‘เหล้าขาวไทย’ ดีกรีไกลระดับโลก กับ Moon Seeker

46,585 VIEWS
PIN

image alternate text
ไม่ใช่แค่น้ำเมา แต่เหล้าพื้นบ้านยังเป็นเครื่องดื่มที่สะท้อนวิถีชีวิตท้องถิ่นไทยได้อย่างดี และ 'เหล้าขาว' ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เทียบชั้นเหล้าพื้นบ้านระดับโลก อย่างสาเก โซจู หรือไวน์ได้ชนิดไม่น้อยหน้า!

‘water of life’ คือ น้ำแห่งชีวิต 

คือนิยามของน้ำเมาที่เหล่าฝรั่งให้ไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน ด้วยเป็นน้ำที่ช่วยต่อชีวิตให้กับมนุษยชาติยามต้องผจญพิษโรคระบาดหลายครั้งหลายครา เมื่อน้ำสะอาดหายาก เคร่ืองดื่มแอลกอฮอล์ที่สะอาดกว่าจึงต้องเข้ามาแทนที่

เป็นความหมายเดียวกับที่คนสยามใช้นิยามเหล้าพื้นบ้านซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้กัน

โดยเหล้าพื้นบ้านชนิดเก่าแก่ที่สุดที่สามารถสืบย้อนกลับไปศึกษาได้ในเวลานี้คือ ‘เหล้าโรง’ เป็นเหล้าที่มีบันทึกระบุไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาว่าเกิดจากองค์ความรู้การกลั่นสุราที่พ่อค้าชาวจีนนำมาเผยแพร่ให้กับชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในเวลานั้น และนับเป็นสุราพื้นบ้านชั้นดี เป็นเหล้าสำหรับผู้รากมากดีในยุคที่การดื่มสุรายังคงเป็นสุนทรียะ ทั้งการกลั่นหรือหมักสุราก็ยังนับเป็นศิลปะไม่แพ้การปรุงอาหาร

เหล้าพื้นบ้านในอดีตจึงเป็นมากกว่าแค่ความรื่นรมย์ชั่วครั้งชั่วคราว ด้วยมันทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์ของคนในชุมชน เต็มไปด้วยความรู้พื้นบ้าน มีนัยยะเชิงจิตวิญญาณ ทำให้ชีวิตเป็นชีวิต

การกลั่นหรือหมักเหล้าของชาวบ้านในแถบสุวรรณภูมิสืบสานส่งต่อกันมานับร้อยปี กระทั่งวันหนึ่งเกิดชุดความเชื่อใหม่เข้ามาเปลี่ยนการทำเหล้าให้กลายเป็นเรื่องร้ายในสายตาคนส่วนใหญ่ องค์ความรู้ที่สั่งสมมาเริ่มสูญหาย และกลายเป็นความรู้ที่ต้องส่งต่อกันอย่างลับๆ ท่ามกลางความหวาดกลัว

“สมัยเด็ก เราไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัด ภาพที่จำได้ติดตาคือชาวบ้านต้มเหล้ากันอยู่ดีๆ พอตำรวจมาต้องถีบกระทะทิ้ง ทุกอย่างดำเนินอยู่บนความกลัว” หนุ่ม-ชัชพล พิทยาธิคุณ ผู้ก่อตั้งบริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย ออร์แกนิก บอกแบบนั้นเมื่อเราย้อนถามว่าความทรงจำแรกๆ ของเขากับ ‘เหล้าพื้นบ้าน’ เริ่มต้นขึ้นตอนไหน

จากบัณฑิตสาขาวิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนุ่มค้นพบความหลงใหลของตัวเองในวันหนึ่ง กระทั่งตัดสินใจหันเหไปศึกษาต่อด้านเกษตรอินทรีย์ ที่ประเทศอังกฤษ หลังเรียนจบเขาเลือกกลับมาลุยงานพัฒนาเรื่องเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่วันที่คำว่า ‘อินทรีย์’ ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง

และในบรรดาสินค้าเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่หนุ่มสนใจและยังใคร่รู้จนถึงทุกวันนี้คือ ‘ข้าว’ ข้าวที่เปรียบเสมือนอาหารหลักของคนในชาติ ข้าวที่มีจุดเด่นทางการตลาดซ่อนอยู่

เขาเริ่มลงลึกศึกษาร่วมกับทีมวิจัย เพื่อเปลี่ยนข้าวอินทรีย์สัญชาติไทยให้กลายเป็นหลายผลิตภัณฑ์ หลังลองผิดลองถูกอยู่สักระยะ หนุ่มก็พบองค์ความรู้ที่ฝังรากอยู่ในแผ่นดินมานานหลายศตวรรษ องค์ความรู้ที่ใช้เปลี่ยนเมล็ดข้าวให้กลายเป็น ‘น้ำแห่งชีวิต’ ซึ่งคือการกลั่นเหล้าพื้นบ้าน ที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ไหน ภาคอะไร ก็ล้วนมีวัตถุดิบหลักเดียวกันนั่นคือข้าว แม้จะแตกต่างสายพันธุ์กันไปตามแต่ละท้องถิ่น

“แต่ความรู้เรื่องการกลั่นหรือหมักเหล้าพื้นบ้านมันถูกกดเอาไว้ด้วยความเข้าใจผิด ด้วยมายาคติบางอย่าง เลยพัฒนาไปไม่ได้ไกลเท่าที่ควร” เขาว่าแบบนั้น ก่อนเสริมว่าเหล้าพื้นบ้านไทยนั้นมีคุณสมบัติน่าสนใจไม่แพ้แอลกอฮอล์สัญชาติไหนในโลก ไม่ว่าจะสาเกจากญี่ปุ่น โซจูจากเกาหลี หรือวิสกี้จากฝั่งตะวันตก

“ไม่มีหรอกคนไปญี่ปุ่นแล้วจะถามหาวิสกี้ ทุกคนถามหาสาเก เพราะเขารู้ว่านี่คือของดีของญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นภูมิใจนำเสนอ” หนุ่มย้ำคำว่าภูมิใจอีกครั้ง ก่อนบอกว่านี่คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์พัฒนาได้ไกล เมื่อทุกคนภูมิใจในการนำเสนอองค์ความรู้ในการสร้างรสชาติของตัวเอง

ด้วยเป้าหมายอยากสร้างความภูมิใจให้กับเหล้าพื้นบ้านไทย ไม่นานแบรนด์เหล้าขาว Moon Seeker ก็เกิดขึ้น เราถามเขาถึงความหมายของชื่อแบรนด์ หนุ่มยิ้มก่อนตอบว่าอาจเพราะการสร้างความเข้าใจและความภูมิใจให้กับเหล้าพื้นบ้านไทยนั้นยากเท่ากับการค้นฟ้าคว้าพระจันทร์

เหมือนอย่างเรื่องราวที่เขาเล่าให้เราฟังต่อไปนี้ ที่ช่วยยืนยันดีกรีของเหล้าพื้นบ้านไทย ว่าดีและแรงไม่แพ้เหล้าของบ้านไหนเมืองไหนที่ใครๆ ต่างชื่นชม

ทำไมถึงเลือก ‘เหล้าขาว’ ทั้งที่เหล้าพื้นบ้านไทยมีตั้งมากมาย

เรามองว่าเหล้าขาวคือตัวเเทนของเหล้าพื้นบ้านไทย คือถ้าพูดถึงเหล้าพื้นบ้าน คนทั่วไปจะนึกถึงเหล้าขาวก่อนสาโท อุ หรือเหล้าหมักอื่นๆ อยู่แล้ว ซึ่งเอาเข้าจริงเราก็สามารถเรียกรวมเหล้าพื้นบ้านว่าเหล้าขาวได้เหมือนกัน เพราะมันมีพื้นฐานการผลิตแบบเดียวกัน อีกอย่างคือเหล้าขาวเป็นเหล้ากลั่นบริสุทธิ์ เก็บได้นาน ถ้าคิดในเชิงธุรกิจมันก็ดีกว่าเหล้าพื้นบ้านที่ส่วนใหญ่เก็บได้ในหลักวัน

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเราทำงานกับหน่วยงานเกษตรอินทรีย์ของทางอิตาลีค่อนข้างเยอะ เราก็ส่งเหล้าพื้นบ้านไทยหลายๆ ประเภทไปให้ผู้เชี่ยวชาญของเขาลองชิม สุดท้ายเขาเลือกเหล้าขาว เพราะหนึ่งมันเก็บได้นาน และสองรสชาติมันไม่ผันผวน เพราะบริสุทธิ์มาก ถ้าเป็นเหล้าพื้นบ้านชนิดอื่นที่อายุการเก็บรักษาสั้น อาจต้องใส่สารกันบูดเข้าไปเพื่อง่ายต่อการส่งขาย พอเป็นแบบนั้นมันขัดกับอุดมการณ์เรื่องเกษตรอินทรีย์ของเรา

จากนั้นเราเลยกลับมาประมวลภาพรวม แล้วก็พบว่าเหล้าขาวมีข้อมูลเยอะมากในเมืองไทย ถ้าคุณลองค้นจากอินเตอร์เน็ต หรือในหนัง ในละคร ส่วนมากที่ใช้ดื่มกันก็คือเหล้าขาวทั้งนั้น

แม้ภาพลักษณ์ของเหล้าขาวจะดูเป็นเหล้าที่ชนชั้นกลางขึ้นไปไม่ดื่มกัน

เราไม่มองอย่างนั้นนะ ถ้าลองมองย้อนกลับไปดูรากเหง้าของไทย เหล้าขาวเป็นเหล้าที่ชนชั้นกลางถึงสูงดื่มกัน แต่มันเจอกฎหมายแปลกๆ ของเมืองไทยที่เข้ามาห้าม แล้วพอกลัวตำรวจจับ ชาวบ้านก็ต้องเติมสารเคมีเร่งกระบวนการผลิต นึกออกไหม แล้วคนก็ชอบพูดว่ากินเหล้าขาวระวังตาบอด ซึ่งนี่คือเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน สมัยที่กฎหมายเริ่มเข้ามากีดกันการต้มเหล้าพื้นบ้านใหม่ๆ ลองคิดดูว่าปกติใครจะอยากกินสารเคมี มันเป็นเรื่องที่ใครก็รู้ว่าอันตราย ประเด็นคือทำไมเขาต้องใส่ เขาใส่เพราะต้องเร่งกระบวนการผลิต

ถ้าคุณเปิดเสรีให้ชาวบ้านต้มหรือกลั่นเหล้าแบบเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายวัน มันก็อันตรายน้อยกว่า แล้วกระบวนการพวกนี้มันเต็มไปด้วยองค์ความรู้พื้นบ้านที่เราสนใจมาก และใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลัก

คุณสนใจข้าวในประเด็นไหน

ต้องบอกก่อนว่าแบรนด์เหล้าขาว Moon Seeker มันเกิดขึ้นจากความสนใจเรื่องข้าวของเรา เราพยายามหาคำตอบว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวได้ด้วยทางไหนบ้าง เพราะถ้าคุณขายเป็นข้าวธรรมดา เก็บสักพักมอดก็ขึ้น เจอปัญหาเรื่องความชื้นอะไรอีก ชาวบ้านก็ไม่รอด เราเลยมองว่าเหล้าขาวที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลักคือทางออก ผู้ใหญ่หลายคนก็เตือนว่าจะไปยุ่งทำไมกับเหล้า แต่เรามองว่ามันคือผลิตภัณฑ์ที่คุณเอาวัตถุดิบของท้องถิ่นมาใช้ได้ เก็บได้นาน แล้วยิ่งเก็บก็ยิ่งแพง เหมือนไวน์ เหมือนวิสกี้

นี่เป็นความรู้ใหม่เลยนะว่าเหล้าขาวยิ่งเก็บยิ่งเเพง

ทำนองนั้น มันเป็นหนทางการสร้างมูลค่าแบบหนึ่ง เหมือนถ้าไปญี่ปุ่น คนส่วนน้อยที่จะถามถึงเบียร์ เพราะเขาก็อยากกินสาเกที่ผลิตขึ้นในเมืองนั้นๆ มากกว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารระดับโลกมองในทิศทางเดียวกันหมด คือของท้องถิ่นเป็นของดี มีมูลค่าในตัวมันเอง อย่างถ้าไปร้านอาหารอิตาเลียนแท้ๆ พอจบคอร์สเชฟจะเดินออกมาริน Limoncello (เหล้ามะนาวสไตล์อิตาเลียน) ใส่แก้วให้ เหมือนเป็นการถามแขกว่าอาหารที่ฉันทำรสชาติเป็นอย่างไร

ลักษณะของเหล้าพื้นบ้านตัวเด่นๆ ของแต่ละประเทศจะไม่ต่างกันมาก พื้นฐานคือเก็บรักษาได้นาน และใชัวัตถุดิบท้องถิ่นในการผลิต ส่วนวิธีการดื่มหรือสตอรี่ของมันก็แตกต่างกันไปในแต่ละคัลเจอร์

ถ้าเป็นเหล้าขาวที่ผลิตจากข้าวโพด อ้อย หรือวัตถุดิบอื่นก็ไม่เข้าข่าย 

เราโฟกัสไปที่ข้าว เพราะข้าวคือรากเหง้าของเหล้าพื้นบ้านไทย ถ้าเป็นอ้อยหรือข้าวโพด ส่วนมากเรียกว่าเหล้ารัม มีรากมาจากโซนอเมริกาใต้ โดยข้าวที่เราใช้แบ่งออกเป็น 2 แนว คือข้าวหอมมะลิที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในระดับโลก กับข้าวพันธุ์ท้องถิ่นที่ปลูกกันน้อย คนทั่วไปอาจไม่รู้จัก เราก็รับซื้อมาผลิตเป็นเหล้าขาวเกรดที่พรีเมียมขึ้นมาหน่อย ชื่อ Grand Master เพื่อสร้างแบรนด์เหล้าขาวไทยให้มีมูลค่า

แต่เราไม่ได้เจาะลงไปถึงขนาดว่าข้าวท้องถิ่นนั้นชื่ออะไร เพราะอยากนำเสนอในภาพกว้างว่าเป็นข้าวท้องถิ่นของแต่ละภาคมากกว่า ก็อย่างที่เห็นว่าหลังๆ พอข้าวท้องถิ่นได้รับความสนใจ สิ่งที่ตามมาคือเกิดการเคลมความเป็นเจ้าของสายพันธุ์ข้าว เกิดการเมืองเรื่องข้าวขึ้น เราเลยเลี่ยงที่จะไปแตะตรงนั้น

ซึ่งเอาเข้าจริง อาจต้องตีความข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นให้ดีว่าหมายถึงอะไร ยกตัวอย่างข้าวหอมมะลิมันก็เคยเป็นข้าวพันธุ์ท้องถิ่นมาก่อน ลองทายสิว่าข้าวหอมมะลิเกิดจากจังหวัดไหน

น่าจะทางภาคอีสาน

ไม่เลย ข้าวหอมมะลิเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ด้วยคุณภาพก็ทำให้มันดังขึ้นมา แล้วพื้นที่อื่นก็นำไปปรับปรุงสายพันธุ์จนกลายเป็นข้าวที่มีชื่อเสียงของพื้นที่นั้นๆ แทนที่จะพัฒนาข้าวที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ของตัวเอง คือมันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนะ แต่เรามองว่าในเมื่อข้าวท้องถิ่นมีอยู่แล้ว ทำไมเราจะไม่ต่อยอดสร้างมูลค่าให้มันล่ะ

ถ้าข้าวพันธุ์ท้องถิ่นได้รับความนิยมมากเข้าจะเกิดผลลบตามมารึเปล่า เช่น เกิดการเร่งผลิต

ในมุมเรายังไม่เห็นผลลบ เร่งก็เร่งไป ถ้าเป็นข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ปลูกแบบอินทรีย์ เราก็สนับสนุนอยู่ดี หรือถ้าเกิดความต้องการมากเข้า มันก็จะกลายเป็นการโปรโมตท้องถิ่น เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อยอดขึ้นมาได้อีก เป้าหมายเราคืออยากเข้าไปส่งเสริมให้เกิด Momentum หรือการพูดถึงข้าวพวกนี้ แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งชาวนาที่เราทำงานด้วยเขาขยายขนาดการผลิตใหญ่มากๆ ก็ต้องชี้แจงว่าเราจะไม่รับซื้อทั้งหมด เพราะงานของเราคือการจุดชนวน ผ่านการสร้างแบรนด์เหล้าขาวที่ผลิตจากข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่น รวมถึงข้าวหอมมะลิ

คุณนำเสนอว่า Moon Seeker เป็นเหล้าขาวพื้นบ้าน แสดงว่าผู้ผลิตคือชาวบ้าน 

ใช่ เราตัดสินใจไม่สร้างโรงกลั่นเอง แต่ให้ชาวบ้านที่เราไว้ใจเป็นผู้ผลิตไปเลย เหมือนการสร้างแบรนด์เหล้าขาวเป็นโปรเจกต์พัฒนาสังคมที่เราทำร่วมกับชาวบ้าน เริ่มจากเราจะมีทีมงานลงพื้นที่เข้าไปศึกษาเลยว่าการผลิตเหล้าขาวของแต่ละท้องที่ เหนือ อีสาน ใต้ มีรายละเอียดอย่างไร แล้วถึงตัดสินใจเข้าไปร่วมพัฒนากับเขา จากนั้นถึงรับซื้อ

แบบนี้ควบคุมการผลิตยังไง

เราทำงานร่วมกับอาจารย์ที่มีความรู้เรื่องเหล้าพื้นบ้านดีมากๆ แต่ขอไม่เปิดเผยชื่อ เขาเป็นคนดูแลกระบวนการผลิตทั้งหมดให้ อีกอย่างเราผลิตแค่ปีละไม่ถึง 2 พันขวด การตั้งโรงงานกลั่นเหล้าเองเลยไม่ใช่คำตอบ สิ่งที่เป็นเป้าหมายจริงๆ คือการทำให้เหล้าขาวไทยมีคุณภาพไปสู่เวทีสากล เพื่อสร้างแบรนด์พรีเมียมให้กับสินค้า อย่างตัว Grand Master ที่ทำจากข้าวท้องถิ่นก็มีการประมูลกันในแวดวงคนเล่นแอลกอฮอล์ จนราคาขึ้นไปแตะหลายหลัก ซึ่งราคามันจะอัปขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอายุ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้เหล้าขาวมีศักยภาพ เหมือนวิสกี้ดีๆ ที่ถ้าคุณไม่รีบช้อนซื้อตอนนี้ กลับไปปีหน้าราคาอาจขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว 15 เปอร์เซ็นต์

กฎหมายเข้ามาควบคุมหรือทำให้เกิดอุปสรรคอย่างไรบ้างหรือเปล่า 

พอสเกลการผลิตเราไม่ได้เยอะ แล้วเราให้ชาวบ้านเป็นผู้ผลิต มันก็ไม่ขัดกับข้อกฎหมายที่อนุญาตให้ผลิตเหล้าเองได้ในปริมาณที่กำหนด แล้วก็มีนักกฎหมายที่เขาจะช่วยดูให้ว่าขอบเขตเราได้ถึงแค่ไหน

วิสกี้ หรือไวน์ มันจะมีสเต็ปการกินอยู่ว่าต้องกินคู่กับอาหารชนิดไหน หรือกินตอนไหน อย่างเหล้าขาวของไทยมีสเต็ปในการกินแบบนั้นไหม

ก็เป็นอีกเป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จในระยะ 3-5 ปี คือสร้างคัลเจอร์การกินเหล้าขาวให้แข็งแรง เคยปรึกษาอาจารย์ด้านอาหาร เขาก็พูดติดตลกว่า เหล้าขาวเนี่ย คนไทยเรากินกันตั้งแต่ก่อนเที่ยง ยังไม่ทันได้กินข้าวหรอก (หัวเราะ) แต่สเต็ปการกินพวกนี้สามารถสร้างได้ เหมือนที่คนอิตาเลียนดื่มเหล้าหมักสมุนไพรก่อนกินอาหาร เพื่อให้ระบบย่อยทำงาน ระหว่างกินก็จิบไวน์ กินเสร็จก็ตบด้วย Limoncello ซึ่งเหล้าแต่ละตัวทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งนั้นเลย ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้ก็เป็นตัวกำหนดสเต็ปการกินอีกทีหนึ่ง

มีเหล้าตัวหนึ่งที่เราชอบมาก เป็นเหล้าขาวเบลนด์กับกาแฟ เราก็มีสเต็ปการกินส่วนตัวของเราอยู่ แต่ถ้าจะสร้างแบรนด์มันต้องมีตรรกะในการอ้างอิง ซึ่งเรื่องนี้เรากำลังทำงานกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาสเต็ปการกินเหล้าขาวแต่ละตัวที่สมเหตุสมผล เช่นดีกรีประมาณนี้ต้องกินก่อนหรือหลังอาหาร หรือกินอย่างไรให้ส่งเสริมไลฟ์สไตล์

หมายถึงคุณพยายามทำให้เหล้าขาวเป็นเครื่องดื่มตอบสนองไลฟ์สไตล์ ไม่ใช่แค่เมา 

เราไม่ได้ส่งเสริมให้ทุกคนหันมาดื่มแอลกอฮอล์ แต่มองว่านี่คือวัฒนธรรม แล้วเหล้าขาวที่เราผลิตมันไม่ได้ราคาถูกอยู่แล้ว ขวดหนึ่งเกือบห้าพันบาท เป็นสินค้าพรีเมียม มีจำนวนจำกัด ถึงขายไม่ได้เราก็ไม่ได้รีบขาย ดึงราคาประมูลให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเป้าหมายคือการสร้างแบรนด์ อยากให้คนดื่มเกิดการตั้งคำถามว่าเหล้าแก้วนี้ทำจากข้าวอะไร ภาคไหน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้ คุณนึกภาพออกไหม เหมือนสก๊อตวิสกี้อะไรแบบนั้น

ในระยะ 5 ปีข้างหน้าคุณอยากเห็นเหล้าขาวไทยเดินหน้าไปในทิศทางไหน

ระยะ 3-5 ปี เป็นช่วงที่เราอยากสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง สร้างสตอรี่ สร้างความเป็นตัวตนที่ชัดเจน และพยายามลบภาพความต่ำต้อยของเหล้าขาวออกไป อย่างที่คุณเห็นในละครย้อนยุคต่างๆ เหล้าที่เจ้าขุนมูลนายกินกันนั่นก็เหล้าขาวทั้งนั้น แปลว่าเดิมเหล้าขาวไม่ใช่ของไร้ราคา แต่มันถูกทำให้ต้อยต่ำในช่วงปฏิวัติเขียว (การพัฒนาการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและสารเคมี ที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2500) แล้วก็มีกฎหมายเข้าไปควบคุมไม่ให้ชาวบ้านต้มเหล้ากินเอง องค์ความรู้พวกนี้เลยต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ เหมือนเป็นการฆ่าตัดตอนองค์ความรู้ท้องถิ่น ชาวบ้านรายเล็กๆ ก็ตายหมด เหลือแต่ผู้ผลิตแอลกอฮอล์เจ้าใหญ่ๆ ครองตลาดมาหลายสิบปี

สิ่งที่เรากำลังทำก็คือ สร้างความเคลื่อนไหวขึ้นมาใหม่ จุดชนวนให้คนหันมาสนใจเรื่ององค์ความรู้เหล้าพื้นบ้าน และเรื่องสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่น เพราะทั้งสองอย่างมันต้องเดินไปควบคู่กัน สุดท้ายแล้วภาพที่เราอยากเห็นคือผู้ผลิต ผู้ขาย และคนดื่มมีความภาคภูมิใจในตัวเหล้าขาวหรือเหล้าพื้นบ้านไทย เหมือนเวลาเราเห็นคนญี่ปุ่นพรีเซนต์สาเกด้วยความภูมิใจ เพราะทุกคนรู้แล้วว่าของท้องถิ่นเหล่านั้นคือของดี

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS