‘เอกิเบน’ ข้าวกล่องรถไฟในดาบพิฆาตอสูร วัฒนธรรมเบนโตะสุดเอกลักษณ์

14,535 VIEWS
PIN

image alternate text
ทำความรู้จักเอกิเบนหรือข้าวกล่องรถไฟที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น

พูดถึงมังงะและอนิเมะที่ดังสุดๆ ในยุคนี้ แน่นอนว่าต้องมีเรื่อง Demon Slayer: Kimetsu no Yaiba หรือ ดาบพิฆาตอสูร เพราะสร้างปรากฎการณ์มากมายตั้งแต่ตอนเป็นมังงะ และจนกระทั่งกลายเป็นอนิเมะในตอนนี้ ใครที่วนลูปอยู่กับเหล่าเสาหลักและอสูรข้างขึ้น เห็นหัวข้อเรื่องแล้วคงยิ้ม เพราะนึกออกทันทีว่าข้าวกล่องรถไฟเกี่ยวอะไรกับอนิเมะที่ว่าด้วยการต่อสู้กับอสูรเพื่อปกป้องผู้คน ส่วนใครที่ไม่รู้ มา มาฟังไปพร้อมๆ กันค่ะ

ดาบพิฆาตอสูรว่าด้วยเรื่องราวของคามาโดะ ทันจิโร่ เด็กหนุ่มยากจนมีอาชีพเผาถ่านขาย วันหนึ่งครอบครัวของเขาถูกอสูรฆ่าตายจนหมด ยกเว้นเนซึโกะ-น้องสาวที่ไม่ตายแต่ก็กลายเป็นอสูร และการเดินทางในฐานะนักล่าอสูรของทันจิโร่ก็เริ่มต้นขึ้นหลังถูกกิยู-เสาหลักวารีแห่งหน่วยพิฆาตอสูรส่งตัวไปฝึก การพัฒนาตัวเองอย่างไม่ย่อท้อ จิตใจที่เข้มแข็ง ความมุ่งมั่น ความคิดดีทำดี ความกล้าหาญ ความเสียสละ คุณธรรม ความรักในเพื่อนพ้อง-พี่น้อง เหล่านี้แทรกซึมอยู่ในทุกเส้นเรื่อง และทำให้มังงะเรื่องนี้จับจิตจับใจทั้งคนอ่านและคนดู เรียกว่าดู 10 ตอน น้ำตาไหล 8 ตอนไม่เกินจริง

rengoku
rengoku
rengoku

เมื่อเป็นเรื่องของการต่อสู้ อาหารการกินในเรื่องก็แทบจะไม่ได้พูดถึง ยกเว้นของกินเพียงอย่างเดียวที่ปรากฎในเรื่อง และอิมแพ็คถึงขั้นถ้านึกถึง เรนโงคุ – เสาหลักเพลิง สิ่งแรกๆ ที่แฟนดาบพิฆาตอสูรจะนึกถึงก็คือภาพเรนโงคุที่กำลังกินข้าวกล่องรถไฟอย่างเอร็ดอร่อยถึงขั้นพูดคำว่า “อร่อยๆๆๆๆๆ” ไม่หยุดปากแบบไม่สนใจโลกกันเลยทีเดียว ซีนนี้ปรากฎอยู่ในช่วงต้นของภาคศึกรถไฟสู่นิรันดร์ ที่เรนโงคุและทันจิโร่กับเพื่อนๆ ต้องไปปราบอสูรบนรถไฟ

เราจะมาเล่าถึงข้าวกล่องแสนอร่อยของเรนโงคุเหรอคะ เปล่าค่ะ เพราะทั้งในมังงะและอนิเมะไม่ได้ขยายความอะไรไปมากกว่านั้น ที่จะเล่าก็คือเรื่องราวของข้าวกล่องรถไฟญี่ปุ่นว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง มีความเป็นมาอย่างไร และมีความพิเศษตรงไหนต่างหาก

ใครที่เคยเดินทางด้วยรถไฟในประเทศญี่ปุ่น คิดว่าน่าจะคุ้นเคยกับข้าวกล่องรถไฟหรือ ‘เอกิเบน’ (Ekiben) กันดี เพราะเอกิเบนจะมีขายบนขบวนรถไฟหรือตามสถานีรถไฟในประเทศญี่ปุ่น ตัวกล่องข้าวเอกิเบนส่วนมากทำจากไม้ พลาสติก หรือบางร้านอาจทำแพกเกจสวยหรูด้วยเซรามิกก็ ในกล่องจะประกอบด้วยอาหาร พร้อมช้อนหรือตะเกียบ เพื่อให้สะดวกแก่การกิน ว่าไปก็คล้ายๆ กับที่รถไฟบ้านเราต้องมีขายข้าวเหนียวไก่ย่างตามสถานีอยู่นะคะ แต่ที่ญี่ปุ่น ด้วยความที่เขามีวัฒนธรรมเรื่องอาหารกล่องอยู่แต่เดิม พอมีการเดินทางด้วยรถไฟก็เลยมีการทำข้าวกล่องสำหรับขายบนรถไฟตามไปด้วย

ที่มาของชื่อ เอกิเบน

เอกิเบนเป็นการนำคำศัพท์ 2 คำมารวมกันคือคำว่า เอกิ (Eki) ที่แปลว่าสถานีรถไฟ และ เบน (ben) ที่ย่อมาจากคำว่า เบนโตะ (Bento) หมายถึงอาหารกล่อง เพราะเวลาเดินทางผู้คนก็มักจะห่อข้าวกล่องไปกินระหว่างทาง ถ้าไม่มีเวลาก็ไปหาซื้อตามร้านน้ำชา วัฒนธรรมการกินอาหารกล่องของญี่ปุ่นนี่เองทำให้เมื่อมีกิจการรถไฟในประเทศญี่ปุ่น ก็ส่งผลให้มีเอกิเบนเกิดขึ้นตามไปด้วย เชื่อกันว่าเอกิเบนเริ่มวางขายครั้งแรกที่สถานีอุทสึโนะมิยะ ในปีค.ศ.1885 เป็นสถานีที่ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท Nippon Railway และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับสถานีอูเอโนะในกรุงโตเกียว

ช่วงแรกเอกิเบนมาแบบง่ายๆ ในรูปแบบของข้าวปั้นโอนิกิริห่อด้วยใบไผ่อ่อน แต่แล้วแนวคิดที่จะทำเอกิเบนขายตามสถานีรถไฟก็แพร่หลายไปตามเมืองต่างๆ จนกระทั่งปีค.ศ. 1888 ข้าวกล่องรถไฟที่ถือเป็นมาตรฐานของเอกิเบนในยุคปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยข้าวและกับข้าวอีกสองสามอย่างก็ออกวางขายที่สถานีฮิเมจิเป็นที่แรก และพอถึงช่วงศตวรรษที่ 20 สถานีรถไฟต่างๆ ก็เริ่มขายเอกิเบนในแบบของตัวเองที่สร้างความน่าสนใจมากกว่าแค่เบนโตะทั่วไป เริ่มมีการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ทำเอกิเบนเพื่อสร้างจุดขาย เลยทำให้เอกิเบนบางอย่างสามารถหาซื้อได้แค่บางสถานีเท่านั้น

rengoku

หลังสงครามโลกครั้งที่สองเอกิเบนได้รับความนิยมมากขึ้นจากมังงะเรื่อง ‘ตะลอนชิมข้าวกล่องรถไฟ (Ekiben Hitori Tabi)’ ที่พูดถึงตัวเอกที่เป็นเจ้าของร้านข้าวกล่องผู้หลงใหลในเอกิเบนและรถไฟ ได้รับของขวัญแต่งงานครบรอบ 10 ปีจากภรรยา เป็นการเดินทางบนรถไฟตู้นอนไปคิวชูและช่วงเวลาพักร้อนที่สามารถเดินทางด้วยรถไฟไปตามที่ต่างๆ ก็เลยตระเวนชิมข้าวกล่องรถไฟเพื่อนำมาปรับปรุงข้าวกล่องที่ร้านของตัวเอง มังงะเรื่องนี้บรรยายถึงเสน่ห์ของการนั่งรถไฟและข้าวกล่องรถไฟของแต่ละสถานีออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้กระแสความนิยมการกินข้าวกล่องรถไฟเพิ่มขึ้นเยอะมาก

เอกิเบนสุดเอกลักษณ์ที่ควรลอง

ปัจจุบันข้าวกล่องรถไฟมีการแข่งขันและจัดอันดับกันอย่างจริงจัง โดยวัดทั้งจากความคุ้มค่า รสชาติ ความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ เราเลยเอาเอกิเบนที่มีเอกลักษณ์ควรค่าแก่การชิมมาฝาก แม้จะไม่รู้ว่าอร่อยเท่าข้าวกล่องรถไฟของเรนโงคุหรือเปล่า แต่ก็ควรแก่การลองถ้ามีโอกาส

rengoku

อาหารท้องถิ่น สถานีไมบาระ

ในกล่องอัดแน่นไปด้วยอาหารประจำท้องถิ่น ตั้งแต่ชนิดของข้าวที่จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ผักป่าในฤดูใบไม้ผลิ ถั่วเขียวในฤดูร้อน เกาลัดในฤดูใบไม้ร่วงถั่วดำในฤดูหนาว ความหลากหลายของวัตถุดิบที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาลนี้เอง ทำให้ข้าวกล่องรถไฟนี้วางขายมายาวนานถึง 20 ปีแล้ว

ซูชิปลาทรายแดง สถานีวากายามะ

ใครชอบซูชิรับรองจะถูกปากกับข้าวญี่ปุ่นหอมกรุ่นคลุกเคล้าน้ำส้มสายชูได้รสกลมกล่อม ท็อปด้วยปลาทรายชิ้นใหญ่ ในเอกิเบนซูชิปลาทรายแดงที่เป็นของดีของสถานีวากายามะ โดดเด่นสุดๆ ในเรื่องความสดเพราะทำกันแบบวันต่อวัน แถมยังมาในแพคเกจแสนมีเสน่ห์ในแบบญี่ปุ่น

ไวน์โกเบ สถานีชิน-โกเบ

ข้าวกล่องรถไฟที่มีไวน์เคียงคู่ไปด้วยมีหลายยี่ห้อ แต่ที่โกเบเราจะได้ไวน์คุณภาพดีอย่างโกเบชาร์ดอนเนย์ขวดขนาดพอดีๆ มาพร้อมเนื้อวากิว ข้าวหมกสมุนไพร มันฝรั่ง และอีกสารพัดสิ่งที่ล้วนคิดมาแล่วว่าจะช่วยชูรสชาติของไวน์ ทำให้การนั่งกินข้าวกล่องรถไฟจะหรูหราอย่างยกระดับ

ซูชิห่อใบพลับ สถานีนารา

แถบเกียวโต นารา มีเมนูอาหารเฉพาะถิ่นอย่างเกียวซูชิในแบบเกียวโต หรือซูชิที่ห่อด้วยใบไม้เป็นเอกลักษณ์ ถ้าไม่มีเวลาแวะไปเยือนร้านท้องถิ่น สามารถสัมผัสรสชาติได้ด้วยข้าวกล่องรถไฟซูชิห่อใบพลับที่สถานีนารา มาในแบบดั้งเดิมตั้งแต่แพคเกจ ไปจนถึงข้าวญี่ปุ่นหอมนุ่มเคล้าเครื่องปรุงสูตรเก่าแก่ พร้อมปลาซาบะ แซลมอน ห่อเป็นสี่เหลี่ยมด้วยใบพลับ ชิ้นใหญ่อร่อยเต็มปากเต็มคำ

ชุดปิ่นโตไม้สองชั้น สถานีคานาซาวะ

ชอบกินหลายอย่างต้องกล่องนี้ เพราะจัดมาให้เต็มกล่องไม่พอ มีสองชั้นจุกๆ ไปอีก เรียกว่าเป็นข้าวกล่องรถไฟที่รวมแต่ของอร่อย ทั้งหมู กุ้ง ไข่หวาน ปลา ลูกชิ้น เกี๊ยวซ่า ประมาณว่าชอบความหลากหลายบวกชอบลองเยอะๆ แต่มาในปริมาณกำลังดีพร้อมกล่องสีไม้ในสไตล์ดั้งเดิม

ข้าวหม้อดินหน้าปลาหมึก สถานีโอซาก้า

สวยโดดเด่นมาแต่ไกลด้วยภาชนะบรรจุที่ดูๆ ไปก็คล้ายโอ่งจิ๋วบ้านเราอยู่นะ แต่จริงๆ แล้วมันถูกทำเลียนแบบอุปกรณ์จับปลาหมึกในสมัยโบราณต่างหาก ภายในโอ่งอัดแน่นด้วยข้าว ปลาไหลทะเล ปลาหมึก และผักนานาชนิด ฟีลคล้ายข้าวอบหม้อดิน แถมรสชาติยังกลมกล่อมออกเค็มนิด ๆ น่าจะถูกใจชาวไทย

ภาพ: https://travel.watch.impress.co.jp/img/trw/list/1158/664/01.jpg

https://ekiben.gr.jp/photo/209b.jpg

https://joylunch.deli-ben.net/wp-content/uploads/2020/10/b7f692fe9aa6516f3cbd215adc7e9199.jpg

https://www.marumura.com/wp-content/uploads/2020/03/ekiben8.jpg

https://item-shopping.c.yimg.jp/i/n/w-sui-y-s_suzume-6in

https://kfm.sakura.ne.jp/piceb/25/kohoku154zoom.jpg

https://kfm.sakura.ne.jp/piceb/32/tsuwanosansai3zoom.jpg

https://www.kolpaper.com/wp-content/uploads/2021/04/Kyojuro-Rengoku-Wallpapers.jpg

ที่มา: https://www.marumura.com/ekiben/

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS