Doc Club & Pub พื้นที่ทางเลือกของหนัง อาหาร และบทสนทนา

2,360 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
อาหารของ Doc Club & Pub กับคำถามตั้งต้นว่า ถ้าโรงหนังไม่เสิร์ฟป๊อปคอร์น จะเสิร์ฟอะไรดี?

คอหนังสารคดีคนไทยน่าจะคุ้นชื่อ Documentary Club. เป็นอย่างดี เพราะนับว่าเป็นผู้จัดฉายหนังสารคดีที่ขยันคัดสรรสารคดีดีๆ จากรอบโลกมาฉายทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ในโรงภาพยนตร์อยู่ต่อเนื่อง ช่วงเวลานับจากนี้ Documentary Club จะยิ่งน่าตื่นต้นมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อ Doc Club & Pub ได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่ (อีกครั้ง) ในพื้นที่ของโรงภาพยนตร์อิสระขนาด 50 ที่นั่ง พร้อมบาร์ขนาดกะทัดรัดที่รีโนเวทใหม่เชื้อเชิญให้มานั่ง hang out กันแบบสบายๆ

บ้านหลังใหม่อย่างเป็นทางการของ Doc Club & Pub. ก็ไม่ใช่ที่อื่นไกลที่ไหน นอกเสียจากว่ามันคือพื้นที่เดิมของ Bangkok Screening Room โรงภาพยนตร์อิสระขวัญใจชาวกรุงเทพฯ บนชั้น 2 ของตึก Woof Pack ศาลาแดงซอย 1 นั่นเอง

จากการส่งไม้ต่อครั้งนี้ Doc Club & Pub. ถือโอกาสยกเครื่องโรงภาพยนตร์ด้านในให้คมชัดยิ่งขึ้นทั้งภาพและเสียง ส่วนพื้นที่ด้านนอกก็ปรับแต่งให้ต้อนรับคนรักหนังสารคดีให้ได้มาใช้เวลาร่วมกันทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เปิดพื้นที่ให้โล่งและดูสบายตา ในขณะเดียวกันยามค่ำคืนก็เป็นบาร์เล็กกลางกรุงสำหรับนั่งรอรอบหนังฉาย และสำหรับถกเถียงแลกเปลี่ยนไอเดียกันเมื่อดูหนังจบ แน่นอนว่าที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเมนูอาหารที่จะเติมเต็มให้พื้นที่แห่งนี้อิ่มอร่อยยิ่งขึ้น

ในวาระที่โรงหนังกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติ KRUA.CO จึงเข้าไปคุยกับ สุภาพ หริมเทพาธิป หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Doc Club & Pub. ว่าด้วยเรื่องการเปิดพื้นที่ใหม่อย่างเป็นทางการ และเรื่องเมนูอาหารซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของโรงภาพยนต์อิสระเล็กๆ แห่งนี้

รูปโฉมใหม่ในพื้นที่เดิม

KRUA.CO: เป็นมาอย่างไรถึงได้เกิด Doc Club & Pub ขึ้นในพื้นที่นี้

Doc Club & Pub.: เท้าความก่อนว่า BKKSR เขามาทำโรงหนังแบบนี้ตั้งแต่แรก แล้วช่วงโควิดที่ผ่านมาก็เหมือนจะเลิก Doc club ที่เป็นคู่ค้า แล้วก็เคยทำ Doc club theater ที่ Warehouse 30 แล้วก็เลิกไป ก็ยังสนใจจะทำพื้นที่ฉายหนังแบบนี้อีก พอเขาจะเลิกเขาก็อยากหาคนมาสานต่อ ก็คุยกัน เป็นที่มาของการมาทำ มาปรับปรุงพื้นที่

ที่เดิมก็น่าจะทำไว้เยอะเหมือนกัน เพราะเดิมน่าจะเป็นอาคารที่มีแต่โครงสร้าง ทีม BKKSR มารับพื้นที่ที่มีแต่โครงสร้าง ให้เป็นพื้นที่ที่ฉายหนังได้ มีพื้นที่สำหรับนั่งรอ ของเราเป็นแค่การปรับสภาพแวดล้อมให้ตอบโจทย์ที่คิดไว้ คือเป็นพื้นที่ฉายหนังที่เราอยากเห็น

คนที่ออกแบบพื้นที่ก็คือ all (zone) คือคนที่ทำใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum จ.เชียงใหม่) ซึ่งบังเอิญว่าเขาเป็นรุ่นพี่ของธิดา (ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ – ผู้ร่วมก่อตั้ง) เราก็คุยกันอยู่เสมอว่าอยากทำโรงหนัง เขาก็บอกว่าเอาสิ เดี๋ยวช่วย ซึ่งเป็นดีไซน์ที่เหนือความคาดหมายเรามาก

พื้นที่ข้างนอกเราก็ปรับใหม่ เมื่อก่อนเข้าประตู้มาปุ๊บ จะมีโซฟาที่ติดอยู่กับผนังโรงด้านหนึ่ง เวลาจะเข้าไปเราก็ต้องเบียดตัวไประหว่างเสา ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามาแล้วเหมือนเจอด่านน่ะ มันเข้ายาก พอคนซื้อบัตรปุ๊บเขาก็เลือกที่จะไปอยู่ข้างนอก แต่เราอยากได้พื้นที่ที่มันดู welcome มากขึ้น ไม่อยากให้มีใครมานั่งแล้วกลายเป็นด่านที่ต้องฝ่ามา แต่ก็เข้าใจว่าการออกแบบเดิมเนี่ยพื้นที่มันเล็ก เขาก็อยากให้คนมีพื้นที่นั่งให้ได้มากที่สุด แต่เราเป็น user มาก่อน ก็เลยจัดการง่ายกว่า

สองก็คือพื้นที่เดิมมันมืด กลางวันมานั่งทำงานก็อาจจะง่วงมากกว่าได้งาน กับเราอยากได้ชั้นหนังสือด้วย มันมีพื้นที่ที่เคยทำหน้าที่เป็นแหล่งหนังสือดีๆ ที่แพง หรือไม่มีอยู่ในตลาด แต่พอเขามีกิจกรรมน้อยลง เราก็ยังอยากให้มีพื้นที่ประมาณนั้นอยู่ ซึ่งตอนแรกก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่ามันจะออกมายังไง แต่พอเขาคิดออกมาแล้ว ดีมาก ถ้าเราทำเองคงออกมาทื่อๆ (หัวเราะ)

อาหารทางเลือก ที่อยู่ในโรงหนังทางเลือก

KRUA.CO: เมนูอาหารที่ Doc Club & Pub. เสิร์ฟ เลือกมาจากอะไร

Doc Club & Pub.: ตอนแรกก็เริ่มมองหาคนที่จะมาช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบว่าตัวเมนูน่าจะเป็นอะไรบ้าง ถ้าเป็นพื้นที่แบบนี้ เมนูมันควรจะออกมาประมาณไหน คนที่มานั่งตั้งแต่กลางวันไปถึงกลางคืนน่าจะมีความต้องการไม่เหมือนกัน อาจจะเชื่อมกันบ้าง แต่คงไม่เหมือนกันเสียทีเดียว กลางวันเรามองภาพสถานที่ให้เป็นที่ที่คนมานั่งคุย นั่งกิน นั่งทำงาน แล้วก็ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากการที่เขาดูหนังแล้วก็ออกไปคุยกันต่อ แล้วอะไรล่ะที่เป็นเมนูที่เหมาะกับกิจกรรมแบบนั้น

กลางวันก็น่าจะเป็นกาแฟ เป็นเครื่องดื่ม ควรมีประมาณไหน ก็เป็นเงื่อนไขว่าโดยพื้นที่เราเองเราจะมีกาแฟอะไรบ้าง เลยให้ความสำคัญกับเรื่องกาแฟดริป แล้วเพิ่มความพิเศษของเมล็ดกาแฟมาสักหน่อย ให้เป็นตัวเลือกของคน เราเป็นคนชอบกินกาแฟอยู่แล้ว เราก็หาเม็ดมา ที่ผ่านมาก็กินกาแฟอยู่แล้ว ตอนนี้ก็เหมือนเอามาแบ่งคนอื่นกินด้วย แล้วเราก็ได้ลองเยอะขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเม็ดไทย ให้ความสำคัญกับ Process ที่มันหลากหลาย เหมือนกับเบียร์ เบียร์ที่เอามาลงส่วนใหญ่ก็เป็นคราฟต์เบียร์ไทย เพราะเราเชื่อว่าคนที่มาแถวๆ นี้ก็น่าจะเป็นคนที่มาลองเมนูใหม่ๆ เขาก็จะมาเลือกดูได้ว่า มีตัวไหนมาใหม่บ้าง มันอะไรอย่างไร คืออธิบายไป เขาก็จะลองตัวใหม่นั่นแหละ (หัวเราะ) ลองตัวที่ยังไม่เคยลอง

KRUA.CO: เกี่ยวไหมว่าพอพื้นที่เป็นแบบนี้ คนที่มาหาเราก็คือคนที่ดูหนังทางเลือก ดูหนังทดลอง เลยได้กลุ่มที่ชอบเปิดรับสิ่งใหม่ๆ

Doc Club & Pub.: ก็น่าจะมีส่วน เราก็คิดว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่ทุกคนให้ความสำคัญก็คือการปะทะสังสรรค์กับสิ่งใหม่ๆ ที่มันเกิดขึ้น ศิลปะทุกประเภท เสพแล้วชอบไม่ชอบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จริงๆ แล้วการจัดการที่มันง่ายคือการจัดการในสิ่งซ้ำๆ เดิมๆ ถูกไหมครับ ในเชิงธุรกิจมันก็คือต้นทุน บางคนเขาก็อาจจะมองว่าถ้าเซฟได้มันก็จะเป็นกำไรที่เยอะขึ้น แต่เรามองว่าการเซฟแบบนั้นมันคือการทิ้งลูกค้าเรากลุ่มนี้ที่ชอบลองอะไรใหม่ๆ สิ่งที่มันทำงานกับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะอายุเท่าไรนะ ก็คือการมีอะไรใหม่ๆ ให้เขาได้พบเจอ มีหลายคนที่เรารู้จัก ที่อายุเยอะแล้ว แต่ยังเป็นคนรุ่นใหม่ เขายังคุยกับเด็กรู้เรื่องมากกว่าเพื่อนกัน

อาหารก็เป็นส่วนที่มาเติมโรงหนังและบาร์ข้างนอก เก้าอี้ที่เขาคิดออกแบบไว้แต่เดิมก็คือมีที่วางแก้ว เขาเสิร์ฟแอลกอฮอล์อยู่แล้วเหมือนกัน ซึ่งเราก็คิดว่าดี ก็มาคิดว่าคนที่มาใช้พื้นที่ของเราจะต้องการอาหารและเครื่องดื่มแบบไหน อย่างเช่นเบียร์เราก็เลือกเป็นคราฟต์เบียร์ขวดเล็ก เพื่อให้วางในที่วางเดิมได้ แล้วก็มีพวก High ball มีไวน์ ข้างๆ ที่มีพื้นที่อยู่ประมาณหนึ่งเราก็หาโต๊ะมาวางสแน็กเล็กๆ ก็ยังอยู่ในช่วงพัฒนาเมนูกันอยู่ว่าอาหารที่จะตอบโจทย์คนมาดูหนังโดยไม่รบกวนคนอื่น อย่างเรื่องกลิ่น คือเป็นเมนูที่สามารถกินในโรงหนังได้โดยกลิ่นไม่รุนแรงเกินไป

นอกจากนั้นก็มีเรื่องที่ว่าต้องเข้ากับเงื่อนไขของพื้นที่เราด้วย เบื้องต้นเรามีเชฟที่ดูแลเรื่องนี้ให้เราอยู่แล้ว คือ เชฟเมี่ยง – กัญจน์ เขม่นแสง เขาจะมีเมนูมาให้อยู่แล้ว แล้วเราก็มาดูกันว่า มันจะเป็นไปได้ไหม ถ้าซอสแบบเดียวกันจะกลายเป็นอาหารอย่างอื่นได้ด้วย เพื่อให้เราจัดการครัวได้ง่าย ก็เลยใช้กับทั้งพิซซ่าและนาโช่ ดีที่เราเจอเชฟที่ยังสนุกกับการคิดอะไรใหม่ๆ เรื่อยๆ เขาก็จะลองในแล็บของเขาน่ะ แล้วก็เอามาแชร์กัน

นอกจากนี้ก็มีเมนูที่ตอบโจทย์คนที่นั่งกินข้างนอก อาหารเบาๆ สำหรับรองท้อง อาหารหนักสำหรับอิ่มท้อง มันก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ตอนนี้เราทำเมนูนาโช่ ซึ่งคนตอบรับเยอะมาก ตอบรับนี่คือทั้งสั่งและไม่สั่ง ไม่สั่งก็คือไม่กินเนื้อ เราก็ไปบอกเชฟว่าขอเพิ่มไก่ ทำๆ ไปก็จะมีว่า มีเมนูมังสวิรัติใหม่ ตอนแรกมันก็มีแค่เมนูของกินเล่น เราก็มาคิดกันว่ามันควรจะมีเมนูอิ่มๆ ที่ตอบโจทย์คนกินมังสวิรัติด้วย ต้องมีนมถั่วเหลืองเพื่อตอบโจทย์เมนูกาแฟสำหรับคนที่ไม่กินนมวัว ดังนั้นเมนูอาหารที่เราให้โจทย์เชฟไป ก็จะมีเมนูใหม่ๆ ประจำเดือนเพิ่มมาเรื่อยๆ

กับอีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าจะทำก็คือ อย่างตอนที่เราจัดเทศกาลหนังไต้หวัน จัดที่อื่นก่อนหน้านี้ เราก็จะมีอาหารที่เลือกมาเป็นอาหารไต้หวันง่ายๆ อย่างชานมไต้หวัน ขนมจีบ แต่ต้องเป็นแบบที่กินแล้วอร่อยนะ เพราะมันเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง เราก็เลยคิดว่าพอมีพื้นที่แล้วก็อยากจะทำอีก ตอนนี้โปรแกรมที่เรามีในปีหน้าก็อย่างเช่นเทศกาลหนังสารคดีอเมริกัน เทศกาลหนังไต้หวัน อยากออกแบบให้มันสอดคล้องกับกิจกรรมด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว สนุกดีที่ได้คิดเรื่องพวกนี้ด้วย

KRUA: พอมีพื้นที่ของตัวเองแล้ว อาหารในโรงหนังมันเลยเป็นได้มากกว่าป๊อปคอร์นกับน้ำอัดลม

Doc club: จริงๆ แล้วเราโตมาในต่างจังหวัด แล้วก็อยู่ในยุคโรงหนังสแตนด์อโลน เป็นยุคที่โรงหนังก็มีทั่วไป มีทั้งโรงหนังของเพื่อนๆ มีญาติๆ ที่ทำมาค้าขายอยู่กับโรงหนัง อย่างคุณลุงก็ทำร้านขายผลไม้อยู่แถวโรงหนัง การกินผลไม้ดองในโรงหนังเมื่อก่อนเป็นเรื่องปกติ มีร้านขายลูกชิ้นทอด มีร้านขายจุ่ยก้วย ซึ่งอร่อยมากนะ มันเป็นโรงหนังพัดลมนะ การกินหมึกย่างนี่ก็ยังพอจะรับได้อยู่ (หัวเราะ) และมันก็ยังเป็นความประทับใจของเราอยู่

ป๊อบคอร์นนี่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี่เอง ในช่วงที่โรง multiplex เกิดขึ้น มันคือการออกแบบสิ่งที่เกิดขึ้นในที่อื่นมาแล้ว ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าทำไมเราคุ้นเคยกับสิ่งนี้ เพราะเราทำต่อเนื่องมาตั้งยี่สิบกว่าปี เราเปลี่ยนวัฒนธรรมมาแบบนี้แล้วก็รับรู้กันโดยทั่วไป แต่พอของเราพื้นที่มันเล็ก เราคิดเรื่องออกแบบให้ป๊อปคอร์นมีรสชาติพิเศษ ทำ 1 ครั้ง ให้ขายหมดภายใน 1 วัน มันเป็นโจทย์ที่ต้องแก้เยอะ สุดท้ายก็เลยยกตู้ป๊อปคอร์นไปเก็บ เราว่าทุกอย่างมันก็คือความคุ้นเคย ดังนั้นก็อยากจะสร้างความคุ้นเคยใหม่ในพื้นที่ใหม่ให้ได้ เอ้า ก็ลองดู ลองไม่คิดถึงป๊อปคอร์นดูสิ ว่าจะยังไง

Highly Recommend

🍕 Beef Satay Pizza
พิซซ่าแป้งตอร์ติยาบางกรอบ แตกต่างจากรสชาติพิซซ่าทั่วไปที่ Satay Sauce สูตรพิเศษหอมกลิ่นเครื่องเทศซับซ้อน ท็อปด้วยชีส 4 ชนิดที่หอมมัน แต่เมื่อกินคู่กับมะกอกดองและพริกหอมๆ แล้วก็เข้ากันดีแบบลืมความเลี่ยนไปได้เลย

🍕 Nacho Cheese & Pickled
อีกหนึ่ง Finger Food ยอดนิยมที่ดูธรรมดาๆ แต่ห้ามมองข้ามเป็นอันขาด เพราะ Cheese ที่เสิร์ฟมานั้นมีเบสเป็น Beef Cheese Sauce ตัวเดียวกับ Satay Pizza นั่นแหละ เพียงแต่ว่าเสิร์ฟมาแบบอุ่นๆ ร้อนๆ พอเอาแผ่นนาโชกรอบๆ ไปจ้วงแบบเต็มๆ คำก็ทำให้ได้กลิ่นเนื้อชัดเจนขึ้นมาทันที เป็นการนำเสนอซอสชนิดเดียวออกมาได้ 2 แบบที่แตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง ที่เด็ดสุดก็คือผักดองโฮมเมดที่อร่อยมากๆๆๆๆๆ (ถึงแม้จะหน้าตาธรรมด๊า ธรรมดา – นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า don’t judge a book by its cover) ผักดองอร่อยมากจริงๆ ขนาดที่ว่าทางร้านต้องมีเซตผักดองแยกขายต่างหากนั่นแหละ อันนี้ห้ามพลาดเด็ดขาด!!

Doc Club & Pub.
สถานที่: อาคารวูฟ แพค (ซอยศาลาแดง 1) สีลม บางรัก กรุงเทพมหานคร
เวลาเปิด-ปิด: 12:00 – 19:30 น.
Facebook: Doc Club & Pub.

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS