เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน

19,162 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
สุขสันต์วันแรงงาน แด่ทุกแรงงานเบื้องหลังอาหารที่เรากิน

เปิบข้าวทุกคราวคำ           จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน                    จึงก่อเกิดมาเป็นคน

ข้าวนี้นะมีรส                    ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน             และขมขื่นจนเขียวคาว

จากแรงมาเป็นรวง            ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว         ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ

เหงื่อหยดสักกี่หยาด          ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น               จึงแปรรวงมาเป็นกิน

น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง               และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น              ที่สูซดกำซาบฟัน

ข้อความข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทกวี  ‘วิญญาณหนังสือพิมพ์ (คำเตือน…จากเพื่อนเก่าอีกครั้ง)’ โดยนักคิดนักเขียนคนสำคัญอย่าง ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ โดยใช้นามปากกาว่า ‘กวี ศรีสยาม’ และเชื่อว่าคงเคยผ่านหูผ่านตาใครหลายคนในฐานะบทเรียนอยู่บ้าง หากยังไม่หลงลืมกันเสียก่อน

บทกวีข้างต้นเล่าถึงความลำบากของชาวนา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ด้วยว่าเป็นผู้ผลิต ‘ข้าว’ แหล่งคาร์โบไฮเดรตหลักของคนไทย ทั้งข้าวสวย ข้าวเหนียว และอีกสารพัดข้าวที่วิ่งวนอยู่ในระบบอุตสาหกรรมอาหาร วิญญาณหนังสือพิมพ์ฯ ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 น่าเศร้าใจที่เวลาผ่านมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ความเหนื่อยยากของชาวนาก็ไม่ได้ลดน้อยลง ซ้ำยังถูกทับถมด้วยกลไกราคาข้าว หนี้สินทั้งในและนอกระบบ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่หากใจร้ายกว่านี้อีกสักนิด ก็คงเรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังอันผุกร่อนได้ไม่ผิดนัก

อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าความผุกร่อนของชาวนาเป็นไปด้วยสาเหตุใดบ้าง ขั้นตอนใดในการเพาะปลูก – ค้าขาย ที่กดขี่ศักดิ์ศรีของชาวนาให้ยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ ชาวนาขายข้าวได้เกวียนละไม่กี่พันบาท ในขณะที่ข้าวถุงตามซูเปอร์มาร์เก็ตแพงแสนแพง ชวนให้ตั้งคำถามว่าเงินที่เราจ่ายแลกกับข้าวสารสักหนึ่งถุงนั้นจะตกถึงมือผู้ผลิตข้าวของเราสักกี่มากน้อย สืบโยงไปถึงแรงงานในทุกกระบวนการการผลิตและจำหน่ายอาหารที่ล้วนมีชะตากรรมไม่ต่างกัน

‘เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน’ ของพวกเขา เราจ่ายเงินกี่บาทเพื่อแลกกับ ‘เหงื่อ’ นั้น?

มีแรงงานอยู่ในอาหารที่เรากิน

หากเรากินอาหาร 1 มื้อโดยไม่ต้องออกแรงปลูก เก็บเกี่ยว ขนส่ง หรือปรุงอะไรเองแม้แต่น้อย พึงระลึกไว้เสมอว่ามีแรงงานมหาศาลอยู่ในจานอาหารของเรา

ไม่เพียงแต่ชาวนาเท่านั้น ในข้าวราดแกงง่ายๆ จานเดียว มีแรงงานจากคนนั้นคนนี้อยู่มากมายจากต้นจนจบ ตั้งแต่เกษตรกรผู้เพาะปลูก คนเลี้ยงสัตว์ ชาวประมงที่ออกเรือไปกลางทะเล คนขับรถขนส่งที่ลำเลียงเอาวัตถุดิบจากต้นทางกระจายไปทั่วประเทศ แรงงานในระบบอุตสาหกรรมผลิตอาหาร คัดแยก ตัดแต่ง บรรจุลงหีบห่อ แรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป พนักงานขายของในห้างสรรพสินค้า พ่อค้าแม่ค้าทั้งขายปลีกและขายส่ง แรงงานเข็นรถเข็นทั้งคนไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน พี่ยามหน้าซูเปอร์มาร์เก็ต คุณป้าแม่บ้านในร้านสะดวกซื้อ พี่แม่ครัวร้านประจำ แน่นอนว่ารวมถึงพนักงานเสิร์ฟและคนล้างจานก็อยู่ในกระบวนการนี้ด้วยเช่นกัน

หากแต่บางครั้งเราหลงลืมไปอย่างไม่ตั้งใจ ว่าเงินของเราจะส่งต่อไปถึงคนกลุ่มนี้กี่มากน้อย และมันจะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เท่าไร

คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล แรงงานประมง ตลาดค้าทาสแห่งยุค

เมื่อพูดถึงแรงงานในสายพานของการผลิตอาหาร กลุ่มงานที่ได้ชื่อว่ามีปัญหาเรื้อรังมายาวนานและรุนแรงที่สุดย่อมตกอยู่กับแรงงานประมงอย่างไม่ต้องสงสัย ประเทศไทยคือผู้ส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก จึงมีแรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานจากประเทศอื่นๆ อยู่ในระบบเกือบสามแสนคน คิดเป็นแรงงานในโรงงานอาหารทะเลราว 222,000 คน และมีแรงงานที่ทำงานบนเรือประมงราว 70,000 คน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอาหารทะเลทุกจานที่เรากิน

น่าเศร้าใจที่กลุ่มแรงงานเหล่านี้ต้องทำงานหนักเพื่อแลกกับค่าตอบแทนที่ไม่มากนัก มีการรายงานจากภาคประชาสังคมว่าแรงงานประมงเหล่านี้อาจต้องทำงานหนักถึง 18 ชั่วโมงต่อวัน ตลอด 7 วันในหนึ่งสัปดาห์ มีอาหารการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่มากพอ ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ลำบากตลอดทั้งวัน และไม่สามารถต่อรองได้เพราะถูกยึดเอกสารประจำตัวไปตั้งแต่ก่อนขึ้นเรือ ทำให้แรงงานประมงอยู่ในจุดที่เปราะบางและไม่สามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ ทั้งปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน การขาดการรายงานและขาดการควบคุมแรงงานประมง ทำให้ไทยถูกจับตามองในระดับโลก ในบริบทของการค้ามนุษย์สมัยใหม่เลยทีเดียว

ความลำบากของแรงงานประมงเท่าที่ตาเห็นนั้นยังไม่หนักหนาเท่าสิ่งที่ถูกเล่าต่อมา จากปากของอดีตลูกเรือทั้งที่กลับลำออกมาจากวงจรนรกได้ และที่หนีตายมากลางคัน การออกเรือเพื่อทำงานเป็นเวลานานๆ ไม่เพียงแต่เหนื่อยกายเหนื่อยใจเท่านั้น แต่ยังอยู่ในความเสี่ยงของการโดนกดขี่ขูดรีดโดยไม่สามารถมีใครไปสอดส่องดูแลได้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่อลวงหรือบังคับให้ลงเรือไปเป็นแรงงาน ถูกขายต่อๆ ไปตามเรือลำนั้นลำนี้จนหลายคนติดอยู่กลางทะเลแบบไม่ได้เห็นแผ่นดินนานกว่า 3 ปี หลายคนถูกผัดผ่อนการจ่ายค่าแรงนานกว่าครึ่งปี หรือถูกเบี้ยวเงินไปเสียเฉยๆ หากต่อต้านหรือมีปากเสียงก็สุ่มเสี่ยงต่อการโดนทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ หรืออาจร้ายแรงถึงชีวิตโดยไม่มีใครรับรู้ เพราะการออกเรือนัยหนึ่งก็คงพูดได้ว่าคืบก็ทะเลศอกก็ทะเล

ปัญหาแรงงานประมงในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ล้าสมัย เพราะกุ้งหอยปูปลาทั้งแบบสดและแบบแช่แข็งตามซูเปอร์มาร์เก็ตที่เรากินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันล้วนมีชีวิตของพวกเขาเหล่านี้อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ยิ่งราคาของอาหารทะเลถูกกดต่ำลงมากเท่าไร ชีวิตของแรงงานเหล่านี้ก็ย่อมจะถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นไปตามกลไกการควบคุมราคาจากส่วนกลาง หรือเป็นไปตามกลไกการตลาดเพื่อเพิ่มอุปสงค์ก็ตามที

อุตสาหกรรมปศุสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูป โรงเชือดของคนและสัตว์

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการการผลิตให้คาดหวังผลได้ตามที่ตลาดต้องการ การบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากขึ้นส่งผลให้ตัวอุตสาหกรรมเองต้องเร่งการผลิตให้ตอบรับกับความต้องการ ทั้งการใช้อาหารสำเร็จรูปสูตรพิเศษ การเพิ่มฮอร์โมนหรือยาบางชนิดที่ช่วยเรื่องการเจริญเติบโต หรือแม้กระทั่งการทำงานอย่างหนักของแรงงานที่จะช่วยควบคุมให้วงจรการผลิตเป็นไปตามที่คาดหมาย

ในปี 2557 ไทยส่งออกเนื้อสัตว์ไปยังสหภาพยุโรป คิดเฉพาะเนื้อไก่เป็นจำนวนกว่า 270,000 ตัน (ข้อมูลจากปี 2557) และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการของตลาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขนี้จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าจะมีแรงงานอยู่เบื้องหลังเนื้อไก่ที่ผลิตในประเทศไทยอยู่มหาศาล ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานจากประเทศข้างเคียงอย่างเช่นกัมพูชาและเมียนมาร์ ซึ่งมีการรายงานว่าแรงงานอพยะเหล่านี้ ส่วนหนึ่งตกอยู่ภายใต้การกดขี่จากทั้งหัวหน้างานและจากนายหน้า ไม่ว่าจะเป็นการยึดเอกสารประจำตัว การเรียกค่านายหน้าในราคาที่ไม่เป็นธรรม การเร่งให้ทำงานต่อเนื่องจนเสร็จเพราะจำนวนแรงงานในระบบไม่เพียงพอต่อปริมาณงานทีมีอยู่

ไม่เพียงแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานเท่านั้น การกำหนดราคากลางและกลไกของตลาดที่ถูกบีบด้วยอุตสาหกรรมรายใหญ่ก็อาจมีส่วนบีบคั้นผู้ประกอบการรายย่อยด้วยเช่นกัน การขยับขึ้นลงของราคาไข่ไก่ส่วนมากในท้องตลาดถูกกำหนดและปรับเปลี่ยนโดยมีอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่เป็นฟันเฟืองสำคัญ ในขณะที่ผู้ค้าและผู้ผลิตรายย่อยต้องลดต้นทุนทุกวิถีทางเพื่อวิ่งตามราคาเหล่านั้นให้ได้ อาจพูดไม่ได้อย่างชัดเจนว่าอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่บังคับให้ผู้ประกอบการรายย่อยต้องใช้สารเคมี ใช้อาหารสำเร็จรูปราคาสูง แล้วไปลดต้นทุนด้านการจ้างแรงงานและด้านอื่น ๆ แทน แต่เชื่อว่าการกำหนดราคาโดยผู้ผลิตที่มีการผลิตในปริมาณสูง ย่อมส่งผลต่อผู้ผลิตขนาดเล็กอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ม็อบ เสียงจากชาวนาและเกษตรกร

มีเหตุอันน่าสงสัยอย่างหนึ่ง คือข่าวม็อบจากเกษตรกรและชาวนาที่หากเสิร์ชหาย้อนหลังก็นับว่าพบเห็นอยู่เป็นวาระคู่กับทุกรัฐบาลทุกยุคสมัย จะมีเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็แล้วแต่ว่าเกษตรกรกลุ่มใดจะออกมาเรียกร้องเป็นปากเป็นเสียงให้เพื่อนร่วมอาชีพก็เท่านั้น ชวนให้นึกเล่นๆ ว่า หรือคุณภาพชีวิตของเกษตรกรจะไม่ได้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเลยนับตั้งแต่ วิญญาณหนังสือพิมพ์ (คำเตือน…จากเพื่อนเก่าอีกครั้ง) ถูกตีพิมพ์เมื่อหลายสิบปีก่อน ท่ามกลางกองทุนเพื่อเกษตรกรและโครงการนานาสารพัดที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล

ในขณะที่เรายกย่องให้ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ สยามเมืองยิ้มกลับยังคงยิ้มได้แม้กระดูกสันหลังจะยากจนและผุกร่อนไปตามภาระหนี้สิน ทั้งที่เรายังกินข้าว กินผัก กินปลา กินหมูกินไก่กินเนื้ออยู่ทุกวัน วันละหลายหน แต่เหตุใดเม็ดเงินที่เราจ่ายออกไปกลับตกอยู่ระหว่างทางมากกว่าที่จะเดินทางไปถึงปากท้องของเกษตรกร ให้กระดูกสันหลังของเราได้อิ่มหนำสำราญและมีชีวิตที่ดีเทียบเท่ากับอาชีพอื่นๆ บทความนี้เขียนขึ้นด้วยความไม่รู้มากกว่าความรู้ จึงทำได้เพียงตั้งคำถามไปอย่างส่งๆ เท่าที่สายตาจะมองเห็นก็เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าในอุตสาหกรรมอาหารจะมีแต่ความมืดมิดไปเสียหมด อย่างน้อยก็ยังมีเรื่องน่าดีใจให้พอได้เห็นบ้าง กับคนบางพวกบางกลุ่มที่ลุกขึ้นมาสนับสนุนให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) ในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มปศุสัตว์อินทรีย์ ตลาดกรีน และกลุ่มอาหารปลอดภัยอีกหลายกลุ่ม ที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตได้ติดต่อสื่อสารกันโดยตรง การได้พบหน้าค่าตากันก่อนจะจ่ายเงินซักสองสามร้อยย่อมจะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันได้มากขึ้น วัตถุดิบอาหารใน ‘ราคาที่เป็นธรรม’ คือมากพอที่จะทำให้ผู้ผลิตได้มีชีวิตที่ดีโดยไม่ต้องเบียดเบียนตัวเองด้วยการทำงานหนัก เบียดเบียนคนในระบบการผลิตด้วยการขูดรีด และเบียดเบียนคนกินด้วยการใช้สารเคมีจำนวนมากๆ แม้ว่าผู้ซื้อผู้ขายกลุ่มนี้จะยังไม่ใช่ตัวละครหลักที่จะปฏิรูปชีวิตแรงงานในระบบการผลิตอาหารได้ แต่ก็นับว่าเป็นกลุ่มคนที่น่าชื่นชมและน่าสนับสนุนอย่างสุดหัวจิตหัวใจ จะมีเรื่องพูดยาก (ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่) อยู่บ้างก็ตรงที่ราคาซึ่งสูงกว่าราคาตลาดไปอีกขึ้นหนึ่งนั่นละ

ราคากลางที่เหมาะสม คุณภาพชีวิตของผู้ผลิตอาหารและแรงงาน กับความพร้อมที่จะจับจ่ายเพื่อให้ได้อาหารดีๆ และสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของคนต้นทางนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน ซ้ำยังเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมอย่างแยกยาก เมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อย ผู้ขายก็ต้องขายในราคาต่ำ และเป็นราคาที่จะไปกดทับผู้ผลิตและแรงงานอย่างยากจะแก้ หากคุณภาพชีวิตของคนในวงจรนี้จะดีได้ขึ้นด้วยการช่วยเหลือตัวเองเพียงลำพังก็คงจะเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ นอกเหนือไปจากความเกื้อกูลกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างที่พยายามกันอยู่แล้ว หนทางจากภาครัฐจึงดูเหมือนจะเป็นแรงสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างอันกดขี่เหล่านี้ให้คลี่คลายลงได้ในวันใดวันหนึ่ง

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าบทความนี้เขียนขึ้นด้วยความไม่รู้เสียมากกว่าความรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นจริงอยู่ก็คือ ในอาหารทุกจานที่เรากิน มีหยาดเหงื่อและชีวิตของแรงงานจำนวนมหาศาลอยู่ในนั้นเสมอ และเมื่อเราจ่ายเงินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นั่นอาจหมายถึงการกดขี่และคุณภาพชีวิตแร้นแค้นของแรงงานที่อยู่เบื้องหลัง

1 พฤษภาคม วันแรงงานสากล เป็นนิมิตรหมายอันดีที่เราจะได้ระลึกถึงแรงงานเหล่านั้น ไม่ใช่ในฐานะของผู้มีพระคุณท่วมหัว แต่เป็นการระลึกถึงในฐานะของคนธรรมดาคนหนึ่งที่ลงแรงลงใจให้กับการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนทั้งโลก และหากเป็นไปได้ บทความนี้คือการคาดหวังว่าเราจะมองเห็นปัญหาที่ถูกซ่อนไว้ในอาหารทุกจานที่เรากิน เพื่อที่ว่าไม่ใครก็ใครจะสามารถเป็นปากเป็นเสียง พูดแทนและเรียกร้องสิทธิในการมีชีวิตที่ดีให้กับคนเหล่านั้นได้บ้างในวันใดวันหนึ่ง

เพื่อที่ว่าจานข้าวของเราจะได้ปนเปื้อนน้ำตาแรงงานน้อยลงกว่านี้อีกสักนิด

ข้อมูลจาก
https://www.mirror.or.th/autopagev4/show_page.php?topic_id=165&auto_id=8&TopicPk=
https://www.dailynews.co.th/foreign/363242

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS