ศาสตร์พระราชากับความมั่นคงทางอาหาร

5,264 VIEWS
PIN

image alternate text
สำหรับประเทศไทยซึ่งคุ้นเคยกับวลี “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อาจทำให้รู้สึกห่างไกลเกินจะสนใจหรือสงสัยว่าเรากำลังขาดความมั่นคงทางอาหารหรือไม่ แต่อย่าลืมว่าวลีนี้เราท่องกันมานาน...ทุกวันนี้ในน้ำยังมีปลา แล้วในนายังมีข้าวอยู่หรือเปล่า?

ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่ FAO (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) พยายามรณรงค์มาตลอดหลายปี หลายคนเริ่มตระหนัก และอีกหลายคนยังไม่รับรู้ โดย FAO อธิบายความมั่นคงทางอาหารว่า “ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ รักษาสุขภาพและชีวิตที่ดีไม่ว่าเวลาใด”


สำหรับประเทศไทยซึ่งคุ้นเคยกับวลี “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อาจทำให้รู้สึกห่างไกลเกินจะสนใจหรือสงสัยว่าเรากำลังขาดความมั่นคงทางอาหารหรือไม่ แต่อย่าลืมว่าวลีนี้เราท่องกันมานาน…ทุกวันนี้ในน้ำยังมีปลา แล้วในนายังมีข้าวอยู่หรือเปล่า?

ขณะที่เรายังไม่ทันตระหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็ทรงวางแนวทางสร้างความมั่นคงทางอาหาร ไว้ให้ เราจึงเชิญคุณหนาว พิเชษฐ โตนิติวงศ์ อดีตเจ้าของโรงสีรายใหญ่ ที่คลุกคลีกับชาวนามาหลายสิบปี กระทั่งมีโอกาสได้รู้จัก ศึกษาศาสตร์พระราชา และน้อมนำมาใช้ ก่อตั้งเครือข่าย “ธรรมธุรกิจ” มาร่วมพูดคุยหาคำตอบว่า แท้จริงแล้วเรากำลังเข้าสู่สภาวะขาดแคลนหรือไม่? ความมั่นคงทางอาหารหมายถึงอะไรกันแน่?

ศาสตร์พระราชานำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารอย่างไร
“ศาสตร์พระราชาที่เรานำมาใช้คือบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง 4 ขั้นแรกเป็นขั้นพื้นฐาน ขั้นแรกเลยคือพอกิน ปลูกทุกอย่างเพื่อให้พอกินก่อน ฉะนั้นความมั่นคงทางอาหารคือก้าวแรกของศาสตร์พระราชาเลย คุณต้องรู้ก่อนว่าทำยังไงให้พอกิน ไม่ใช่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือผสมผสานก็ตาม เพื่อไปแลกเงิน แล้วเอาเงินมาซื้อกิน อย่างนี้ไม่มีความมั่นคงทางอาหารหรอก เพราะสุดท้ายคุณก็ซื้อกินอยู่ดี
ที่สำคัญต้องมีความรู้ความเข้าใจให้ชัดๆว่า การปลูกให้พอกินต้องไม่ใช้สารเคมีเลย เพราะคนปลูกประมาณสัก 40 ปีที่ผ่านมา โดนอุตสาหกรรมสารเคมีทำการตลาด บ่มเพาะความคิดจนเชื่อหมดแล้วว่าถ้าไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตจะต่ำมาก

“ฉะนั้นคนที่จะนำศาสตร์พระราชาไปใช้ได้จะต้องเข้าใจว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับพืชทุกชนิดคือ ดิน ศาสตร์พระราชาที่บอกว่าเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืชนั่นแหละสำคัญที่สุด คำว่าเลี้ยงดินไม่ใช่เอาสารเคมีไปเลี้ยงมัน ธรรมชาตินั่นล่ะทำให้ดินสมบูรณ์ได้ พระราชาองค์นี้สามารถทำให้เห็นแล้วว่าไม่ว่าจะดินเปรี้ยว เค็ม ดินดานขนาดไหนก็สามารถฟื้นฟูดินให้สมบูรณ์ได้ เพราะฉะนั้นถ้าดินสมบูรณ์ พืชพันธุ์ธัญญาหารก็สมบูรณ์ ความมั่นคงทางอาหารก็จะสมบูรณ์มั่นคง ยั่งยืนแน่นอน”

จะเริ่มต้นนำศาสตร์พระราชาไปใช้ได้อย่างไร 
“ต้องเข้าใจศาสตร์พระราชาก่อน บางกลุ่มบอกว่าเขาทำเกษตรเคมีอยู่ก็เอาศาสตร์พระราชาไปใช้นะ ค่อยๆลดสารเคมีลง เก็บเกี่ยวในระยะปลอดภัยนะ ถามว่ามันใช่ความมั่นคงทางอาหารเหรอ ใช่เหรอว่าจะไม่มีสารเคมีตกค้างไปถึงคนกิน ไม่มีทางหรอก เพราะพืชดูดสารเคมีเข้าไปหล่อเลี้ยงต้นพืชจนถึงเซลล์ของมันสร้างอณูของพืชด้วยสารเคมีไปแล้ว และเรื่องแรกที่สำคัญที่สุดคือพระราชาสอนว่าไม่ให้ปอกเปลือกเปลือยดิน ต้องมีอะไรห่มดินตลอดเวลา ไม่ให้แสงแดดฆ่าจุลินทรีย์ หรือชะล้างหน้าดินจนตะกอนไหลไปกับน้ำ แล้วไปท่วมกองอยู่ในเขื่อน คุณจะสร้างเขื่อนกี่สิบเขื่อนก็ได้ แต่ถ้าคนตั้งแต่ภูเขาจนถึงเขื่อนยังไม่มีความรู้เรื่องนี้ สร้างไปเถอะ มันไม่ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอาหารหรอก

“โดยเฉพาะในสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ถ้าเราไปยึดติดอยู่กับศาสตร์ฝรั่งคือใช้สารเคมียัดลงไปในระบบรากของพืช เหมือนคุณเลี้ยงลูกแล้วป้อนทุกอย่างให้ลูกแล้วไม่ให้ลูกรู้จักหากินเอง ลูกจะไม่แข็งแรง ไม่มีภูมิต้านทาน กลับกัน ถ้าใช้ศาสตร์พระราชา ทำแบบธรรมชาติ เลี้ยงพืชให้ดี เลี้ยงดินให้สมบูรณ์ ระบบพืชจะหากินเองโดยธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป สภาวะความร้อนกลางวันมันสูง ต้นพืชก็จะรู้จักปรับตัว แต่ดินต้องสมบูรณ์นะ ดินต้องดี เมื่อคุณเข้าใจ ความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นแน่

“คนอยู่บนดอย องค์ความรู้ของบรรพบุรุษ ชาติพันธุ์ทั้งหลายแหล่เนี่ย โดนศาสตร์ฝรั่งกลืนไปหมดแล้ว 40 ปี ที่ผ่านมาองค์ความรู้เรื่องการทำเกษตร การทำนาขั้นบันได การทำคลองไส้ไก่ทำอย่างไร (คลองไส้ไก่คือ คลองที่ขุดให้คดเคี้ยวไปมา เพื่อกระจายน้ำได้ทั่วถึงไปยังพื้นที่เพาะปลูก) การฟื้นฟูป่ามันหายไปเกือบหมด เหลือเฉพาะคนที่พอคลับคล้ายคลับคลาเท่านั้น การฟื้นฟูศาสตร์พระราชาตั้งแต่คนต้นน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าคนบนดอย บนเขา ต้นน้ำยังใช้สารเคมีในการเพาะปลูก สารเคมีทุกอย่างจะไหลตามน้ำ ยันมาถึงมหาสมุทรเลย ฉะนั้นการประมงกุ้ง หอย ปู ปลาก็จะหมดตายไม่เหลือเท่าไร คนกลางน้ำเองก็ใช้สารเคมีหนักเข้าไปอีก

“และในประวัติศาสร์ชาติไทย เนื้อสัตว์ที่กินกันอยู่บ่อยคือปลานะ ไม่ใช่หมู ไม่ใช่ไก่ ปลาในแม่น้ำลำคลองเราเยอะแยะมากมาย แต่วันนี้ปลาในนาไม่มี เพราะใช้สารเคมี ปลาในหนองในคลองแทบจะไม่เหลือเลย ยกเว้นคลองใหญ่ที่สารเคมีละลายเจือจางลงไป แต่ปลายังพอมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ย้อนกลับไปเมื่อก่อนที่ไม่มีสารเคมี ใครก็ลงไปว่ายน้ำได้สบาย ตกปลา ตอนเด็กจำได้เลย ทอดแหก็มีให้กิน แต่ทุกวันนี้หาไม่ได้เลย ความมั่นคงมันไม่เหลือ ก็เพราะการใช้สารเคมีตั้งแต่บนยอดเขา ไล่มาหาคนกลางน้ำ ยันปลายน้ำ”

การสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ดูเหมือนเป็นหน้าที่ของเกษตรกร?
“คนเมืองเองก็ส่งเสริมการใช้สารเคมี จากการบริโภคโดยไม่ได้สนใจว่าอาหารนั้นใครเป็นคนผลิต เขาใช้สารเคมีหรือเปล่า ใช้ฮอร์โมนเร่งหรือเปล่า นี่แหละจะทำให้ความมั่นคงทางอาหารไม่มั่นคง แต่ถ้าคนเมืองสนใจ เข้าใจ พยายามไขว่คว้าหาแหล่งบริโภค พลังของผู้บริโภค พลังของคนเมืองจะพลิกฟื้นความมั่นคงทางอาหารได้

“อย่าคิดว่าความมั่นคงทางอาหารจะพลิกฟื้นขึ้นต้องรอให้คนปลูกทำ ต้องคิดใหม่ คนปลูกน่ะ ไม่มีแรงมากพอที่จะไปขับเคลื่อนให้ความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้น คนกินนี่แหละ ผู้บริโภคนี่แหละที่จะรวมพลังกันเกาะเกี่ยวกันเป็นเครือข่ายผู้บริโภค แล้วส่งเสริม กดดันให้ความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นให้ได้ สื่อสารกันออกไป ทุกวันนี้มีสื่ออยู่ในมือ มีเฟสบุ๊ก ไทม์ไลน์ มีไลน์ส่วนตัว สื่อสารเรื่องเหล่านี้ออกไป สุดท้ายคนทั้งประเทศจะเข้าใจมากขึ้นว่า เฮ้ย วันนี้มันถึงจุดวิกฤติจริงๆนะ เรื่องความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่คนกิน ความมั่นคงทางอาหารต้องเริ่มต้นที่คนกินเลยแหละ คนกินต้องเข้าใจเรื่องนี้”

ประเทศไทยเสี่ยงเรื่องความมั่นคงทางอาหารเหรอ มีอะไรบ่งชี้ชัดเจนไหม
“เสี่ยงมาก ถ้าคุณไม่ได้คิดกินแค่อิ่ม ถามว่าวันนี้ความมั่นคงทางอาหารส่อไปถึงอะไร ส่อถึงโรคมะเร็งไง ใครบ้างไม่มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งตาย หรือยังไม่ตายแต่เป็นมะเร็งอยู่ แทบจะไม่มีว่าครอบครัวนี้ ตระกูลสายนี้ไม่มีคนเป็นมะเร็ง ฉะนั้นตัวชี้วัดว่าความมั่นคงทางอาหารจะมั่นคงหรือไม่มั่นคงคือ ‘มะเร็ง’ เดี๋ยวนี้อายุ 30 กว่า ไปตรวจเลือดเจอว่ามีภาวะเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยอะแยะไปหมด คำว่ามั่นคงมันไม่ใช่แค่กินอิ่ม แต่กินยังไงให้มีสุขภาพดี กินยังไงให้ปลอดภัย

“จริงๆ ต้องพูดย้อนไปถึงความอร่อยด้วยซ้ำ ย้อนไปถึงรสชาติของอาหาร วันนี้เราติดใช้ผงชูรส สารสังเคราะห์ เคมี เยอะแยะมากมาย คุณเคยลองไหม กินของที่มันไม่ใช้ผงชูรส สารเคมีหรือสารสังเคราะห์ มันอร่อยแตกต่างกันเลยนะ ฉะนั้นความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่แค่กินอิ่ม แต่เป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องรสชาติ ทั้งสองอย่างนี้คือการไม่ใช้สารเคมี คือการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า กลับมาให้ได้ ตามศาสตร์พระราชา ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง”

นำศาสตร์พระราชามาใช้กับโครงการธรรมธุรกิจอย่างไร?
“โครงการธรรมธุรกิจไม่ใช่โครงการไม่แสวงหาผลกำไร หลายคนบอกว่าเป็นกิจการเพื่อสังคมจะต้องราคาถูก ไม่มีกำไร ถ้าอย่างนั้นโครงการนี้อาจไม่ใช่กิจการเพื่อสังคมก็ได้ แต่ที่เราทำ คือเป็นองค์กรแสวงหาผลกำไรที่สมควรได้รับตามธรรม องค์กรไม่ใช่แค่อยู่รอดนะ มันต้องขยายตัวด้วย แต่ไม่ได้ขยายเพื่อเอาเงินมาปันผลให้ผู้ถือหุ้น ต้องขยายเพื่อช่วยเหลือผู้คนทั้งคนปลูก คนกิน ให้เข้าใจศาสตร์พระราชาร่วมกัน เกิดความมั่นคงทางอาหารไปพร้อมๆ กัน
 ศาสตร์พระราชาที่เรานำมาใช้คือทฤษฎีบันได 9 ขั้น แค่ พอกิน คือบันไดขั้นที่ 1 ยังมีอีก 3 พอ  คือ พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น พอใช้ จะเห็นว่าตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้าเราซื้อมาใช้หมดเลย แต่ศาสตร์พระราชาสอนให้ทำเองได้ ปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกสมุนไพร ปลูกมะกรูด ผลไม้รสเปรี้ยวมาหมักทำยาสระผม น้ำยาล้างจาน ทำความสะอาดห้องน้ำ ซักผ้าได้ ลดการใช้สารเคมีลงได้ แต่ถ้าคุณไปซื้อจากอุตสาหกรรมเขาใส่สารเคมีเป็นกรด พอชะล้างทำความสะอาดเสร็จแล้วก็ไหลไปกับน้ำ กลับคืนสู่แหล่งน้ำ เมื่อน้ำที่จะเอาไปเพาะปลูก ไปเลี้ยงปลา หรือแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีปลาอยู่ มีผักน้ำอยู่มันก็มีแต่สารเคมี

พออยู่ คือการปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ถ้าปลูกต้นไม้ที่เป็นไม้เนื้อแข็ง อีก 20 ปี คุณสร้างบ้านได้เลย พอร่มเย็น ถ้ามีป่า สภาวะแวดล้อม ออกซิเจน แสงแดด ความร้อน จะทำให้เราอยู่อย่างร่มเย็น ไม่เปิดแอร์ยังนอนได้ ฉะนั้น 4 พอ คือศาสตร์พระราชาขั้นพื้นฐาน แต่ขั้นก้าวหน้าคือทำยังไงให้ขยายวงกว้าง เพราะศาสตร์พระราชาไม่ใช่สันโดดแบบสุดโต่ง เอาเฉพาะครอบครัวตัวเองให้รอด มันต้องเป็นที่พึ่งพิงของเพื่อนมนุษย์ด้วย ขั้นก้าวหน้าคือการทำบุญให้กับผู้มีพระคุณ ผู้มีอุปการะก่อน พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ พ่อแม่พี่น้อง ญาติธรรมทั้งหลาย ขั้นที่ 6 คือการทำทานให้กับเพื่อนมนุษย์กับสัตว์โลก ขั้นที่ 7 คือแปรรูปเพื่อเก็บรักษาเอาไปใช้ได้นานขึ้น ขั้นที่ 8 พูดถึงเรื่องการขาย ขั้นที่ 9 คือการสร้างเครือข่าย

“ศาสตร์พระราชาที่นำมาใช้กับธรรมธุรกิจเดินตามแบบนี้จะเห็นภาพชัดว่ามันเป็นการเกี่ยวร้อยผู้คนทั้งคนกินและคนปลูกที่เข้าใจศาสตร์พระราชาร่วมกัน เดินตามทฤษฎีบันได้ 9 ขั้นร่วมกัน มันจะเกิดความมั่นคงทางอาหาร และจิตวิญญาณ ทั้งกายและใจหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียว เกิดความรักความสามัคคีของคนไทยที่ในหลวงเคยพระราชทานเป็น สคส. ในปี 2547 เอาไว้ว่า ความสามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย นี่คือสิ่งที่โครงการยึดมั่นและดำเนินรอยตามศาสตร์พระราชา”

สำหรับคนเมืองที่ไม่ปลูกผักกินเองแน่ๆ ไม่มีเวลา พื้นที่จำกัด จะหาความมั่นคงทางอาหารให้ตัวเองได้ยังไง
“มันเป็นข้ออ้าง ไม่ใช่เหตุผล มีที่ทางให้คนเมืองเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารอยู่นะ ไม่ใช่ไม่มี อย่างฐานธรรมพระราม 9 จะเป็นศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาสำหรับคนเมือง สอนให้คนเมืองมาปลูกผักในกระถาง ง่ายสุดเพาะถั่วงอกเป็นก็ผัดถั่วงอกกินได้แล้ว ดีกว่าไปซื้อในตลาดที่มีสารฟอกขาว มีแต่ปุ๋ยเคมีเร่งให้โต เราจะสอนคนเมืองว่ามีความมั่นคงทางอาหารได้ยังไง มันไม่สามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็น แต่อย่างน้อย พริก กะเพรา โหระพา ปลูกในกระถางได้แน่ๆ ใบไชยาใช้แทนคะน้าได้  แต่คุณต้องทำดินให้เป็นก่อน เอาเศษอาหารที่คุณกินทุกมื้อมาหมักทำน้ำหมักเป็นปุ๋ย อยู่คอนโดก็ไม่เหม็นหรอก เพราะทำน้ำหมักแบบกสิกรรมธรรมชาติคือล็อกฝาถัง ไม่ใช่แบบเปิดจนหนอนขึ้น คนเมืองระดับหนึ่งทำได้

ฉะนั้นความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนเมืองคือคุณก็มาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสิ ไม่ได้มีแค่เครือข่ายธรรมธุรกิจ มีหลายเครือข่ายที่ทำเพื่อความมั่นคงทางอาหารอยู่ คุณถูกจริต พอใจกับกลุ่มไหน คุณก็เข้าไปร่วม

“อีกสิ่งที่คุณทำได้คือ ซื้อข้าวสารแล้วเอาไปหุงกิน พกข้าวที่หุงเองไปหากับข้าวเอาข้างหน้า นี่คือความมั่นคงทางอาหารอย่างแรกที่คนเมืองจะทำได้ เพราะในข้าวจานหนึ่งคือความมั่นคงทางอาหารของคุณ ถ้าคุณซื้อทุกอย่างที่กินเข้าไป ไม่ว่าจะจากห้างหรูหรือข้างถนน สิ่งที่ได้รับเหมือนกันคือสารเคมีปนเปื้อนมากับอาหาร แต่ถ้ามีข้าวสักอย่างหนึ่งที่ไม่มีสารเคมีก็ถือว่ายังดี ข้าวเป็นสมุนไพรรสจืด ล้างพิษปนเปื้อนสารเคมีได้ ถึงไม่ร้อยเปอร์เซ็นแต่ก็ยังได้บ้าง ยิ่งถ้าเป็นข้าวกล้อง มันจะอยู่ในกระบวนการลำไส้ กระเพาะ แล้วดูดซึมสารพิษออกมาเป็นอุจจาระ แค่นี้คุณก็เข้าใกล้ความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นแล้ว”

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS