รู้จัก ‘นม’ ให้กระจ่าง

8,494 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
กระบวนการผลิตนมวัวที่หลากหลาย ส่งผลต่อการเก็บรักษาและคุณสมบัติที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มคน...

โปรตีนจาก ‘นม’ คือสารอาหารที่ร่างกายเราคุ้นชินกันมาตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก และถัดจากนมแม่ กระเพาะอาหารของเราก็ยังคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์นมนานาชนิดจนเรียกได้ว่าเป็นอาหารหลัก ทั้งนมจืด นมหวาน นมเปรี้ยว ล้วนเป็นชื่อที่พูดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็นึกถึงกลิ่นรสได้ในทันที

แต่! ภายใต้ความสนิทชิดเชื้อกับนมกลับมีรายละเอียดอีกหลายประการที่เรามองข้ามไปเพราะความเคยชิน ด้วยแท้จริงแล้วนม โดยเฉพาะนมที่ผ่านกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมนั้น มีเรื่องชวนรู้และควรรู้อีกมากให้ต้องทำความเข้าใจ เพื่อการดื่มนมอย่างสบายท้องและสบายใจในคราวหน้า

เหมือนกับเรื่องราวของนมหลากชนิดต่อไปนี้ ที่เราอยากชวนไปทำความรู้จัก

นมสด / นมโค 100 % / Whole Milk

เหมาะสำหรับ: บุคคลทั่วไป ที่สภาพร่างกายปกติ ยกเว้นทารก

ถือเป็นนมชนิดเบสิกที่สุดที่วางขายอยู่ในท้องตลาด ด้วย ‘นมสด’ หรือในวงเล็บภาษาอังกฤษว่า Whole Milk นั้นคือนมชนิดที่แทบไม่ผ่านกระบวนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางเคมีใดๆ เลย นอกจากผ่านรังสีฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยบนฉลากของนมชนิดนี้มักระบุว่าเป็นนมโคแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ มีโภชนาการเทียบเคียงได้กับน้ำนมสดจากเต้าแม่โค อันประกอบด้วยไขมัน 3 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 3 เปอร์เซ็นต์ และเกลือแร่ราว 1 เปอร์เซ็นต์ ข้อดีของนมชนิดนี้คือ ถึงมันจะอุดมด้วยไขมันและแคเลอรีสูงกว่านมชนิดอื่นๆ ทว่าก็ประกอบด้วยสารอาหารมากที่สุดด้วยเช่นกัน เหมาะสำหรับเด็กวัยกำลังโตที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องโรคอ้วน เป็นนมชนิดที่ช่วยบำรุงกระดูกได้ดีงาม

นมอายุยืน / Long-life Milk

เหมาะสำหรับ: บุคคลทั่วไป ที่สภาพร่างกายปกติ ยกเว้นทารก

นมชนิดถัดมาที่เราคุ้นหูกันดีก็คือเหล่า ‘นมอายุยืน’ ที่แบ่งประเภทด้วยวิธีการฆ่าเชื้อแบบต่างๆ ซึ่งทำให้อายุขัยของนมแตกต่างกันออกไป ชนิดแรกที่เราพบกันบ่อยตามชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตก็คือ ‘นมพาสเจอร์ไรซ์’ ที่ผ่านการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยความร้อนต่ำ เน้นกำจัด ‘เชื้อที่ทำให้เกิดโรค’ เชื้อที่ทำให้นมบูดยังอยู่แต่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงเก็บรักษาได้ในระยะสั้น และควรเก็บในตู้เย็น

ส่วนนมชนิดที่สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องปกติได้นานถึงราว 6 เดือนนั้นคือนมยูเอชที (ultra-high temperature: UHT) ที่ใช้ความร้อนสูงมากในการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ทั้งที่ทำให้เกิดโรคและที่ทำให้นมบูด จึงสามารถเก็บได้นานแม้ไม่ต้องแช่เย็น ในข้อแม้ว่ากล่องนมต้องยังปิดสนิทเท่านั้นนะ

ส่วนนมอายุยืนชนิดสุดท้ายคือเหล่านมกระป๋องจิ๋วที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงอย่าง ‘นมสเตอริไลซ์’ ด้วยระยะเวลานาน จึงสามารถเก็บรักษาได้ถึงราว 1 ปี (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรอ่านวันหมดอายุประกอบด้วย) โดยเอกลักษณ์อีกข้อของนมชนิดนี้คือมักมีกลิ่นไหม้อ่อนๆ เพราะผ่านความร้อนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่านมประเภทอื่นๆ ถ้าใครรักนมกลิ่นรสลึกซึ้งน่าจะติดตรึงในรสชาติของมันได้ไม่ยาก

นมไขมันต่ำ / Slim Milk

เหมาะสำหรับ: บุคคลที่กำลังควบคุมน้ำหนัก

สำหรับใครที่รักษาหุ่นแต่ยังต้องการดื่มนมเพื่อเสริมสร้างร่างกาย หรือกระทั่งใช้ปรุงอาหารจานอร่อย เราแนะนำ ‘นมไขมันต่ำ’ นมโคที่ผ่านการดึงเอาไขมันออกบางส่วน จึงมีรสบางใสกว่านมแบบ Whole Milk ข้อดีคือแคเลอรีน้อยกว่าหลายเท่า ทว่าก็ตามมาพร้อมข้อเสียที่ว่า วิตามินที่ละลายในไขมัน อาทิ A, D, E, K ก็ลดลงด้วยเช่นกัน นมชนิดนี้จึงอาจไม่เหมาะกับเด็กวัยกำลังโต หรือผู้ต้องการสารอาหารจากนมเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย

นมปลอดแลคโตส / Lactose-Free Milk

เหมาะสำหรับ: บุคคลที่ระบบย่อยไม่ดี หรือบุคคลที่ภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ

บนชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตปัจจุบัน นมอีกประเภทที่มาแรงไม่แพ้นมไขมันต่ำก็คือ ‘นมปลอดแลคโตส’ (Lactose-free) แต่รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วมันดีอย่างไร? ประโยชน์ใหญ่ๆ ของนมประเภทนี้นั้นหลักๆ ตกอยู่กับผู้ที่ระบบย่อยไม่ค่อยดี หรือมีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส อาทิ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เมื่อดื่มนมวัว เนื่องจากในนมวัวนั้นมีน้ำตาลแลคโตสผสมอยู่สูง ทางผู้ผลิตจึงคิดค้นวิธีการลดน้ำตาลแลคโตสด้วยการเติม ‘เอนไซน์แลคเตส’ ลงไปในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยเปลี่ยนน้ำตาลแลคโตสให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลกาแลคโตส ซึ่งมีโมเลกุลเล็กลง ร่างกายจึงย่อยได้ง่ายกว่าเดิม ทว่าคุณค่าทางสารอาหารยังคงอยู่ครบถ้วน

นมดัดแปลงสำหรับทารก / Milk for infant

เหมาะสำหรับ: ทารก, บุคคลที่ระบบย่อยไม่ดี

ใครว่าทารกกินนมอะไรก็ได้ ไม่จริงเลย! นอกจากนมแม่แล้ว นมที่เหมาะสมกับระบบย่อยของทารกควรเป็นนมที่ถูกดัดแปลงให้มีปริมาณโปรตีนใกล้เคียงกับน้ำนมแม่ เนื่องจากทารกยังไม่สามารถย่อยโปรตีนได้ในปริมาณมากเท่ากับในนมวัวหรือสัตว์อื่น ถ้าหากปล่อยให้ทารกบริโภคนมแบบเดียวกับผู้ใหญ่ ผลคือเด็กอาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ บางรายอาจถึงขั้นแพ้นมเลยทีเดียว นมเฉพาะทางที่ลดทอนปริมาณโปรตีนให้เหมาะสมกับช่วงวัยจึงเหมาะสมที่สุดสำหรับพัฒนาการด้านร่างกายของทารก 

อ้างอิง:

– รู้จักนมชนิดต่างๆ โดย รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล (สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล): www.inmu.mahidol.ac.th/download.php?f=RDO02001.pdf 

–  https://www.healthyeating.org/Milk-Dairy/Dairy-Facts/Types-of-Milk

https://milklife.com/articles/nutrition/types-of-dairy-milk

https://health.usnews.com/wellness/food/articles/which-type-of-milk-is-healthiest

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS