‘กิ๋นข้าวหลังบ้าน’ ล้อมวงกินอาหารเหนือท้องถิ่นสุดอบอุ่น

6,027 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ชวนไปล้อมวงกินข้าวหลังบ้านเพื่อน แบบที่ได้อร่อยกับอาหารเหนือสูตรเมืองแพร่แท้ๆ และยังได้อบอุ่นไปกับชั่วโมงทำครัวสูตรคุณยายอีกด้วย

‘กิ๋นข้าวหลังบ้าน’ คือโปรเจกต์ชวนทุกคนมาร่วมกินอาหารภายใต้แสงเทียนอย่างง่ายๆ ที่หลังบ้าน กับอาหารเหนือฝีมือคุณกิ๊ก-กานต์ศิริ พิทยะปรีชากุล และคุณยายผู้ชอบทำอาหารเมืองเหนือสไตล์แพร่ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโปรเจกต์นี้

คุณกิ๊กเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าฝ้ายทอมือ Kanz by Thaitor ที่นิสัยความคราฟต์นั้นบอกเลยว่าเชื้อไม่ทิ้งแถว เพราะคุณพ่อของเธอทำงานตกแต่งภายใน คุณแม่ชอบทำงานผ้า ทั้งย้อมผ้าบาติก และย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ เรียกได้ว่าคลุกคลีกับงานคราฟต์มาโดยตลอด ซึ่งแน่นอนว่าการทำอาหารก็สามารถเรียกเป็นงานทำมือที่ประณีตเช่นกัน ยิ่งเป็นการส่งต่อสูตรอาหารจากยายสู่หลานแล้วนั้น มีหรือที่จะพลาด เนื่องจากคุณกิ๊กเติบโตมากับคุณยาย

และโปรเจกต์ ‘กิ๋นข้าวหลังบ้าน’ ก็เกิดจากการที่คุณกิ๊กเคยจัดตลาดที่สวนหลังบ้านมาก่อน โดยหลังจากขายของเสร็จทุกคนก็มักจะร่วมนั่งกินข้าวด้วยกันเสมอ เป็นบรรยากาศอบอุ่นภายใต้ไฟปิงปองที่แขวนอยู่หลังบ้านเธอจึงอยากลองชวนทุกคนมากินข้าวกันจริงๆ จังๆ โดยมีคุณยายให้ความร่วมมือส่งต่อสูตรต่างๆ ให้หลานสาวแบบนับไม่ถ้วน ส่วนผู้เขียนก็ได้รับคำชวนให้ไปลองลิ้มชิมรสพร้อมสัมผัสบรรยากาศ ด้วยความใจง่ายเราก็เซย์เยสทันที



แต่จะมานั่งกินอาหารเหนือเฉยๆ มันก็ธรรมดาไปแล้วสำหรับสมัยนี้ รอบนี้ผู้เขียนจึงได้มาฝึกฝีมือลองทำด้วย โดยมีคุณยายเป็นคุณครูค่ะ เมนูแรก ‘แก๋งแค’ หรือแกงแคนั่นเอง ความพิเศษของแกงแคที่แพร่คือใส่มะแขว่นลงไปด้วย

ส่วนประกอบมีทั้งข่า ตะไคร้ เกลือ มะแขว่น หอม กระเทียม พริกแห้ง โขลกรวมกันจนเป็นพริกแกง คุณยายแอบบอกว่า พริกให้ใส่เป็นเลขคี่ถึงจะอร่อย (ตามความเชื่อคนโบราณ) จากนั้นนำพริกแกงไปผัดกับหมูก่อนให้เครื่องหอมจึงใส่น้ำลงไปได้ น้ำเดือดสักพักก็ใส่ถั่วฝักยาวและมะเขือ ก่อนปิดไฟใส่ใบกะเพรา ชะพลู ผักชีลาว เป็นอันเสร็จ รสชาติแกงแคที่ใส่มะแขว่นนั้นมีเอกลักษณ์แบบเมืองเหนือมากๆ เผ็ดร้อนอ่อนๆ รสชาติลำแต้ๆ เลยจ้าว



อีกเมนูคือ ‘จิ้นส้มหมก’ ซึ่งก็ทำไม่ยากเลยค่ะ เริ่มจากเช็ดใบตองให้สะอาด ใส่เนื้อหมูบด หนังหมู กระเทียม เกลือ ข้าวนึ่ง คลุกให้เข้ากันห่อด้วยใบตอง (บางที่อาจจะใส่ไข่ กลายเป็น ‘จิ้นส้มหมกไข่’ อร่อยได้เหมือนกัน) แล้วนำไปปิ้งไฟอ่อน ค่อยๆ ให้กลิ่นใบตองหอมเข้าไปถึงข้างใน เมื่อปิ้งจนใบตองกรอบและมีกลิ่นหอมดีแล้วจึงยกลงจากเตา จิ้นส้มหมกมีรสชาติเปรี้ยวกับรสสัมผัสของหนังหมูกรึบๆ ในปาก ได้ข้าวเหนียวสักกำปั้นหนึ่งต้องฟินไปแปดบ้านสิบบ้านแน่นอน


มีจิ้นส้มหมกแล้วจะขาด ‘น้ำพริกมะเขือส้ม’ ไปไม่ได้ โดยที่แพร่นั้นน้ำพริกมะเขือส้มจะใส่ปลาย่างลงไปด้วย และที่สำคัญสำหรับอาหารเหนือ นั่นคือ ‘ถั่วเน่าย่างไฟ’ ที่ยิ่งเพิ่มความอร่อยของรสชาติเข้าไปอีก โดยความพิเศษในช่วงที่ผู้เขียนไปนั้นเป็นช่วงที่ผักตามฤดูกาลที่แพร่กำลังออกดอกออกผล เราจึงได้ลิ้มรส ‘มะน้ำแก้วน้อย’ (จะเรียก ม่าน้ำแก้ว บะน้ำแก้วน้อย น้ำเต้าอ่อน ก็ได้ตามแต่ละพื้นถิ่นจะใช้เรียกกัน) มีรสขาติหวานตามธรรมชาติ มีผักขี้หูดนำมาต้มกินคู่กับน้ำพริก และเนื่องจากตอนบ่ายเราได้ไปบ้านใกล้เรือนเคียงแถวนั้นมาจึงได้ดอกดาหลามากินคู่กับน้ำพริกสดๆ อีกอย่าง รสชาติคล้ายๆ ผักแพวเลยละค่ะ ทำให้น้ำพริกธรรมดากลายเป็นน้ำพริกพิเศษได้เลย



เมื่ออาหารพร้อมแล้ว เราจึงยกไปที่โต๊ะกินข้าวหลังบ้านกัน ความที่โปรเจกต์นี้ตั้งใจให้เหมือนกินข้าวที่บ้านเพื่อน ไม่พิธีรีตองมากนัก ทุกคนที่มาร่วมโต๊ะจึงเตรียมอาหารกันมาคนละอย่างสองอย่างแบบไม่ได้นัดหมาย อาหารเต็มโต๊ะอบอุ่นสมเป็นการกินข้าวที่บ้าน ก่อนจะจบมื้อด้วยทาร์ตกล้วยบวชชี (เป็นช่วงฤดูกาลของกล้วยจริงๆ ค่ะ) และชาสมุนไพรร้อนๆ จากร้าน Orange’s tea ที่เบลนด์ชาเองกับมือสำหรับมื้อพิเศษวันนี้


นอกจากจะได้กินอาหารเหนือสุดอร่อยแล้วโปรเจกต์ ‘กิ๋นข้าวหลังบ้าน’ ยังทำให้ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณยายและคุณหลาน ที่มีโอกาสก็มักจะเข้าครัวด้วยกันเสมอ รวมไปถึงน้ำใจของคนแพร่ ที่หิ้วของกินมาฝากกันจนพุงกาง แถมยังได้สูตรอาหารเหนือแบบคนแพร่ไปฝึกลองทำที่บ้านด้วย บอกเลยว่าคุณยายไม่หวงสูตรใดๆ เคล็ดลับเทคนิคต่างๆ สอนให้หมด

โปรเจกต์นี้จัดเรื่อยๆ โดยเมนูอาหารจะเปลี่ยนไปตามแต่ฤดูกาลว่ามีอะไรให้นำมาทำอาหารบ้าง ใครสนใจจะ ‘กิ๋นข้าวหลังบ้าน’ ด้วยกัน ติดตามได้ที่เพจ Homelynestphrae เลยจ้ะ




เรื่องและภาพโดย อรพิม วรรณกายนต์

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS