กรุ่นกลิ่นอาหารบ้านๆ ผ่าน ‘จดหมายจากสันคะยอม’

1,455 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ชวนอ่านหนังสือเล่มเก่าจาก ‘ฮิมิโตะ ณ เกียวโต’ ร่างแยกของ ‘คำ ผกา’ และ ‘แขก-ลักขณา ปันวิชัย’

คุณลักขณา ปันวิชัย หรือที่เหล่าแฟนคลับเรียกกันว่า ‘พี่แขก’ เป็นคนที่ฉันยกย่องว่ามีฝีไม้ลายมือน่าประทับใจ ทั้งเรื่องการเขียนและการครัว

เด็กๆ และวัยรุ่น (ไปจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย) ผู้มีใจฝักใฝ่การเมืองมักรู้จักเธอในนาม ‘เครื่องด่า’ ด้วยฝีปากที่น่าประทับใจไม่แพ้ฝีไม้ลายมือ ส่วนนักอ่านรุ่นกลางคนขึ้นไป หรือนักอ่านรุ่นเล็กที่เติบโตมากับกองหนังสือมือสองอย่างฉัน น่าจะรู้จักเธอในฐานะของคอลัมนิสต์มาก่อน ไม่ว่าจะด้วยนามปากกา ‘ฮิมิโตะ ณ เกียวโต’ หรือ ‘คำ ผกา’ ก็ตาม

รสนิยมในการด่าหรือไม่ด่านั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ในที่นี้ฉันจึงไม่บังอาจแทรกความคิดเห็นของฉันลงไปได้ แต่รสนิยมในเรื่องอาหาร ฉันตกหลุมรัก ฮิมิโตะ ณ เกียวโต เข้าอย่างจัง ผ่านถ้อยคำและกลิ่นอาหารบ้านๆ ของเธอ จากหนังสือ ‘จดหมายจากสันคะยอม’ เล่มนี้

ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้คือ มันไม่ใช่หนังสืออาหารเสียทีเดียว ในขณะเดียวกัน หากคุณหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านครั้งใด คุณก็ควรจะต้องกลืนน้ำลายดังเอื๊อกๆ บ้างเหมือนกัน เพราะผู้เขียนได้โปรยกลิ่นหอมๆ ของอาหารปรุงสุกใหม่ไว้บนหน้ากระดาษอย่างเป็นธรรมชาติและนวลเนียนไปกับเรื่องเล่า หรือเมื่อเธอพูดถึงกรรมวิธีการทำอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ฮิมิโตะ ณ เกียวโต ก็ได้ใช้ประสบการณ์ตรงจากชีวิตวัยเด็กของเธอ วาดภาพผ่านตัวอักษรออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนจนฉันแทบจะได้ยินเสียงลาบอยู่ข้างหู 

“…การลาบนี้มีเทคนิคคือต้องค่อย ๆ ลาบ (สับ) ลงไปด้วยน้ำหนักสม่ำเสมอ คอยดูให้เนื้อที่ถูกลาบนั้นไม่ร่วนซุย แต่ต้องเหนียวและเกาะตัวกันดี เป็นดังนั้นแล้วจึงเอาเลือดลงไปลาบรวมกับเนื้อ เลือดที่ว่านี้ก็ต้องเป็นเลือดก้อน ค่อย ๆ ลาบจนเนื้อกลายเป็นสีแดงทีละน้อย เคล็ดลับอย่างหนึ่งอันจะทำให้ลาบไม่ร่วนซุย แฉะน้ำ แต่เหนียวนุ่มนวลดี คือเอาเกลือเม็ดและมะเขือพวงลงไปลาบด้วยสักสามสี่เม็ด คราวนี้ยกมีดขึ้นมาแต่ละที เนื้อจะติดมีดขึ้นมาเหนียวหนุบหนับเลยทีเดียว”

  • บทนี้เป็นบทโปรดบทหนึ่งของฉัน ชนิดที่ว่าฉันอ่านซ้ำไปซ้ำมาได้ไม่รู้เบื่อเลยละค่ะ

อย่างไรก็ตาม ในตอนต้นของบทเดียวกันนี้ เธอก็เล่าขั้นตอนการรับซื้อหมูเลี้ยงตามบ้านมารอเชือด ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของครอบครัวเธอที่บ้านสันคะยอม ได้แก่การติดสอยห้อยตามยายตะลอนๆ ไปซื้อหมู การเตรียมเชือดหมู ตำแหน่งแห่งหนและหน้าที่ของเธอในระหว่างการเชือดนั้น ไปจนถึงอนาโตมี่ของหมูแต่ละส่วนว่าส่วนไหนเหมาะจะทำอะไร พาดยาวไปจนถึงความนิยมในการกินไขมันของชาวญี่ปุ่น และความไม่นิยมกินไขมันของคนไทย (เพราะมองว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) เทียบทาบกันไปมาว่า ฮิมิโตะ ณ เกียวโต ก็พาครัวบ้านๆ จากสันคะยอมและครัวอาทิตย์อุทัยจากเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มาหลอมรวมเข้าด้วยกันบนเขียงหมูเขียงเดียวได้อย่างงดงาม 

แต่ระหว่างทางกว่าจะจบลงที่เรื่องเขียงหมูหรือสารเร่งเนื้อแดง เธอก็พาเราไปรู้จักกับเมนูหมูๆ นับสิบเมนู!

ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกตั้งแต่อายุสิบต้นๆ ที่ยังไม่รู้จักกับ ‘คำ ผกา’ และไม่รู้จัก ‘ลักขณา ปันวิชัย’ เสียด้วยซ้ำ แต่ความประทับใจแรกพบก็คือความละเอียดและเป็นจริงในถ้อยคำของผู้เขียนที่จูงมือเราเข้าไปร่วมเตรียมเครื่องลาบ ออกแรงลาบ เดินเก็บผักแนม ฯลฯ ร่วมกันกับคนบ้านสันคะยอม มันจึงเป็นหนังสืออ่านเพื่อความจรรโลงใจอีกเล่มหนึ่ง

เมื่อเร็วๆ นี้ฉันได้หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกครั้ง (เป็นครั้งที่เท่าไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว) ในวันที่คุณลักขณา ปันวิชัย โดดเด้งจากพิธีกรหรือสื่อไหน ๆ ด้วยการวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำและการกดทับจากอำนาจรัฐใดๆ ก็ตามแต่ด้วยลีลาเผ็ดร้อน ฉันมองย้อนไปเห็นหลักการเหล่านั้นอยู่ในหนังสือเล่มนี้เต็มไปหมดด้วยเช่นกัน แต่มันเป็นหลักการที่ถูกเล่าด้วยน้ำเสียงอีกแบบหนึ่ง น้ำเสียงของเด็กหญิงจากบ้านสันคะยอม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ใช้ชีวิตและเติบโตจนได้พบกับโครงสร้างสังคมอีกแบบในประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะกลับมามองบ้านสันคะยอมและประเทศของเธออีกครั้งด้วยสายตาที่เข้าอกเข้าใจมากกว่าที่เคย

“อาจเป็นเพราะฉันไม่ได้อยู่บ้านเสียนาน การไปอยู่ต้างบ้านต่างเมือง บางทีมันก็ทำให้เรากลับมาแฟนตาซีบ้านเกิดของตัวเองแปลกๆ อย่างที่ฉันกำลังแฟนตาซีกบ แฟนตาซีหน่อไม้ มานั่งคร่ำครวญหวนไห้อาลัยหารสชาติจากธรรมชาติ พูดถึงหน่อไม้ ฉันก็นึกถึงแกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง กับปลาช่อนเผาไฟทั้งเกล็ด นึกถึงน้ำปูสีดำจนเข้มเขียว อร่อยจนทำให้ขาดใจตายได้ แต่ก็เหม็นร้ายกาจ เหม็นติดไมม้ติดมือไปได้สามวันสามคืน ไม่มีสบู่หรือโลชั่นยี่ห้อไหนจะมาลบล้างกลิ่นอร่อย เหม็น มหัศจรรย์นี้ไปได้เหมือนกัน”

ฉะนั้นแล้ว สิ่งทั้งหมดทั้งมวลในหนังสือเล่มนี้ จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากชีวิตของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันเกิดจากการกอปรเอาเศษเสี้ยวของชีวิตวัยเยาว์ที่สันคะยอม และบางส่วนของการเป็นนักเรียนทุนในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาผสมผเสรวมกันด้วย จดหมายจากสันคะยอมจึงเป็นความทรงจำของคนคนหนึ่งที่โอบอุ้มเอารสชาติและสูตรอาหารไว้อย่างเต็มปรี่ แน่นและล้นออกมากลายเป็นตัวหนังสือที่อ่านได้อย่างสบายใจและสนุกสมอง

หนังสือที่ดีในรสนิยมของฉัน คือหนังสือที่มอบมุมมองใหม่ๆ ให้เราได้เสมอ แม้ว่าเราจะกลับมาอ่านมันเป็นครั้งที่เท่าใดก็ตาม ใจความระหว่างบรรทัดจะถูกเปิดเปลือยให้เห็นมากขึ้นตามประสบการณ์และความคิดความรู้สึกของผู้อ่าน ในชีวิตหนึ่ง ฉันมีหนังสือที่จัดอยู่ในหมวดนี้หลายเล่ม อย่างเช่น เจ้าชายน้อย (Antoine de Saint-Exupéry) หรือ ปรัชญาชีวิต (Kahlil Gibran) และโดยอัตวิสัยอย่างถึงที่สุด ในฐานะที่ฉัน (ถือไปเองว่า) เป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงร่วมอำเภอเดียวกัน ฉันก็ขอบรรจุชื่อ จดหมายจากสันคะยอม โดย ฮิมิโตะ ณ เกียวโต ไว้เป็นหนึ่งในหนังสือดีประจำใจฉันอีกเล่มด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกับการรีวิวหนังที่ไม่ควรสปอยล์หนัง ฉันเองก็ไม่ควรจะเล่าเรื่องหนังสือเล่มนี้ให้โป๊อล่างฉ่างเกินงาม เพราะความประทับใจแรกของหนังสือควรจะเป็นของคนอ่านคนเดียวเท่านั้น ฉะนั้นฉันคงจะต้องหยุดเล่าเรื่องบ้านสันคะยอม ให้คุณค้างเติ่งอยู่เพียงที่บรรทัดนี้ เพื่อที่ว่าคุณจะได้กระหายมากพอที่จะดื่มดำกับตัวอักษรได้อย่างไม่มีคำใบ้จากผู้อื่นมากจนเสียอรรถรส

ไม่ว่าคุณจะรักหรือไม่รัก ‘ลักขณา ปันวิชัย’ ก็ตาม ‘ฮิมิโตะ ณ เกียวโต’ ก็เป็นร่างแยกร่างหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นอีกโทนเสียงในยามที่เธอไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เครื่องด่า ซึ่งฉันว่าเธอเป็นพี่สาวที่น่ารักมากๆ คนหนึ่งทีเดียวละค่ะ

อ่านบทความเพิ่มเติม

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS