Studio Horjhama เป็นร้านของชำเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่แตกต่างจากร้านของชำและร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงซึ่งมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมถนน ชื่อ Horjhama หรือ ห่อจย่ามา เป็นภาษาอาข่าที่แปลว่า “มากินข้าวกัน”
สาเหตุที่เราบอกว่า Studio Horjhama แตกต่างจากร้านของชำอื่นๆ ก็คือ ข้าวของสารพัดที่วางจำหน่ายอยู่ในร้านนี้ เป็นเครื่องปรุง วัตถุดิบ และรสชาติที่เราไม่มีทางหาซื้อได้จากร้านขายปลีกขายส่งทั่วไป เพราะมันคือผลผลิตของเกษตรกร ชุมชน และผู้คนเล็กๆ ที่รังสรรค์อาหารขึ้นมาอย่างซื่อตรง ถ่อมตน และพยายามให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทั้งผู้บริโภคและโลกของเรา
สำหรับ แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ Food Activist ที่เบนเข็มจากการทำละครชุมชน มาลุยเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ ‘รถชำเปลี่ยนโลก’ ของแอนมาบ้าง Grocery Truck คันนั้นเป็นการต่อสู้ในรูปแบบร้านติดล้อ ที่ปัจจุบันขยับขยายลงหลักปักฐานมาเป็น Studio Horjhama ร้านชำเล็กๆ ที่แอนใช้ส่งเสียงสื่อสารกับทุกคนทุกคน ให้ร่วมต่อสู้เพื่อไม่ให้ระบบอาหารผูกขาดความมั่นคงไว้กับคนใดคนหนึ่ง
ท่ามกลางข่าวเรื่องการควบรวมกิจการค้าปลีกและค้าส่ง รถบรรทุกขนผักผลไม้รวมตัวประท้วงเพราะน้ำมันขึ้นราคา และการปิดตลาดสดในพื้นที่ควบคุมโรคระบาด เรามีโอกาสได้คุยกับเธอคนใน ทั้งในฐานะของผู้บริโภค และในฐานะของเจ้าของร้านชำผู้คำนึงถึงเรื่อง Fair Trade และความมั่นคงทางอาหาร เพื่อถอดบทเรียนการต่อสู้ของคนเล็กๆ และร้านเล็ก ๆ แห่งนี้ไปด้วยกัน
จากนักการละครสู่นักกิจกรรมด้านอาหาร ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เราเป็น Activist มาตลอดการทำงานนะคะ ประมาณ 20 กว่าปี เดิมทีคือเป็นนักละครเพื่อการพัฒนา เรียกว่า Theater Activist ใช้กระบวนการละครมาพัฒนาชุมชน และทำ Community Theater เป็นหลัก แต่เมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว ทาง Biothai หรือมูลนิธิชีววิถีเขาอยากใช้กระบวนการละครอธิบายเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประชากรเด็ก เราก็เลยได้ร่วมมือกันเพื่อสื่อสารเรื่องนี้กับประชากรกลุ่มที่เป็นเด็กและกลุ่มคนจัดการอาหารกับเด็ก ให้เข้าใจระบบอาหารที่เรากำลังพูดถึง
แล้วเวลาเราทำสื่อ เราก็ต้องรู้ให้ครบ ถูกไหมคะ เราก็ต้องย่อยข้อมูลให้หมดเพื่อที่จะมาออกแบบสื่อในการเรียนรู้ให้กับเด็ก ให้กับคนที่จัดการอาหาร ก็เป็นได้โอกาสที่จะเดินทางท่องยุทธจักรไปกับ Biothai ไปกับทีม “กินเปลี่ยนโลก” มีโอกาสพบปะหลายๆ คนในเวทีพูดคุย ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ รวมถึงได้พบกับผู้ผลิตรายย่อยเยอะแยะเต็มไปหมดเลย จนเรามองเห็นเรื่องราวในจานอาหารมากขึ้น
ตอนแรกก็คิดว่ามันน่าจะง่ายนะ ถ้าจะให้กระบวนการละครอธิบายเรื่องอาหาร แต่ว่าพอยิ่งรู้ ก็ยิ่งลึก ยิ่งลึกแล้วก็ยิ่งกว้างด้วย เพราะว่ามันครอบคลุมวิถีชีวิตของผู้คนในโลกนี้ ในทุกระดับชนชั้น เพราะว่าทุกคนก็ต้องกินใช่ไหม แต่ว่าไม่มีใครที่กินเท่าเทียมกันเลย ไม่มีการบริโภคที่เท่าเทียมเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
แต่ก่อนเรามองอาหาร อาหารก็คืออาหาร แต่ตอนนี้เรามองอาหารแล้วเรามองทั้งโลกได้ เราเห็นการขับเคลื่อนทุกอย่างในโลกนี้ผ่านอาหารหนึ่งจานได้ด้วยเหมือนกัน แล้วประสบการณ์แปดปีที่ผ่านมาก็ทำให้เราเองมองอาหารเปลี่ยนไปด้วย พอเห็นความไม่เท่าเทียม ความไม่ยุติธรรมของกระบวนการหรือห่วงโซ่อาหารแบบนี้ ก็เลยทำให้เราใช้ชีวิตและอธิบายโลกผ่านอาหาร ผ่านวัตถุดิบที่เรานำเสนอผ่านร้านชำของเราทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นวัตถุดิบ สินค้าในร้านของเราก็จะมีเส้นทางที่แตกต่างจากคนอื่น
ใช้ชีวิตยากไหม ซื้อขายยากไหม เมื่อเราขีดเส้นไว้ว่าสินค้าที่ขายจะต้องไม่ใช่ของที่เคยผ่านห้างร้านขายปลีกขายส่งมาก่อน
ในสายตาของคนอื่นอาจจะยากนะ แต่สำหรับเรามันง่ายมาก ง่ายของเราหมายความว่าไม่ต้องหาข้อมูลมาก เพราะเรามีต้นทุนมาก่อน เราเป็นคนไปเจอมันมาก่อน เราเป็นผู้ใช้มาก่อน เพราะฉะนั้นของทุกชิ้นในร้านเรา เราอธิบายได้หมดเลย ใครเป็นคนผลิต ถ้าคุณซื้อกาแฟของเราหนึ่งแก้ว คุณกำลังสนับสนุนใคร คุณกำลังส่งเงินไปยังชุมชนไหน เล่าให้ฟังได้ทุกชินโดยที่คุณไม่ต้องไปถึงสถานที่ผลิตก็ได้
แต่ถามว่า ถ้าผู้บริโภคทั่วๆ ไป จะบริโภคแบบนี้บ้าง มันเข้าถึงได้ไหม ก็ต้องบอกว่ามันไม่ง่ายเหมือนเดินเข้าร้านสะดวกซื้อหรอก แต่มันก็เข้าถึงได้ไม่ยาก ในอินเทอร์เน็ตตอนนี้ เสิร์ชไปเลยค่ะ ลองเสิร์ชเล่นๆ ดู ออนไลน์ชอปปิ้งมีขายทุกอย่าง ซีอิ๊วอินทรีย์ น้ำตาลธรรมชาติ มีให้หมดทุกอย่างเลย แต่เราอาจจะต้องมาดูด้วยว่าราคาเป็นอย่างไร
หนึ่ง ถ้าเทียบกับอาหารในระบบอุตสาหกรรม ของเขาจะถูก ของเราจะแพงกว่า ถ้ามันมาจากแหล่งที่ไกลบ้าน เพราะว่าเราทำในจำนวนที่มีไม่มากนัก เราจ่ายค่าแรงงานเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในขณะที่ระบบอุสาหกรรมใช้เครื่องจักร เผาผลาญพลังงานน้ำมันและไฟฟ้า ทิ้งมลพิษให้โลกตลอดเวลา แต่สามารถต้นทุนได้มากกว่า น้ำปลาที่ที่ร้านขายหมักในตุ่มนะคะ แต่ถังน้ำปลาอุตสาหกรรมนี่ใหญ่กว่าแทงก์น้ำหมู่บ้านอีก (หัวเราะ)
สองคือคุณอาจจะต้องสังเกตเพิ่มอีกนิด ว่าเงินที่คุณจ่ายไป ผู้ผลิตได้เท่าไร พ่อค้าคนกลางได้เท่าไร แฟร์กับคนผลิตหรือเปล่า ระบบการขายบางแบบก็มักจะกดราคากับผู้ผลิต เพื่อว่าจะได้ซื้อขายในปริมาณที่มากขึ้น แต่คนที่แบกรับราคาเหล่านั้นไว้คือผู้บริโภค ซึ่งจริง ๆ แล้วคุณไม่ควรจะต้องจ่ายแพงขนาดนั้นเพื่อแลกกับอาหารดี ๆ เพียงแต่ว่าผู้บริโภคก็จะต้องแอคทีฟ ซึ่งเท่าที่เห็นมา กลุ่มผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดได้ก่อนคือคนป่วยนะ ทั้งป่วยทางกาย และป่วยจากภาวะเศรษฐกิจ ก็เลยหันมาใส่ใจเรื่องอาหารมากขึ้น ค่อยๆ หัดกิน หัดใช้ และกลายเป็นผู้บริโภคก็เริ่มเป็น Green Citizen เริ่มแอคทีฟในการขวนขวายหาอาหารที่ดีให้กับตัวเองมากขึ้น
ผู้บริโภคของเราคือกลุ่มที่เราไม่ต้องไปแข่งกับใครน่ะ เขาคือคนอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วเราก็ดีใจที่ว่าคนในกลุ่มนี้มีเยอะขึ้น ในภาวะโควิดอย่างนี้ คนบอกว่ามันคือภาวะยากไร้ ใช่ มันคือภาวะยากไร้จริงๆ คนเลยหันกลับมาเห็นความสำคัญของการพึ่งตัวเองมากขึ้น คนที่รอดคือคนที่ผลิตเอง และบริโภคเอง
ไม่ว่าจะโรคระบาด น้ำมันแพง ถ้าเรารู้แหล่งอาหารดีๆ ใกล้บ้านตัวเอง เราก็รอด แต่ถามว่าทุกคนจะรอดเหมือนกันไหมล่ะ ไม่ต้องพูดถึงภาพใหญ่ในระดับประเทศเลยนะ จังหวัดเดียวกันแต่คนละอำเภอ ความสมบูรณ์ของอาหารก็ต่างกันมากแล้ว ปากท้องของคนในทุกวันนี้นะ พอมองแล้วส่วนตัวก็คิดว่ามันแย่ลงเยอะมาก เรากินอาหารไกลบ้านมากขึ้น กินอาหารไกลตัวมากขึ้น และพึ่งพาตัวเองได้น้อยลง
เพราะเหตุผลนี้ไหม ที่ทำให้ระบบอาหารดูเหมือนล่มสลายไปพักหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงแรกของการล็อกดาวน์เพื่อลดการระบาดของ Covid-19 ที่คนพากันกักตุนอาหารสำเร็จรูปเพราะกลัวว่าจะไม่มีกิน
จริงๆ เราคิดว่ามันไม่ได้เพิ่งเกิดนะ จำได้ไหม เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพสิบปีก่อน (เหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี พ.ศ. 2554 – ผู้เขียน) คนต้องไปขนน้ำเป็นแพ็กๆ มากักตุนกันไว้ เพราะอะไร เพราะเราไม่สามารถดื่มน้ำจากแหล่งอื่นได้ อาหาร ข้าวสารสำเร็จรูป โดนกว้านซื้อไปหมดเลย ดูเหมือนแย่งอาหารกันยิ่งกว่าสงครามโลกเสียอีก
แต่สิ่งที่วิกฤติอาหารครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ ก็คือว่า อาหารเป็นสิ่งขาดแคลนสำหรับคนบางกลุ่ม แต่กับคนอีกบางกลุ่ม อาหารกลายเป็นสิ่งที่เหลือเยอะมาก ขายไม่หมด กินไม่ทัน จนต้องเอาไปเททิ้ง อาหารในร้านค้าใหญ่ๆ ถูกเททิ้งรวมหลายร้อยต้นต่อวัน ขยะเหล่านี้จะนำไปเป็นปุ๋ยก็ยาก จะเผาก็ยาก ส่วนใหญ่ฝังกลบมันไปทั้งพลาสติกที่ห่อหุ้มนั่นแหละ
ที่น่ากลัวไปกว่านั้น ถ้ามาเชียงใหม่ตอนนี้ก็จะเห็นได้ว่า ร้านอาหาร ที่ดินทำกิน และโรงแรมทั้งหลาย ป้ายที่ฮ็อตที่สุดตอนนี้คือ ขาย ให้เช่า ขาย ให้เช่า เต็มไปหมดเลย แล้วถามว่าใครจะเป็นคนที่มาช้อนซื้อได้ ตอนนี้ที่เห็นกันก็คือบริษัทใหญ่ทั้งหลายที่ยังมีเงินอยู่ เพราะคนธรรมดา ผู้ค้ารายย่อยจะมีเงินก้อนมาซื้อก็คงเป็นส่วนน้อยมาก ขนาดที่ต้องตั้งคำถามว่าอีกหน่อยเราจะได้ซื้อข้าวแบบไหนก็ไม่รู้ เพราะนาข้าวก็ถูกถมไปทำบ้านจัดสรรเยอะมากแล้ว ระบบนิเวศน์มันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนคนสามารถหาปูหาปลาจากคลองหน้าบ้านได้จริงๆ แต่เดี๋ยวนี้เราหาไม่ได้แล้วนะ มันไม่มี หรือถ้ามีก็ไม่ควรจะกิน เพราะว่ามันก็คงกินยาฆ่ายา กินปุ๋ยเคมีมาทั้งชีวิต อันนี้คือความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ และหลายคนจะเห็นมันได้ชัดเจนขึ้นเมื่อมีโควิด
แต่ตอนนี้ไม่ใช่โควิดยาวอย่างเดียวแล้ว แต่น้ำมันก็แพง ซึ่งพอน้ำมันราคาแพงขึ้นขนาดนี้ เราจะกินอาหารดีๆ ในราคาดีๆ ได้อย่างไรล่ะ ผักผลไม้สดที่เลี้ยงคนทั้งประเทศมันต้องเดินทาง เราต้องส่งอาหารไปตลาดกลาง แล้วส่งกระจายออกมาในระดับย่อย จังหวัด อำเภอ ตำบล ในขณะที่ไม่ได้มีมาตรการอะไรในการจัดการเลย เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมรถบรรทุกผักผลไม้ถึงต้องออกมาประท้วง หนึ่งคือเขาเองก็ได้รับผลกระทบในฐานะผู้บริโภค และ สอง เขาต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายแทนพ่อค้าคนกลาง แทนบรรษัทใหญ่ เพราะเขาต้องวิ่งรถขนวัตถุดิบอาหารในราคาเท่าเดิม หรือกระทั่งเกษตรกรที่เป็นต้นทางการผลิต ทุกวันนี้ถ้าตลาดปิดหรือเกิดปัญหาขึ้นทำให้ไม่สามารถขนผักสดผลไม้เข้ามาขายในเมือง เขาก็ยอมปล่อยให้เฉาตายคาแปลง เพราะการเก็บเกี่ยวก็คือต้นทุน ถ้าเก็บมาแล้วขายไม่ได้ คือการขาดทุนที่สูงกว่าเดิม ความเสี่ยงและผลกระทบตรงนี้ภาคการผลิตและแรงงานต้องรับเองเต็มๆ
แรงงานได้เงินน้อย นายทุนได้เงินมาก ราคาอาหารไม่เป็นธรรมตามสิ่งที่ควรจะเป็น นี่ถือเป็นการเอาเปรียบแรงงาน เอาเปรียบธรรมชาติ เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเราได้ไหม
ใช่ค่ะ มันไม่มีความยุติธรรมในกระบวนการการผลิต เราลองเปรียบเทียบอาหารในกระบวนการผลิตสองแบบที่แตกต่างกันนะ จะเห็นภาพได้ชัดเลยว่า การผลิตอาหารในระบบโรงงานอุสาหกรรม ใช้น้ำมันเยอะ ใช้ไฟฟ้าเยอะ ใช้ทรัพยากรไฟฟ้าเยอะมาก บางโรงงานต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นราคาต้นทุนที่เราซื้อมา เรากำลังจ่ายค่าอะไรอยู่บ้าง เราจ่ายค่าน้ำเสีย จ่ายค่ากระบวนการชะล้าง จ่ายค่าระบบที่ลดเวลาในการผลิตลง ให้โรงงานผลิตอาหารได้เยอะขึ้นในเวลาน้อยลง จนกว่ามันจะเหลือจ่ายค่าแรงคนงานของเขา ไม่รู้ว่าทั่วถึงหรือเปล่าด้วยซ้ำ
ในระบบโรงงาน ถ้าคนอายุเยอะหน่อยก็เตรียมรีไทร์ได้เลย แล้วก็ไม่มีสวัสดิการหลังเกษียณที่สมเหตุสมผลกันด้วย คนอายุสัก 45 ปีขึ้นไปนี่แทบจะไม่ได้อยู่ในระบบโรงงานแล้ว ถ้าไม่ป่วยเสียก่อนก็คือมีการจ้างออก แล้วเขาก็จ้างคนจบใหม่ที่อายุยี่สิบกว่าๆ จ้างคนที่ยังมีแรงไปแทน ในสถานการณ์แบบนี้ เรียนจบมาใครๆ ก็อยากมีงานทำ อยากมีเงินเดือน ถูกไหมคะ ต่อให้ไม่ตรงตามสายงานที่เรียนมา แต่ใครๆ ก็ทำงานโรงงานได้ เพียงแต่ว่าจะไปอยู่ที่ฟังก์ชั่นไหนของโรงงาน หรือในธุรกิจภาคไหนเท่านั้นเอง
ไม่ใช่แค่โรงงานอย่างเดียว ลองมองดูร้านสะดวกซื้อใกล้ตัว พนักงานรายชั่วโมง ได้ค่าแรงชั่วโมงละไม่กี่สิบบาท ยิ่งในภาวะโรคระบาดแบบนี้ พนักงานที่อยู่ในร้านสะดวกซื้อเสี่ยงมาก แต่พอเป็นพนักงานรายชั่วโมงสวัสดิการก็ไม่ครอบคลุม เจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องออกเอง ขับรถไปทำงาน เกิดอุบัติเหตุก็ต้องจ่ายเอง อันนี้คือความไม่ยุติธรรมเลย แรงงานต้องแบกรับความเสี่ยง แล้วใครที่ได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ ล่ะ ก็คือคนที่เป็นเจ้าของนั่นแหละ เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจว่าทำไมคนถึงแบนร้านสะดวกซื้อกันมากขึ้น เพราะว่าคุณเอาเปรียบคนในทุกระบบไง ห่วงโซ่นี้มันไม่เป็นจริง ห่วงโซ่นี้มันหักหลังคนเยอะแยะไปหมด ทั้งคนซื้อ ทั้งแรงงาน มันกลายเป็นระบบที่ทำให้คนเจ็บป่วย ถ้าทุกคนตะโกนออกมาได้ เราก็คงจะออกเสียงแบบเดียวกัน ว่าตอนนี้เราไม่เอาคุณแล้ว เราอยากเลิกคบคุณแล้ว
ความเคลื่อนไหวและการส่งเสียงของผู้บริโภคจึงเกิดขึ้น เพราะเราเห็นแล้วว่าระบบนี้ไม่ยุติธรรม?
เพราะคนหาข้อมูลได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ และเราก็เห็นแล้วว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีอาหารคุณภาพ ไม่ได้มีอาหารดีๆ ให้เราตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมาคือเราถูกกรอกใส่หัวว่าเราได้รับอาหารดีมีคุณภาพมาจากเขา แล้วก็เชื่อว่ามันดี มันสะอาดมากพอ มันถึงอยู่ในแพ็กเกจที่สะอาด อยู่บนชั้นวางได้นาน ไม่บูดไม่เสีย
แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนแล้ว คนใส่ใจกับเรื่องอาหารปลอดภัยมากขึ้น คนหาข้อมูลได้มากขึ้น เราเห็นแล้วว่าลูกหลานเรา คนที่เรารัก รวมถึงตัวเราเองอยู่ในระบบอาหารแบบนี้มานาน นานจนร้านแบบนี้กระจายไปถึงทุกที่ คนที่ตายคือใคร คือร้านขายของชำ
ลองดูช่วงสองปีที่ผ่านมา ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อไม่เคยถูกสั่งปิดเลย ไม่ว่าจะมีการระบาดมากน้อยขนาดไหน แต่พอเป็นตลาด มีการระบาด มีการสั่งปิด ไม่มีการเยียวยา แล้วคนในตลาดคือใคร คนในตลาดคือพ่อแม่เรา คือพี่น้องเรา คือคนในครอบครัวเรา แล้วก็คือคนที่ตกงานจากระบบโรงงาน จากระบบบริษัทที่ผันตัวมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดสดตลาดนัด
ห่วงโซ่ที่เขาวางไว้มันแข็งแรงมาก มันใหญ่มาก มันเกี่ยวกับระบบการเมือง การค้าระหว่างประเทศด้วย ไม่ใช่แค่ในประเทศเราอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่า ถ้าเราอยู่คนละสนามกับเขา เราก็จะรอดได้ หมายความว่า หนึ่ง เราไม่ใช้บริการของเขา และสอง เราสร้างชุมชนในการบริโภคของเราขึ้นมาเอง ชุมชนนั้นจะเกิดในตลาดก็ได้ ในอากาศก็ได้ หลังจากเรื่องโควิดผ่านไป ส่วนตัวก็คิดว่ามันจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ เชื่อว่าเราสามารถฝากความหวังกับเกษตรกรรุ่นใหม่ได้
การต่อสู้กันคนละสนามหมายถึงอะไร แล้วจากประสบการณ์ที่ผ่านมา มองว่ามันมีพลังจะเปลี่ยนห่วงโซ่อาหารที่ไม่ยุติธรรมแบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
ก็คือการลงคนละสนามกับเขาไปเลย แบนไปเขาก็คงจะปรับตัวตามเรามาได้อยู่ดี (หัวเราะ) นายทุนเขาก็ปรับตัวเยอะนะคะ เราอยากกินลาบเขาก็มีลาบขาย เราอยากกินข้าวเหนียวหมูปิ้ง เขาก็ทำข้าวเหนียวหมูปิ้งขาย เราอยากจ่ายค่าน้ำค่าไฟก็จ่ายได้ เราไม่เดินไปหาเขา เขาก็มาส่งของให้เราถึงที่ได้ด้วย เขาทำระบบมาดีมากเลย เรียกว่าอะไรที่เขาปรับได้เขาก็ปรับหมด แต่มันเป็นการปรับตัวที่ดีที่สุดหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน คือเขาปรับเพื่อที่ว่าเขาจะมีทางเลือกให้คนเยอะขึ้น แต่เขาไม่ได้ปรับเพื่อจะรับผิดชอบกับแรงงาน ไม่ได้ปรับเพื่อรับผิดชอบผู้ผลิต ไม่ได้ปรับเพื่อจะอยู่กับคนอื่น
แบนไม่แบน ชนะไม่ชนะ เราคงจะตอบคำถามไม่ได้ แต่เราเลือกได้นะคะ เลือกที่จะเล่นในสนามของเรา สร้างตลาดของเรา สร้างกลุ่มผู้บริโภคของเรา ถ้าถามว่าใครจะเป็นคนสร้างล่ะ ก็เราเองนั่นแหละ เราที่มีพลังของผู้บริโภค มีมงกุฎของผู้บริโภค เราเชื่อว่าเล็กน้อยในครัวของเรา เล็กน้อยในจานอาหารของเรา ทำให้เราชนะได้ เราถึงเริ่มตรงนี้ และถึงทำงานมาได้จนถึงทุกวันนี้นี่แหละ
จริงๆ เราคิดว่าผู้บริโภคมีอำนาจนะ มีอำนาจที่จะตัดสินใจได้ มีพลังในการเลือกว่าจะยอมจำนน ยกมือสองข้างยอมแพ้ หรือจะลองต่อสู้ดูบ้าง
เราทำงานเรื่องอาหาร เราอยู่ตรงนี้แน่นอนเลยคือเราเห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือผู้บริโภคฝ่ายหนึ่งเองก็อยากซื้อของที่ถูกลง อะไรก็ได้ที่ถูกลงในวิกฤติอย่างนี้ อาหารที่ไม่เคยบูด เก็บแช่แข็งได้นานเกือบปี หรืออะไรก็ได้ที่มีไว้เพื่อกินประทังชีวิตไปก่อน ที่อาจจะจำใจยกมือยอมรับว่าต้องบริโภคอย่างนี้จนผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดและเศรษฐกิจไปให้ได้ก่อน ซึ่งเราเข้าใจได้นะ เรารับได้ คือเราไม่หวังใหญ่ เราไม่คิดจะไปพูดเสียงเดียว เพื่อบอกคนทั้งประเทศว่าจงอย่าบริโภคแบบนั้น
เราไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องหันมาเป็นเกษตรอินทรีย์หมด ต้องหันมาบริโภคเหมือนเราหมด ไม่เลย แค่เราทุกคนอาจจะต้องเริ่มกลับมาถามตัวเองกันหน่อยว่าในระบบการบริโภคแบบนี้ เราอยู่ตรงส่วนไหน เรากำลังสนับสนุนอะไรอยู่ แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ใครเปลี่ยนตัวเองได้ขนาดไหน ก็พิจารณาและทำมันด้วยตัวเอง
ดูญี่ปุ่นกับเกาหลีทำรายการอาหาร ไม่ต้องบอกสักคำว่าคุณไม่ต้องไปสนับสนุนทุนนิยมผูกขาด แต่คนรู้กันโดยอัตโนมัติว่าแรงซื้อของเขาเพียงเล็กน้อยก็มีพลังจะพยุงร้านดั้งเดิมของชุมชนไว้ได้ เพราะฉะนั้นพลังของผู้บริโภคมันมีอยู่ แค่คุณต้องแสดงออก คุณต้องเลือก อันนี้เราไม่ได้บอกคนอื่นนะ เรากำลังบอกตัวเองอยู่ ด้วยทางที่เรากำลังเดินมันมีทางเลือกให้เยอะแยะไปหมด โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปบริโภคในระบบทุนนิยมที่เอื้อการผูกขาดแบบเดิมเลย
เมื่อใดที่เรารวมตัวกันเป็นชุมชนผู้บริโภคของเราได้แล้ว แล้วเราจะเรียกร้องอะไรสักอย่าง เราก็พร้อมสนับสนุนกันนะ เพราะสุดท้ายในประเทศนี้เรายังต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงทางกฏหมายและการเมืองกันอยู่ใช่ไหมคะ มีน้องๆ เราหลายๆ คนไปอยู่หน้าทำเนียบ ไม่เอาการผูกขาด ถามว่าเราอยู่ข้างหลังตรงนี้เราเห็นด้วยไหม เราเห็นด้วยนะคะ เราสนับสนุน แต่เราเริ่มต้นได้ด้วยอาหารที่เรากิน เริ่มที่ครัวขอเราเอง และเราเชื่อว่าทุกคนก็ทำได้เช่นกัน
อ่านบทความเพิ่มเติม