New Year’s Resolution ปีนี้ฉันจะเข้าครัว

715 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ปีนี้ฉันจะเข้าครัว หนทางสู่เป้าหมายเพื่อความกินดี อยู่ดี อร่อยปลอดภัย

New Year’sResolution นี้ KRUA.CO ภูมิใจนำเสนอ การทำอาหารกินเองมีดีกว่าที่หลายๆ คนคิด นอกจากเรื่องพื้นฐานทั่วไปที่ทุกคนรู้คือ สะอาด ประหยัด การทำอาหารกินเองยังดีแสนดีต่อสุขภาพ อาหารที่เราซื้อกินแม้จะหน้าตาดีงาม รสชาติอร่อยถูกปาก แต่เราแน่ใจเบื้องหลังของมันได้อย่างไรว่า น้ำมันใช้ซ้ำไปกี่ครั้ง ผักล้างสะอาดจริงไหม โอเค มันอาจสกปรกนิดหน่อย น้อยจนไม่ส่งผลแสดงออกต่อสุขภาพ แต่จินตนาการว่าเราซื้ออาหารกินทุกวันทุกมื้อ มันก็ต้องมีสะสมกันบ้าง แต่ถ้าเราทำอาหารกินเองก็ควบคุมทุกอย่างได้อยู่หมัด ยิ่งใครมีปัญหาสุขภาพโรคประจำตัวที่ต้องระวังเรื่องไขมันและของแสลงต่างๆ ก็ละลดได้ทั้งนั้นถ้าเราปรุงเอง 

นอกจากนั้นผลพลอยได้จากการทำอาหาร ก็คือคุณสมบัติช่างสังเกต เพราะการทำอาหารให้ดีต้องรู้จักวัตถุดิบหลากหลาย ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนช่างสังเกต ละเอียด ใส่ใจกับสิ่งที่ผ่านลิ้นผ่านตาเรา พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่สักแต่กินเป็นอย่างเดียว เมื่อรู้จักของกินหลากหลายจะทำให้เราประยุกต์เอาโน่นนี่มาทำอาหารได้ง่ายขึ้น เป็นการลับสมองได้อย่างดี ส่งเสริมทักษะ และความสามารถในการทำงานให้คุณทางอ้อม ส่วนทักษะทางด้านสังคมนี้ได้เต็มๆ จากการทำอาหารไปแบ่งเพื่อนที่ทำงาน ช่วยเสริมสร้างสัมพันธ์อันดี จะทำงานอะไรเพื่อนๆ ก็ให้ความร่วมมือช่วยเหลือ สำคัญสุดคือทักษะทางใจระหว่างทำอาหาร คุณจะได้ผ่อนคลายไปกับการทำงาน ใช้แรงง่ายๆ ใช้สมองไม่หนัก ผิวปากไปปอกกระเทียมไป แล้วยิ่งถ้าทำออกมาอร่อยหรือเอาแค่กินพอได้ โอโฮ ภูมิใจสุดๆ อยากให้ทุกคนได้ลองสัมผัสกับความรู้สึกนี้ 

‘ยุ่ง’ แต่ก็อย่างที่หลายๆ คนคิดกันอีกนั่นแหละ การทำอาหารเป็นกลุ่มคำ และกิจกรรมที่ฟังดูยุ่งยากเสียเหลือเกิน การเริ่มต้นอาจไม่ได้ราบรื่นขนาดนั้น ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนชอบทำอาหารมาตั้งแต่ต้น คนไม่ชอบทำอาหารก็มีมาก อาจเพราะก้าวข้ามกำแพงความกลัวต่างๆ มาไม่ได้ เช่น เป็นคนกลัวความล้มเหลว หรือรู้สึกว่าทำอาหารเจ๊งไปหมด กลัวมีด กลัวน้ำมันกระเด็น หรือคุณรู้สึกกังวล ทำตัวไม่ถูกเมื่ออยู่ในครัว ไม่มีอุปกรณ์พื้นที่อำนวย และประสบการณ์ทำอาหารที่ผ่านมาไม่ดี เช่น ไปเจอสูตรยากครั้งแรกเลยทำออกมาเจ๊ง เจอมีดบาด หรือเป็นคนรังเกียจกลิ่นอาหาร เกลียดการจับเนื้อสัตว์ดิบๆ 

ปีใหม่นี้เราจะก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ได้อย่างไร การทำอาหารกินเองจะมีประสิทธิภาพและดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอได้อย่างไร เรามีวิธีแนะนำ ดังนี้ 

Step 1 สร้างอาณาจักรการปรุงอาหาร 

อย่าเพิ่งลงมือทำอาหาร ก่อนอื่นเราต้องสร้างฐานทัพของเราว่าขาดเหลืออะไรที่จำเป็นบ้าง อย่างน้อยต้องมีหม้อ กระทะ ตะหลิว ทัพพี อย่างละอันหรือจะใช้กระทะไฟฟ้าใบเดียวเอาอยู่ทุกเมนูก็ยังได้ มีดเขียงก็ต้องมีให้ครบ ถ้าคุณมุ่งจะเอาดีทางเบเกอรีก็ค่อยซื้ออุปกรณ์เฉพาะที่จำเป็นมาใช้ ยังไม่ต้องลงทุนมาก เพราะถ้าคุณไม่ชอบขึ้นมามันจะกลายเป็นต้นทุนจมทันที

ข้าวสารอาหารแห้งเลือกซื้อมาไว้เท่าที่จำเป็น อะไรใช้ไม่บ่อยค่อยหาซื้อตอนจะลงมือทำ เริ่มจัดการเคลียร์ของหมดอายุหรืออะไรที่ไม่ได้กินในตู้เย็นทิ้งไปซะ ไหนๆ จะขึ้นปีใหม่แล้ว เราต้องกินแต่ของดี การมีตู้เย็นเป็นระเบียบจะช่วยให้หาของได้ง่ายขึ้น และรักษาอุณหภูมิในตู้เย็นให้คงที่อีกด้วย 

Step 2 หาแรงบันดาลใจ 

สำหรับคนที่เพิ่งทำอาหารน่าจะเหมาะกับการเปิดยูทูบดูคลิปทำอาหารง่ายๆ ก่อน เพราะทำให้เห็นภาพมากกว่าการเปิดตำราตามตัวหนังสือ เริ่มดู YouTube หรือหาตำราอาหารง่ายๆ มาทำ เสาะหาหนังเกี่ยวกับอาหารมาดู เช่นเรื่องที่ฉันชอบมาก เรื่อง “chief” เรื่องของพ่อครัวที่ถูกไล่ออกเพราะติสแตกไม่ยอมทำอาหารตามเมนู จนต้องไปกู้เงินมาเปิด food truck  เล็กๆ เพื่อขายเบอร์เกอร์ แต่เขาก็มีความสุขได้ เพียงอยู่ในโลกของการทำอาหารและครอบครัวไปพร้อมๆ กัน  Julie and Julia หนังเกี่ยวกับหญิงสาววัย 30 ปี ที่ทำอาหารไม่เป็นเลย แต่เบื่อความจำเจของชีวิต เลยตั้งเป้าว่าภายใน 1 ปี ต้องทำอาหารจำนวน 524 สูตร ให้ได้ตามหนังสือของ Julia Child พิธีกรอาหารชาวอเมริกันที่ใครๆ ก็รู้จัก เรื่องนี้อาจทำให้ใครหลายคนอยากมีเป้าหมายอย่างเธอบ้าง Patisserie Coinderue หนังญี่ปุ่นเกี่ยวกับหญิงสาวต่างจังหวัดที่เข้ามาสมัครงานร้านขนมในโตเกียว แล้วพบว่าสิ่งที่เธอทำในร้านที่บ้านต่างจังหวัดของเธอมันคนละเรื่องกับร้านนี้ เลยทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะเป็น Patisserie ให้ได้ 

Step 3 ตั้งโจทย์ให้ตัวเอง

การมีโจทย์ตั้งต้นทำให้เรามีเป้าหมายชัดเจน เช่น ภายในเดือนนี้ฉันจะทำอาหารเย็นกินเองสัปดาห์ละ 3 คร้ัง เป็นอย่างน้อย เป็นอาหารง่ายๆ อย่างไข่ดาว ไข่เจียว ก็ทำไปเถอะ ถือว่าคุณได้ทำตามสัญญาของตัวเองแล้ว หรือตั้งเป้าว่าภายในเดือนนี้ ฉันจะต้องอบเค้กให้แฟนกินสักครั้ง ลองตั้งเป้าดู แล้วถ้าคุณทำสำเร็จมันจะดูมีลูกฮึดในการทำครั้งต่อๆ ไป 

Step 4 เริ่มต้นด้วยเมนูง่าย 

อาจเริ่มจากเมนูสุดโปรดของคุณก็ได้ เพราะคุณจะรู้ว่าอะไรคืออร่อย ไม่อร่อย หรือหน้าตามันต้องออกมาอย่างไร ปัญหาเพียงอย่างเดียวที่มีคือคุณต้องศึกษาว่าเมนูนั้นทำขึ้นมาอย่างไร มากกว่าที่จะกินเป็นอย่างเดียว ฉันเชื่อว่าถ้าใช้เมนูโปรดเป็นจุดเริ่มต้นแล้วอะไรก็จะง่ายขึ้น 

การเลือกเมนูผิดสำหรับมือใหม่ถือว่าอันตรายเป็นอย่างมาก บางคนเลือกทำเมนูที่เครื่องเยอะหรือส่วนผสมหายากแทบจะพลิกแผ่นดิน เมนูนั้นขั้นตอนเยอะก็ทำให้ตัดใจไปซื้อกินได้เหมือนกัน ลองเลือกเมนูส่วนผสมน้อย ปรุงง่ายๆ ก่อน เช่น ผัดผัก ยำอะไรสักอย่าง หาสูตรน้ำยำดีๆ สักสูตรแล้วใช้ติดตัวไปตลอดก็เข้าท่าเหมือนกัน 

Step 5 หาหน่วยกล้าตายมาลองชิม 

คนที่อยู่คอนโดหรือหมู่บ้านเป็นโอกาสดีของคุณแล้วที่คุณจะแจกจ่ายอาหารที่คุณฝึกปรือหรือถ้าใครมั่นใจในตัวเองหน่อยก็ลองอาสาทำอาหารไปงานปาร์ตี้ดู รับรองถ้าอร่อยก็ได้หน้าไปเต็มๆ แต่ถ้าไม่อร่อยก็จงอย่าท้อ เอาคำติชมมาปรับปรุงให้ดีขึ้น เรียกว่าเป็นการเสี่ยงที่คุ้มค่า 

Step 6 สร้างคลาสเรียนให้กับตัวเอง 

วิธีนี้ไม่ได้บอกให้ไปเสียเงินลงเรียนทำอาหารแพงๆ เพียงแค่เปิดคลิปทำอาหารตามในยูทูบ  เช่น รายการ CIY หรือตาม blog ต่างๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีมากมาย เหมือนคุณได้เข้าห้องเรียน เรียนเสร็จก็เอากลับไปทำมาส่งเป็นการบ้านให้กับเจ้าของสูตร เกิดการแชร์ประสบการณ์กับคนอื่นๆ เผลอๆ คุณอาจได้เพื่อนใหม่มาเพียบ เดี๋ยวนี้แค่มีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็ลงเรียนทำอาหารแบบทางไกลได้ คุณสามารถเข้าไป  log in ตามเวลาที่ครูกำหนด แล้วดูครูคนโปรดสาธิตการทำอาหารได้ด้วย อันนี้เป็นธุรกิจที่ไปได้ดีในยุคออนไลน์ขณะนี้

ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ดู​แล้วจะพบว่าการเข้าครัวทำอาหารไม่ใช่เรื่องยาก หรือน่ากังวลใจอย่างที่คิดค่ะ 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS