MasterChef เรียลลิตี้อาหารสร้างชาติ

5,125 VIEWS
PIN

image alternate text
“นี่มาสเตอร์เชฟประเทศไทยนะ ถ้าคุณเป็นคนไทย คุณต้องศึกษาวัตถุดิบไทย” – หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล “เพราะนี่คือมาสเตอร์เชฟประเทศไทย คุณต้องพิสูจน์ให้เราเห็นว่าคุณมีความรู้ความเข้าใจ และรู้จักวัตถุดิบท้องถิ่นเพียงพอ” - หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์

เพียงภารกิจแรกหลังจากฟาดฟันกันเพื่อคว้าผ้ากันเปื้อนอันเป็นเครื่องหมายการันตีความเป็นผู้เข้าแข่งขันตัวจริงของ ‘มาสเตอร์เชฟประเทศไทย ซีซั่น 2’ พวกเขาก็ต้องเจอกับวัตถุดิบหลักเป็น ‘ปลาร้า’ พร้อมคำพูดกดดันจากคณะกรรมการอย่างที่ยกมาข้างต้น ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้าและหลังจากนั้น รายการได้ใช้วัตถุดิบพื้นบ้านและความเป็นคนไทยมาใช้ทดสอบคุณสมบัติมาสเตอร์เชฟประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้ความดุดันในน้ำเสียงนั้น เราอาจตีความแบบเข้าข้างกรรมการได้ว่า การจะชนะการแข่งขันในรายการได้ต้องสามารถรับมือกับอาหารได้ทุกประเภท แล้วยิ่งรายการจัดขึ้นในประเทศไทย ก็ยิ่งควรต้องเผชิญหน้ากับมันได้อย่างไม่เกรงกลัวด้วย จะว่าไปแล้ว นี่ไม่ใช่ค่านิยมที่ไทยคิดประดิษฐ์มันขึ้นมา เพราะเมื่อไปดูของต่างประเทศก็พบว่า ชาวบ้านก็กรอกหูผู้เข้าแข่งขันด้วยทัศนคติทำนองนี้เช่นกัน

อังกฤษ เป็นประเทศต้นกำเนิดรายการ ‘มาสเตอร์เชฟ’ ซึ่งออกอากาศครั้งแรกตั้งแต่ปี 1990 ก่อนจะเว้นวรรคหลังปี 2001 และกลับมาอีกครั้งในปี 2005 โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา ซาลิฮา มาห์มูด อาห์เม็ด คือมุสลิมหญิงคนแรกของที่นี่ เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา เธอเป็นหมอและชนะจากการเอาวัฒนธรรมอาหารปากีสถานกับอาหารสไตล์แคชเมียร์มาผสมผสานกับอาหารแบบตะวันตก แน่นอนว่าชัยชนะของเธอทำให้เกิดคำถามในทวิตเตอร์รุนแรงว่านั่นเพราะความเป็น ‘คนนอก’ ของเธอหรือไม่? แต่ในขณะที่อีกฟากก็เป็นการเฉลิมฉลองของชาวมุสลิม ที่อาหารมุสลิม (อันมีข้อจำกัดมากมาย) สามารถเอาชนะรายการใหญ่ระดับโลกได้สำเร็จ

แม้จะมีต้นกำเนิดมาจากอังกฤษ แต่โครงสร้างรายการ ‘มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย’ กลับมีความคล้ายคลึงกับฉบับของฝั่งอเมริกามากกว่า ที่มีจังหวะการเล่าเรื่องแสนกดดันราวกับหนังแอคชั่น ไมเคิล เบย์ ซึ่งในฉบับอเมริกาเองก็นำเสนอเนื้อหาที่ชูความเป็นชาตินิยมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภารกิจที่มีให้เห็นแทบจะทุกซีซันนั่นคือ การทำอาหารให้ทหารกินทั้งกองทัพ โดยสิ่งที่ กอร์ดอน แรมเซย์ พิธีกรและโปรดิวเซอร์รายการหมั่นไซโคผู้เข้าแข่งขันในภารกิจนี้คือ “คุณจะตอบแทนสิ่งที่ทหารทำเพื่อประเทศชาติด้วยอาหารแบบนี้เหรอ?” นั่นแสดงให้เห็นว่านอกจากการเล่าเรื่องสุดเร้าใจของรายการแล้ว การสร้างชาติด้วยจิตสำนึกแบบเชิดชูกองทัพของรายการนั้นก็ไม่ต่างจากหนังของ ไมเคิล เบย์ อย่าง Transformers เช่นกัน ต่างกันที่ ‘มาสเตอร์เชฟ’ ใช้อาหารเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุจุดประสงค์นั้น

นอกจากการสร้างชาติด้วยกองทัพของอเมริกา (หลายประเทศอย่างอังกฤษก็มีภารกิจคล้ายกันนี้ด้วย) ส่วนหนึ่งของความสนุกในการรับชม ‘มาสเตอร์เชฟ’ ไม่ว่าจะเวอร์ชันประเทศใดในโลก คือการที่ผู้เข้าแข่งขันเดินทางมาจากภูมิลำเนาที่หลากหลาย และหลายครั้งรายการก็ตอกย้ำความเป็นชาติด้วยความหลากหลายนี้เช่นกัน เช่นบางภารกิจของอเมริกาได้เลือกวัตถุดิบจากรัฐที่จำเพาะเจาะจงให้เข้าทางผู้เข้าแข่งขันบางคน ในออสเตรเลียเองอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิประเทศ พาผู้เข้าแข่งขันเดินทางไปยังดินแดนที่ห่างไกลเพื่อหยิบวัตถุดิบเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ มาปรุงเมนูเฉพาะตัว

หรืออย่างประเทศไทยเองก็คัดผู้เข้าแข่งขันมาจากหลากหลายพื้นที่ ทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ และหลายครั้งที่กรรมการแสดงความคาดหวังจากผู้เข้าแข่งขันที่มาจากพื้นที่ที่หลากหลายนั้นให้รังสรรค์เมนูอันพัฒนาขึ้นจากวัฒนธรรมการกินตามถิ่นกำเนิดของแต่ละคน แต่มันอาจไม่เป็นไปตามนั้นเสมอไปก็ได้ เช่น กะปอม ที่แม้เป็นผู้เข้าแข่งขันจากอีสาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องเข้าใจปลาร้าได้ดีที่สุดอย่างที่กรรมการและคนดูคาดหวังจากเขา หรือ น้ำฝน ในซีซัน 1 จากยะลา แต่เอาเข้าจริงเธอกลับถนัดทำอาหารเหนือมากกว่า เพราะพื้นเพของครอบครัวมาจากภาคเหนือ เป็นต้น… จึงไม่น่าแปลกใจหากจะนำมาสู่ทัศนคติที่ว่า “ถ้าคุณเป็นคนไทย คุณต้องเข้าใจวัตถุดิบไทยเป็นอย่างดี” หรือ “คุณมีรากมาจากเกาหลี ควรจะเข้าใจการทำบิบิมบับมากกว่าคนอื่น” แม้ว่าในรายละเอียดของมนุษยชาติมันจะไม่ได้ตายตัวอย่างนั้นเลยก็ตาม

เพราะวัฒนธรรมอาหารก่อร่างขึ้นจากวัตถุดิบและสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ที่ปั้นมันขึ้นมาให้มีความแตกต่างกัน และเมื่อมีรายการแข่งขันทำอาหาร มันจึงเป็นธรรมดาที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องงัดทักษะต่างๆ ที่หล่อหลอมขึ้นจากวัฒนธรรมอาหารของตัวเองมาฟาดฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย… และกลายเป็นว่าเรียลลิตี้อาหาร -ไม่เฉพาะมาสเตอร์เชฟ- ได้กลายเป็นศึกแห่งความเป็นชาติยิ่งกว่าเรียลลิตี้ประเภทไหนๆ ไปแล้ว

 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS