ห้ามพลาด! 6 จานเด็ดประจำถิ่น

2,124 VIEWS
PIN

image alternate text
ไปเที่ยวต่างบ้านต่างถิ่น นอกจากซึมซับบรรยากาศที่แตกต่าง การกินอาหารอย่างคนท้องที่ก็เป็นอีกประสบการณ์ที่น่าลิ้มลอง

อาหารท้องถิ่นบางอย่างอาจอร่อยติดใจ หรือแม้บางจานรสอาจไม่คุ้นลิ้นนัก แต่นับว่าคุณได้เรียนรู้ผู้คนเพื่อเข้าใจความต่างผ่านการกิน เนื่องจากอาหารพื้นบ้านเป็นพื้นฐานสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยภูมิประเทศ ธรรมชาติ วิถีชีวิตบวกภูมิปัญญาท้องถิ่น ล้วนเป็นปัจจัยในการกำหนดหน้าตาและรสชาติอาหารให้แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่

ด้วยเหตุนี้เราจึงขอหยิบยก ‘จานเด็ดพื้นบ้าน’ บางส่วน มาเรียกน้ำย่อย ไปดูกันว่าบ้านไหน เมืองไหน เขากินอะไรบ้าง?

ตูป๊ะชูตง
ตูป๊ะซูตง ได้ยินแค่ชื่อคงจินตนาการไม่ออกว่าคืออะไร แต่นี่คืออาหารหวานถิ่นใต้ ชื่อภาษามลายู ‘ตูป๊ะ’ หมายถึงข้าวต้ม ‘ซูตง’ หมายถึงหมึก ตูป๊ะซูตง จึงเป็นอาหารว่างรสหวานที่มีหมึกเป็นวัตถุดิบหลัก สอดไส้ด้วยข้าวเหนียว ต้มเคี่ยวกับน้ำตาลแว่นและหางกะทิ รสชาติหวานมันหอมกะทิ ผสมรสสัมผัสหนึบหนับจากไส้ข้าวเหนียว คนท้องถิ่นนิยมกินเป็นทั้งของว่างและจานหลัก

ยำปูแป้น
ยำปูแป้น เป็นอาหารพื้นบ้านจันทบุรี ทีเด็ดอยู่ตรงวัตถุดิบอย่าง ‘ปูแป้น’ เพราะหนึ่งปีจะมีให้กินแค่ช่วงฤดูหนาวเท่านั้น เมื่อย่างเข้าเดือนพฤศจิกายน ชาวจันท์จะรู้กันว่าฤดูปูแป้นมาถึงแล้ว เพราะเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ปูแป้นจะลอยตามกระแสน้ำจากป่าชายเลนมาตามลำคลอง ชาวบ้านจะหิ้วถัง ถือสวิงออกไปตักปูแป้นกัน ทั้งเก็บไว้กินหรือดองน้ำปลาขาย

ปูแป้นดองน้ำปลา ทำยำปูแป้น ใช้เครื่องยำทั่วไปอย่างมะนาว น้ำปลา พริกขี้หนูสด หอมแดงซอย กระเทียมฝานบาง หรือจะจิ้มน้ำพริกเกลือ (น้ำจิ้มซีฟู้ด) หรือหากไม่กินดิบก็จะยำปูแป้นแล้วคั่วในกระทะจนสุก มันปูคลุกข้าวสวยร้อนๆ เป็นรสโอชะที่ใครต่อใครติดใจ และกินกันมาจนถึงรุ่นลูกหลาน หากไปถึงถิ่นไม่ควรพลาดลิ้มลอง

ด๊องแด๊ง
ด๊องแด๊ง เป็นชื่อเส้นที่ทำจากแป้งขนมจีนแต่บีบให้เป็นเส้นสั้นอวบอ้วน คล้ายเส้นเกี๋ยมอี๋ อาหารท้องถิ่นเมืองเลยชนิดนี้มีดีที่ใส่อะไรก็อร่อย อย่างตำด๊องแด๊ง ก็คือส้มตำรสแซบใส่เส้นด๊องแด๊ง ปรุงรสนัวด้วยปลาร้าหรือไม่ก็ได้ อารมณ์คล้ายๆ กินตำซั่วที่ใส่เส้นขนมจีนนั่นละ แต่รสสัมผัสแตกต่างตรงที่เส้นด๊องแด๊งนั้นเหนียว เคี้ยวหนึบกว่าเส้นขนมจีน และขึ้นชื่อว่าเส้น ด๊องแด๊งจึงไปโผล่อยู่ในหลายเมนูที่มีเส้นเป็นส่วนประกอบ เช่น ก๊วยเตี๋ยวด๊องแด๊ง ขนมจีนด๊องแด๊ง

ปลาส้มกว๊านพะเยา
ปลาส้ม หลายคนรู้ว่าคือการถนอมอาหารให้เก็บไว้กินได้นาน แต่ขอแนะนำเฉพาะเจาะจงกันที่ปลาส้มกว๊านพะเยา เพราะความพิเศษอยู่ที่เป็นแหล่งรวบรวมปราชญ์ผลิตปลาส้มที่สืบทอดกรรมวิธีการทำดั้งเดิม จากคำบอกเล่าของคนพื้นที่ แต่เดิมกว๊านพะเยาเป็นแหล่งปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ทั้งปลาหมอ ปลาตะเพียน เมื่อชาวบ้านจับปลาได้เหลือกินจึงนำมาถนอมด้วยการทำปลาส้ม แม้ปัจจุบันปลาในกว๊านจะไม่พอทำปลาส้ม จนต้องเปลี่ยนไปสั่งปลาจากจังหวัดอื่น แต่ด้วยกรรมวิธีทำปลาส้มยังคงเดิม ทำให้ยังคงเสน่ห์รสชาติปลาส้มตำรับกว๊านพะเยาไว้ได้ จึงได้รสชาติดี นำไปทอด โรยพริกขี้หนู หอมแดง เปรี้ยวกลมกล่อมอร่อยลงตัว

ขนมหัวล้าน
ขนมหัวล้าน เป็นขนมนึ่งท้องถิ่นใต้ พบได้ในหลายพื้นที่ทางใต้ หน้าตาขนมเป็นลูกกลมเกลี้ยงทำจากแป้งข้าวเหนียว เพิ่มสีสันด้วยการใส่สีจากธรรมชาติอย่างน้ำคั้นดอกอัญชัน น้ำคั้นใบเตย หรือสีผสมอาหาร ห่อไส้ถั่วเขียวเลาะเปลือกกวนกับกะทิและน้ำตาล ปั้นเป็นก้อนกลมแล้วนำไปนึ่ง วางบนใบตอง เวลาจะกินก็ราดหัวกะทินิดหน่อย แป้งเหนียวนุ่มเคี้ยวเพลินผสานกับรสชาติหวานมันหอมของไส้ถั่วทองและหัวกะทิ ซึ่งกะทินอกจากเพิ่มรสชาติยังทำให้ขนมไม่ติดกันแม้จะวางซ้อนกันในถ้วยก็ตาม

ข้าวหนุกงา
ข้าวหนุกงา อาหารท้องถิ่นเหนือ ‘หนุก’ เป็นภาษาเหนือแปลว่าคลุก ข้าวหนุกงาจึงแปลตรงๆ ได้ว่าข้าวคลุกงา แต่ไม่ใช่ปั้นข้าวเหนียวมาคลุกงาธรรมดาๆ แน่นอน เพราะใช้งาขี้หม่อนตำใส่เกลือนิดหน่อย แล้วนำไปคลุกกับข้าวเหนียวหุงสุกร้อนๆ บางตำรับก็ใส่ลงตำในครกโขลกจนเป็นเนื้อเดียวกัน

ความพิเศษอยู่ที่เขาทำกินทำขายเฉพาะหน้าหนาวเท่านั้น เพราะต้องใช้ข้าวเหนียวใหม่ซึ่งจะเก็บเกี่ยวกันในฤดูหนาว เนื่องจากข้าวที่ได้มีความหอมและรสชาติหวาน เมื่อนำมาทำข้าวหนุกงาจึงได้รสอร่อยจากธรรมชาติ เป็นของกินอุดมประโยชน์ หาซื้อกินง่ายหากไปถูกฤดูกาล มีขายตามตลาดพื้นบ้าน ตลาดสดหรือถนนคนเดินทางภาคเหนือทั่วไป

6 เมนูนี้เป็นเพียงตัวอย่างอาหารพื้นบ้านที่ยกมาแนะนำ ใครมีโอกาสไปเยือนต่างเมือง ลองสอดส่ายสายตาสังเกตดูว่าคนท้องถิ่นนั้นๆ เขากินอะไรกันบ้าง ชิมแล้วอาจติดใจจนต้องกลับไปกินบ่อยๆ ก็เป็นได้…

 

ข้อมูลบางส่วน : หนังสือโอชะแห่งล้านนา

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS