อาหารอังกฤษในวันที่เดินออกจาก EU

2,750 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
อาหารเมืองผู้ดีจะยังเหมือนเดิมไหม? เมื่ออังกฤษประกาศกร้าวถอนตัวออกจาก EU ส่งให้ราคานำเข้าวัตถุดิบปรุงอาหารอาจถีบตัวสูงขึ้นกว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์

สถานการณ์ภาคพื้นยุโรปช่วงนี้มีเรื่องให้ลุ้นกันเหนื่อย หนึ่งในนั้นคือเรื่องเหตุบ้านการเมืองที่คุกรุ่น โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจอย่างสหราชอาณาจักร ที่นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดอย่างนายบอริส จอร์นสัน ประกาศกร้าวว่าเมืองผู้ดีจะขอก้าวออกจากพันธะสัญญาของสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union: EU) แน่นอน ชวนให้หลายคนตั้งคำถามว่าการหันหลังให้ประเทศเพื่อนบ้านคราวนี้จะทำให้เมืองผู้ดีเดินหน้าไปในทิศทางไหนกัน?  

แต่ก่อนจะพยากรณ์ผลลัพธ์ในอนาคตอันใกล้เราอยากให้ลองมองย้อนกลับไปถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านในอดีตไกลๆ กันสักครั้ง ด้วยช่วงเวลาก่อนหน้าที่อังกฤษจะกลายเป็นหนึ่งในพี่ใหญ่ของอียู สีสันของพื้นที่นี้ก็น่าสนใจไม่น้อย แม้อาจเป็นสีสันที่เปลี่ยน…ในวันที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาถึง

สำหรับคนรักอาหารคงหนีไม่พ้นคำถามว่าจากนี้บนโต๊ะอาหารของคนอังกฤษจะมีอะไรเพิ่มเข้ามาหรืออะไรขาดหายไป ในเมื่อมีการประเมินกันว่าราคาอาหารในแดนผู้ดีอาจถีบตัวสูงขึ้น 10-15 เปอร์เซ็นต์ ด้วยผักผลไม้กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ที่วางขายในอังกฤษนั้นนำเข้าจากสหภาพยุโรปกำแพงภาษีและราคาค่าขนส่งที่สูงลิ่ว อาจทำให้หลายเมนูรสชาติไม่เหลือเค้าเดิมก็เป็นได้

ยังไม่นับรวมว่าแต่ไหนแต่ไหน อาหารอังกฤษโดนปรามาสว่าเป็น ‘ช้อยส์ท้ายๆ’ ของอาหารสัญชาติยุโรปที่นักชิมจะเลือกขึ้นโต๊ะก็ยิ่งให้คนในแวดวงอาหารพากันถกเถียงกันยกใหญ่ว่า การเปลี่ยนผ่านคราวนี้จะยิ่งทำให้อาหารตำรับนี้รั้งท้ายหรือไม่ และจริงไหมว่าอาหารอังกฤษนั้นน่าส่ายหน้าเสียเหลือเกิน? การจะตอบคำถามเรื่องนี้เราคงต้องย้อนหน้าประวัติศาสตร์กันไปไกลถึงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา

ช่วงเวลาก่อนการเกิดขึ้นของเครื่องจักรไอน้ำ สหราชอาณาจักรเป็นดินแดนแห่งการค้ามานานก่อนหน้านั้นนับร้อยปี โดยเฉพาะการค้าทางทะเลที่ทำให้ท่าเรือรอบเกาะอังกฤษไม่เคยร้างรา ทั้งเครื่องเทศและชาจากอินเดีย มันฝรั่งจากทวีปอเมริกา และแน่นอน รวมถึงบรรดาผักผลไม้สดใหม่จากยุโรปตะวันตกและตะวันออก ไส้กรอกเยอรมัน มะเขือเทศฉ่ำหวานจากสเปน รวมถึงบรรดาพ่อครัวแม่ครัวต่างประเทศที่พากันตบเท้าเข้าเมืองผู้ดีกันคึกคัก เพื่อรับใช้ราชสำนักและบรรดาห้องครัวในคฤหาสน์ชั้นสูง จนถึงเปิดร้านอาหารเรียงรายให้เลือกชิมกันละลานตา เรียกว่าคนอังกฤษแทบไม่ต้องครีเอทอะไรใหม่ก็ได้ แค่รับวัฒนธรรมรสชาติและการปรุงจากผู้คนที่ตนคบค้าด้วยก็เหลือหลาย

เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมเดินทางมาถึงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ระบบการผลิตรุดหน้าด้วยเครื่องจักรกล ชนชั้นเจ้าที่ดินในชนบทต่างพากันล้อมรั้วกั้นที่ดินผืนใหญ่ไว้เป็นกรรมสิทธิ์สำหรับสร้างโรงงาน หรือให้พ่อค้าเช่าเพื่อทำกำไร เป็นเหตุให้การผลิตแบบดั้งเดิมลดลงกลับกลายเป็นการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่ให้พืชผลเพียงไม่กี่ชนิด

กว่านั้น ชาวนาผู้ร้างไร้ที่ดินยังกลายเป็นผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ การพัฒนาสูตรอาหารของอังกฤษจึงหยุดชะงักอย่างน่าเสียดาย และจังหวะเวลาแห่งการขับเคี่ยวแข่งขันนี้เอง อาหารแดกด่วนสไตล์อังกฤษอย่าง ‘ปลาและมันทอด’ หรือฟิชแอนด์ชิพก็ได้กลายเป็นอาหารที่พบได้ทุกหัวมุมถนนในลอนดอน… จากการเริ่มต้นธุรกิจของชาวยิวผู้อพยพจากยุโรป

แต่ก็ใช่ว่าอาหารอังกฤษจะไม่มีเอกลักษณ์เพราะหากตรองอย่างละเอียดจะพบว่า อาหารแดนผู้ดีนั้นเกิดจากการนำเข้า ‘การกิน’ จากแดนไกลมาผสมเข้ากับวัฒนธรรม ‘การอยู่’ แบบเฉพาะของคนอังกฤษเอง อาทิ การนำเข้าชาจากฝั่งเอเชียมาชงใส่นมเสิร์ฟคู่กับสโคนร้อนๆ เป็นของว่างยามบ่ายจนกลายเป็นวัฒนธรรมการดื่มชาที่สะท้อนความรุ่มรวยของชนชั้นสูงจวบจนทุกวันนี้

หรือการเกิดขึ้นของ Little English Breakfast สำรับอาหารเช้าชุดเล็กที่จัดเสิร์ฟกันตั้งแต่พระอาทิตย์แตะขอบฟ้าสำหรับท่านชายผู้อยากรองท้องก่อนควบม้าเข้าป่าและกลับออกมารับอาหารมื้อสายกันตอนใกล้เที่ย งซึ่งเป็นการรวมเอาของดีจากหลายประเทศรวมไว้ในจานเดียวโดยเฉพาะขนมปังสูตรอิตาลีหรือฝรั่งเศสที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญในมื้อเช้าของชาวเมืองผู้ดี

ฉะนั้นจึงไม่ถูกเท่าไร หากบอกว่าอาหารอังกฤษรั้งท้ายหลายประเทศแถบยุโรป เพราะถ้าหากเปรียบการกินเป็นวัฒนธรรม ที่หมายรวมถึงพิธีกรรม รูป รส กลิ่น เสียง รวมถึงความหมายเบื้องหลังอาหารแต่ละจาน อาหารอังกฤษที่รุ่มรวยด้วยเรื่องราวก็คงไม่น้อยหน้าใครเหมือนกัน

การเดินทางของอาหารอังกฤษเติบโตขึ้นตามกาล ผ่านการผสมผสานวัตถุดิบและวิถีการปรุงที่รับมาจากการเชื่อมสัมพันธไมตรี รวมถึงการค้าขายและรบรา และปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปนั้นทำให้มื้ออาหารของชาวอังกฤษมีสีสันขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า… และจากการประเมินค่าใช้จ่ายที่เหล่าผู้ผลิตอาหารในภาคพื้นยุโรปต้องจ่ายเพิ่มขึ้นก็ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าวัตถุดิบหลายชนิดอาจลดน้อยถอยลงจากตลาด ทั้งไส้กรอกจากเยอรมนี ขนมปังชั้นดีจากฝรั่งเศส หรือกระทั่งเส้นพาสต้าที่คล้ายอาหารประจำครัวเรือนซึ่งส่วนมากนำเข้าจากอิตาลีหรือฝั่งยุโรปตะวันตก ก็อาจกลายเป็นพาสต้าสัญชาติอังกฤษมาแทนที่… แต่ถ้ามองโลกแง่ดีนี่ก็อาจเป็นก้าวที่ทำให้ครัวเมืองผู้ดีถึงจุดเปลี่ยนจากผู้บริโภครายใหญ่เป็นผู้ผลิตอาหารแถวหน้าในยุโรปก็เป็นได้!

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS