กินอย่างรู้คิดช่วยสลายหมอกควันพิษ

1,703 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ปัญหาหมอกควันของปีนี้นับว่าหนักหนาจนทุกคนต่างร้อนใจ มองหาที่มาของเหตุว่าหมอกควันมาจากไหน แต่จะมีสักกี่คนที่ยอมรับและเข้าใจว่าฝุ่นควันที่เราออกมาหาทางกำจัดกันอยู่นี้ แท้จริงแล้วมีทีมาจากจานอาหารของเราเอง

ท่ามกลางสถานการณ์ควันพิษที่กำลังทุเลาลงหลังประเทศไทยเริ่มเข้าสู่หน้าฝน ทว่าประเด็นปัญหาเรื่องหมอกควันขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือที่เรารู้จักกันในนามฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ก็ยังถูกพูดถึงอยู่เรื่อยๆ เพราะต้องยอมรับว่าปีนี้คนไทยได้รับผลกระทบจากควันพิษดังกล่าวหนักหน่วงเป็นพิเศษและไม่ใช่แค่ในจังหวัดที่มีพื้นที่การเกษตรเท่านั้นแต่รวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครฯและเขตปริมณฑลด้วยเช่นกัน ต้นตอของควันพิษอาจแตกต่างกันออกไปด้วยควันพิษในเมืองใหญ่นั้นส่วนมากมีต้นทางจากบรรดาเครื่องยนต์ดีเซลทั้งจากรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่รายล้อมอยู่ในพื้นที่ใกล้เมืองหลวง

แต่เมื่อมองไปยังต้นทางของควันพิษในอีกหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่มีพื้นที่การเกษตรกินสัดส่วนกว่าครึ่งของจังหวัด และประสบปัญหาควันพิษรุนแรงเรื้อรังมานับสิบปี อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และแม่ฮ่องสอนกลับพบว่ามีสาเหตุสำคัญต่างจากเมืองหลวงสิ้นเชิง กว่านั้นยังเป็นสาเหตุที่เกี่ยวโยงผูกพันกับวิถีชีวิตของพวกเราทุกคน ไล่เรื่อยมาตั้งแต่วิถีการทำเกษตรกระทั่งถึงอาหารในจานของคนทุกเพศทุกวัยในสังคมไทยอีกด้วย

เพราะควันพิษในพื้นที่ดังกล่าวเกิดจาก ‘การเผา’ แต่ไม่ใช่การเผาธรรมดาในครัวเรือนแต่คือการเผาไร่ในพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมหรือการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งบางครั้งบางตอนกินพื้นที่ป่านับสิบนับร้อยไร่ และวันดีคืนร้ายก็อาจกลายเป็นต้นตอของไฟป่าที่ลุกลามจากแปลงเกษตรที่ขาดการดูแล

ควันมาจากไหนและใครเป็นคนเผา

แลัวทำไมถึงต้องเผา? คือคำถามที่คนในแวดวงการเกษตร แวดวงอาหาร รวมถึงทุกภาคส่วนของสังคมพยายามหาคำตอบและหาทางออกกันมานาน คำตอบสำคัญก็คือเพราะระบบการผลิตอาหารปัจจุบันเร้าให้เกษตรกรต้องเร่งปลูกเร่งเผาเพื่อปรับพื้นที่ทำเกษตร และเพื่อส่งผลผลิตให้กับผู้บริโภคอย่างเราๆ

ผลผลิตสำคัญอันได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย รวมถึงผักผลไม้ที่ปลูกเชิงเดี่ยวบนที่สูงหลายชนิด เช่น กะหล่ำปลี มะเขือเทศ หรือผักเมืองหนาวนานาสีสันที่เรานิยมเลือกหยิบมาใส่สลัดนั่นก็ด้วย

ต้องยอมรับว่าผลผลิตที่สร้างควันพิษมากที่สุดคือ ‘ข้าวโพด’ แต่ไม่ใช่ข้าวโพดรสหวานอร่อยแบบที่เราพบกันตามตลาด แต่คือข้าวโพดฝักใหญ่ที่ใช้ทำอาหารเลี้ยงสัตว์ ทั้งอาหารวัว อาหารไก่ อาหารหมูที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรมล้วนกินข้าวโพดเป็นอาหารหลัก เนื่องจากมีแป้งเพียบ มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างกล้ามเนื้อและไขมัน ช่วยเร่งโตดีกว่าอาหารชนิดอื่นหลายเท่า

สำคัญคือ ข้าวโพดเป็นพืชใช้น้ำน้อย ปลูกบนที่สูงได้โดยไม่ต้องอาศัยการดูแลมากเท่าไร จึงไม่แปลกที่มันจะกลายเป็นพืชที่เกษตรกรทางภาคเหนือนิยมปลูกกันแพร่หลาย ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผลิตอาหารอุตหสาหกรรมขนาดใหญ่ในการรับซื้อและประกันราคาขั้นต่ำ และเมื่อประกอบเข้ากับปัญหาไม่มีที่ดินทำกินของเหล่าเกษตรกร การถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดบริเวณเนินเขาจึงเกิดขึ้นและลุกลามอย่างรวดเร็ว ในขณะที่บริษัทรับซื้อรายใหญ่เองก็ไม่มีมาตรการในการตั้งเกณฑ์การรับซื้อเพื่อช่วยลดปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าการรับซื้อสินคาเกษตรอุตสาหกรรมนั้น เป็นการรับซื้อแบบรายย่อย จึงไม่สามารถเข้าไปควบคุมการผลิตและจัดการพื้นที่ได้ทั่วถึง

เมื่อข้าวโพดส่วนมากเติบโตอยู่บนที่สูงปัญหาอีกหลายข้อจึงตามมา

เมื่อบริษัทใหญ่ต้องการรับซื้อสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง การผลิตจึงต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน และนั่นทำให้เกษตรกรต้องเร่งปรับหน้าดินให้ทันต่อการผลิตรอบใหม่ซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ 2-3 เดือน โดยวิธีที่ง่ายเร็วและใช้ต้นทุนน้อยกว่าการใช้เครื่องจักรในการไถกลบ (ซึ่งทำได้ยากบริเวณที่สูง) ก็คือการเผากำจัดตอซังรวมถึงเปลือกข้าวโพด และใช่ นั่นคือที่มาของบรรดาควันพิษที่เรากำลังเผชิญโดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนที่มีพื้นที่เมืองเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบจึงได้รับผลกระทบจากควันไฟที่ไหลวนเก็บกักอยู่ในพื้นที่เมืองแบบเต็มๆ

เรื่องน่าห่วงต่อมาคือ การทำเกษตรอุตสาหกรรมบนที่สูงทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ฯลฯ พบว่ามีการใช้สารเคมีในการผลิตค่อนข้างสูง โดยพบการใช้ยาฆ่าหญ้าถึง 1 ลิตรต่อไร่ รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งผลิตให้ทันความต้องการของผู้รับซื้อในปริมาณมาก ผลคือหน้าดินจึงถูกทำลาย และสารเคมียังปะปนกับทั้งดินและน้ำจากการชะล้างหน้าดินที่เจือปนสารเคมีไล่ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งสุดท้ายไหลรวมมายังแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเราทุกคน

ควันพิษจะจางต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในมื้ออาหาร

การแก้ปัญหาที่ผ่านมาตลอดหลายปีนั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นการควบคุมการเผาในพื้นที่ อาทิ การจำกัดเวลาในการเผาช่วงหน้าร้อนซึ่งเกษตรกรนิยมเผาไร่กันเป็นพิเศษ ทว่าการเผาก็มักเกิดขึ้นก่อนและหลังช่วงเวลาต้องห้ามเสมอ รวมถึงการลักลอบเผาก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าเพียงหลักร้อย ย่อมไม่เพียงพอต่อพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินประเมินว่าในภาคเหนือมีมากถึง 3,025,959 ไร่ (2556) และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง?

หนทางแก้ปัญหาที่ทั้งง่ายและยั่งยืนก็คือการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสร้างอุปสงค์ใหม่ให้กับสินค้าเกษตร เพราะแน่ละว่าเมื่อตลาดเปลี่ยนมานิยมอาหารแบบไหน ผู้ผลิตก็ย่อมต้องสนองตอบความต้องการนั้น อาทิ การเลือกซื้ออาหารที่ ‘รู้แหล่งที่มา’ เช่นว่าสินค้าเกษตรจากผู้ค้ารายย่อยตามตลาดสด หรือถ้านั่นยากไปหน่อยก็อาจเป็นผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองเกษตรอินทรีย์ที่ระบุแหล่งปลูกชัดเจน หรืออาจเป็นตรารับรอง GAP (Good Agricultural Practice) ซึ่งหมายถึงสินค้าที่ผลิตอย่างถูกต้องไล่มาตั้งแต่การปลูกอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การเก็บและจัดส่งผลผลิตอย่างมีมาตรฐาน รวมถึงความแฟร์ระหว่างเกษตรกรและพ่อค้าคนกลาง และแม้สินค้าเกษตรเหล่านี้อาจมีราคาสูงกว่าราคาตลาดบ้าง แต่หากมองในภาพใหญ่การยอมจ่ายเพิ่มสักหน่อยแลกกับสินค้าที่คุณภาพดีขึ้นและเพื่อพัฒนาระบบอาหารให้ยั่งยืนนั้นก็นับว่าคุ้มค่า

หรือถ้าใครยังคิดภาพไม่ออกว่าผักผลไม้แบบไหนที่เราจะจับจ่ายอย่างสบายใจ เราแนะนำว่าลองหันมากินผักผลไม้ตามฤดูกาลก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ อาทิ เลือกกินมะม่วงในหน้าร้อน หรือเลือกกินส้มเขียวหวานช่วงปลายฝนต้นหนาว รวมถึงผักพื้นบ้านนานาชนิดที่ส่วนมากเป็นผักที่ปลูกกันริมรั้ว หรือเป็นการทำเกษตรแปลงเล็ก อาทิ ผักหวาน ใบชะพลู ตำลึง มะรุม ฯลฯ เป็นต้น

การกินแบบนี้ นอกจากจะอร่อยปลอดภัย ยังช่วยให้เกษตรกรรายย่อยมีทางเลือกมากกว่าการเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา หรือการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายหมอกควันพิษอันตรายก็จะค่อยๆ จางไปหากเราทั้งหลายร่วมมือกัน

 

ภาพจาก 

www.chiangmainews.co.th
www.Thairath.co.th
www.tcijthai.com

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS