เลาะริมคลองชิมของอร่อยจากสำรับมุสลิมโบราณ ที่ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103

1,839 VIEWS
PIN

image alternate text
ชวนเดินเที่ยวตลาดฮาลาล (ไม่) ลับในกรุงเทพฯ ที่ชุมชนสวนหลวง 1

แม้จะมีภาพจำเป็นเมืองแห่งมนุษย์เงินเดือน แต่จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดอีกเมืองหนึ่ง เพราะมีประวัติศาสตร์มายาวนานแถมยังเกี่ยวพันกับการเมืองการปกครองโดยตรง อดีตของบางกอกหรือกรุงเทพฯ จึงรวมเอาคนสารพัดชาติพันธ์-วัฒนธรรม-ความเชื่อมาอยู่รวมกันได้อย่างงดงาม อย่างเช่นชุมชนมุสลิมโบราณที่เราจะขอชวนทุกคนมาเดินเล่นกันในวันนี้ค่ะ

ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103

ชุมชนที่ว่านี้คือ ชุมชนสวนหลวง 1 หรือ ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ซอยเล็กๆ ที่หลายคนนึกไม่ถึงว่ามีของดีซ่อนอยู่มาตั้งแต่ช่วงต้นของยุครัตนโกสินทร์

ย้อนกลับไปที่วิชาประวัติศาสตร์กันสักนิด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เหตุและปัจจัยแห่งสงครามส่งผลให้เกิดการกวาดต้อนชาวปัตตานีขึ้นมาราว 4,000 คน และจัดแจงให้จะจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วพระนคร ไม่ว่าจะเป็นย่านบ้านแขก ถนนตก บ้านอู่ ประตูน้ำ รวมถึงที่ตำบลสวนหลวง ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ซอยเจริญกรุง 103 ในปัจจุบัน 

วัตรปฏิบัติทางศาสนาถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับชาวมุสลิม เมื่อมีพี่น้องมุสลิมอยู่ที่ใด เราก็จะได้เห็นมัสยิดประจำชุมชนอยู่ที่นั่นเสมอ มัสยิดประจำชุมชนสวนหลวง 1 แห่งนี้มีชื่อว่า มัสยิดอัล-อะติ๊ก (ชื่อเดิม สุเหร่าสวนหลวง หรือ สุเหร่าเก่าสวนหลวง) ซึ่งเชื่อว่าก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ.2352 หากเทียบดูจากอายุมัสยิด ก็นับได้ว่าชุมชนมุสลิมแห่งนี้มีอายุมากกว่า 200 ปีแล้วค่ะ

ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103

แม้จะถูกกวาดต้อนมาแล้วกว่า 200 ปี แต่ชาวมุสลิมในชุมชนสวนหลวง 1 ยังคงรักษาสำรับอาหารโบราณไว้หลายเมนูทีเดียวค่ะ เรียกได้ว่าขนมโบราณที่แทบไม่เคยพบเคยเจอในชุมชนมุสลิมย่านอื่น เราก็ยังพอเจอได้ที่นี่ ที่สำคัญคือชุมชนได้ร่วมมือกันจัดตลาดนัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน ตั้งแผงขายกันเลียบคลองแบบเรียบง่าย กลายเป็นพิกัดสำหรับกินไปเที่ยวไปที่ไม่ต้องเดินทางออกต่างจังหวัด ไม่ต้องตีตั๋วลงใต้ ก็ได้ลิ้มรสของอร่อยตำรับมุสลิมโบราณจากปัตตานีกันได้ในกรุงเทพฯ เลย

เสน่ห์ของตลาดนัดที่มีเพียงเดือนละ 2 วันคือความแช่มชื่นของพ่อค้าแม่ขายทุกคน ที่เหมือนรอวันเปิดครัวทำสูตรเด็ดประจำตระกูลมาอวดแขกบ้านแขกเมืองมากกว่าที่จะตั้งหน้าตั้งตาขายของ ตลาดริมคลองแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยรอยยิ้มและบทสนทนาว่าด้วยรสมือประจำบ้าน สูตรที่ตกทอดมาจากรุ่นปู่ตาย่ายาย ในอัธยาศัยและการลดแลกแจกแถมนั้น เราสัมผัสได้ถึงความภูมิอกภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าคุณผู้อ่านจะเป็นชาวมุสลิมหรือไม่ก็ตาม รับรองว่าตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 จะเป็นโปรแกรมสุดสัปดาห์ที่น่าสนใจแน่นอนค่ะ เสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนหน้าลองหาเวลาไปเดินเล่นกันได้นะคะ 

ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103

และนี่คือสารพัดของกินเล่นกินจริงจากตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ที่เราได้ลองลิ้มชิมรสกันค่ะ อ้อ แนะนำว่าชวนเพื่อนไปหลายๆ คนนะคะ เพราะของน่าอร่อยมีเยอะมาก ถ้าไปคนเดียวมีหวังได้กินจนแน่นท้องแน่ๆ ค่ะ 😉

ขนมบูตู ขนมตำรับมุสลิมโบราณที่หากินได้ยากมาก กระทั่งว่าในภาคใต้เองก็ยังพบได้ไม่บ่อยนัก ทำจากแป้งข้าวเจ้าบดหยาบที่ต้องบดเองเท่านั้น นำมาใส่ในพิมพ์ เพิ่มรสหวานด้วยไส้น้ำตาลมะพร้าวแล้วนึ่งให้สุกทีละก้อน ตัวขนมบูตูจะไม่ได้ถูกอัดแน่นจนเป็นก้อน จึงไม่ได้รู้สึกกินยากหรือแน่นท้อง ซ้ำยังเป็นขนมที่เนื้อโปร่งเบา มีกลิ่นหอมอ่อนๆ จากใบเตยและข้าวสุก กินคู่กับมะพร้าวขูด เป็นรสชาติง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่หากินที่ไหนไม่ได้ เพราะฉะนั้นร้านขนมบูตูจะมีคิวยาวเหยียดตั้งแต่หัววันเลยค่ะ

ขนมบูตู

ขนมซูยี เมนูที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นขนมบ้านงานอย่างหนึ่งค่ะ เพราะชาวมุสลิมในหลายพื้นที่มักกวนขนมซูยีกินกันในช่วงเทศกาลทางศาสนาอย่างช่วงรอมฎอนและงานมงคล ทำโดยการกวนแป้งซูยี (Suji) หรือแป้งเซโมลิน่าเข้ากับนมสด แต่งกลิ่นรสด้วยเครื่องเทศ ผลไม้แห้ง และถั่ว ต่างกันไปตามรสมือของแต่ละบ้าน ได้ออกมาเป็นพุดดิ้งนุ่มเนียนหอมกลิ่นนม อร่อยจนต้องเดินกลับไปซื้อเพิ่มเลยค่ะ แนะนำมากๆ 

ขนมซูยี

ขนมอาปม ขนมจากแป้งหมักที่ดูอย่างไรก็น่าจะมีที่มาจาก Appam อย่างอินเดียใต้ ขนมอาปม (หรือขนมปม / ขนมปำ / ขนมอาโป้ง / ขนมอาแป) มีสูตร หน้าตา และส่วนผสมต่างออกไปตามแต่รสนิยมของชุมชนนั้นๆ อย่างขนมอาปมของชุมชนสวนหลวง 1 จะทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมข้าวหมาก ใส่ใช่เพิ่มเพื่อความนุ่ม อบในกระทะตั้งไฟแล้วครอบด้วยฝาดินเผาร้อนๆ อีกชั้นหนึ่ง ตัวแป้งจะมีรสเปรี้ยวอ่อนๆ และหอมกลิ่นหมัก เสิร์ฟคู่กับน้ำราดรสหวานหอมที่ทำจากกะทิ น้ำตาล และไข่ เป็น Appam อีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่แปลกตาแปลกลิ้นดีค่ะ

ขนมอาปม ขนมอาแป ขนมปม ขนมปำ

ร้านที่ขายขนมอาปมมีขนมและของทอดอื่นๆ เวียนขายไปในแต่ละเดือนด้วยนะคะ อย่างวันนี้ขายคู่กับ บาเยีย (ถั่วบดทอด) และ โปลี (มันสำปะหลังบดทอด) ชาวของทอดรับรองถูกใจแน่นอนค่ะ

บาเยีย โปลี

โรตีโรย ก็คือโรตียาลอของชาวสามจังหวัดฯ หรือโรตีจาลา (Roti Jala) ของชาวมาเลเซีย นั่นเองค่ะ แป้งโรตีจะผสมจากแป้ง ไข่ และนมหรือกะทิ ปรุงรสเค็มอ่อนๆ ด้วยเกลือเล็กน้อย ฉันเคยกินโรตีจาลาฉบับมาเลเซียที่เสิร์ฟมาพร้อมแกงแล้วก็นึกชอบในรสสัมผัสที่เป็นเส้นๆ จึงจำชื่อได้ดี ส่วนโรตีโรยที่นี่เสิร์ฟพร้อมกับขนมข้นหวานและน้ำตาลก็อร่อยไปอีกแบบ ที่สำคัญคือมายืนดูแม่ค้าโรยโรตีเพลินตาดีมากเลยค่ะ 

โรตีโรย โรตียาลอ โรตีจาลา

ขนมครกสิงคโปร์ แป้งสีเขียวที่จี่ให้สุกจนเหนียวหนึบในกระทะหลุมที่เรามักเรียกกันว่าขนมครกสิงคโปร์ ก็มีการสันนิษฐานว่าว่าอาจจะเป็นอิทธิพลจากขนมชวาอย่างขนมจอร้อ (Kue Cara) ซึ่งทำจากแป้งสาลีหรืออาจจะเป็นขนมเซอราบี (Serabi) ซึ่งทำจากแป้งข้าวเจ้า เพราะทั้งขนมจอร้อและขนมเซอราบีต่างก็มีสีเขียวสวยจากใบเตยเช่นกัน แต่ขนมครกสิงคโปร์นั้นทำมาจากแป้งมันสำปะหลังซึ่งในอดีตต้องนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ จึงมีเนื้อสัมผัสเหนียวนุ่มเฉพาะตัว หากสังเกตให้ดีก็จะพบว่าขนมครกสิงคโปร์มักมีเจ้าเก่าเจ้าดั้งเดิมอยู่ในชุมชนมุสลิมหลายต่อหลายร้าน

ขนมครกสิงคโปร์

ขนมดอกโดน หรือขนมดอกกระโดน เป็นขนมแป้งจี่อีกอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยในชุมชนคนปักษ์ใต้ และถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า กระทะของขนมดอกโดนกับกระทะของขนมครกสิงคโปร์นั้นเหมือนกันแทบจะเป็นฝาแฝด ผิดกันแค่ว่าขนมดอกโดนทำมาจากแป้งข้าวเจ้า ไข่ และน้ำตาล และจะเทจนเต็มพิมพ์ เสิร์ฟกันเป็นวงใหญ่ๆ ไม่ได้แคะออกมาทีละฝาเหมือนขนมครกสิงคโปร์

แม่ค้าขนมดอกโดนก็จะโชว์ฝีมือในการพลิกขนมแบบลอยฟ้ากลับไปมาจนสุกหอมทั้งสองฝั่ง ก่อนจะนำขนมออกจากกระทะ วางมะพร้าวขูดเส้นไว้เป็นไส้ พับครึ่งแล้วเสิร์ฟ ฉันเคยกินขนมดอกโดนครั้งหนึ่งตอนไปเยือนดินแดนสามจังหวัด พอมาเห็นขนมดอกโดนในกรุงเทพเข้าก็ตื่นเต้นทีเดียว

ขนมดอกโดน

น้ำลูกเกด ปากะศิลป์อย่างชาวมุสลิมมีการใช้ผลไม้แห้งอย่างลูกเกดในหลายเมนูจนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง แถมยังปรากฎในคัมภีร์ทางศาสนาว่าถูกใช้เป็นซะกาตฟิฏเราะฮ์ในช่วงศีลอดอีกด้วย  แต่ถึงอย่างนั้นเมนูน้ำลูกเกดสีเหลืองสวยอย่างนี้ ก็เป็นเมนูที่ฉันเพิ่งจะเคยเจอเป็นครั้งแรกที่ตลาดนี้แหละค่ะ รสชาติก็เปรี้ยวหวาน มีกลิ่นลูกเกดจางๆ ชนิดที่ว่าแทบเดาไม่ออก แต่พอได้กินตอนอากาศร้อนๆ แบบนี้ก็ชื่นใจดีไม่หยอกเลยค่ะ

น้ำลูกเกด

รอยะห์ ผักและผลไม้หั่นชิ้นคลุกเครื่องที่หลายคนให้ฉายาว่า ส้มตำมาเลฯ จากชื่อก็เดาได้ไม่ยากว่าน่าจะเป็นสำรับเดียวกับ Rojak ของฝั่งมลายู หรือ Rujak ของชาวอินโดฯ และปีนัง นั่นเอง เป็นผักผลไม้กรอบๆ อย่างมันแกว แตงกวา แครอท มันเทศ และมะละกอดิบ ฝานเป็นชิ้นบาง ขายคู่กับน้ำปรุงที่ทำจากกะปิ มันกุ้ง น้ำตาล น้ำมะขามเปียก และเกลือ ความกรุบกรอบและกลิ่นกะปิกับกุ้งแห้งชวนให้นึกถึงผลไม้น้ำปลาหวานอย่างไรอย่างนั้น

รอยะห์ ส้มตำมาเล

ขาประจำตลาดริมคลองฯ น่าจะคุ้นภาพคุณยายนั่ง ‘ไถ’ หรือปรุงรอยะห์กันสดๆ ด้วยถาดดินเผาและสากเหง้าไผ่ที่แสนจะเป็นเอกลักษณ์ ก่อนจะตักรอยะห์ใส่กระทงให้ลูกค้าหิ้วไปกินระหว่างทาง น่าเสียดายที่ปัจจุบันคุณยายไม่ได้มานั่งประจำที่แล้วด้วยปัญหาทางสุขภาพ อาจจะมาบ้างไม่มาบ้างแล้วแต่กำลังกายเอื้อ แต่กระนั้นลูกค้าขาประจำก็ยังมารอซื้ออยู่ทุกครั้งที่มีตลาด ตอนนี้รอยะห์ที่ตลาดริมคลองฯ เลยมาในรูปแบบแยกผักแยกน้ำไว้ให้ไปคลุกกันเองที่บ้าน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังขายหมดเร็วมากค่ะ เชื่อแล้วว่าแฟนคลับรอยะห์มีเยอะจริงๆ

รอยะห์ ส้มตำมาเล

สมองวัวทอดขมิ้น ฉันรู้จักเมนูนี้มาตอนที่ตระเวนหาเมนูสมองกินในกรุงเทพค่ะ แล้วก็มาเจอกับร้านนี้ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ฉันรู้จักตลาดริมคลองแห่งนี้ด้วย ว่ากันตามหลักกายภาพแล้วสมองก็คือก้อนไขมันนิ่มๆ ก้อนหนึ่งค่ะ แต่ที่ร้านนี้จะทอดด้วยไฟอ่อนนานๆ ทำให้ส่วนนอกแห้งลงเลยมีเท็กซ์เจอร์ที่เคี้ยวเพลินกว่าสมองที่ปรุงแบบอื่น เรียกว่าต่อให้เป็นมือใหม่หัดกินสมองก็ยังกินได้ไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ

สมองวัวทอดมักจะประจำอยู่แถวๆ มัสยิดอัล-อะดึ๊ก เป็นร้านรถเข็นเล็กๆ แต่รับรองว่าหาไม่ยากเพราะทั้งตลาดมีอยู่เจ้าเดียว สิ่งที่ยากกว่าการหาร้านให้เจอคือการมาจองคิวสมองทอดให้ทันต่างหาก เพราะที่ร้านมีลูกค้าประจำมาออร์เดอร์ไว้แต่เช้าแทบทุกนัด 

สมองวัวทอดขมิ้น

นอกจากนี้ เมนูที่ฉันคาดหวังว่าจะต้องเจอในชุมชนมุสลิมอื่นๆ ก็มีครบถ้วนไม่ผิดหวัง แถยยังรสชาติดีมากๆ เสียด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวมันแกง ก๋วยเตี๋ยวแกง ก็เข้มข้นสมศักศรีมาก ส่วน บรียานี ก็ใช้ข้าวบาสมาติเม็ดยาวร่วนสวย กลิ่นหอม เนื้อแกะนุ่มล่อนออกจากกระดูก สายข้าวหมกต้องถูกใจแน่นอน

ข้าวมันแกง ข้าวหมก

กระทั่ง ข้าวยำ เมนูมาตรฐานที่ฉันไม่ได้คิดว่าจะน่าตื่นเต้นก็ยังทำให้ประทับใจได้มากๆ เพราะมันเป็นข้าวยำที่ละเมียดละไมสุดๆ ข้าวมีทั้งข้าวหุงและข้าวพอง (ข้าวตังทอด) ผักสมุนไพรทุกอย่างก็ซอยมาละเอียดยิบ เคี้ยวง่ายไม่รุงรังในปาก ถั่วงอกเพาะเองเพิ่งมีหางแค่เล็กๆ สั้นๆ ยังคงความมันและกลิ่นรสถั่วงอกได้ครบถ้วน เป็นถั่วงอกในฝ้นที่ไม่ค่อยเห็นใครใช้กันมากนักในปัจจุบัน มีรสเปรี้ยวสดชื่นจากส้มโอแกะ มีกลิ่นปลาจากน้ำบูดูและเครื่องป่น เป็นข้าวยำที่อร่อยที่สุดในชีวิตอีกจานหนึ่งเลย

ข้าวยำ

สุดท้ายปิดท้ายด้วย โรตีมะตะบะ โรตีแกง และ ชาใต้ จากร้านโรตีเตฮ์ตาเระ ศูนย์พบปะจิบน้ำชาประจำซอย ถ้าวันที่มีตลาดร้านจะคึกคักเป็นพิเศษ แต่ใครอยากเอ็นจอยบรรยากาศเงียบๆ แวะมาวันธรรมดาได้ เพราะร้านโรตีเตฮ์ตาเระเปิดให้บริการตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงบ่ายคล้อยทุกวันค่ะ

โรตีเตฮ์ตาเระ
เตฮ์ตาเระ

ป.ล. ตลาดเริ่มตั้งแต่ 08.00 เป็นต้นไป แต่หลายร้านเริ่มขายของหมดตั้งแต่ 10.00 แล้วค่ะ ถ้าใครอยากได้ชิมอาหารแบบครบถ้วนควรรีบไปแต่เช้านะคะ

ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103
เวลาเปิด-ปิด : ทุกเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน
Google Map : https://maps.app.goo.gl/E5RQMzXquDdoFpQy5
Facebook : ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS