มองอาหารผ่านออสการ์​

2,752 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ย้อนไทม์ไลน์อาหารในงานออสการ์ที่จัดเสิร์ฟให้เหล่าดารา คนดัง

เทรนด์อะไรที่ว่าฮิตเวทีออสการ์ไม่เคยพลาด ปีนี้เนื่องจากกระแสรักษ์โลกมาแรงแซงโค้ง Oscars เลยขอ Go Green กับเขาบ้าง จัดงาน Governors Ball ซึ่งเป็นงานเลี้ยงหลังจากประกาศรางวัล ให้เหล่าดาราแถวหน้าและผู้ชิงรางวัลได้กินอาหารแบบ Plant-Based 70 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารทั้งหมด ที่เหลือเป็นเมนูวีแกนและมังสวิรัติ มีเมนูเนื้อเล็กน้อยพอเป็นพิธีให้สำหรับคนที่ยังไม่สามารถตัดขาดความอร่อยของเนื้อสัตว์ได้

โดยปกติแล้วเมนูอาหารจัดเลี้ยงในงานออสการ์ มีการเปลี่ยนทุกปีเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรในฐานะงานประกาศรางวัลที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก และคำนึงถึงการแสดงออกต่อการรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งแน่นอนว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ออสการ์ฟังเสียงคนส่วนใหญ่แล้วจัดให้ตามคำขอ ที่ผ่านๆ มาเหล่าเชฟเคยเสิร์ฟอะไรให้คนดังกินกันบ้าง เราไปย้อนชมอดีตประวัติอาหารเด่นในเวทีออสการ์กัน

ปี 1929: เริ่มต้นด้วยเมนูบ้านๆ

ปี 1929 งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งแรกจัดขึ้นที่โรงแรม Hollywood Roosevelt Hotel แม้จะมีแขกเข้าร่วมงานแค่ 270 คน แต่งานก็จัดไปตามรูปแบบพิธีการที่เป็นระเบียบแบบแผน ไม่ได้เน้นความบันเทิงแบบปัจจุบัน

การเสิร์ฟดินเนอร์ในคืนนั้นจึงจัดให้แขกแบบนั่งประจำที่โต๊ะอาหารยาวๆ ​แล้วมีอาหารมาเสิร์ฟ​​เป็นคอร์ส​เหมือนกินโต๊ะจีน เมนูที่เหล่าคนดังได้กินก็ไม่ได้พิเศษอะไร เป็นอาหารง่ายๆ ที่หากินได้ตามบ้านเพื่อน อาหารจานหลักคือ​ไก่อบพร้อมขนมปัง ปลาผัดเนย​  มีเฟรนช์ฟรายส์ (ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ใช้ชื่อนี้แต่เรียกว่า long branch potatoes) และถั่วแขกเป็นเครื่องเคียง มีซุปใสใส่เส้นแป้งแพนเค้ก (Consommé Celestine) ให้กินควบคู่กันอาหารติดคอ ส่วนของหวานไม่มีตัวเลือกให้มากนัก มีแค่เค้กกินกับไอศกรีมวานิลลาหรือช็อกโกแลต

ปี 1940s -1950s: อาหารในยามสงคราม

เป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังลำบากจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่สอง การจะมาถ่ายทอดสดภาพเหล่าคนดังกินอาหารอย่างอิ่มหมีพีมันในขณะที่ประชาชนยังอดอยากอยู่คงไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมนัก ทางผู้จัดงานจึงเริ่มแยกช่วงงานเลี้ยงรับประทาน​อาหาร​และช่วงประกาศรางวัล​ออกจากกัน

เมนูที่เสิร์ฟช่วงนั้นเป็นอาหารที่ทำง่ายไม่ซับซ้อน เช่น สลัดมะกอกและขึ้นฉ่าย (Olive & Celery Salad) ขนมปังปิ้งเมลบาราดซอสมะเขือเทศ อาหารจานหลักเป็นเนื้อนกพิราบไร้กระดูก ของหวานเป็น Petits Fours ขนมอบฝรั่งเศสที่ทำเป็นเค้กชิ้นเล็กๆ

ปี 1970s: กินหรูอยู่สบาย

ยุคนี้เศรษฐกิจเริ่มดี ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เทรนด์อาหารฝรั่งเศสกำลังมาแรงทำให้อาหารที่ใช้จัดเลี้ยงในงาน
ออสการ์เริ่มไฮโซขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้เนย ครีม และซอสต่างๆ ในอาหารแบบจัดเต็มราวกับยกครัวมาจากปารีส เนื้อสัตว์ที่แขกได้กินก็หลากหลายขึ้น เปลี่ยนจากไก่อบธรรมดาเป็นเนื้อสเต๊กราคาแพง เสริมด้วยกองทัพซีฟู้ด กุ้ง ปู ล็อบสเตอร์ แถมโรยหน้าด้วยคาเวียร์ เครื่องดื่มในงานมีไวน์ให้เลือกหลายชนิดพร้อมแชมเปญไม่อั้น

ด้านของหวานก็หรูขึ้นเช่นกันเป็น Ice Cream Bombe หลากรส โดยยุคนี้เป็นยุคสุดท้ายที่ผู้คนกินอาหารแบบไม่กังวลระดับน้ำตาลและไขมันในเส้นเลือด เนื่องจากหลังจากนั้นชาวอเมริกันเริ่มตื่นตัวหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงการใช้นมไขมันเต็มส่วนและมาการีน

ปี 1980s: เรียบแต่อร่อย

อิทธิพลของอาหารฝรั่งเศสยังคงไม่หายไปไหนแต่ลดความวิจิตรพิสดารลง เมนูยุคนี้เรียบง่ายแต่คลาสสิกและสะดวกในการรับประทานมากขึ้น มีทั้งแซลมอนรมควันเสิร์ฟกับหอมทอด และเบเกิล ไข่ซูเฟล่อบชีสหอมละมุน เมนูหลักจานเด่นในยุคนี้ คือVeal en croute เนื้อลูกวัวห่อด้วยแป้ง Puff Pastry ปรุงรสและกลิ่นด้วยสมุนไพรต่างๆ เสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงเมนูผักหลากหลายชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง แครอทและเห็ด

ส่วนเมนูของกินเล่นเป็นมินิครัวซอง และขนมเบเกอรีฝรั่งเศสอีกหลายชนิด ปิดท้ายด้วยความหวานจากช็อกโกแลตพรีเมียมราคาแพง และราสป์เบอร์รีมูส

ปี 1990s-2000s เชฟพัคผู้สร้างสรรค์อาหารให้ถูกปากคนดัง

ในปี 1993 เชฟวูลฟ์กัง พัค พ่อครัวคนเก่งเจ้าของอาณาจักรอาหารภัตตาคาร Spago ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดอาหารให้กับงานออสการ์อย่างเป็นทางการ และยังคงรับหน้าที่นี้อยู่จนถึงปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญในการทำอาหารฝรั่งเศสที่ผสมผสานความคลาสสิกและร่วมสมัย เชฟพัคเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการเสิร์ฟอาหารออสการ์จากการนั่งประจำโต๊ะที่เขารู้สึกว่าน่าเบื่อและดูเป็นทางการเกินไปให้เป็นการนั่งกินสไตล์เลาน์จ แขกผู้มาร่วมงานจะนั่งที่โต๊ะที่จัดไว้เป็นสัดส่วน โดยมีพนักงานเสิร์ฟคอยนำอาหารเมนูต่างๆ มาให้แบ่งกินกันในบริเวณนั้น

เชฟพัคเพิ่มเมนูอาหารเรียกน้ำย่อย (Hors-d’œuvre) หลากหลายชนิด โดยออกแบบมาให้แขกหยิบกินได้ง่ายสะดวก ไม่เลอะเทอะ เพราะคงไม่ดีแน่หากชุดสวยของดาราแถวหน้าในฮอลลีวู้ดต้องเปื้อนเพราะอาหารหกใส่ การใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และฟังความต้องการของผู้กินทำให้เหล่าดาราถูกใจเชฟพัคมาก และมีหลายคนที่แอบมาบอกเมนูเด็ดที่พวกเขาชอบเพื่อให้เชฟจัดให้เป็นพิเศษ อย่างเช่น บาร์บรา สไตรแซนด์ ที่ชอบ Chicken Pot Pie ใส่เห็ดทรัฟเฟิล ทอม ครูซ ชอบสเต๊ก รวมถึงแบรด พิตต์ที่ชอบกินมันอบใส่คาเวียร์ เขาจึงจัดให้เมนูนี้เป็นเมนูพิเศษที่อยู่ประจำงานออสการ์จนถึงทุกวันนี้  

ปี 2000s-2010s: อาหารนานาชาติและอาหารทางเลือก

ในช่วงปีหลังมานี้กระแสอาหารเอเชียได้รับความนิยมในหมู่ชาวตะวันตกมากขึ้น เชฟพัคจึงสร้างสรรค์เมนูอาหารจากนานาชาติมาใช้จัดเลี้ยง เช่น เปาะเปี๊ยะสดเวียดนาม แฮมเบอร์เกอร์เนื้อโกเบ เทมปูระ ซูชิ และยังเพิ่มความใส่ใจในข้อจำกัดทางด้านการรับประทานอาหารของแขก โดยเพิ่มเมนู dairy-free, gluten-free, nut-free เมนูวีแกน หรือมังสวิรัติให้มากขึ้น และจัดเชฟจำนวน 10 คนที่จะทำอาหารตามออเดอร์หน้างานโดยเฉพาะ

ปี 2010s-2020s: รักสุขภาพ รักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม

เชฟวูลฟ์กัง พัค มีความฝันในใจว่าอยากเสิร์ฟอาหารวีแกนและมังสวิรัติให้ทุกคนกินมากว่า 20 กว่าปี แต่ด้วยเทรนด์ในยุคก่อนคนชอบกินเนื้อ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์แปลกๆ ที่ราคาแพง และตัวเขาเองก็มีชื่อเสียงจากอาหารทำด้วยเนื้อสัตว์ทำให้เขาต้องทำตามความนิยมไปก่อน ด้วยการเสิร์ฟอาหารที่โดดเด่นเป็นที่จดจำหลายเมนู ทั้งแซลมอนรมควันทำเป็นรูปตุ๊กตาออสการ์โรยหน้าคาเวียร์ที่ใครๆ ก็ชื่นชอบ เนื้อวัวซอสไวน์ พายไก่ chicken pot pie มีทโลฟห่อเบคอน

แต่ด้วยกระแสสังคมที่เริ่มลดการบริโภคเนื้อสัตว์ หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คณะผู้จัดงาน Academy Awards จึงตอบรับเทรนด์รักษ์โลก สนับสนุนให้เชฟพัคทำอาหารเมนูวีแกนและมังสวิรัติให้เหล่าคนดังกินมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทิ้งเนื้อสัตว์ไปเสียทีเดียว โดยมีข้อแม้ว่าเนื้อต้องเลือกมาจากฟาร์มการเกษตรแบบยั่งยืนช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตท้องถิ่น พืชผักทุกอย่างเป็นออร์แกนิก อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะลดขยะหลังงานเลี้ยงให้ได้มากที่สุดด้วยการใช้ภาชนะรีไซเคิล งดการใช้พลาสติกและมุ่งมั่นที่จะลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรม หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย ทำให้ออสการ์ปีล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปนี้ เหล่าคนดังล้วนได้กินอาหารที่ทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจไปพร้อมๆ กัน

 

เรื่องโดย: ณิชมน มงคลสวัสดิ์
กราฟิก:
 ณัฐฐินันท์ นนทสิงห์

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS