กินแจ่วฮ้อน กับ “PEAR is hungry” Food blogger ผู้เชื่อว่าสายกินและสายกรีนไปด้วยกันได้

65 VIEWS
PIN

image alternate text
คุยกับ แพร – พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ นักกินที่ชวนทุกคนมาจัดการขยะอาหารด้วยการ #กินหมดจาน

ใครที่สนใจคอนเทนต์เรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะใน YouTube และแพล็ตฟอร์มแห่งยุคอย่าง TikTok ย่อมจะต้องเคยเห็นช่องของ PEAR is hungry หรือ แพร – พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ อดีตพิธีกรรายการทีวีผู้ผันตัวมาเล่าเรื่องอาหารอร่อยๆ และถ้าใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ก็จะรู้ว่า เรื่องราวอาหารของ PEAR is hungry ในช่วงหลายปีให้หลังไม่ได้มีแค่เรื่องความอร่อยอย่างเดียวเท่านั้น

#กินหมดจาน Challenge คือแคมเปญจากปี 2023 ที่พิมพ์ลดาชวนชาวเน็ตมาลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางด้วยการกินให้เกลี้ยง เป็นแง่มุมหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่าพฤติกรรมการกินอยู่ของเราล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

น่าดีใจที่ปี 2024 นี้ เราได้เห็นช่อง PEAR is hungry กลับมาทำแคมเปญนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และครั้งนี้ #กินหมดจาน ไม่ได้มีแค่แคมเปญร่วมสนุกอย่างเดียว แต่ยังมี #กินหมดจาน Guidebook และโครงการ Restaurant Makeover ที่จะชวนทุกภาคส่วนมาลดขยะอาหารร่วมกันด้วย

ในโอกาสที่ #กินหมดจาน ประจำปีเพิ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น (แถมยังมีส่วนลดให้คนที่ร่วมสนุกกับแคมเปญด้วย!) เราจึงยกหูหาคิวว่างของพิมพ์ลดา แล้วนัดมาเจอกันที่ร้าน มิ้งค์แจ่วฮ้อน ร้านอาหารอีสานแซ่บซุยต้นซอยเอกมัย 26 หนึ่งในร้านอร่อยจาก #กินหมดจาน Guidebook ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราอยากมาคุยกันในวันนี้

และนี่คือบันทึกบทสนทนาซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เรากำลังเอ็นจอยกับแจ่วฮ้อน ไก่ย่าง และตำปูปลาร้าแซ่บๆ ค่ะ

จุดเริ่มต้นของ #กินหมดจาน

“กินหมดจานมันเกิดจากการที่เราเห็นคลิปขยะอาหารของ ก้องกรีนกรีน (Konggreengreen หรือ ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ) แล้วก็เพิ่งได้รู้ว่าในกองขยะอาหารของ กทม.ที่เกิดขึ้นมันมีจำนวนเยอะมาก ในหนึ่งวันมีขยะประมาณ  1.7 ล้านกิโลกรัม และครึ่งหนึ่งในนั้นคือขยะอาหาร มันเลยทำให้เราตั้งคำถามว่า ทำไมขยะอาหารมันเยอะขนาดนี้

“ขยะอาหารเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ มันเลยยังเป็นปัญหาที่คนเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย แต่ในความเป็นจริงขยะอาหารเป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง พอหมักหมมไม่สมบูรณ์ก็เกิดก๊าซมีเทน พอปนเปื้อนก็ทำให้ระบบรีไซเคิลพัง รวมถึงปัญหาทางตรงอย่างเชื้อโรค กลิ่น เรารู้สึกว่าปัญหานี้ถูกมองข้ามไป กลายเป็นว่าปัญหาขยะที่เราโฟกัสกันคือขยะพลาสติกมากกว่า แต่สำหรับเรามันอันตรายไม่แตกต่างกันเลย

“พอเราคิดแบบนี้ เราก็เลยโทรหาก้องเลย ว่าเราทำอะไรกับสิ่งนี้ได้บ้าง ตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่อยากทำอะไรสักอย่าง ก้องก็อยากทำ แต่ไม่รู้ด้วยว่าจะทำอะไร พออยากทำก็คิดว่าต้องหาพันธมิตรเพิ่ม จนได้เป็นพี่ๆ จาก TikTok For Good แล้วเราก็มารวมตัวกันแบบลูกทุ่งมาก ประชุมกัน 2 รอบแล้วแคมเปญมันก็ออกมาเลย

“ในครั้งแรกที่เราจะเป็นการทำชาเลนจ์ ชวนคนมากินหมดจาน เพราะว่าเบื้องต้นเราอยากทำให้มันเกิดการรับรู้ขึ้น แล้วสิ่งนี้มันง่ายที่สุดสำหรับทุกคน เพราะว่าโดยส่วนใหญ่คนจะรู้สึกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไกลออกไป เป็นปัจจัยปลายๆ ในความสนใจของคน เราก็เลยอยากทำให้มันใกล้ตัวขึ้น ไหนลองทำเป็นชาเลนจ์ดูสิ มานั่งกินข้าวหมดจานให้ทุกคนได้ดู เพื่อยกเรื่องนี้ขึ้นมา”

แคมเปญน่ารักๆ อย่าง #กินหมดจาน นี้ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทุกช่องทางกว่า 90 ล้านวิว จนทำให้ #กินหมดจาน ได้รับรางวัลสาขา Best Green Change Maker จากงาน Thailand Influencer Award 2023 ไปอย่างน่าชื่นชม

แต่สำหรับปีนี้ พิมพ์ลดาและทีม #กินหมดจาน ต้องการขยายขอบเขตไปให้ไกลและลึกกว่าเดิม

จาก #กินหมดจาน สู่ กินหมดจาน Guidebook และ Restaurant Makeover

“พอปีแรกทำแล้วเราเห็นผลจากยอดต่างๆ ที่มันเข้ามาว่ามันมีคนสนใจเรื่องนี้อยู่นะ ดังนั้นพอเราต่อยอดมาเป็น season 2 เราก็ต้องกลับเข้าไปเรียนรู้ว่าเราได้อะไรจากการทำครั้งครั้งก่อน เราพบว่าเราสร้างการรับรู้ได้ แต่สิ่งที่เราไม่แน่ใจเลยคือเรื่องภาคปฏิบัติว่ามันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ดังนั้นในครั้งนี้เราเลยลองขยายดู ถ้า กินหมดจาน ไม่ได้ทำงานแค่กับภาคผู้บริโภคแล้ว เราจะทำงานกับใครต่อได้บ้าง

“เรากาง food supply chain (การจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหาร) เลยว่าขยะอาหารมันเกิดตรงไหนบ้าง แล้วเราก็ค้นพบว่ามันเกิดทุกจุดแหละ มากน้อยแตกต่างกัน ดังนั้นเราก็ต้องมาดูว่าตัวเราเองสามารถทำงานร่วมกับใครได้อีกบ้าง เราไม่ได้อยากให้มันเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเดียวในการที่เขาต้องรับผิดชอบสิ่งนี้ เพราะทุกคนในสังคมต้องรับผิดชอบหมด แล้วแต่หมวกที่ตัวเองใส่อยู่ว่าคืออะไร 

“ดังนั้นพอเรามีจุดประสงค์ของเราแล้วว่าเราอยากให้ทุกคนมาลงมือทำเรื่องนี้ร่วมกัน เราก็ต้องมาย่อย มาคุยกับทีมว่างั้นเราจะกำหนดขอบเขตที่จุดไหน จากเรื่องของผู้บริโภค เราก็เขยิบขึ้นมาเป็นเรื่องร้านอาหาร เพราะว่าตัวแพรเองเคยเปิดร้านอาหารมา และพอรู้จักกับเชฟและร้านอาหารบ้าง เราก็จะรู้ว่าความท้าทายของร้านอาหารมีอะไรบ้าง ถ้าจะต้องลงมือจัดการกับเรื่องนี้ รวมถึงอีกหนึ่งฝ่ายสำคัญที่เราอยากดึงเขามาร่วมด้วย นั่นก็คือ กทม. 

“เราตั้งใจว่าในครั้งนี้มันจะเป็นการดึงทุกๆ ภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน แต่จริงๆ แล้วกินหมดจานมันคืองานสื่อสาร ดังนั้นเราไม่สามารถเอาทุกคนเข้ามายัดในกินหมดจานได้ ดังนั้นเรายังคงเก็บกินหมดจานไว้ แต่ปรับให้มันพัฒนาขึ้นว่าคุณจะกินที่ไหน เมนูอะไรก็ได้ แต่ถ้าคุณมากินใน 50 ร้านในกินหมดจาน guidebook คุณจะได้รับโปรโมชั่นพิเศษจากทางร้านร่วมด้วย แต่การที่จะมากินหมดจาน guidebook ได้ ร้านอาหารเหล่านี้จะต้องเข้าโครงการอีก 1 โครงการ ชื่อว่า restaurant makeover 

“วิธีการของ restaurant makeover คือ เราจะมี KOL 50 ท่าน มาร่วมเลือกร้านอาหารที่เขาชอบมาก่อน หลังจากนั้นทุกร้านจะต้องเข้ามาร่วมกระบวนการการพัฒนาจัดการขยะอาหารเบื้องต้น โดยเราจะทำหน้าที่รวบรวมชุดข้อมูลจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อย. กรมควบคุมมลพิษ สำนักสิ่งแวดล้อมของ กทม. แล้วทำเป็นแนวทางเบื้องต้นออกมา 

“ต้องบอกก่อนว่าอันนี้เป็นครั้งแรก ทุกอย่างจึงต้องเป็นพื้นฐานมากๆ เพราะการที่เราจะไปดีลกับวิธีทำงานของร้านอาหาร เราต้องเข้าใจในมุมเขาด้วยว่าถึงเขาอยากทำก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำได้ทั้งหมด เขาต้องดีลกับลูกน้อง เขาต้องดีลกับยอดขาย ดีลกับทุกอย่าง ถ้าเรามองในมุมผู้ประกอบการ เราจะเกิดความเข้าใจว่าเราต้องดีลกับเขาอย่างไร ดังนั้นครั้งนี้มันจึงต้องเป็นพื้นฐานเบื้องต้นมากๆ ขอแค่ให้เขาแยกขยะอาหารออกมา ชั่งตวงวัดให้เราหน่อย แล้วก็นำส่งให้กับ กทม. แล้ว กทม. ก็จะเก็บทั้งหมดไปจัดการต่อในรูปแบบของแต่ละเขต แต่ละเขตจัดการไม่เหมือนกัน ระบบนี้ต้องเกิดขึ้นในร้านของเขาก่อนก่อน เขาถึงจะเข้ามาอยู่ในกินหมดจาน guidebook ได้ 

“อย่างที่บอกว่าโปรเจกต์นี้ เราอยากดึงทุกคนที่อยู่ในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นแต่ละคนเขาจะมีวิธีการทำงานและสิ่งที่เขาต้องจัดการที่แตกต่างกัน เราก็จะทำงานเป็น dot connecter เชื่อมให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือกัน โดยที่เราต้องมองในมุมของเขาว่าเขามีความต้องการอะไร อุปสรรคเขาคืออะไร เราจะช่วยสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง และเราก็จะไปในทุกๆ มุมของทุกคน เพื่อที่จะทำให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้จริงๆ

“ท้ายที่สุดขยะอาหารมันมีวิธีการจัดการอยู่ 2 อย่าง ก็คือลดตั้งแต่ต้นทาง และจัดการมันให้ถูกต้องระหว่างทางไปจนถึงปลายทาง เป้าหมาย 2 อย่างนี้เราทำงานกับคนต่างกลุ่มกัน ถ้าเป็นกินหมดจาน เราต้องการให้มีการลดลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง ปีแรกเราอยู่ในแพล็ตฟอร์มของ TikTok ปีที่ 2 เราก็ขยายขอบเขตขึ้น โดยต้องเกิดการเรียนรู้กลับมาว่าสิ่งที่เราทำในปีนี้มันได้ผลไหม ผ่านตัวเลขที่เราเก็บมาจากหลังบ้านของทั้ง 50 ร้าน

“กลับมาที่ restaurant makeover ครั้งนี้มันคือเหมือนเป็นรอบทดลองเลย เราอยากรู้ว่าถ้าเราดีลกับภาคเอกชน ดีลกับร้านอาหาร 50 ร้าน ระบบต่างๆ ที่มันต้องเกิดควรจะเป็นอย่างไรบ้าง เราต้องเก็บตรงนี้ไปทุกอย่าง แล้วค่อยทำเป็นชุดคู่มือ เพื่อที่ร้านอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้ามาอยู่ในโครงการเขาจะสามารถปรับใช้ต่อได้ ท้ายสุด กินหมดจาน guidebook มันคือตัวการที่เชื่อมสองงานเข้าด้วยกัน เพราะร้านต่างๆ ที่เขาพัฒนาออกมาดีแล้ว แต่เขาไม่มีช่องทางให้คนรับรู้ ก็จะไม่มีใครรู้จักเขา

“ปีที่ต่อๆ ไปเราก็ต้องขยายขอบเขตขึ้นจากเดิมอีก ปีที่ 3 จะมีมาแน่ ๆ แต่จะเป็นรูปแบบไหม ต้องรอดู เพราะยังไม่ได้คิด ขอคิดก่อน (หัวเราะ)”

ขยะอาหาร เรื่องใหญ่ในเมืองหลวง

อย่างที่พิมพ์ลดาได้บอกไว้ตั้งแต่ต้น ขยะอาหารเป็นปัญหาใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่มักถูกมองข้ามเสมอ มายาคติยอดนิยมที่ว่า “แยกขยะไปทำไม สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็เอาไปเทรวมกัน” เป็นเรื่องที่ถูกผลิตซ้ำปากต่อปาก ในขณะที่พนักงานเก็บกวาดและคัดแยกขยะของกทม. ต้องทำงานกันแทบทั้งวันทั้งคืน

“ต้องบอกก่อนว่าการกำจัดขยะอาหารเป็นเป้าหมายของ กทม. อยู่แล้ว เพราะถ้าไม่จัดการปัญหาเรื่องนี้มันจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในกรุงเทพแน่นอน ‘ไม่เทรวม’ ก็เป็นโปรเจกต์นำร่องของ กทม. เหมือนกัน เขาอยากชูเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาขยะจริงๆ แต่ความท้าทายของเรื่องนี้ก็คือทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจของทุกๆ ภาคส่วนในสังคม 

“เราจะบอกว่าเป็นหน้าที่ของ กทม. อย่างเดียวในการแยกก็ไม่ได้ เพราะว่าถ้าต้นทางไม่แยก การจะไปพึ่งให้พนักงานเก็บขยะซึ่งมีจำนวนไม่เยอะต้องมาจัดการขยะวันละหลายหมื่นตันใน กทม. มันเป็นไปไม่ได้เลย ภาพที่เราเห็นว่าเขาโยนทุกอย่างขึ้นรถขยะไปก่อน เพราะ ณ หน้างานบางครั้งมันไม่สามารถจะยืนแยกได้เลยทันที 

“เราเคยไปที่เขตวัฒนาซึ่งเป็นจุดคัดแยก เขาต้องฉีกถุงทำทุกถุงเลยนะ เพื่อดูว่ามีขยะอาหารอะไรบ้าง แล้วโกยทุกอย่างเข้ามาแยก ซึ่งใครจะอยากทำแต่เขาต้องทำเพราะมันคือหน้าที่เขา พอเราไปเห็นภาพแบบนั้น เราเลยอยากให้ทุกคนรู้ว่า ขยะทุกอย่างที่ออกจากมือเรา ถ้าไม่ใช่เราจัดการ มันต้องมีคนจัดการเรื่องนี้อยู่ดี แล้วคนที่รับขยะจากเราไป ก็จะยิ่งจัดการยากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าเราไม่เทรวมกันตั้งแต่แรก ปัญหาก็จบเลย แยกที่ต้นทางยังไงก็ง่ายกว่า

“ตอนนี้รูปแบบการจัดการของ กทม. เราโฟกัสอยู่ 3 วิธี คือทำปุ๋ย น้ำหมัก เลี้ยงสัตว์ BFS หรือหนอนแมลงวันดำ แต่ละเขตสะดวกจะทำแบบไหนให้เขาทำแบบนั้น เพียงแต่เราเข้าไปเป็นจุดเชื่อมเรื่องการรับขยะอาหารจากร้านต่าง ๆ แต่ละร้านน่ารักมาก เขาเปิดให้เราเข้าไปลองจัดการว่าถ้าลำดับการทำงานเป็นแบบนี้จะโอเคไหม ทดลองทำซัก 1 สัปดาห์ก่อนนะ ถ้าไม่ได้อย่างไรบอก แล้วเราจะเข้ามาดูอีกทีหนึ่ง หลังจากนั้นร้านส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ฟีดแบ็กอะไรมา เพราะมันไม่ค่อยมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แล้วเราก็หายไปเลยเว้ย (หัวเราะ) 

“จนถึงวันที่พาสื่อไปทัวร์ เราก็ไปคุยกับพี่ที่เป็นสต๊าฟร้านหนึ่ง ว่า พี่ เราถามตรงๆ ได้ไหม เราเข้ามาจัดการรู้จักอย่างไรบ้าง เขาก็ยอมรับว่าตอนแรกก็ยุ่งยากขึ้น แต่พอทำตามขั้นตอนที่เราแนะนำไป เขาก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ยากนี่นา เราเข้าใจได้เลยว่าที่ผ่านมาเขาต้องเอาเรื่องการทำงานมันเป็นที่ตั้งก่อน เวลาต้องทำออเดอร์ ต้องดีลกับอาหาร มันยุ่งมาก และทุกอย่างต้องออกไปถึงลูกค้าให้เร็วที่สุด ดั้งนั้นการแยกขยะมันไม่สามารถคิดได้ ณ ปัจจุบันนั้นหรอก 

“พอเราแยกลำดับการทำงานให้ เราอยากให้มันเกิดสิ่งนี้ขึ้นอัตโนมัติ คือเราแยกถังให้เลย ไม่ต้องคิดเลย ลองดูทำตามนี้ เขาบอกว่าพอเขาทดลองทำจริงๆ เขาทำได้โดยอัตโนมัติเลย งานไม่เสีย แต่ก็ยังแยกขยะอาหารได้ สต๊าฟทุกคนก็มีฟีดแบ็กว่าพอแยกขยะแล้ว ขยะที่เคยถุงใหญ่ๆ ผสมกันทุกอย่างแล้วเหม็นเน่าเร็ว พอมาแยกขยะแล้ว ขยะถังใหญ่ๆ มันก็ไม่เหม็น งานน้อยลง การใช้ชีวิตเขาง่ายขึ้น แค่ต้องออกแบบลำดับการทำงานตั้งแต่ต้น วันนั้นเราประทับใจมาก เขาตอบสื่อให้ด้วย เลิศ!”

มิ้งค์แจ่วฮ้อน ร้านสายกรีนผู้มาก่อนกาล

50 ร้านใน กินหมดจาน guidebook มีทั้งร้านมือใหม่หัดแยกขยะอาหาร ไปจนถึงร้านที่แยกขยะละเอียดยิบด้วยตัวเองมาตั้งแต่ก่อนเข้าโครงการ ร้าน “มิ้งค์แจ่วฮ้อน” ซึ่งเป็นจุดนัดหมายของเราวันนี้ เป็นอีกหนึ่งร้านในไกด์บุ๊กที่แยกขยะอยู่ในระดับที่เราขอเรียกว่าเป็นมืออาชีพตัวจริง คือแยกทั้งขยะอาหารย่อยสลายได้ ขยะอาหารที่เป็นเปลือกและกระดูก ขยะพลาสติกประเภทต่างๆ กล่องลัง กล่องนม ฝาขวด พลาสติกยืด ถุงวิบวับ ขยะกำพร้า ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในร้านที่แยกขยะได้ละเอียดที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาเลยทีเดียว

“ของทางมิ้งค์แจ่วฮ้อน เขาสร้างระบบการแยกอาหารอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่แยกอาหาร แต่แยกขยะทุกอย่าง เขาค่อนข้างระวังมากเรื่องการสร้างขยะ single use plastic ก่อนหน้านี้ข้างบนมีร้านรีฟีลอยู่ด้วย แต่ตอนนี้กำลังปรับปรุงอยู่ ร้านนี้เป็นร้านเดียวที่ใช้ปิ่นโต ส่งเดลิเวอรีอาหารมาให้เราถ่ายง่าย คือเขาจริงจังมากๆ”

หยุย – มณีรัตน์ เรืองรัตนนิธิ จากร้านมิ้งค์แจ่วฮ้อนเล่าว่า เธอสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ก่อนจะเริ่มทำร้านแจ่วฮ้อนเสียอีก เคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้การแยกขยะเกิดขึ้นในร้านอาหารได้อย่างเป็นธรรมชาติคือต้องอดทน ใจเย็น ทำเป็นตัวอย่างให้พนักงานทุกคนเห็น และที่สำคัญคือรายได้จากการขายขยะทุกประเภท เธอส่งมอบเป็นสินน้ำใจและค่าเหนื่อยให้กับพนักงานในร้านโดยไม่เก็บไว้เองแม้แต่บาทเดียว

เราเดินสำรวจพื้นที่คัดแยกขยะรอบร้าน แม้จะไม่งามตาเหมือนมินิมัลร้านอาหารในนิตยสารแต่งบ้าน แต่ทุกมุม ทุกชั้น ถุงกล่องที่จัดสรรไว้สะอาดสะอ้านเพราะทางร้านจะล้างคราบอาหารออกแล้วผึ่งขยะให้แห้งสนิทก่อนทุกครั้ง กุญแจสำคัญคือต้องปล่อยวางหากร้านจะมีมุมใช้งานจริงซึ่งไม่ขึ้นกล้องอยู่บ้าง เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่คนแยกขยะอย่างละเอียดต้องเจอ ก็คือการพักขยะไว้จนกว่าขยะแต่ละประเภทจะมีพวกมาสมทบมากพอให้ส่งต่อไปยังปลายทางที่ถูกต้องเหมาะสมได้

อาหารอร่อย บริการดี จัดการขยะได้เฉียบขาด – ครบทุกมิติขนาดนี้ก็ต้องขอยกให้ร้านมิ้งค์แจ่วฮ้อนเป็นร้านแจ่วฮ้อนที่คูลที่สุดไปเลย!

การแยกขยะไม่ควรแยกออกจากวิถีชีวิต – แม้จะเป็นสายกินก็ต้องเป็นสายกรีนได้

“ถ้าถามว่าทุกร้านจะแยกขยะได้แบบนี้ไหม เราว่าน่าจะยากยาก เราไม่ได้โลกสวยนะ เอาดีๆ (หัวเราะ) 

“ถ้าเราเปิดร้านแล้วเรายังต้องหายอดขายงกๆ อยู่ เราจะอยากคิดเรื่องการแยกขยะไหม ไม่มีทาง เรื่องนี้มันเป็นเรื่องโครงสร้างทางสังคมที่ลึกลงไปกว่าที่เราเห็นอีก ดังนั้นโปรเจกต์นี้เราจึงอยากชวนทุกคนออกมาเป็น change maker ในจุดที่คุณสามารถทำได้ ทำแบบเอ็นจอยกับมันด้วยนะ เราไม่ได้อยากให้ทุกคนมานั่งแบบ ‘เห้ยฉันทำ เธอไม่ทำ อี๋’ ไม่อะ ถ้าคุณทำได้ คุณทำเลย แต่ถ้าคุณยังทำวันนี้ไม่ได้ ไม่เป็นไร เดี๋ยวพร้อมค่อยมาทำ แต่คนที่มีหน้าที่อื่นๆ เช่น กทม. มีหน้า มี KPI ที่ต้องวัด กทม. ก็ต้องทำ 

“อย่างเราเอง เราก็ไม่ใช่คนที่ถนัดเรื่องการแยกขยะขนาดนั้นนะ ทุกวันนี้เราก็ยังไม่ได้เก่งขนาดที่ว่าพลาสติกนี้ต้องไปไหน ทุกคนรู้ว่าเรามาจากสายกิน แต่เราคิดว่าอยากให้ทุกอย่างเป็นการสร้างขั้นบันไดให้ตัวเอง เราแค่อยากให้ทุกคนมาลองดูว่าเราขยายขอบเขตของตัวเองในเรื่องการจัดการขยะได้มากแค่ไหน เช่น ปกติถ้าเราเป็นคนกินไม่หมดจานอยู่แล้ว เราจะทำยังไงถึงจะจัดการกับสิ่งนี้ได้ เอากล่องมาใส่ไหม หรือบอกร้านตั้งแต่ต้นว่าขอข้าวน้อยค่ะ วิธีการมันมีเยอะมาก ความตั้งใจของเราคือเราแค่อยากให้ทุกคนเห็นเรื่องพื้นฐานว่า ขยะอาหารมันเป็นปัญหาที่ถูกมองข้าม แล้วเราจะจัดการอย่างไรในจุดที่เราทำได้ ทุกคนทำได้ไม่เหมือนกัน ไม่เป็นไร แต่มาเริ่มลองทำกันไหม แค่นั้นเลย

“เราคิดว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นเรื่องของการที่คุณทำหน้าที่อะไร แต่มันคือการที่คุณจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหนมากกว่า เพราะเรายังชื่อว่าทุกๆ ชีวิตมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน มีหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่ว่า ณ จุดที่เรายืนอยู่ เราสามารถใช้ชีวิตอย่างไรให้ส่งผลกระทบกับโลกใบนี้น้อยลงได้บ้าง เพราะว่าอย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องใช้ชีวิต 

“ทุกคนต้องใช้ชีวิต ทุกคนต้องหาเงิน ทุกคนต้องหายใจ ตั้งแต่ตื่นยันหลับ การใช้ชีวิตเรามีผลกระทบกับโลกใบนี้อยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้การใช้ชีวิตเรา มันส่งผลกับโลกน้อยลงได้บ้าง ถ้าคุณจะเป็นสายกิน จะเป็น food blogger คุณก็ใช้ชีวิตของคุณไปได้ แต่คุณอาจจะลองตั้งข้อสังเกตหน่อยว่าทำอย่างไรเราจะไม่สร้างภาระให้โลกใบนี้มากเกิน อยากให้บนโต๊ะมีอาหารเยอะๆ เพื่อจะได้ภาพสวยๆ สั่งได้ไหม สั่งได้ แต่สุดท้ายแล้วเราจะจัดการกับขยะบนโต๊ะอย่างไร ส่งต่อไหม เอากล่องมาใส่เป็นมื้อต่อไปไหม มันคือการคิดเพิ่มขึ้นมา 

“เราไม่ได้ต้องเลิกเป็น Food Blogger นะ เราไม่ได้สนับสนุนว่าทุกคนเรามาเลิกใช้ชีวิตกันเถอะ เรามานอนเฉยๆ กันเถอะจะได้ไม่เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม (หัวเราะ) ไม่ ทุกคนต้องใช้ชีวิต ถ้าจะเป็น Food Blogger ก็เป็นได้ แต่จะทำอย่างไรให้สิ่งที่เรากำลังจะทำส่งผลกับโลกน้อยที่สุด มันคือการ make choice นะ ทุกคนใช้ชีวิตได้หมด แค่อยากให้เราตั้งคำถามเพิ่มว่าทางเลือกที่เรากำลังจะทำ มันกำลังเพิ่มหรือลดภาระให้กับโลกใบนี้ ถ้ามันลดได้ นิดเดียวก็ยังดี”

สิ้นสุดบทสนทนานี้ แจ่วฮ้อน ส้มตำ และไก่ย่างบนโต๊ะก็ถูก #กินหมดจาน ไปด้วย มีขยะเหลืออยู่แค่กระดองปูและขาปู 2-3 ชิ้นเท่านั้น (น้ำส้มตำยังแทบจะไม่เหลือเพราะอร่อยนัวจนแทบยกซด)

พิมพ์ลดาและตากล้องยกมือถือขึ้นถ่ายภาพจานเปล่า โพสต์แล้วติดแฮชแท็ก #กินหมดจาน ได้ลดขยะอาหาร ได้รายงานภารกิจแบบเรียลไทม์ แถมยังได้รับส่วนลดจากร้านอีก 10% เป็นข้อพิสูจน์ว่าจะ food blogger สายกิน หรือสายไหนก็สามารถเลือกจะเป็นสายกรีนได้ แค่มองเห็นปัญหาให้มากขึ้นทีละนิดก็พอ

______________________________________

สามารถร่วมสนุกกับแคมเปญ #กินหมดจาน ได้ โดยการโพสต์รูปภาพหรือวิดีโอ ก่อน-หลัง ของอาหารที่คุณกินหมดเกลี้ยงไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ แล้วติดแฮชแท็ก #กินหมดจาน #Restaurantmakeover เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนมาลดขยะอาหารด้วยตัวเองได้ตั้งแต่ต้นทาง

พิเศษสุดๆ สำหรับ #กินหมดจาน ในปีที่ 2 นี้ ผู้ที่ร่วมสนุกกับแคมเปญ โดยรับประทานอาหารจาก 50 ร้านใน กินหมดจาน Guidebook ภายในวันที่ 29 ตุลาคม- 30 พฤศจิกายน จะได้ promotion พิเศษจากทางร้านไปเลย !

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://aroundp.co/kinmhodjan/

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS