ธนิสร วศิโนภาส: ‘อนุรักษ์’ ในพจนานุกรมของคนรักปลา

3,070 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ค้นหาอีกความหมายของคำว่า 'อนุรักษ์' ในมุมมของของคนรักปลาแบบไม่งู ๆ ปลา ๆ

อ๊อฟ – ธนิสร วศิโนภาส นับได้ว่าเป็น ‘คนรักปลา’ ที่รู้เรื่องปลามากที่สุดคนหนึ่ง นอกจากการทำร้าน ‘เค็นซากุ’ Kensaku ที่เสิร์ฟสารพัดเมนูปลาญี่ปุ่นแบบที่น้อยร้านจะกล้าเสิร์ฟในเมืองไทยแล้ว เขายังสนุกกับการเสิร์ฟความรู้เรื่องกุ้งหอยปูปลาให้กับใครก็ตามที่สนใจและคลั่งไคล้ในสิ่งเดียวกันผ่านเฟสบุ๊กเพจ Sushikiri และอีกสารพัดช่องทางตามสะดวกด้วย

สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่าอ๊อฟคือหนึ่งในคนที่มีความรู้เรื่องปลาชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่งแน่ๆ ก็คือตู้หมึกที่ต้อนรับเราตั้งแต่ก้าวแรกที่เปิดประตูเข้าไปในร้าน Kensaku เพราะหากมีประสบการณ์ตกหมึกมาบ้างก็คงพอรู้ว่า หมึกเป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบางและพร้อมจะตายได้ทุกวินาทีหลังจากถูกตกขึ้นมา

แต่ในร้านอาหารญี่ปุ่นเล็กๆ แห่งนี้ ปลาหมึกตัวใสแจ๋วกลับว่ายน้ำเริงร่าเหมือนปลาเลี้ยงสวยงามอยู่ในตู้ รอกลายร่างเป็นเมนู ‘โอโดริอิกะ’ หมึกสดแบบที่ถึงจะโดนแล่พร้อมทานแล้ว แต่หากโดนน้ำมะนาวหรือเกลือ กล้ามเนื้อของหมึกก็ยังจะขยับยุกยิกให้ได้เห็น การมีหมึกเป็นๆ ว่ายร่าเริงอยู่ในร้านทำให้เราซูฮกเขาในใจว่า ต้องเป็นตัวจริงเสียงจริงอีกคนหนึ่งแน่นอน

เช่นเดียวกับเวลาฟังพนักงานฝ่ายไอทีของบริษัทคุยกัน คนรักปลาและเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นคนนี้มักมีศัพท์แสงที่เราไม่คุ้นเคยร่วงหล่นอยู่เต็มไปหมดทุกครั้งที่เขาเอ่ยปากพูดถึงปลาหรือสัตว์น้ำสักชนิด ครั้งนี้เราจึงต้องขอบัญญัติศัพท์กันใหม่ ให้เป็นพจนานุกรมฉบับ ‘Fish Lover’ โดยคนรักปลาคนนี้


โอตาคุ
(น.) ใช้เรียกบุคคลที่มีความสนใจอย่างคลั่งไคล้เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โอตากุ หรือ โอตะ ก็ว่า

คนบอกว่าคุณคือโอตาคุปลา จริงไหม?

ก็รู้เรื่องปลาเยอะอยู่ ทำงานเรื่องปลาเยอะพอสมควร แต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองถึงขนาดนั้นนะ (หัวเราะ) มีทำซัปพลายหาปลาส่งบ้าง เป็นที่ปรึกษาธุรกิจบ้าง บอกได้เท่าที่พอรู้ อันไหนไม่รู้ก็จะไปศึกษาต่อ เรียกว่าเราสนใจเรื่องที่มันค่อนข้างเฉพาะทางดีกว่า

ญี่ปุ่นจะมีเยอะ สายเฉพาะทาง อย่างผมเนี่ยจะเรียกโอตาคุปลาก็คงไม่ได้ เพราะไม่ได้เลี้ยงเอง ไม่ได้จัดการเองตั้งแต่ต้นจนจบ พ่อค้าปลาญี่ปุ่นจริงๆ เขาจะรู้เลยว่า ช่วงเวลานี้ของปี ถ้าจะกินปลาชนิดนี้ ต้องจับที่จังหวัดนี้ถึงจะดี แต่ถ้าเป็นอาทิตย์หน้าต้องไปจับอีกจังหวัดหนึ่ง ส่วนเรานี่ขอเรียกตัวเองว่าคนขายปลาแค่นั้นแหละ

เริ่มต้นชอบปลามาตั้งแต่ตอนไหน

จุดเริ่มต้นของผมคือชีวิตผมตอนเด็กๆ บ้านเป็นตึกแถวอยู่แถวเยาวราช เลี้ยงสัตว์ไม่ได้ เลี้ยงได้อย่างเดียวคือปลา นั่งดูมันไปทั้งวัน ก็เลยผูกพันกับปลามาเรื่อยๆ จนอายุ 12 เริ่มอยากตกปลา ได้เรียนรู้ ได้ฝึกฝนกับตัวเอง ผิดๆ ถูกๆ อ่านหนังสือไปเรื่อยๆ

ช่วงปี 1 น่าจะอายุ 18 – 19 นี่แหละ เพื่อนก็พาไปตกปลาที่เกาะล้าน นั่งอยู่เบื่อๆ ก็ชวนไปงมหอยกัน ก็เอาเลย ขึ้นเรือไปที่แหลมที่ไม่มีคนเลย ออกจากฝั่งไปประมาณ 100 เมตร มีกางเกงขาสั้นตัวเดียว มีสน๊อกเกิล รองเท้าแตะ ดำเดี๋ยวนั้น

วันนั้นได้ไม่เยอะหรอก แต่มันได้หอยแปลกๆ ได้ปลาแปลกๆ เลยหาช่องทางขายดู หลังจากนั้นก็ยาวเลย ค่อยๆ เรียนรู้ไป ขายเป็นซีฟู้ดส่งร้านอาหารนี่แหละ แล้วปลาก็ศึกษา ค่อยๆ เจาะซัปพลายเออร์มาได้เพิ่มตอนนั้นก็คือ ใครสั่งอะไรก็หาให้ หาจากญี่ปุ่นเลย

ค่อยๆ สั่งสมมาจนพักหนึ่งก็เริ่มมีคอนเนกชันที่ญี่ปุ่นบ้างแล้ว บางครั้งก็ฝากเขาว่าช่วยหาปลานี้ให้หน่อยนะครับ เขาก็หาให้แหละ แต่ไม่รับปากว่าจะมีมาเมื่อไร เพราะฉะนั้นบางทีของเต็มบ้านเลย อยู่ดีๆ เขาหาได้ ก็ต้องรับ เพราะเราฝากเขาหามา บางครั้งเจอของแปลกๆ ก็ไม่แคร์ รู้ว่าขาดทุนแน่นอน สั่งมาไม่ได้ขายหรอก สั่งมาลองแล่ ลองเล่น หาเงินมาได้ก็หมดไปกับอะไรแปลกๆ พวกนี้แหละ (หัวเราะ)


อาหาร
(
.) สิ่งที่กินได้, ของกิน, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต

อาชีพ
(
.) การทำมาหากิน, การหาเลี้ยงชีพ, งานที่ทำเป็นประจำเพื่อเลี้ยงชีพ

จำเป็นต้องรู้จักปลาขนาดนี้ไหม

จำเป็นสิ ถ้าเราไม่รู้จักงานที่เราทำ งานมันจะออกมาดีไหม ถ้าเราจะขายปลา ขายอาหารญี่ปุ่น ขายปลาดิบ แต่เราไม่รู้จักเลยว่าเราทำอะไรอยู่ มันจะออกมาดีได้อย่างไร เราต้องรู้จักของของเราให้ดีก่อน ก่อนจะไปนำเสนอคนอื่น

โอมากาเสะบางที่ เสิร์ฟอันนี้ปลานี้นะครับ แต่ไม่ได้บอกว่าทำไมต้องเสิร์ฟคำนี้ ปลานี้มาจากไหน พิเศษอย่างไร คุณภูมิใจในปลาตัวนี้อย่างไร ไม่มีความอินกับสิ่งที่ตัวเองทำ คุณแค่บอกว่าปลานี้คืออะไร ไม่ใช่โอมากาเสะ โอมากาเสะคือการให้เชฟเป็นคนเลือกให้ เมื่อเขาให้เกียรติเรา ให้เราเป็นคนเลือกให้ เราต้องทำให้เต็มที่

แล้วการที่คนทำรู้เรื่องปลาเยอะๆ คนกินจะได้ประโยชน์ด้วยเหรอ

ด้วยครับ ถ้ารู้จักปลา รู้จักสัตว์ทะเลมากพอ ในเชิงฤดูกาลก็มีประโยชน์แล้ว

ฤดูกาลมันสะท้อนถึงเรื่องรสชาติ เรื่องราคา ปลาเนี่ย ถ้าซื้อในฤดู มันมีเยอะ อย่างปลาซันมะที่ญี่ปุ่น จะมีมากในฤดูใบไม้ร่วง ฤดูอื่นมี แต่น้อย หน้าร้อนมีซันมะไหม มี แต่อากาศร้อน แพลงตอนน้อย อาหารมันน้อยมันก็ตัวแคระๆ แพงด้วย

และที่สำคัญคือเรื่องอันตราย อย่างพวกหอยสองฝาที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ฤดูร้อนของญี่ปุ่นเป็นช่วงที่ไม่ควรกินเลย เพราะฤดูร้อนมีฝน ฝนชะเอาโคลน เอาสารอาหารลงทะเล เกิดแพลงก์ตอนบูม คำว่าบูมนี่คือเราไม่รู้ว่ามันมีชนิดไหนบ้าง มันมีทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ หอยกินเข้าไป หอยก็มีพิษ เรากินหอยเข้าไปเราก็ได้รับพิษด้วย

ถ้าเป็นบ้านเราบ้างล่ะ

ปักเป้าก็เหมือนกันนะ บ้านเราห้ามกิน ห้ามทำขาย ผิดกฎหมาย แต่มันก็มีเหมือนกันที่กินได้ ชาวประมงก็รู้ แต่เป็นคนละสถานที่ คนละเวลา เคลื่อนไปนิดเดียวความเป็นพิษมันก็เปลี่ยนแล้ว ปักเป้าหนามทุเรียน ทางอันดามัน ทางพม่านี่กินกันเป็นเรื่องปกติเลย เพราะพิษมันน้อย

แต่ถ้าปักเป้าตัวเดียวกันเนี่ย จับมาจากอ่าวไทยแล้วเอาไปตรวจพิษดู พิษสูงเลย เพราะปลาที่อยู่ฝั่งอันดามันมันเป็นปลาเวียน ว่ายอพยพเข้ามาแล้วก็ออกไป ฉะนั้นมันจึงกินอาหารที่หลากหลายแต่อ่าวไทยเราเป็นหาดโคลนตะกอน คือพอแม่น้ำไหลลงมา เอาดินเลนตะกอนลงมาที่อ่าวไทย เกิดแพลงก์ตอนพิษขึ้น ปลาก็ไปกิน สัตว์ก็ไปกินกันเป็นทอดๆ แล้วปักเป้าบ้านเราเนี่ยคือชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารแล้ว ไม่มีใครมากินปักเป้าหนาม เพราะฉลามหัวค้อนเราแทบไม่มี พอไม่มีใครมาล่า มันก็สะสมพิษในตัวเองไปเรื่อยๆ

เรื่องแบบนี้คนปกติเขาไม่รู้กันหรอก (หัวเราะ) แต่ว่าบังเอิญชอบไง ก็เลยรู้ รู้ไปเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดกับคนกิน


ออกเรือ
(
ก.) เดินทางโดยเรือ

เห็นว่าออกเรือด้วย ออกเรือเพื่อไปรู้จักปลามากขึ้นใช่ไหม

ไม่หรอก ผมไปออกเรือเพราะผมแค่อยากได้วัตถุดิบที่สด ได้อะไรแปลๆ มาก็เอามาเสนอขาย ไม่ได้มีมิติอะไรเยอะกว่านั้น แต่มันทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของการประมงเท่านั้นเอง

เข้าใจธรรมชาติของการประมง คือแบบไหน

คือเข้าใจว่ามันกำหนดไม่ได้เลยครับ ธรรมชาตินี่เราไม่สามารถกะเกณฑ์อะไรได้ ชาวประมงก็คือขอทานแห่งท้องทะเล เราไม่รู้ว่าวันไหนจะได้เยอะ วันไหนจะได้น้อย ทุกอย่างอยู่กับฟ้ากับฝน เราแค่ทำหน้าที่ไป ทุกอย่างอยู่กับท้องทะเล

ซึ่งการเข้าใจธรรมชาติของประมงเนี่ย สำคัญมากเลยนะ อย่างที่ญี่ปุ่น ถ้าพูดถึงหอยเม่น ต้องของ ‘ฮาดาเตะ’ ที่เป็นสุดยอดเลย เป็นประมูลอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นเลยนะ โอมากาเสะจะชอบใช้มาก

แบรนด์ฮาดาเตะจะซื้อหอยเม่นจากฮอกไกโดเท่านั้น แล้วทุกๆ สัปดาห์จะเปลี่ยนที่ซื้อในเกาะไปเรื่อยๆ โดยจะซื้อทุกท่าเรือเลย แล้วเอามาชิมก่อนว่าหอยเม่นจากท่าเรือไหนอร่อยที่สุด โอเค ท่าเรือนี้นะ สัปดาห์นั้นฮาดาเตะก็จะซื้อหอยเม่นจากท่าเรือนี้ทั้งหมด แล้วค่อยมาคัดเกรด แล้วเอาไปประมูลเนี่ยคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องเข้าใจเยอะๆ ศึกษาเยอะๆ

การรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเยอะๆ จะทำให้เราได้เงินเพิ่มขึ้นด้วย

การรู้จักกับปลามันทำให้เราสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ดีกับคนในพื้นที่นะ ญี่ปุ่นนี่เวลาประกวดวัว จังหวัดไหนชนะปีนั้น วัวราคาขึ้นนะ จังหวัดนี้เลี้ยงด้วยแอปเปิล จังหวัดนี้นอนเตียงน้ำ จังหวัดนี้กินเบียร์ จังหวัดนี้นวดวัว แต่ละจังหวัดก็จะหาจุดแข็งของตัวเอง ซึ่งมันสร้างรายได้ให้ทั้งประเทศเลย

บ้านเราก็ทำได้ อย่างปลาทูแม่กลอง ที่หน้างอคอหักเพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันตัวโต มันเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แล้ว เราต้องรู้ว่าปลาทูในไทยเนี่ยมีสองสาย เขาเรียกสายตะวันออกกับสายใต้ สายใต้วิ่งตั้งแต่สุราษฎร์ธานีถึงแม่กลอง สายตะวันออกจะวิ่งอยู่ที่จันทบุรี ระยอง ตราด วนอยู่แถวนั้นแล้วออกทะเลเปิด ปลาทูบ้านเรามีรายละเอียดเยอะ แตกต่างกันไป

แต่ที่เขาบอกว่า ปลาทูต้องปลาทูแม่กลองเนี่ย เพราะแม่กลองเป็นจุดสุดท้ายที่เขาจะเดินทางมาเพื่อมาวางไข่ที่ปากแม่น้ำแม่กลอง ลูกปลาเมื่อเกิดก็จะว่ายลัดเลาะไปถึงสุราษฎร์ แล้วก็หากินมาเรื่อยๆ ย้ายถิ่นมาเป็นประจวบ เป็นชะอำ ไล่ขึ้นมา จนกลับมาวางไข่ที่แม่กลอง ปลาทูแม่กลองก็เลยต้องคอหัก มันใส่เข่งไม่ได้ ตัวโต

แต่น่าจะช้าไปหน่อย ผมสนิทกับพ่อค้าปลาอยู่ที่มหาชัย เขาบอกว่าเดี๋ยวนี้ปกติหนึ่งอาทิตย์จะมีปลาทูแม่กลองแท้ๆ เข้ามาแค่ประมาณ 5 กิโลกรัม ในฤดูก็อาจจะเยอะขึ้นมานิด แค่นั้น

คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องที่ปลาทูกำลังหายไปจากทะเลไทย

คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องการไม่กินลูกปลาทูอย่างเดียวนะ มันคือเรื่องอวนลากหน้าดินที่เอาทุกอย่าง แต่ต้องบอกก่อนว่ามันเป็นผลสืบเนื่องกันกับอย่างอื่นอีกหลายเรื่อง ถ้าเราไม่ลากอวนหน้าดิน อาหารสัตว์ไม่มี ถ้าอาหารสัตว์ไม่มี เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไม่ได้ หมูก็จะแพง ไก่ก็จะแพง ปลานิล ปลาดุกก็จะแพง

การลากอวนหน้าดินเพื่อเอาปลาป่นที่เอามาทำอาหารสัตว์นี่ ตัวทำลายล้างเลยนะ แล้วใครกินหมู ไก่ พวกนั้น ใช่เราหรือเปล่า ถามว่าจะใช้อย่างอื่นเป็นโปรตีนในอาหารสัตว์แทนได้ไหม ก็คงได้แหละ แต่ปลามันเป็นของฟรี เป็นของที่ไม่ต้องเสียเวลาเพาะเลี้ยง ถึงเวลาก็ไปกอบโกยได้เลย มันเลยกลายเป็นชอยส์ที่ง่ายที่สุด

ถ้าแบบนั้นเราควรต้องทำอย่างไร

คำว่าถ้าเราไม่ซื้อ คนก็ไม่เอามาขาย อันนี้จริง เราต้องมองว่า มันช่วยลดความสูญเสียได้จริงไหม สมมุติวันนี้ชาวประมงออกเรือไป ได้เต๋าเต้ยสิบตัว ฉลามสองตัว ก็ขายไป พรุ่งนี้เขาก็ออกเรือไปที่เดิม แต่มีกฎหมายแล้ว ห้ามจับฉลาม อ้าว ไม่ให้จับเหรอ เขาก็ถีบมันตกเรือไป ปริมาณการจับลดลงเหรอ คนเขาก็ยังทำประมงแบบเดิม สูญเสียเท่าเดิม แต่ว่าเขาไม่ได้ประโยชน์การสนับสนุนแบบนี้ เรามองไม่เห็นฉลามในตลาดปลาแล้ว เราสบายใจ คนไม่ได้กินฉลาม แต่ฉลามยังถูกจับไหม ยังถูกจับอยู่เหมือนเดิม

คือมันไม่มีชาวประมงคนไหนตั้งใจไปจับฉลามนะครับ ฉลามกิโลกรัมละ 60 บาท เขาต้องออกเรือไปนี่ไม่ได้คุ้มเลย แทนที่เขาจะไปจับปลาเต๋าเต้ย ปลาอินทรีราคาแพงๆ แต่ฉลามมันติดมา ถ้าเขาถีบลงทะเลไป ปลาก็ตาย วันนั้นรายได้เขาคือศูนย์บาท แล้วอะไรคือการอนุรักษ์ล่ะ ถ้าอุปกรณ์ประมงยังไปเบียดเบียดชีวิตฉลามอยู่ มันก็ยังไม่ใช่การอนุรักษ์ แต่ถ้าวันไหนที่คุณรู้ว่า เดือนนี้ต้องจับเต๋าเต้ยที่ไหนไม่ให้ติดฉลามมาด้วย แบบนั้นแหละ ในระยะยาว มันคือการอนุรักษ์ มันมีมิติมากกว่าแค่การออกกฎหมาย กฎหมายมันคือปลายทางมากๆ

ต่อให้เปลี่ยนกฎหมายก็ไม่ช่วย!

การอนุรักษ์แบบห้าม ห้าม ห้ามทุกอย่าง เอาจริงๆ ชาวประมงก็ยังฆ่าสัตว์สงวนทุกวันอยู่ดีนั่นแหละ ห้ามเอาขึ้นเรือเหรอ แต่มันตายแล้วทำอย่างไรล่ะ ก็ถีบลงน้ำไป เน่า จบ มันไม่ได้ช่วยอนุรักษ์เลย การอนุรักษ์ที่ดีจะต้องเข้าใจในสิ่งที่เราทำอยู่มากกว่า เห็นพยายามผลักดันกันน่าดู แต่เรามีการตั้งคำถามไหมว่าสิ่งที่เราทำอยู่ ในแง่ของความเป็นจริงมันอยู่ได้หรือเปล่า

เรือปั่นไฟเนี่ย จะมีเรือไดหมึกที่ใช้ไฟเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แล้วอวนหมึกเนี่ยมันก็ไม่ได้ถี่มาก แต่ถ้าจู่ๆ บอกว่าห้ามใช้เรือปั่นไฟจับสัตว์น้ำ อย่างนี้เรือไดหมึกซวยเลย เขาก็ต้องดูบริบทลงไป เจียระไนด้วยความเข้าใจจริงๆ ก่อนหน้านี้ที่มันมีกฎหมายประมงมาเยอะๆ เนี่ย ออกมาแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของการประมง สุดท้ายตลาดขาดแคลนของ ต้องนำเข้า มันไม่ได้รองรับกลไกธรรมชาติหรือกลไกการตลาดเลย มันต้องดูบริบทอย่างละเอียด ถ้าคุณไม่เคยออกเรือเลย ไม่เคยทำประมงเลย มาเขียนร่างกฎหมาย มันก็จะได้แบบนี้แหละ

ทุกวันนี้คนศึกษาเรื่องของปลาแค่เพาะพันธุ์อะไร เลี้ยงยังไง แต่วงจรชีวิตปลาตามธรรมชาตินี่แทบจะไม่มีการศึกษาญี่ปุ่นเขาจะศึกษาเลย ปลาตัวนี้วงจรชีวิตเป็นอย่างไร มันจะส่งผลต่อปลาตัวไหนด้วย แล้วจะจับได้เท่าไรต่อปี ทุกอย่างมันเชื่อมต่อกันหมด เขาถึงมีปลาให้จับตลอดทั้งปี แต่บ้านเราเน้นปริมาณ โอ้โห คุณเก่งมาเลยคุณจับปลาเก๋ามาได้เป็นหมื่นตัว ผ่าท้องมามีไข่ทุกตัว ปลาตัวอ้วนๆ แล้วบอกว่าทะเลไทยอุดมสมบูรณ์ขึ้นแล้ว จริงๆ มันไม่ใช่ คุณไปจับช่วงที่มันรวมฝูงเพื่อผสมพันธุ์ จับมาหมดเลย แล้วปีหน้าจะมีลูกปลาเหรอ

งั้นมีอะไรอีกไหมที่เราต้องมาบัญญัติความเข้าใจกันใหม่

(หัวเราะ) ผมว่ามีนะ มันเริ่มจากการใช้ประโยชน์ก่อน การใช้ประโยชน์แตกต่างกัน ใช้กินหรือใช้เพื่อการสันทนาการ อย่าง ดำน้ำ ท่องเที่ยว ถ่ายรูปใต้น้ำ บางครั้งเขาไปดำดูเรือจม เขาไม่เจอโรนิน ไม่เจอโรนัน มันก็ต้องมานั่งคุยกันว่า คุณไปดำที่ไหนมา คุณไปดำตรงปะการังเทียม ไปดำที่เรือล่ม มันไม่ใช่ที่อยู่ของเขา เขาอยู่พื้นทราย คุณลองไปดำพื้นทรายดู แต่พื้นทรายไปดำที่ไหนก็ว่ากันอีกทีนะ เพราะเรือที่จับได้เขาก็ลากอวนไปเรื่อยๆ

ฉลามหัวค้อน บ้านเราขึ้นเป็นสัตว์สงวนเลย เพราะมันไม่ได้อาศัยในน่านน้ำบ้านเรา มันเป็นปลาที่อาศัยในน้ำระดับ 200 เมตรขึ้นไป อาจจะมีลูกปลาที่หลงมาอนุบาลตัวเอง บางครั้งมันแฉลบเข้ามาเที่ยวหน่อย แล้วก็ไป บางตัวบังเอิญถูกจับได้แค่นั้นเองดังนั้นถ้าเราจะเจอจำนวนน้อยตัวก็ไม่แปลก แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นสัตว์หายากนะ

หรือปลาพระอาทิตย์ จะบอกว่ามันใกล้สูญพันธ์ ก็ไม่ได้เลย มันเป็นปลาแปซิฟิก บ้านเราใกล้สุดก็มหาสมุทรอินเดียหรือทะเลจีนตะวันออก แล้วการประมงไม่ได้สนใจจะไปจับเจ้านี่หรอก เพราะหนักมาก บางครั้งกว้านมันไม่มีแรงพอจะยกขึ้นมา ชาวประมงยอมฉีกอวนให้มันเลยนะ อวนตัวหนึ่งนี่พูดกันเป็นหลักแสนบาท ไม่อยากได้หรอกมันเกะกะ (หัวเราะ) ฉะนั้นจะบอกว่ามันหายากไม่ได้ แค่เราไม่ได้ศึกษา แต่ตอนนี้ถ้าไปเสิร์ชดูหลายที่ก็จะบอกว่ามันเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธ์

ต่างคนต่างจุดยืน ถ้าคนเรายังยึดถืออยู่กับจุดที่ตัวเองอยู่ ไม่สนใจความเป็นจริง เถียงกันไปอีกกี่ปีก็เถียงกันไม่จบ การต่อต้านไม่ผิดนะ แต่ต้องรู้ว่าเราต่อต้านเรื่องอะไร ต่อต้านเพื่ออะไร เราเข้าใจวงจรชีวิตสัตว์มากแค่ไหน การจับปลาไม่ผิดนะ เพราะเราต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่เราต้องให้โอกาสเขาได้ฟื้นตัว ปลาในช่วงผสมพันธุ์ต้องงด ปลาในวัยอ่อน เราต้องหลีกเลี่ยงในการจับ แล้วจะหลีกเลี่ยงยังไงล่ะ อันนี้ต้องศึกษา

สุดท้ายแล้ว เรากินปลาทูแม่กลองได้อยู่ไหม

ถามว่ากินได้ไหม กินได้นะ ถ้าเราเข้าใจมากพอ สมมติว่ามันวางไข่สามเดือน เราก็ห้ามจับแค่สองเดือนไหม ให้เขาได้วางไข่ก่อน แล้วเราค่อยเริ่มจับกันเดือนสุดท้าย มันก็คือการอะลุ่มอล่วยกัน พอลูกปลาเติมโตมาก็ห้ามจับนะ ระหว่างทางเราก็ต้องปล่อยให้เขาได้หากินไป วนเวียนเป็นวัฏจักร ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ ของคนเขียนกฎหมายแล้ว ผมเป็นพ่อค้าปลาก็คงไม่ค่อยเกี่ยวขนาดนั้น (หัวเราะ)


พูดคุยและพบเจอ อ๊อฟธนิสร วศิโนภาส ได้ที่

Kensaku ร้านอาหารญี่ปุ่นที่คัดสรรวัตถุดิบชั้นเลิศ เสิร์ฟพร้อมความสดและแปลกใหม่
Sushikiri เฟซบุ๊กเพจของคนรักปลาที่สรรหาสารพัดเรื่องปลาและสัตว์ทะเลมาเล่าให้ฟัง

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS