คู่มือเอาตัวรอดจากความมึนเมา

3,242 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ปาร์ตี้แบบร่างไม่พัง สติไม่หลุด ด้วยทริกดีๆ ที่จะพาคุณรอดจากอาการเมาค้าง

ปาร์ตี้!… นั่งเฟลกับ new year’s resolution ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี คงไม่ดีเท่าทำตัวเองให้สดใส สนุกกับช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง แล้วค่อยตั้งต้นกันใหม่ปีหน้า (อีกแล้ว?) เพราะเป็นช่วงเวลาที่หลายบริษัทจัดงานเลี้ยงปีใหม่ ไหนจะนัดยิบย่อยกับเพื่อนฝูง ปาร์ตี้ประดังเข้ามาตลอดเดือน สถานการณ์อาจทำให้เลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ ยิ่งบทบาทของบางคนก็เอื้อให้ดื่มด้วยเหตุว่ามันคือการเข้าสังคม แบบว่าจิบนิดๆ หน่อยๆ เพื่อละลายพฤติกรรมกระชับความสัมพันธ์ในวงสังสรรค์ ซึ่งระดับความมึนเมาอาจอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ากลุ่มที่เลยระดับกระชับความสัมพันธ์ไปแล้ว เพราะกลุ่มหลังความแน่นแฟ้นมักมีดีกรีความเม้าท์มันและติดลมกันมากหน่อย      

แต่ถึงจะปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง หรือนั่งเหงาๆ กระดกแอลกอฮอล์เคาน์ดาวน์ในคืนข้ามปีอยู่คนเดียว เราก็หวังให้ทุกคนดื่มด่ำ สนุกสนานอย่างปลอดภัย ด้วยความปรารถนาดีจาก KRUA.CO จึงรวบรวมทริกดีๆ ที่จะพาคุณรอดจากความมึนเมา ไม่แอ๋ ไม่อ๊อง ครองสติกลับถึงบ้านปลอดภัย และเริ่มเช้าวันใหม่โดยปราศจากอาการเมาค้าง 🙂          

ดื่มยังไงไม่ให้เมาค้าง

ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากอยู่ในปริมาณพอเหมาะ แต่ถ้าดื่มมากจนเลยระดับความรื่นรมย์ไปแล้ว สักพักระบบความคิดอ่านและการยับยั้งชั่งใจจะลดลง เกิดอาการเมาและลากยาวไปถึงเช้าวันใหม่จนเมาค้างเอาได้ นอกจากจะมีสติเตือนตนให้ดื่มแต่พอดี สิ่งเหล่านี้ก็พอช่วยเราได้

  • ดื่มน้ำสลับกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์จะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากที่เราดื่มไปแล้วราวๆ 20 นาที และร่างกายจะใช้เวลานานนับชั่วโมงในการขับแอลกอฮอล์ออก จึงควรดื่มน้ำสลับกับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยให้ตับขับพิษแอลกอฮอล์ออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ   
  • กินอาหารสลับกับการดื่ม เสพความอร่อยจากจานกับแกล้มต่างๆ นานา สลับกับดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเว้นช่วงให้กระเพาะอาหารไม่รีบร้อนดูดซึมแอลกอฮอล์เร็วเกินไป        
  • จำกัดปริมาณการดื่ม ร่างกายคนเราดูดซึมแอลกอฮอล์ได้ไม่เท่ากัน บางคนดูดซึมได้ดีและไว บางคนดูดซึมได้ช้า ทำให้ระดับความคอแข็งของคนเราแตกต่างกันแม้จะดื่มในปริมาณที่เท่ากัน จึงต้องประมาณตนเอง เราอาจกำหนดไว้ในใจไปเลยว่าจะดื่มไม่เกินกี่แก้ว เช่น 2-3 แก้ว—ท่องไว้ๆ
  • ดื่มให้ช้าลง ความเนิบช้านั้นช่วยชะลอการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย ทั้งยังทำให้เป้าหมายที่เรากำหนดไว้ว่าจะดื่มแค่ 2-3 แก้วสัมฤทธิ์ผล ค่อยๆ จิบค่อยๆ คุยไปเรื่อยๆ อย่าลืมว่าเครื่องดื่มไม่ใช่อาหารไม่จำเป็นต้องกินเอาอิ่ม   
  • ไม่ดื่มตอนท้องว่าง ก่อนดื่มแอลกอฮอล์ให้หาอาหารรองท้องสักหน่อยอย่าปล่อยให้ท้องว่าง เพราะกระเพาะอาหารจะดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำให้เสี่ยงเกิดอาการเมาค้างและกระเพาะอาหารอักเสบได้ 
  • ระหว่างดื่มไม่สูบบุหรี่ เมื่อดื่มจนถึงจุดหนึ่งแอลกอฮอล์จะทำให้รู้สึกง่วง พอมาเจอกับสารนิโคตินในบุหรี่ที่ทำให้รู้สึกตื่นตัวจึงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ดื่มเยอะจึงยิ่งรู้สึกอยากสูบหนักเข้าไปอีก ส่งผลให้เกิดอาการเมาค้างได้ง่าย  

ปริมาณการดื่มที่ปลอดภัย

1 ดื่มมาตรฐาน คือ หน่วยวัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแต่ละชนิดซึ่งมีแอลกอฮอล์แตกต่างกัน ในปริมาณที่ต่างกัน (1 ดื่มมาตรฐานเทียบเท่ากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประมาณ 10 กรัม หรือประมาณ 12.5 มิลลิลิตร) ใน 1 ดื่มมาตรฐานนั้นกลไกการทำงานของตับจะใช้เวลาขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายราว 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปริมาณที่ปลอดภัยแก่ร่างกาย 

ตารางเปรียบเทียบปริมาณการดื่มที่เหมาะสมกับระยะเวลาต่างๆ ต่อปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปริมาณการดื่มที่ปลอดภัยแก่ร่างกาย ส่วนในแง่กฎหมายเมาแล้วขับกำหนดไว้ว่า บุคคลทั่วไปถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเมาสุรา ส่วนผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี รวมทั้งผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถหรือผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุรา มีโทษสูงสุดทั้งจำคุกและปรับ

ทั้งนี้ทั้งนั้นน้ำหนักตัว เพศ ความแข็งแรงของร่างกาย รวมทั้งกลไกการทำงานของตับเฉพาะบุคคลอาจส่งผลต่อการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายแตกต่างกัน ฉะนั้นปริมาณที่เซฟสุดหากต้องขับรถหลังดื่มคือ 1 ดื่มมาตรฐาน ต่อระยะเวลา 1 ชั่วโมง แต่ดีที่สุดคือดื่มแล้วไม่ควรขับรถเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้ใช้ท้องถนนร่วมกัน      

ระดับความมึนเมา

แอลกอฮอล์ไม่ได้มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอย่างที่หลายคนเข้าใจ การดื่มแอลกอฮอล์แล้วรู้สึกตื่นตัว สนุกสนาน เป็นเพราะแอลกอฮอล์กดการทำงานของระบบประสาท ส่งให้การทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบความคิดอ่าน จนถึงปฏิกิริยาตอบสนองเปลี่ยนแปลงไป จึงนำไปสู่พฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ ตั้งแต่ร่าเริงไปจนถึงเซื่องซึม ซึ่งก็ขึ้นกับระดับความมึนเมา 

พอกรึ่มๆ รู้สึกรื่นรมย์ เคลิบเคลิ้ม ผ่อนคลาย ซึ่งเป็นระดับที่รับได้ 
ครึกครื้น รู้สึกสนุกสนาน จะเต้นจะร้องก็เมามันกว่าที่เคย กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ การยับยั้งชั่งใจเริ่มน้อยลง   
ไร้เรี่ยวแรง จากสนุกคึกครื้นดื่มสักพักกราฟความสนุกเริ่มดิ่ง สายตาเริ่มพร่ามัว อาเจียน ซึ่งอาการอาเจียนเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายบอกเราว่าเริ่มรับไม่ไหวแล้ว เริ่มพูดช้าตอบสนองช้า มือไม้สั่น โลกหมุน เดินโซเซไปจนถึงภาพตัด…ฉึบ! 
เมาค้าง ตื่นรับวันใหม่ด้วยอาการปวดหัว ปวดตามร่างกาย คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง คอแห้ง

รับมือกับอาการเมาค้าง ในเช้าวันใหม่  

เป็นความจริงที่ว่าไม่มีหนทางใดทำให้อาการเมาค้างหายขาด นอกจากกลไกของร่างกายจะค่อยๆ ขับแอลกอฮอล์ออกมาจนหมด ทั้งทางปัสสาวะ เหงื่อ ลมหายใจ และส่วนน้อยที่รูขุมขนกับไต ถึงอย่างนั้น ระหว่างรอเวลาเยียวยาการรับมือกับอาการเมาค้างด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ก็ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ 

  • ดื่มน้ำมากๆ เป็นสิ่งแรกที่ทำได้ง่ายและควรทำ เพราะแอลกอฮฮล์ที่เราดื่มเข้าไปจะกระตุ้นร่างกายให้ขับปัสสาวะมาก ทำให้ร่างกายขาดน้ำ การดื่มน้ำมากๆ จึงช่วยทดแทนการสูญเสียน้ำ และช่วยขับแอลกอฮอล์ออกทางปัสสาวะด้วยอีกทาง
  • กินผักผลไม้สด วิตามินในผักผลไม้ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และชดเชยสารอาหารที่สูญเสียไป
  • ดื่มน้ำผักผลไม้ แอลกอฮอล์ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงจนเกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดหัว น้ำผักผลไม้จะช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น   

  • กินอาหารอุ่นๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม ซุป จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น และเพื่อไม่ให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักมากไป   
  • กินยาแก้ปวด แอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดขยายตัวออกเป็นสาเหตุที่ทำให้รู้สึกปวดหัว การกินยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลช่วยให้อาการปวดทุเลาลงได้ แต่ข้อควรระวังคือห้ามกินขณะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ตับต้องทำงานหนัก
  • งดดื่มเพื่อถอน ยังมีบางคนเข้าใจผิดใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง ถ้าเมาค้างแล้วต้องถอนด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ต่อ ทว่ามันกลับไปเพิ่มแอลกอฮอล์ในเลือดให้สูงขึ้นไปอีก

           

อ้างอิง
หนังสือล้างพิษ บำบัดเมาค้าง กำจัดความเครียด, Charmaine Yabsles and Amanda Cross เขียน, พญ.ภัทรวรรณ ธาดาดลทิพย์ แปล
https://www.moj.go.th/view/10507
https://sciblogs.co.nz/visibly-shaken/2010/04/13/drinking-and-driving-how-much-is-too-much/?utm_source=www.google.com&utm_medium=Organic&utm_campaign=blog/%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%96/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94-50-mg-%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7
https://www.krumontree.com/science/alcohol_00.html
https://www.unilad.co.uk/health/ever-wondered-why-you-smoke-after-drinking-this-might-be-the-answer/

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS