอันเกิดจากการนำเสนอวัฒนธรรมการกินอาหารของคนท้องถิ่น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ นั่นคือเราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ชนะใจผู้คนของข้าวจี่ ไม่ว่าจะหมายถึงตัวละครหรือเมนูอาหารก็ตาม—คือความเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน อันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างแท้จริง  

ภาพประกอบ

https://www.beartai.com/lifestyle/cartoon/128775

https://www.mebmarket.com/index.php?action=BookDetails&book_id=56141

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS