“มันวิกฤติถึงขั้นต้องนำเข้าปลาทูมาบริโภค ทั้งๆ ที่ปี 2528 เรายังเป็นผู้ส่งออกปลาหลากหลายชนิดรวมถึงปลาทู เดี๋ยวนี้ส่งออกแค่กุ้งเลี้ยง ทูน่ากระป๋อง ซึ่งก็ไม่ใช่ปลาจากทะเลไทย แต่เป็นปลานอกน่านน้ำไทย” บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เกริ่นถึงสถานการณ์ปลาทูให้เราฟัง ที่พูดได้เต็มปากว่าเข้าขั้น ‘วิกฤติ’
เดิมปลาทู เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกที่คนทุกชนชั้นกินได้ แต่ด้วยจำนวนปลาทูไทยลดลงทำให้ต้องนำเข้าปลาทูจากนานาประเทศ ทั้งจากพม่า อินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ยังผลให้ปลาทูในท้องตลาดไม่ใช่อาหารราคาถูกอีกต่อไป มากกว่าเรื่องความอร่อยของปลาทูต่างสัญชาติที่ว่ารสด้อยกว่า เนื้อไม่มันเท่าปลาทูจากอ่าวไทยที่อุดมด้วยสารอาหารอย่างแพลงตอนก์ คือ ‘เกิดอะไรขึ้นกับปลาทูและท้องทะเลไทย’
ปัจจัยทางธรรมชาติ ทั้งอุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จำนวนแพลงตอนก์ที่เป็นแหล่งอาหารของปลาทูเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการทำประมงอย่างไร้จิตสำนึก แม้ภาครัฐจะออกมาตรการปิดอ่าวไทยช่วง 15 ก.พ. – 15 พ.ค. และฝั่งอันดามัน 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. ของทุกปี เพื่อให้ปลาทูได้มีระยะเวลาวางไข่ เจริญเติบโต แต่ภาพลูกปลาทูตัวเล็กไล่ตั้งแต่ 2 -4 เซนติเมตรขึ้นไป ต้มตากแห้งวางขายเป็นของฝากริมหาด หรือในตลาดสดที่หาได้ง่ายตามแถบจังหวัดติดชายทะเล ดูขัดแย้งกับความพยายามที่จะปกป้อง และเป็นเรื่องชวนวิตก เพราะบางคนไม่รู้ว่านี่คือลูกปลาทู หรือบางคนรู้แต่มองไม่เห็นหายนะจากการกินปลาทูตัวเล็ก
เราลองนำลูกปลาทูตากแห้งขนาด 2 เซนติเมตรขึ้นไป ปริมาณ 1 ขีด มานับดูได้ราวๆ 300 ตัว เท่ากับว่า หากบริโภคลูกปลาทูตากแห้ง 1 กิโลกรัม (ราคากิโลกรัมละ 140 บาท) ก็ตัดวงจรการเจริญเติบโตของปลาทูตัวเต็มวัย ไปถึง 3,000 ตัว ในขณะที่ปลาทูตัวเต็มวัย น้ำหนักอยู่ที่ 6-8 ตัวต่อกิโลกรัม (ราคากิโลกรัมละ 80-120 บาท) สูญเสียทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหาร คำถามคือทั้งๆ ที่มีมาตรการปิดอ่าว เหตุใดยังมีการจับลูกปลาทูตัวเล็กมาวางขาย
– มาตรการปิดอ่าวเพียงพอหรือไม่?-
มีการศึกษาวิจัย ‘สถานภาพของทรัพยากรปลาทูที่มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นผิวทะเลบริเวณอ่าวไทย’ ของ ผศ.ดร. เมธี แก้วเนิน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้งบสนับสนุนจาก สกว.(สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) เพื่อหาคำตอบว่า มาตรการปิดอ่าวในระยะเวลาเดิม อาณาเขตเดิมที่ใช้มาหลายปีนั้น ควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปของวงจรชีวิตปลาทู ทั้งระยะเวลาการผสมพันธุ์และการวางไข่ที่คลาดเคลื่อนจากเดิมหรือไม่ ซึ่งคาดว่างานวิจัยดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสม
อีกทั้งความคลาแคลงใจของหลายกลุ่มคนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรในท้องทะเลไทย จนนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยในกฎหมายที่ว่าด้วยการทำประมง อย่างที่บรรจง นะแส เล่าถึงกฎหมายการทำประมงในอดีตสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายในปัจจุบันว่า อาจมีช่องโหว่เอื้อให้เกิดการทำประมงอย่างไร้สำนึก มาตรการปิดอ่าวจึงอาจไม่เพียงพอ
“ปี 2526 เคยมีกฎหมายยกเลิกเรือปั่นไฟทุกชนิด เพราะกระทบห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากพันธุ์สัตว์น้ำตัวเล็กๆ มาเล่นแสงไฟ ก็โดนจับมาหมด พอออกประกาศ ทะเลก็ดีขึ้น ไม่มีปัญหาเรื่องการจับลูกปลาทู รวมถึงพันธุ์สัตว์น้ำอื่นๆ กระทั่งปี 2539 มีการแก้กฎหมายให้ปั่นไฟได้อีกครั้ง หลังจากนั้นเราก็เห็นๆ กัน มีลูกปลาทูตัวเล็กๆ ต้มตากแห้งขายให้เกลื่อนเมืองไปหมด อีกส่วนก็เป็นปลาเป็ด (ปลาตัวเล็กหรือปลาวัยอ่อนหลากพันธุ์ นิยมใช้ในอุตสาหกรรมปลาป่น หรืออาหารสัตว์) สาเหตุหลักก็มาจากเรือปั่นไฟนั่นแหละ ที่ทำให้ปลาทูลดลง เราก็เรียกร้องให้ยกเลิกเรือปั่นไฟอยู่ และกฎหมาย พ.ร.ก.ประมงปี 58 มาตรา 57 ที่บอกว่าใครที่นำพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนขึ้นเรือนั้นผิดกฎหมาย เราเรียกร้องให้รัฐมนตรีเป็นคนประกาศ ผ่านมา 3 ปีแล้วก็ยังเงียบ ถ้าออกประกาศชาวประมงก็คงไม่กล้าทำ ปัญหาอยู่ที่รัฐบาล พอกฎหมายไม่มี มันก็บังคับใช้ไม่ได้ไง ก็เคยพยายามวิเคราะห์นะว่ารัฐมีเหตุผลอะไร ถึงยังปล่อยให้เกิดการทำลายลูกปลาทูอยู่”
สาทร คล้ายน้อย ในฐานะลูกหลานชาวประมงจังหวัดชุมพร ที่คุ้นเคยกับท้องทะเลและการทำประมงมาตั้งแต่จำความได้เป็นอีกคนหนึ่งที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลง
“กฎหมายศักดิ์สิทธิ์นะ แต่คนถือไม่ศักดิ์สิทธิ์ เขาเรียกว่าเลี่ยงบาลีไง คือกฎหมายบอกว่าห้ามปั่นไฟในเขต ก็เลี่ยงไปปั่นไฟนอกเขต เรือปั่นไฟอยู่นอกเขตจริง ทำถูกตามกฎหมาย แต่ปลามันหมุนเวียนไปไง ไม่ได้อยู่แค่ในเขต ทั้งหมึกกล้วย หมึกกระดอง หมึกสาย ปลาทู ปลาแดง ที่กำลังหากินอยู่นอกเขตเห็นไฟก็ตามไปตอมไฟ เจอซั้งก็ตอมซั้ง เจอทั้งซั้งทั้งไฟก็หมด ทีนี้กรมประมงไม่ได้ลงมาดู มาจับปลาด้วยกัน อย่างเราคนในพื้นที่รู้เห็น”
ปลาทูไทย หายไปตั้งแต่เมื่อไหร่?
สาทร ยังจำภาพความอุดมสมบูรณ์ของปลาทูและท้องทะเลไทยได้ดี เกือบ 50 ปีมาแล้วที่เขาค่อยๆ เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่มีต่อทะเลชุมพร บ้านเกิด
“ตอนเด็กๆ สัก 10 ขวบ เริ่มมีประมงอวนลากเข้ามาแล้ว ผมไปออกเรือกับน้า น้าบอกว่าต่อไปทะเลจะไม่มีปลา ตอนนั้นเราไม่เชื่อนะ มันจะไม่มีปลาได้ไง ทะเลกว้างสุดลูกหูลูกตาขนาดนั้น แล้วที่เราเห็นคือปลามันเยอะมาก ตอนนี้อายุจะ 60 มันจริงอย่างน้าว่าเลย ปลาน้อยลง ก็เพราะประมงอวนลาก เรือปั่นไฟนี่แหละ ไล่ตั้งแต่อวนเดี่ยว อวนลากแคระ ลากในน้ำตื้นเลย แล้วก็มาอวนลากคู่ ลากทั้งหิน ปะการัง มันลากกวาดไปด้วยหมด…
สมัยก่อนช่วงปิดอ่าวนี่ ปลาเข้ามาผสมพันธุ์ในเขตน้ำตื้น ปลามันร้าวเลยนะ หมายถึงมันแตกตัวเสียงดังสนั่น ฝูงใหญ่ หมาที่อยู่ชายฝั่งได้ยินถึงกับเห่า มันเยอะขนาดนั้น แต่ก่อนมีโป๊ะปลาทูเอาไปตั้งปากอ่าว เพราะปลาทูมันเข้ามาในอ่าวจับได้มาก เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ปลามันไม่มีจะเข้ามา หอยแมลงภู่ที่เคยหาได้ง่ายยังแทบไม่มี ไอ้ที่ว่าเสียงปลาทูมันร้าว เดี่ยวนี้ไม่ต้องไปหวัง ปลากระบอกที่ว่าหาง่ายๆ ยังไม่มีเลย หายไปจากอ่าวชุมพรหมด มันค่อนข้างรุนแรงนะ”
– ทวงคืนปลาทูไทย –
เมื่อถามถึงหนทางที่จะทวงคืนความสมบูรณ์ของพันธุ์ปลาทูสู่ทะเลไทย สาทรตอบอย่างเป็นห่วงว่ามันอาจสายไป “จะให้ชาวบ้านมาดูเรื่องประมงมันไม่ใช่ไง รัฐก็ออกมาตรการสิ ส่วนที่ผู้บริโภคพอช่วยได้ คือ ‘หยุดซื้อ’ ทางออกมีเท่านั้นแหละ ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจให้คนทั่วไปว่า ปลาทูมีไข่หนึ่งตัวถ้าปล่อยให้ขยายพันธุ์จะได้ปลาทูมากมายขนาดไหนกลับสู่ทะเล หรืออย่างปลาทูตัวเล็ก ถ้าปล่อยให้โตเต็มวัย ขยายพันธุ์ เราจะมีปลาทูกินอีกนาน ลึกๆ รู้สึกว่ามันสายไปนะ ทะเลไทยมันวิกฤติแล้ว แต่ก็ต้องทำ”
เช่นเดียวกับบรรจง ที่มองว่าการสร้างจิตสำนึกเป็นเรื่องของปัจเจกชน สุดท้ายเรื่องที่เป็นสาธารณชน เป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลต่อผู้คนวงกว้าง ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร ปกป้องแหล่งอาหารของประชาชน
“ที่ทำได้ คือรณรงค์ให้สังคมรับรู้ปัญหามากขึ้น คนกินปลาต้องเชื่อมั่นในท้องทะเลไทยว่ามีอาหารเลี้ยงคนไทยมากพอ และสร้างความรู้ให้คนในสังคมได้รู้จักพืชพันธุ์สัตว์น้ำ จะได้รักและหวงแหน อย่างหลายพื้นที่ที่เรารณรงค์ไม่ให้มีเรือปั่นไฟ ทะเลก็สมบูรณ์ เราเลยคาดหวังว่าถ้าผู้บริโภครับรู้ปัญหาอย่างเข้าใจ คงมีส่วนร่วมกดดันให้รัฐบาลออกมาตรการ บริหารอย่างตรงไปตรงมา หรือเอางานวิจัยมาเป็นตัวตั้ง ตอนนี้คนรับรู้ยังน้อย สังคมยังไม่ตื่นตัว รัฐเลยอาจคิดว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้…อย่าลืมว่าปลาทูเคยมีมากพอและเป็นอาหารของคนจนด้วยซ้ำ แต่ทุกวันนี้เราต้องนำเข้า”
ปลาทูในน่านน้ำไทยจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้หรือไม่ คงต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนทางสังคม ส่งต่อความรู้ความเข้าใจ หยุดซื้อ หยุดบริโภคปลาทูมีไข่ หยุดวงจรการกินปลาทูตัวเล็กตากแห้ง แล้วเสียเงินเพื่อนำเข้าปลาทูตัวใหญ่ ในเมื่อเรา ‘รอ’ ให้เขาเติบโตได้