อะไรสะท้อนอยู่ในอาหารที่ ‘หน่าฮ่าน’

2,682 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เปิดเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากแต่ละเมนูใน 'หน่าฮ่าน' ที่แม้จะเป็นส่วนประกอบเล็ก ๆ แต่ทำหน้าที่เติมเต็มภูมิหลังตัวละครให้สมบูรณ์ จากข้อเขียนของหนึ่งในโปรดิวเซอร์ผู้ทำหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์เอง

ในวันที่ บก. ทวงต้นฉบับ หัวผมยังโล่งอยู่เลย เพราะในขณะนั้นสมาธิมัวแต่จดจ่ออยู่กับความล้มเหลวด้านรายได้ของ ‘หน่าฮ่าน’ หนังที่ผมร่วมโปรดิวซ์และเขียนบทกับเขาด้วย …เมื่อเส้นตายใกล้เข้ามา ก็ต้องหยิบเรื่องใกล้ตัวขึ้นมาพูดถึง นั่นคือเรื่อง ‘อาหาร’ ที่อยู่ในหนัง ‘หน่าฮ่าน’ ซึ่งเอาจริงๆ มันมีเรื่องราวเบื้องหลังทุกจาน กว่าจะปรากฏเป็นอากัปกิริยาของตัวละครในที่สุด ซึ่งเมื่อมาทบทวนวิธีคิดในการนำอาหารขึ้นมาบนจอ ก็พบว่ามันได้แฝงเร้นความหมายบางอย่างที่ ณ ตอนนั้นผมอาจไม่ทันได้คาดคิดเช่นกัน

เนื่องจากหนังอาจเข้าถึงคนได้ไม่เยอะ ฉะนั้นจึงขอปูพื้นกันก่อน ‘หน่าฮ่าน’ เล่าเรื่องของ ยุพิน เด็กสาววัยมัธยมและเพื่อน เธอตั้งใจจะหนีแฟนไปดูหมอลำวงใหญ่ในตัวเมืองอุดรธานี แต่ก็ไม่วายพ่วงเขาไปด้วย ที่นั่นเธอได้เจอกับแฟนเก่าซึ่งปัจจุบันเป็นเน็ตไอดอลแห่งอุดรฯ ไปแล้วเรียบร้อย แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อยุพินยังไม่อาจสลัดรักเก่าออกไปจากใจได้เลย

‘หน่าฮ่าน’ ในภาษาอีสาน หมายถึงพื้นที่หน้าเวทีหมอลำอันเปิดกว้างให้หนุ่มสาวกระโดดเด้งกระโดดเด้าวาดลวดลายอย่างไม่อายฟ้าดิน จนเป็นที่มาของคลิปไวรัลมหาศาลที่เหล่าดาวเต้นหน่าฮ่านสร้างสรรค์ท่าเต้นแบบไม่เหมือนใคร และไม่มีใครยอมกัน ดังนั้นนอกเหนือไปจากพล็อตหลักรักสามเส้าของยุพินแล้ว มันจึงมุ่งสำรวจชีวิตวัยรุ่นที่เวียนว่ายอยู่บริเวณหน่าฮ่านอันเป็นวัฒนธรรมสุดแข็งแกร่งของชาวอีสานไปด้วยกัน

ยุพินและผองเพื่อนเป็นภาพแทนของวัยรุ่นพอกะเทิน หรือเด็กซึ่งไม่ได้เรียนเด่นเล่นดีมีชีวิตที่พอเอาตัวรอดไปได้วันๆ และมีพื้นที่ปลดปล่อยเฉพาะของตัวเอง พวกเธอจึงไม่ได้เป็นเพียงภาพสะท้อนของชีวิตวัยรุ่นอีสานเท่านั้น แต่อาจรวมถึงวัยรุ่นทั้งมวลที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคม

ดังนั้น แม้อาหารใน ‘หน่าฮ่าน’ จะเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กจ้อยของเรื่อง ทว่ามันได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอภาพดังกล่าวเอาไว้ด้วยเช่นกัน

ฉากแรกที่ ยุพิน (สุดารัตน์ โพธิ์อำพล) ได้เจอกับ สิงโต (นฤเบศร์ ฤทธิศร) ในตอนนั้นสิงโตยังเป็นพ่อค้าขายสร้อยที่แผงหน้าเวทีหมอลำท่ามกลางแผงขายนานาชนิดซึ่งตระเวนไปทุกที่ที่มีงานหมอลำ ก่อนจะกลายเป็นเน็ตไอดอลแห่งอุดรธานีในเวลาต่อมา ฉากนี้เราพยายามจะบอกสถานะของสิงโตว่าเขาอยู่จุดไหนของลำดับชั้นทางสังคม เพียงขายสร้อยตลาดนัดเท่านั้นคงไม่พอ จึงเพิ่มสถานการณ์เข้าไปให้สิงโตมีเวลากินก๋วยเตี๋ยวจากถ้วยโฟมเพียงน้อยนิดเท่านั้น เพราะทุกวินาทีตรงนั้นคือเวลาทำมาหากินทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้ทั่วไปจากแผงขายของในตลาดนัดที่ถ้วยโฟมบรรจุอาหารจะถูกวางหลบตรงไหนสักที่ของร้าน

แม้มันจะไม่ถูกสุขลักษณะและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับสิงโต มันเป็นอาหารราคาถูก อิ่มท้อง หากินง่าย พร้อมจะวางพักไว้ตรงไหนสักที่ของแผงขายของได้เสมอเมื่อมีลูกค้าเข้ามา ที่สำคัญคือเพิ่มพลังงานในการจะสู้ต่อไปจนกว่าตลาดจะวาย ในบทจึงระบุไว้ว่าสิงโตกินมันคาไว้ก่อนจะผลุนผลันขึ้นมาขายของทันทีที่ยุพินเดินมาที่แผง การพบรักของทั้งคู่จึงไม่ได้มีมนตร์เสน่ห์มหัศจรรย์แต่อย่างใด ทว่าคือช่วงเวลาแสนสามัญของคนทำมาหากินคนหนึ่งกับเด็กสาวในระบบการศึกษาไทยที่บังเอิญได้แชร์ช่วงเวลาแห่งการหลบหนีความเป็นจริงไปด้วยกัน ผ่านบทสนทนาแบบ ‘หวังผล’ ของทั้งคู่ที่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่บังเอิญว่า ‘ได้’ เท่านั้นเอง

ในขณะที่ก๋วยเตี๋ยวถ้วยโฟมมีเพื่อเน้นย้ำสถานะของตัวละครอย่างสิงโต แต่สำหรับการกินพิซซ่าและสปาเกตตีในร้านฝรั่งสุดหรู (สำหรับเด็กมัธยม) นี้ อาหารถูกหยิบมาใช้อย่างมีนัยยะจริงจัง

มันเป็นฉากที่ตั้งใจจะสร้างความกระอักกระอ่วนทางความสัมพันธ์ เพราะเป็นครั้งแรกที่เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่าง ‘รักเก่า’ อย่างสิงโต และ ‘รักใหม่’ อย่าง สวรรค์ (บุญฤทธิ์ เวียงนนท์) โดยยุพินและเพื่อนๆ ต้องตกอยู่ในบรรยากาศอันตึงเครียดนี้ร่วมกัน แต่พวกเขาก็พยายามให้สถานการณ์ตรงหน้านี้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติที่สุด

เดิมทีในฉากนี้เขียนให้ตัวละครไปกิน ‘บิงซู’ ด้วยกัน แต่ด้วยหนังมีต้นทุนการผลิตต่ำ และเกิดปัญหาเรื่องสถานที่ถ่ายทำ หลังจากพรีโพรดักชั่นจึงมีการเปลี่ยนบทกะทันหัน โดยยังอยู่บนฐานความคิดเดิม คือ หนึ่ง ฉากนี้ต้องเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละคร และ สอง บอกเล่าสถานะของตัวละครที่สามารถให้ภาพความหลากหลายทางชนชั้นของประชากรในภาคอีสานได้ด้วย

เพราะหนังอีสาน (หรือที่ตอนนี้กลายเป็นหนังตระกูลไทบ้านไปแล้ว) มักนำเสนอตัวละครที่อยู่ในสังคมชนบท ห่างไกลความเจริญ และฐานะยากจน เราจึงพยายามนำเสนอสถานะคนอีสานที่ในความเป็นจริงแล้วมีหลากหลายกว่านั้น เริ่มจากตัวละครยุพินและเพื่อนนั้นมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านโนนหินแห่ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่ได้ไกลจากตัวเมือง ทว่าด้วยการคมนาคมแสนยากลำบากทั้งยังไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ทำให้โอกาสที่พวกเธอจะเดินทางเข้ามาสู่ตัวเมืองนั้นน้อยนิด แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าไม่ถึงเลยเพราะมีสื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดอย่างโซเชียลมีเดียอยู่ในมือแล้ว ฉะนั้นการมาดูหมอลำในเมืองอุดรธานีครั้งนี้จึงเป็นภารกิจสำคัญยิ่งของพวกเธอ คือนอกจากจะมาดูหมอลำทิ้งทวนชีวิตวัยรุ่นแล้วยังถือโอกาสไปสัมผัสความศิวิไลซ์ครั้งแรกในชีวิตด้วยประสบการณ์ตรงไม่ใช่เพียงดื่มด่ำมันจากโลกโซเชียลอย่างที่ผ่านมา ทว่าในความเป็นจริงนั้นศูนย์กลางความเจริญอยู่ห่างออกไปอีกราว 500 กิโลเมตร

การเข้าร้านอาหารฝรั่งกินสปาเกตตีและพิซซ่าของวัยรุ่นโนนหินแห่ จึงเปรียบเสมือนภาวะดิ้นรนของวัยรุ่นชายขอบเพื่อพาตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับศูนย์กลางความเจริญให้ได้ แม้จะต้องอาศัยการเรียนรู้อีกเยอะไม่ว่าจะเป็นวิธีการจ่ายเงินที่มีระบบของมันเอง และวิธีกินอันอาศัยเรียนรู้มาจากหนังฝรั่งที่เคยดูมาเท่านั้น

หากการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในร้านอาหารยุโรปจะเป็นความพยายามจนเกิดภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในฉากต่อมาพวกเขาเลือกจะหลบหนีไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า อย่างการกลับไปยังรากของสิงโต ผู้พยายามเป็นเจ้าบ้านที่ดีแต่เขายังมีภาระที่ต้องกลับไปยกสะดุ้งหาปลาให้ครอบครัว ขณะที่ยุพินและเพื่อนนั่งกินปลาปิ้งกันบนแพเคล้าเสียงเพลง ‘ไหง่ง่อง’ เป็นการซักซ้อมก่อนจะไปเจอของจริงที่งานหมอลำใหญ่ในวันต่อไป

ฉากนี้ยังคงมีบทบาทเพื่อแสดงให้เห็นความหลากหลายของประชากรอีสานเช่นกัน ผ่านตัวละครสิงโตที่แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทว่ายังคงทำมาหากินด้วยผลผลิตจากพื้นบ้าน ที่ต้องเดินทางออกไปนอกเมืองเพื่อเก็บเกี่ยวอยู่ดี

เดิมทีฉากนี้เขียนให้ที่บ้านสิงโตทำไร่อ้อยเพื่อบอกเล่าความตั้งใจดังว่า และหวังผลทางภาพที่น่าจะสวยงามเมื่อมองมันผ่านเลนส์ แต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานนับจากการพรีโพรดักชั่นจนถึงวันถ่ายทำจริง ชาวบ้านไม่อาจหล่อเลี้ยงผลผลิตรอกองถ่ายได้ จนถึงกำหนดการถ่ายทำ ไร่อ้อยแทบทั้งจังหวัดอุดรธานีซึ่งใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำได้ถูกตัดไปขายจนหมดแล้ว จึงมีการเปลี่ยนบทกะทันหันกันอีกครั้งจนออกมาเป็นอย่างที่เห็น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตัดอ้อยหรือยกสะดุ้งก็ยังคงบอกเล่าวิถีเกษตรกรรมของชาวอีสานที่ยังคงผูกโยงเข้ากับกลไกราคาดังสะท้อนให้เห็นผ่านความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับไร่อ้อยของชาวบ้าน ที่มิอาจรอกองถ่ายได้เมื่อราคาอ้อยถึงจุดที่คุ้มค่าการลงทุนที่สุดแล้วนั่นเอง

อันที่จริงหากไม่ได้เขียนบทความนี้ ผู้เขียนอาจไม่ได้ทบทวนบทบาทของอาหารที่ใส่เข้าไปในบทหนังเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ได้ แต่ทุกอย่างนั้นมีเหตุและผลของการจับวาง มันทำให้ย้อนทบทวนถึงคำพูดของ วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ Editor in Chief ของ KRUA.CO ในวันที่ผู้เขียนขอคำปรึกษาเรื่องบทความชิ้นนี้ ว่า “หนังอีสานมักมีอาหารเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ” ซึ่งก็จริง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บฮวกใน ‘ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่’ ทุกวงเหล้าใน ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ หรือแม้แต่ ‘หมอลำมาเนีย’ ก็ตาม มันล้วนสะท้อนวิถีชีวิตชาวอีสานในแบบที่ห่างไกลการรับรู้ของคนส่วนกลาง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภาพคุ้นชินที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีต่อคนอีสานแล้วทั้งนั้น

อาหารที่อยู่ในหนัง ‘หน่าฮ่าน’ อาจไม่ได้เป็นเมนูแปลกตาตามความคาดหวังของผู้คนส่วนใหญ่ เพราะมันไม่ได้มี ฮวก แย้ กะปอม แต่หากมันจะเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนว่าสังคมอีสานมีความหลากหลายกว่าที่เคยได้รับการนำเสนอมา บางทีอาหารที่คนทั้งประเทศคุ้นเคยอาจพอช่วยสื่อสารออกมาได้บ้าง

หมายเหตุ: ‘หน่าฮ่าน’ เขียนบทกันสองคน คือตัวผู้เขียนเองกับผู้กำกับ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS